- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Monday, 08 September 2014 16:12
- Hits: 1600
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
ดอลลาร์แข็ง กดดันน้ำมันและทองคำ แต่หนุนค่าการกลั่น ซึ่งได้ยืนเหนือ 6 เหรียญฯ ถือว่าเป็นภาวะผิดปกติ จึงน่าจะดีต่อ BCP, TOP, PTTGC เลือก PTTGC(FV@84) เป็น Top pick เพราะ upside มากสุด และวันนี้ขอเชิญนักลงทุนพบผู้บริหาร GFPT(FV@B22) ที่ห้องประชุมชั้น 3 ASP
รัฐบาลพร้อมเดินหน้าทำงานสัปดาห์นี้ ... ติดตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ
ตามกำหนดการ จะมีการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งแรกในวันอังคารที่ 9 กันยายน 2557 โดยจะเป็นการประชุมเพื่อกำหนดแนวทางที่จะนำเสนอนโยบายต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และเป็นการแบ่งงานให้กับรองนายกรัฐมนตรีทั้ง 5 คน หลังจากนั้นในวันศุกร์ที่ 12 กันยายน 2557 ก็จะเป็นกำหนดการแถลงนโยบาย ซึ่งเมื่อผ่านกระบวนการต่างๆ ดังกล่าวมาข้างต้น ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นการเดินหน้าบริหารงานอย่างเต็มรูปแบบรัฐบาล ประเด็นที่อยู่ในความสนใจมากที่สุดสำหรับการลงทุนในตลาดหุ้น คงหนีไม่พ้นประเด็นเรื่องการดำเนินมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยปัจจุบันที่เห็นชัดเจนที่สุด ดูเหมือนจะเป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งได้มีการเห็นชอบในหลักการโดย คสช. ไปแล้ว คาดว่าจะเห็นกระบวนการในการเริ่มเปิดประมูลในอีกไม่ช้า ในโครงการรถไฟฟ้า 4 สายในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล และรถไฟความเร็วสูง 6 เส้นทาง โดยหากเริ่มเห็นการเดินหน้า ก็จะทำให้กระแสการเก็งกำไรในหุ้นกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง กลับมาคึกคักได้อีกครั้งหนึ่ง สำหรับหุ้นเด่นได้แก่ SEAFCO (FV@B 7.04), STPI (FV@B 28.46)
อีกประเด็นหนึ่งที่อยู่ในความสนใจได้แก่ แผนงานที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งล่าสุดมีข้อเสนอให้นำค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยว - จัดประชุม มาเป็นค่าลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ซึ่งหากผ่านออกมาก็น่าจะทำให้บรรยากาศการท่องเที่ยวที่กำลังเดินหน้าเข้าสู่ช่วง High Season กลับมาสดใสมากขึ้น ส่งผลบวกต่อหุ้นในกลุ่มที่เกี่ยวข้องเช่น AOT (FV@B 265) และเก็งกำไรระยะสั้นในหุ้นกลุ่มโรงแรมเช่น CENTEL, ERW แต่อย่างไรก็ตามราคาหุ้นได้ปรับขึ้นมาเต็ม Fair Value ปี 2557 แล้ว การเข้าเก็งกำไรจึงอยู่บนฐานของ Fair Value ปี 2558 และ Sentiment ที่ดีขึ้น ส่วนประเด็นที่ต้องติดตามต่อไปคือ ท่าทีของ คสช. ต่อแนวทางในการใช้กฎอัยการศึก
Dollar แข็งค่า กดดันน้ำมันและทองคำ
สหรัฐยังคงฟื้นตัวต่อเนื่อง แม้รายงานตลาดแรงงานล่าสุดเริ่มชะลอตัวลงกล่าวคือ การจ้างงานนอกภาคเกษตร เดือน ส.ค. เพิ่มขึ้น 142,000 ตำแหน่ง เป็นการขยายตัวต่ำสุดในปีนี้ เทียบกับที่เฉลี่ยเดือนละ 215,000 ตำแหน่ง ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา (ต่ำกว่าที่คาด) แต่อย่างไรก็ตามถือว่าภาคตลาดแรงงานโดยรวม ยังมีการฟื้นตัว สะท้อนจากอัตราการว่างงาน เดือน ส.ค. ลดลงจาก 6.2% เดือนก่อนหน้า ลงมาที่ระดับ 6.1% เป็นไปตามคาด แต่ยังสูงกว่าอัตราการว่างงานในช่วงก่อนวิกฤติการเงินที่เคยใกล้เคียงระดับ 5.5% ซึ่งยังเป็นประเด็นให้คณะกรรมการทางการเงินสหรัฐ (FOMC) ยังคงใช้ดอกเบี้ยระดับต่ำ 0-0.25% ต่อไปอีกระยะหนึ่ง หลังจากมาตราการ QE สิ้นสุดราวเดือน ต.ค. โดยคาดว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งในช่วงกลางปี 2558
