WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน

กลยุทธ์การลงทุน
     ความกังวลต่อการขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐ และสงครามยูเครน กลับมากดดันตลาดหุ้นระยะสั้น กลยุทธ์ยังเลือกหุ้นกลาง-เล็ก ที่ได้ประโยชน์จากการลงทุนรัฐ ทั้งระบบสื่อสาร และพลังงาน วันนี้เลือก SAMART(FV@B32) เป็น Top pick คาดจะฟื้นตัวแรงใน 2H57 และเติบโต 23% ในปี 2558

แนวโน้มดอกเบี้ยสหรัฐ&สงครามยูเครนยังกดดันหุ้นโลก
     เชื่อว่าการลดดอกเบี้ยนโยบายในยุโรป ยังเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้นโลก แต่อย่างไรก็ตามปัจจัยเสี่ยงจากการถอนมาตรการ QE และ พร้อมจะขึ้นดอกเบี้ยในปี 2558 ของสหรัฐน่าจะเริ่มมีน้ำหนักมากขึ้น และน่าจะกดดันให้ตลาดหุ้นสหรัฐไม่สามารถทำ New High ในระยะสั้น งานวิจัยล่าสุดของธนาคารกลางสหรัฐ (FED) สาขาซานฟรานซิสโก คาดว่าดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐในปี 2558 น่าจะขยับขึ้นไป 1.13% และเพิ่มเป็น 2.5% ปี 2559 หมายความว่าดอกเบี้ยในปี 2558 จะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 0.88% (ที่ 0.25% ซึ่งคงที่มานานตั้งแต่ ธ.ค. 2551) ในการประชุมทั้งหมด 8 ครั้ง ในรอบ 1 ปี โดยคาดว่า FED จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดย น่าจะเริ่มปรับขึ้นราวเดือน ก.ค. 2558 อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามรายละเอียดของเศรษฐกิจสหรัฐอย่างต่อเนื่อง และมุมมองนโยบายการเงินของนางเยลเลน อย่างใกล้ชิด โดยการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐครั้งต่อไป จะมีขึ้นในวันที่ 16-17 ก.ย. นี้
 ขณะที่สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนยังไม่ผ่อนคลาย แม้ว่าก่อนหน้านี้ทั้งกลุ่มฝักใฝ่รัสเซียและยูเครน ได้เจรจา หยุดยิง แต่ท้ายที่สุดที่ประชุม EU วานนี้ ได้มีมติให้คว่ำบาตรรัสเซียรอบใหม่ โดยพุ่งเป้าไปที่การขึ้นบัญชีดำบุคคลสำคัญของรัสเซียเพิ่มเติม รวมทั้งการจำกัดการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของบริษัทน้ำมันและปิโตรเลียมของรัสเซีย ซึ่งจะส่งผลกระทบกับบริษัทปิโตรเลียมยักษ์ใหญ่หลายรายที่เพิ่งพาการกู้เงินกับ EU ขณะที่รัสเซียเองออกมาขู่ว่าจะตอบโต้กลับแน่นอนหากมีการเพิ่มการคว่ำบาตรรัสเซียจริง โดยจะทำการปิดน่านฟ้า ซึ่งก็จะส่งผลกระทบต่อสายการบินยุโรปที่กำลังประสบปัญหาการเงินถึงขั้นล้มละลาย เนื่องจากสายการบินต้องจ่ายค่าเชื้อเพลิงมากขึ้นเพื่อบินอ้อมรัสเซีย และต้องใช้ระยะเวลาเดินทางยาวนานขึ้นด้วย
      เป็นที่สังเกตว่าแม้จะมีมติคว่ำบาตรรัสเซีย แต่ยังไม่มีผลบังคับใช้จนกว่าจะมีการเผยแพร่ในวารสารทางการของ EU ซึ่งต้องใช้เวลาหลายวัน ขณะเดียวกัน EU ก็พร้อมจะเปิดโอกาสให้มีการระงับการคว่ำบาตรนี้ได้ หากข้อตกลงหยุดยิงทั้ง 2 ฝ่ายได้รับการตอบสนองและไม่มีฝ่ายใดล่วงละเมิด กล่าวโดยสรุปหากการคว่ำบาตรของทั้ง 2 ประเทศยังคงดำเนินต่อไป จะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ซึ่งจะยิ่งกดดันให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของ EU ล่าช้าออกไปอีก และอาจจะหักล้างมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ ที่กำลังจะออกมาได้ ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจและตลาดหุ้นโลก

เดินหน้าปรับโครงสร้างพลังงาน ไม่กระทบผู้ประกอบการ
       การปฏิรูปพลังงานยังคงเดินหน้าต่อ หลังจากที่ได้มีการปรับลดการเก็บภาษีสรรพสามิต และภาษีเทศบาล ในกลุ่มเบนซิน และแก๊สโซฮอล์ ลง พร้อมๆ กับการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันลดลง เป็นผลทำให้ราคาขายปลีก น้ำมันเบนซิน, แก๊สโซฮอล์ 95 91 และ E20 ลดลงลิตรละ 3.89 บาท, 2.13 บาท, 1.7 บาท และ 1 บาทตามลำดับ แต่ตรงกันข้ามกับราคาขายดีเซล ที่ขยับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเพียง 0.14 บาท เพราะมีการจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นทั้งสรรพสามิต และภาษีเทศบาล จากเดิมลิตรละ 0.005 บาท และ 0.0005 บาท เป็น 0.75 บาท และ 0.075 บาท ตามลำดับ แต่กลับลดภาษีน้ำเข้ากองทุนน้ำมันจากเดิมลิตรละ 1.55 บาท เหลือ 1 บาท ซึ่งอาจจะมีผลกระทบต่อกองทุนน้ำมันจะหายไปประมาณ 1,100 ล้านบาทต่อเดือน
ล่าสุดที่ประชุม คณะกรรมนโยบายพลังงาน หรือ กบง. ได้เห็นชอบในหลักการให้ปรับโครงสร้างราคาแอลพีจี และ เอ็นจีวี เพื่อให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง โดยในเบื้องต้นจะปรับราคาขายภาคขนส่ง ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 21.38 บาทต่อ กก. ให้เท่ากับภาคครัวเรือน ซึ่งอยู่ที่ 22.63 บาท ต่อ กก. หรือมีส่วนต่างกันที่ 1.25 บาท ต่อ กก.

      อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติมี 2 แนวทางคือ ปรับขึ้นทันที แต่ก็คงต้องมีมาตรการเยียวยารถสาธารณะที่ให้บริการ (โดยเฉพาะรถแท็กซี่ ใช้ก๊าซแอลพีจีเป็นเชื้อเพลิงราว 2 หมื่นคัน) โดยให้คงราคาเดิม หรือ ทยอยปรับขึ้น ซึ่งคงต้องติดตามต่อไป อย่างไรก็ตามการปรับโครงสร้างแอลพีจี นับว่าสอดคล้องกับบทวิเคราะห์ของ ASP ไปก่อนหน้า อย่างไรก็ตามหลังการปรับราคาแอลพีจีของภาคขนส่ง ให้เท่ากับครัวเรือนแล้ว ก็ยังต่ำกว่าราคาขายให้กับภาคอุตสาหกรรมที่ตกราว 30.07 บาท ต่อกก. (อ่านรายละเอียดใน Market talk เมื่อ 2 ก.ย. 2557)
โดยสรุปการปรับโครงสร้างราคาขายเชื้อเพลิง ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในกลุ่ม PTT ทั้งผลิตสำรวจ โรงกลั่น และขายปลีก ฝ่ายวิจัยยังคงให้น้ำหนักการลงทุนกลุ่มน้ำมัน “มากกว่าตลาด” โดยยังคงคำแนะนำซื้อ PTT (FV@360B), PTTEP (FV@195B) และกลุ่มโรงกลั่นได้แก่ PTTGC (FV@84B), IRPC ([email protected]), BCP (FV@36) และ TOP (FV@56)

SAMART เป็นหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการลงทุนระบบโครงข่าย
      SAMART เป็น Holding Company ที่ลงทุนหลากหลายทั้งบริษัทในตลาดคือ SIM (โทรศัพท์มือถือ 70%) และ (SAMTEL) โครงการโทรคมนาคมภาครัฐฯ (70%) และนอกตลาด อาทิ กลุ่มสามารถ วิศวกรรม) SE (100%) ขายอุปกรณ์รับสัญญาณโทรทัศน์ รวมถึง รับจ้างสร้างสายส่ง และ ก่อสร้างสถานีไฟฟ้า (ภายใต้ TEDA ซึ่ง SAMART ถือหุ้นทางอ้อมราว 80% ผ่าน SUT) และในระยะสั้นน่าจะได้ประโยชน์จากความคืบหน้าจากการสนับสนุนภาครัฐ 2 โครงการ คือ 1) แจกคูปองส่วนลด ซื้อกล่อง ทีวีดิจิตอลมูลค่า 690 บาท ให้ 23 ครัวเรือนทั่วประเทศเปลี่ยนมารับชมระบบ ทีวี ดิจิตอล (SE) และ 2) โครงการปรับปรุงสายส่ง และสถานีไฟฟ้าทั่วประเทศ เฟสแรก (TEDA)มูลค่าสูงถึง 1.0 แสนล้านบาท ในระยะ 5-7 ปีข้างหน้า
      ทั้งนี้ คาดว่า ผลกำไรจะฟื้นตัวแรงในงวด 2H57 หลังผ่านจุดตกต่ำสุดในงวด 2Q57 จากงานโครงการรัฐ ที่ล่าช้าจากปัญหาการเมือง ทั้งความคืบหน้างานลงทุนรัฐ (SAMTEL, TEDA) และ 25 ต.ค. จะมีการขายกล่อง ทีวีดิจิตอล และปี 2558 น่าจะสามารถสร้างการเติบโตกำไรได้ 20% ต่อปี และ 15% ในปี 2559 โดยประมาณการดังกล่าวยังมิได้รวม โอกาสการเติบโตของ SUT หลังเข้าจดทะเบียนตลาด ฯ ราว ปี 2558-59 ขณะที่ประเมินมูลค่าหุ้น อิง Sum of the part (SIM อิง P/R 19 เท่า , SAMTEL อิง PBV 4 เท่า, ธุรกิจอื่นอิง P/E 18 เท่า) อยู่ที่ 31.5 บาท และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 36.0 บาทในปีหน้า และปัจจุบันนับว่า SAMART มีค่า P/E ราว 16.7 เท่าในปีนี้ และ 13.5 เท่าในปีหน้า ซึ่งนับว่าถูกกว่ากลุ่ม ซึ่งมีค่า P/E เฉลี่ยราว 19.6 เท่า และ 15.7 เท่าในปี 2557 และ 2558

ต่างชาติยังซื้อต่อเนื่อง แต่บาทอ่อนค่าเล็กน้อย
       วานนี้นักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคติดต่อกันเป็นวันที่ 15 แต่ลดลงจากวันก่อนหน้า 53% เหลือราว 120 ล้านเหรียญฯ ยอดซื้อที่ลดลงส่วนหนึ่งเป็นผลจากเกาหลีใต้ และไต้หวันปิดทำการเนื่องจากเทศกาลไหว้พระจันทร์ ในขณะที่ประเทศในกลุ่ม TIP ยังเปิดทำการและซื้อสุทธิทั้งหมด กล่าวคือ อินโดนีเซีย ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 ราว 48 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้น 85% จากวันก่อนหน้า) ใกล้เคียงกับไทย ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 6 ราว 45 ล้านเหรียญฯ (1.4 พันล้านบาท, ลดลง 8%) และสุดท้ายคือ ฟิลิปปินส์ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2 ราว 27 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้าที่ซื้อสุทธิเพียง 2 ล้านเหรียญฯ เท่านั้น)
      ในส่วนของตลาดหุ้นไทยกลุ่มนักลงทุนที่มีแรงขายกดดันดัชนีในช่วงหลังคือ กลุ่มนักลงทุนสถาบันที่ขายสุทธิติดต่อกัน 5 วันรวมกว่า 4.1 พันล้านบาท สวนทางกับต่างชาติที่เริ่มกลับเข้ามาซื้อหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง 6 วันติดต่อกันรวมกว่า 8.2 พันล้านบาท แต่ค่าเงินบาทกลับอ่อนค่าลงเล็กน้อยแตะระดับ 32 บาทต่อเหรียญฯ (อ่อนค่าลง 0.2% ในรอบ 2 สัปดาห์) เป็นผลจากค่าเงินดอลล่าห์ฯ แข็งค่าขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักอื่นๆ

ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!