- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Monday, 30 April 2018 18:22
- Hits: 6390
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
คาด SET ยังแกว่งตัว 1767-1785 จุด ยังถูกกดดันจากภายนอกคือ สหรัฐจะทบทวนการให้สิทธิ GSP กับสินค้าส่งออกไทย เพื่อกดดันไทยยอมนำเข้าเครื่องในหมูจากสหรัฐ และคาดราคาน้ำมันโลกที่มีแนวโน้มอ่อนตัว กดดันจาก supply ที่เพิ่มจากสหรัฐ และดอลลาร์ที่แข็งค่า ส่วนในประเทศ คาดกำไรงวด 2Q61 ของหุ้นที่มิใช่แบงก์ มีน้ำหนักหนุนดัชนีน้อย กลยุทธ์ “Domestic Play” ชอบ MAJOR(FV@B>34) กระแส Avengers Infinity War มาแรงกว่าคาด จะหนุนกำไรงวด 2Q61 สดใส และ DTAC(FV@B>68) เดินหน้าลงทุน 4G ได้เต็มที่หลังได้คลื่น 2300 MHz
ย้อนรอยหุ้นไทยวันศุกร์…..หุ้น ICT หนุนดัชนีปิดบวก
วันศุกร์ที่ผ่านมาดัชนีตลาดหุ้นไทยแกว่งตัวบวกลบ สลับ ตลอดวัน ก่อนที่ช่วงท้ายตลาดจะได้แรงซื้อกลับเข้ามาหนุนดันดัชนีปิดที่ 1778.02 จุด เพิ่มขึ้น 4.82 จุด หรือ 0.27% มูลค่าการซื้อขาย 5.1 หมื่นล้านบาท แรงหนุนหุ้นกลุ่ม ICT (DTAC, TRUE และ ADVANC) ขณะเดียวกันแรงขายกลุ่มพลังงานก็ชะลอตัวลงหนุนดัชนีกลับมายืนได้ในแดนบวก ตามด้วยการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องของหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ (BBL KBANK SCB) ส่วนราคาหุ้น KTC วิ่งทำ New high อีกครั้งปิดที่ 348 บาท (+3.88%) ตรงข้ามกับหุ้นกลุ่มโรงพยาบาลที่ราคาหุ้นร่วงยกกลุ่ม โดยเฉพาะหุ้นขนาดใหญ่ของกลุ่มฯ BH(-5.34%), BDMS (-2.13%) และ BCH(-4.44%) ตามด้วยแรง Take profit หุ้นกลุ่มชิ้นส่วนฯ (DELTA HANA KCE) หลังจากราคาหุ้นในกลุ่ม outperform ตลาดฯ มาตั้งแต่ต้นสัปดาห์
แนวโน้ม SET Index วันนี้ยังแกว่งตัวในกรอบ 1767-1785 จุด ประเด็นที่ให้น้ำหนักวันนี้เป็นเรื่องการกีดกันการค้าของสหรัฐต่อไทย และราคาน้ำมันดิบโลกจะอ่อนตัว หลังสหรัฐเพิ่มการผลิตต่อเนื่อง และ ดอลลาร์ที่แข็งค่า
ไทยอาจหลุด GSP หากไม่ยอมนำเข้าเนื้อและเครื่องในหมูจากสหรัฐ
ขณะที่สงครามการค้าสหรัฐ-จีน สงบช่วงสั้น ในระหว่างที่ยังรอผลการทำประชาพิจารณ์ของผู้ประกอบการฝั่งสหรัฐ ที่จะสรุปผล 5 พ.ค. และอีก 1 เดือนถึงจะมีผลบังคับใช้ และคงต้องดูท่าที การตอบโต้ของจีน ซึ่งถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ยังกดดันตลาดหุ้นไทยในอนาคต
ล่าสุด สหรัฐเดินหน้ากดดันไทยให้นำเข้าเนื้อหมู และเครื่องในมีสารเร่งเนื้อแดง มิเช่นนั้นจะตัดสิทธิ GSP ไทยอีกครั้ง (ยกเว้นภาษีส่งออกสินค้าไปสหรัฐราว 3,400 รายการ) หลังจากเพิ่งต่ออายุ 3 ปี มีผลตั้งแต่ 22 เม.ย.2561จนถึง 31 ธ.ค.2563 โดยกำหนดการเจรจาระหว่างไทย-สหรัฐ ใน มิ.ย. นี้ และ สหรัฐจะ ประกาศผลการพิจารณา ในเดือน ต.ค. นี้
อย่างไรก็ตามหากมีการตัดสิทธิ GSP เกิดขึ้นจะกระทบต่อภาพรวมการส่งออกของไทย (3400 รายการ) เนื่องจากสหรัฐเป็นตลาดส่งออกอันดับ 2 ของไทย ราว 11%ของยอดส่งออกรวมทั้งหมด อย่างไรก็ตามหากไทยเปิดรับการนำเข้าเนื้อหมูจะกระทบต่อราคาหมูในประเทศลดลง เนื่องจากปัจจุบัน ไทยมีการผลิตหมูเกินความต้องการอยู่แล้ว
ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจสหรัฐแข็งแกร่ง..หนุนดอกเบี้ยขึ้น & ดอลลาร์แข็งค่า
หลังจากการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB)และญี่ปุ่น (BOJ) ยังคงนโยบายการเงินผ่อนคลายที่ 0% และ -0.1% ตามลำดับ และคาดทั้ง 2 ประเทศ จะเริ่มใช้นโยบายการเงินตึงตัวในปี 2562 ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) กำหนดประชุม 1-2 พ.ค. นี้ ซึ่งตลาดคาดจะคงดอกเบี้ยฯ แต่จะขึ้นอีกอย่างน้อย 2 ครั้งในปีนี้ ในการประชุมที่เหลืออีก 6 ครั้ง (ครั้งถัดไปคือ มิ.ย. และ ก.ย. ขึ้น 0.25%)
อย่างไรก็ตาม การขึ้นดอกเบี้ยของ Fed นั้นขึ้นอยู่ดัชนีเศรษฐกิจที่สำคัญคือ เงินเฟ้อ เดือน มี.ค. ที่ราว 2.4% และอัตราการว่างงาน 4.1% ต่ำสุดตั้งแต่วิกฤตซับไพรม์ ขณะที่ GDP Growth 1Q61 รายงานล่าสุด เติบโต 2.9%yoy ยังสอดคล้องกับ IMFคาดทั้งปี 2561 2.9% ผลจากนโยบายปฎิรูปภาษี
การขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องสหรัฐ ยังคงหนุนดอลลาร์แข็งค่าต่อเนื่องสูงสุดในรอบ 3 เดือน หลังจากที่อ่อนค่ากว่า 13% นับจากปลายปี 2560 ตรงข้ามกับค่าเงินเอเชียที่เริ่มกลับมาอ่อนค่าต่อเนื่อง คือ เงินบาทอ่อนค่าแตะ 31.625 บาทต่อดอลลาร์ หลังจากเงินบาทแข็งค่ากว่า 13.46% นับจากปลายปี 2559 หรือกว่า 2 ปี (อยู่ที่ 36.4 บาท เมื่อปลายเดือน ก.ย. 2558) และเช่นเดียวกับริงกิตของมาเลเซีย แข็งค่าลดลงเหลือราว 12.7% นับจากต้นปี 2560 หรือกว่า 1 ปี (ยกเว้นรูเปียะห์อินโดนีเซียและเงินเปโซของฟิลิปปินส์ยังอ่อนค่าอยู่) น่าจะดีต่อการส่งออกของไทยนับจากงวด 2Q61
Earnings preview : BH, VGI เด่น แต่สะท้อนในราคาแล้ว
วันศุกร์ที่ผ่านมาเริ่มมีการทยอยผลประกอบการต่อเนื่อง โดย BH (FV@221) กำไร 1,079 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.3% YoY จากจำนวนคนไข้ที่เพิ่ม ทั้งชาวไทยและต่างชาติ และ ผลจากการบริหารต้นทุนที่ดีขึ้น ขณะที่งวด 2Q61 จะเติบโตในอัตราชะลอลง เพราะเป็นช่วง Low Season (จะไม่มีโรคที่มากับ ฤดูฝนและหนาว) และยังเป็นช่วงฤดูถือศีลอด ของชาวตะวันออกกลาง
ขณะที่กลุ่ม Real sector อื่น ซึ่งนักวิเคราะห์ ASPS ทยอยทำ Earnings preview ออกมาเพิ่มเติมมีดังนี้
DELTA(ขาย: FV@77.60) คาดกำไรสุทธิงวด 1Q61 เท่ากับ 1.21 พันล้านบาท (-9.0% qoq และ -10.2% yoy) ฉุดด้วยค่าเงินบาทที่แข็งค่า แต่หากไม่รวมผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน คาดจะเติบโต +2.4% qoq และ+14.4% yoy หนุนด้วยการเติบโตของกลุ่มยานยนต์ กลุ่มพัดลม และกิจการในอินดียที่เติบโตต่อเนื่อง แต่ยังมีปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ(แผงวงจร: Integrated Circuit) ซึ่งยังดันต้นทุน
VGI(Switch: FV@6.90) คาดกำไรสุทธิ 4Q60/61F อยู่ที่ 261 ล้านบาท (+35% YoY,+44% QoQ) มาจากการเติบโตของทุกภาคส่วน ทั้งจากสื่อโฆษณาบน BTS, สื่อโฆษณากลางแจ้งของ MACO และสื่อโฆษณาในอาคารสำนักงาน และล่าสุดซื้อหุ้น Kerry TH (23%) ให้บริการ logistics
SAWAD(FV@64) คาดกำไรสุทธิ 1Q61 เท่ากับ 695 ล้านบาท หดตัว 4.1% qoq แม้จะได้ผลบวกจากค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ฯ ลดลงอย่างมีนัยฯ และรายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิที่เติบโตสูงขึ้น แต่ spread ที่ยังหดตัว จากการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในอุตสาหกรรม (โดยเฉพาะ ธ.พ. ที่เข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งตลาด) ส่งผลให้กำไรมีโอกาสออกมาลดลง สำหรับทิศทางธุรกิจใน 2Q61 คาดยังทรงตัวจากงวดก่อน เน้นน้ำหนักการเติบโตไปที่ 2H61 มากกว่า
ภาพรวมต่างชาติสลับมาซื้อหุ้นภูมิภาค แต่ยังขายกลุ่ม TIP
วันศุกร์ที่ผ่านมาต่างชาติสลับมาซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคเล็กน้อยราว 68 ล้านเหรียญ (หลังจากขายติดต่อกัน 5 วัน) แต่เป็นการซื้อสุทธิเฉพาะตลาดหุ้นแถบเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ คือ เกาหลีใต้ซื้อสุทธิ 169 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2) และไต้หวัน 6 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิ 5 วัน) ส่วนตลาดหุ้นในกลุ่ม TIP ยังคงถูกขายสุทธิ คือ อินโดนีเซียถูกขายสุทธิ 26 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 6), ฟิลิปปินส์ 14 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 7) และไทยที่ต่างชาติยังขายสุทธิ 66 ล้านเหรียญ หรือ 2.10 พันล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 6) ต่างกับสถาบันในประเทศที่สลับมาซื้อสุทธิ 2.20 พันล้านบาท (หลังจากขายสุทธิ 2 วัน)
ทางด้านตลาดตราสารหนี้ไทย ต่างชาติที่ยังขายสุทธิอีก 3.38 พันล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 6) หนุนให้ Bond Yield 10 ปี ของไทยยังขยับขึ้นเล็กน้อย มาอยู่ 2.615% (สูงสุดในรอบ 10 เดือน) สวนทาง Bond Yield สหรัฐฯ ที่ลดลงเหลือ 2.96%
ดัชนีหุ้นไทยยังคงแกว่งตัวต่ำกว่า 1800 จุด เน้น Domestic Play
เชื่อว่า SET Index สัปดาห์นี้ยังอยู่ในภาวะแกว่ง sideway ในกรอบ 1760-1800 จุด เหตุจากกลุ่มฯ หลักที่มี market cap ขนาดใหญ่ยังขาดปัจจัยหนุน หรือไม่ก็มี upside เหลือน้อย กล่าวคือ
กลุ่มธนาคารพาณิชย์ : แม้ราคาหุ้นในกลุ่มฯ จะปรับฐานลงตั้งแต่ปลายเดือน มี.ค. ภายหลัง ธ.พ. ขนาดใหญ่-กลางหลายแห่งพร้อมใจกันไม่คิดค่าธรรมเนียมฯ ผ่านช่องทางออนไลน์ แต่ก็เชื่อว่าปัจจัยกดดันจะยังมีอยู่ เนื่องจากรายได้ค่าธรรมเนียมฯ ผ่านช่องทางออนไลน์ เฉลี่ยคิดเป็น 8% ของรายได้ธรรมเนียมฯ ทั้งหมด ซึ่งคิดเป็น 35% ของรายได้รวมของกลุ่ม ธ.พ. และจะเห็นผลกระทบตั้งแต่ 2Q61 เป็นต้นไป ทำให้ฝ่ายวิจัยต้องมีการปรับลดประมาณการฯ กลุ่มลงเฉลี่ย 10% จากเดิม โดย KBANK และ SCB ได้รับผลกระทบมากสุดเนื่องจากมีสัดส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมฯ มากสุด อย่างไรก็ตาม ในกลุ่ม ธ.พ. ฝ่ายวิจัยยังชอบ BBL (FV@B>220) เนื่องจากได้รับผลกระทบน้อยสุด อีกทั้งการเติบโตของธุรกิจหลักจากสินเชื่อรายใหญ่และ SME ที่จะได้รับผลบวกจากโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐและเอกชนที่ทยอยเกิดขึ้น
กลุ่ม ICT : เชื่อว่าความรุนแรงในการประมูลคลื่น 1800 MHz น่าจะลดน้อยลง ภายหลังที่ DTAC ได้คลื่น 2300 MHz ซึ่งสามารถนำมาใช้พัฒนา 4G ได้ทันที ลดความจำเป็นในการประมูลคลื่น 1800 MHz ที่จะนำกลับมาให้บริการ 2G สำหรับลูกค้าที่คาดเหลือ 5 ล้านราย (23% ของลูกค้า) เท่านั้น แม้ว่า DTAC ในช่วงแรกๆ อาจประสบปัญหาขาดทุนจากการลงทุนบนคลื่น 2300 MHz ใน 2Q61 แต่เชื่อว่าจะเป็นจุดต่ำสุด และจะดีขึ้นในงวด 3Q61 ขณะที่การประมูล 1800 MHz ราคาไม่น่าจะสูงเหมือนในอดีตที่ผ่านมา ฝ่ายวิจัยจึงยังชอบ DTAC (FV@B>68) ขณะที่ ADVANC ผลประกอบการยังคงแข็งแกร่ง แต่ราคาปัจจุบันมี upside ไม่มาก จึงแนะนำสะสมเมื่ออ่อนตัว
กลุ่มพลังงาน : ราคาน้ำมันดิบดูไบขยับขึ้นเหนือ 70 เหรียญต่อบาร์เรล ด้วยปัจจัยหนุนความกังวลในพื้นที่ตะวันออกกลาง แต่ราคาหุ้นน้ำมันได้ปรับขึ้นไปในอัตราที่มากกว่าราคาน้ำมันด้วยปัจจัยเฉพาะตัว ทำให้ราคาหุ้นขึ้นไปเต็มมูลค่า ทั้ง PTT และ PTTEP จึงยังแนะนำ switch ขณะที่หุ้นโรงกลั่น อาจได้รับผลกระทบจากการปรับสูตรค่าการกลั่น จึงแนะนำขาย TOP, SPRC และ ESSO
กลุ่มปิโตรเคมี : หุ้นที่มีสัดส่วนของโรงกลั่นน้อย แต่มีปิโตรเคมีเป็นหลัก ไม่น่าจะได้รับผลกระทบการปรับสูตรค่าการกลั่นมากนัก ราคาหุ้นที่ปรับฐานลงมาถือเป็นโอกาสในการสะสม แนะนำ IRPC (FV@B>8.4) และ PTTGC (FV@B>108)
ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
โยธิน ภูคงนิล ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์
OO8151