นอกจากนี้ ผลกระทบจากการลดดอกเบี้ยนโยบายของยุโรปลงต่ำ 0.05% และเงินฝากติดลบ 0.2% ได้หนุนให้เงินยูโรอ่อนค่าต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับดอลลาร์ (หลังจากที่อ่อนค่าแล้ว 7% ตลอด 4 เดือนที่ผ่านมา (พ.ค. - ปัจจุบัน) ตรงกันข้าม Dollar Index ยังคงมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง (หลังจากแข็งค่า 6.08% ในช่วงเดียวกัน) แม้วันศุกร์ที่ผ่านมาจะเริ่มทรงตัว (ที่ 83.836 เทียบกับ 83.820 วันก่อนหน้า) ในสถานการณ์นี้น่าจะกดดันสินค้าโภคภัณฑ์ ทั้งน้ำมันดิบโลก และทองคำ มีทิศทางผันผวนในทิศทางขาลง
ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบกับผลของการใช้มาตรการอัดฉีดเม็ดเงินของสหรัฐในอดีต พบว่าในการใช้ QE ทั้ง 3 รอบ ระยะเวลา 7 ปี ทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง ส่วนราคาน้ำมันดิบโลก และทองคำต่างพุ่งทะยานขึ้นเกือบ 200%
ขณะที่ปัจจุบัน เมื่อสภาพคล่องโลกเริ่มเหือดหายไป เนื่องจากสหรัฐค่อยๆ ถอนมาตรการ QE ออก ทำให้เงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าอีกครั้ง สวนทางกับราคาน้ำมันโลกและทองคำที่มีแต่ทรงกับลง ในระยะนี้จึงควรหลีกเลี่ยงสินค้าโภคภัณฑ์ดังกล่าว แต่ตรงข้ามกลับเป็นผลดีต่อค่าการกลั่น ที่พุ่งทะยานจากจุดต่ำสุดจากบริเวณ 2.5 เหรียญ/บาร์เรล ล่าสุดขึ้นมาถึงระดับ 6 เหรียญ/บาร์เรล ส่งผลดีต่อผู้ประกอบการโรงกลั่น โดยเฉพาะ BCP (ซื้อ: FV@46) และ TOP (ถือ : FV@B56) ซึ่งมีสัดส่วนของกำไรจากโรงกลั่น 75% และ 70% ตามลำดับ ส่วน PTTGC (ซื้อ : FV@B84) สัดส่วนกำไรจากโรงกลั่นอยู่ที่ 25% (และมีกำไรจากอะโรเมติกส์ 25% โอเลฟินส์ 50%)แม้ว่าอาจมีปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองเรื่องต้นทุนก๊าซที่อาจปรับเพิ่มขึ้น แต่ฝ่ายวิจัยได้ประเมินแล้วว่าน่าจะกระทบประมาณการกำไรและ Fair Value เพียง 10% เท่านั้น ซึ่งหากมีการปรับ Fair Value ลงมาจริง ก็ยังมี upside อีกกว่า 19% จึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ ขณะที่ BCP ราคาปรับขึ้นมาแรงมากจนเหลือ upside จำกัด จึงแนะนำให้สลับมาลงทุนที่ TOP แทน แม้ฝ่ายวิจัยจะยังแนะนำ ถือ ก็ตาม แต่ราคาหุ้น TOP ที่ระดับปัจจุบันได้สะท้อนความเลวร้ายต่าง ๆ ไปเกือบหมดแล้ว จนทำให้มี upside ขึ้นมาอีกครั้ง ขณะที่ผลประกอบการคาดว่าในงวด 3Q57 น่าจะเป็นไตรมาสสุดท้ายที่ย่ำแย่ และหลังจากนั้นน่าจะดีขึ้นตามลำดับ (จากภาวะตกต่ำของอะโรเมติกส์ และการปิดซ่อมบำรุงโรงงาน) และจะกลับมาเติบโต 16.3% ในปี 2558
เงินทุนยังไหลเข้าภูมิภาค แต่เชื่อแค่ช่วงสั้น
วันศุกร์ที่ผ่านมา พบว่าเงินทุนไหลยังเข้าภูมิภาคเอเซียอย่างต่อเนื่องเป็นวันที่ 14 ราว 256 ล้านเหรียญฯ และ เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าจากวันก่อนหน้า โดยที่เป็นการซื้อสุทธิในทุกประเทศ สูงสุดนำโดยเกาหลีใต้ ต่อเนื่องเป็นวันที่ 9 ราว 106 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้ากว่าเท่าตัว ตามมาด้วยไต้หวัน ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 3 ราว 73 ล้านเหรียญฯ วันก่อนหน้าซื้อสุทธิเพียง 9 ล้านเหรียญฯ ส่วนไทยซื้อสุทธิเป็นวันที่ 5 ราว 49 ล้านเหรียญฯ (1.6 พันล้านบาท, เพิ่มขึ้น 56% จากวันก่อนหน้า), อินโดนีเซียซื้อสุทธิติดต่อกันเป็นวันที่ 3 ราว 26 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว และ สุดท้ายคือฟิลิปปินส์ที่สลับมาซื้อสุทธิอีกครั้งราว 2 ล้านเหรียญฯ (ซื้อสลับขาย 4 วันหลังสุด)
ทั้งนี้หากพิจารณาการลดดอกเบี้ยของ ECB 3 ครั้งหลังสุดจะพบว่า นักลงทุนต่างชาติจะกลับเข้ามาซื้อหุ้นในไทยเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆเท่านั้น ก่อนที่จะเทขายออกมา 1 เดือนติดต่อกัน ทำให้เชื่อว่าการลดดอกเบี้ยของ ECB ในครั้งนี้จะมีผลหนุนเงินทุนไหลเข้าตลาดหุ้นไทยในช่วงสั้นเท่านั้น อย่างไรก็ตามคงต้องติดตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ผ่านการซื้อสินทรัพย์เสี่ยง (Asset Back Securities) รวมทั้งการซื้อพันธบัตรรัฐบาล เช่นเดียวกันที่เกิดขึ้นในประเทศอื่น ๆ เช่น ญี่ปุ่น เป็นต้น
ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล