WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ASPบล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน 

กลยุทธ์การลงทุน
  ตลาดหุ้นไทยยังคงได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกทั้งปัญหาทางการเมืองในตะวันออกกลาง  การกีดกันทางการค้า และอาจนำไปสู่สงครามค่าเงิน  ขณะที่ปัจจัยในประเทศ ให้น้ำหนักกับการรายงานงบของธนาคารนับจากสัปดาห์นี้ ซึ่งะมีแนวโน้มดีขึ้นจากงวด 4Q60  และยังเป็นช่วงของการทำ Earnings Preview รายหุ้นในกลุ่ม Real sector ซึ่งมีน้ำหนักหนุนตลาดไม่มากนัก จึงทำให้ดัชนีแกว่งในกรอบ 1756-1777 จุด  Top picks ยังเลือก AH(FV@B43) และ SC([email protected]) มีจุดเด่นการเปิดโครงการแนวราบ และ ยังเน้นตลาดกลาง-บน และ มี Dividend Yield สูง  
ย้อนรอยหุ้นไทย….. กลุ่มพลังงานหนุนดัชนีปิดบวกก่อนหยุดสงกรานต์
  วันพฤหัสบดีที่ผ่านมาเป็นวันทำการสุดท้ายก่อนหยุดยาวช่วงสงกรานต์ ตลาดหุ้นไทยแกว่งผันผวนสลับบวกลบก่อนปิดตลาดที่ 1767.17 จุด เพิ่มขึ้น 3.95 (+0.22%) พร้อมด้วยมูลค่าการซื้อขาย 4.52 หมื่นล้านบาท  โดยภาพรวมหลายกลุ่มอุตสาหกรรมแกว่งกระจัดกระจาย แรงหนุนหุ้นกลุ่มพลังงานช่วยหนุนดัชนีโดยเฉพาะ PTT, PTTEP และโรงไฟฟ้า GPSC BGRIM และ EA ขณะที่หุ้นขนาดใหญ่ กลุ่มธ.พ. ทั้ง BBL, KBANK, SCB  ปรับตัวลงหลังจากที่ฟื้นตัวสลับตลอดสัปดาห์
  คาดว่าวันนี้ SET Index  ยังแกว่งตัวในกรอบ 1756-1777 จุด วันนี้ให้น้ำหนักกับผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนงวด 1Q61  และ ปัจจัยภายนอก ทั้งความขัดแย้งในตะวันออกกลาง และสงครามการค้าจีนสหรัฐ  
ความขัดแย้งขยายตัวจาก ทั้งการค้า/ค่าเงิน และ สงครามตะวันออกกลาง
  ช่วงวันหยุดยาวที่ผ่านมา มีหลายสิ่งเกิดขึ้นในต่างประเทศ โดยทุกปัจจัยล้วนสร้างความผันผวนต่อเศรษฐกิจและตลาดหุ้นโลก 
  เริ่มจาก 14 เม.ย.  3 ประเทศมหาอำนาจ คือ สหรัฐ อังกฤษ และฝรั่งเศส ร่วมโจมตีทางอากาศคลังเก็บอาวุธเคมี 3 จุดชานกรุงดามัสกัสของซีเรีย  โดยให้เหตุผลรัฐบาลซีเรียใช้ก๊าซพิษฆ่ากลุ่มกบฎ   สร้างความกังวลจะเกิดสงครามสหรัฐ –รัสเซีย (หนุนหลังซีเรีย) แต่สถานการณ์ผ่อนคลายลง หลังสหรัฐเตรียมถอนกำลังทหารออกจากซีเรีย
  และเมื่อวานนี้ 16 เม.ย. ประธานาธิบดีทรัมป์เผยว่า สหรัฐพร้อมกลับเข้าร่วมข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก (CTPP) 11 ประเทศ นำโดย ออสเตรเลีย, บรูไน, แคนาดา, ชิลี, ญี่ปุ่น, มาเลเซีย, นิวซีแลนด์, เปรู, สิงคโปร์, เวียดนาม หลังจากสหรัฐถอนตัวออกเดือน ม.ค. 2560   โดยคาดว่าจะได้ประโยชน์จากการยกเว้นภาษีนำเข้า  เช่น รถยนต์และส่วนประกอบ  และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องจักรกล, เปิดเสรี Digital Trade เป็นต้น 
  และในวันเดียวกันสหรัฐกล่าวหา  รัสเซียและจีน จงใจลดค่าเงินทำให้สหรัฐเสียเปรียบทางการค้า  ทั้งนี้แม้ล่าสุดค่าเงินหยวนยังคงแกว่งตัว หลังจากที่แข็งค่ามาราว 10% นับจากปลายปี 2559  ซึ่งเป็นปีแรกที่นายทรัมป์ ฯ เข้าบริหารประเทศ    ขณะที่ค่าเงินรูเบิ้ล  ของรัสเซียกลับมาอ่อนค่ากว่า 9% ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา หลังจากที่แข็งค่ากว่า 33% นับจากต้นปี 2559 – ปลายเดือน ก.พ. 2561 
  ขณะที่สงครามการค้าสหรัฐ-จีน   เริ่มผ่อนคลายระยะสั้น  และยังไม่มีใครประกาศใช้มาตรการภาษีอย่างเป็นทางการ  แม้สหรัฐประกาศจะขึ้นภาษีนำเข้า 25% ราว 1,300 รายการ  และกระจุกตัวในกลุ่มเทคโนโลยีและการสื่อสาร วงเงิน  5 หมื่นล้านบาท  โดยต้องรอการทำประชาพิจารณ์จากประชาชนภายในวันที่ 15 พ.ค. และหลังจากนั้นอีก 1 เดือนถึงจะมีผลบังคับใช้  ขณะที่จีน แม้ตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าอัตราเท่ากันที่   25% ราว 234 รายการ  หลักๆ คือ  ถั่วเหลือง, เครื่องบิน, รถยนต์, หมู เป็นต้น  วงเงิน 5.3 หมื่นล้านเหรียญฯ  แต่ยังไม่มีผลบังคับใช้เช่นกัน โดยดูท่าทีสหรัฐอีกครั้ง
คาดหลังสงกรานต์ ต่างชาติและสถาบันฯซื้อหุ้นไทยจำกัด
  ภาพรวมช่วงที่ตลาดหุ้นไทยหยุดเนื่องในวันสงกรานต์ (วันที่ 12 และ 16 เม.ย. 61) ต่างชาติยังคงขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคราว 84 ล้านเหรียญ และเป็นการขายสุทธิเกือบทุกประเทศ โดยมีเพียงตลาดหุ้นเกาหลีใต้เท่านั้นถูกซื้อสุทธิ 140 ล้านเหรียญ (ซื้อติดต่อกัน 4 วัน) ต่างกับอีก 3 ประเทศที่ต่างชาติขายสุทธิ คือ ไต้หวันถูกขายสุทธิ 125 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 9) ตามมาด้วยอินโดนีเซีย 95 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 4) และฟิลิปปินส์ 13 ล้านเหรียญ ส่วนวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ต่างชาติขายหุ้นไทยอีก 48 ล้านเหรียญ หรือ 1.50 พันล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 2) ต่างกับสถาบันฯในประเทศที่ซื้อสุทธิ 1.75 พันล้านบาท (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 5)
  หนุนให้เดือน เม.ย. นี้ สถาบันฯซื้อหุ้นไทยไปแล้วกว่า 7.28 พันล้านบาท (mtd) ตรงข้ามกับต่างชาติที่ยังเดินหน้าขายสุทธิ 5.63 พันล้านบาท (mtd) และเชื่อว่าหลังสงกรานต์นี้ น่าจะมีแรงซื้อสลับเข้ามาไม่มากนัก สังเกตได้จากสถิติในอดีตย้อนหลัง 5 ปี บ่งชี้ว่า สถาบันฯและต่างชาติมักซื้อสุทธิเฉลี่ยหุ้นไทยเล็กน้อยเพียง 2.62 พันล้านบาท และ 521 ล้านบาท ตามลำดับเท่านั้น (ดังภาพทางด้านล่าง) บวกกับหากปัจจัยภายนอกทั้งสงครามสหรัฐ-ซีเรีย และสงครามการค้าจีน-สหรัฐ ยังยืดเยื้อ น่าจะกดดันตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นได้จำกัด
มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยหุ้นไทยก่อนและ*หลังสงกรานต์ (ย้อนหลัง 5 ปี)
กำไรงวด 1Q61 ของ real sector มีแนวโน้มดี ช่วยหนุนรายหุ้น
  ในช่วง 2 สัปดาห์สุดท้ายของ เม.ย. เป็นช่วงที่บริษัทจดทะเบียนจะทยอยประกาศงบใน 1Q61 ซึ่งมีโอกาสที่จะอ่อนตัว เมื่อเทียบกับฐานกำไรสุทธิรวมในงวด 1Q60 (yoy) อย่างน้อยจาก 3 กลุ่ม คือ ธ.พ.  คาดกำไรสุทธิลดลงเพราะค่าใช้จ่ายสำรองฯ ที่เพิ่มขึ้นของ ธ.พ. ใหญ่บางแห่ง  แต่จะฟื้นตัวขึ้นเมื่อเทียบกับฐานกำไรในงวด 4Q60 (qoq) ตามมาด้วยกลุ่มปิโตรเคมีและกลุ่มวัสดุก่อสร้าง ที่มีฐานกำไร ที่สูงในงวด 1Q60 และสุดท้ายคือหุ้นส่งออก (อาหาร, ชิ้นส่วนฯ) เพราะช่วง low season
  ขณะที่เหลือน่าจะทรงตัว คือ  ICT    โดยเฉพาะ DTAC (FV@B55) เนื่องจากความไม่แน่นอนทางธุรกิจจากคลื่นที่ใกล้หมดอายุ และ ต้องกลับมาจ่ายภาษีในอัตราปกติ  (ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีจากเงินลงทุนในสินทรัพย์ทั้งหมดในงวด 4Q60) ขณะที่รายได้ค่าบริการ และต้นทุนดำเนินงาน ยังทรงตัว  ส่วน ADVANC (FV@B230) คาดกำไรงวด 1Q61 เติบโต 5.8%yoy จากรายได้ค่าบริการ (ไม่รวม IC) และธุรกิจอินเตอร์เนต ที่กระเตื้องมากว่าต้นทุนดำเนินงาน (ต้นทุนบริการ+ค่าใช้จ่ายขายบริหาร)  
  เช่นเดียวกับกลุ่มพลังงาน (Global plays) แม้จะขานรับผลดีจากราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูง   และทำให้รับรู้กำไรจากสต๊อกน้ำมัน ซึ่งดีต่อ PTTEP  แต่ธุรกิจโรงกลั่นน่าจะทรงตัวหรืออ่อนตัวลงเล็กน้อยจากค่าการกลั่นในงวด 1Q61 ที่อ่อนตัวลง qoq  กดดัน margin  ขณะที่ธุรกิจถ่านหินอ่อนตัวลง qoq เช่นกัน จากปริมาณขายที่ลดลงเนื่องจากเริ่มเข้าสู่ฤดูฝนของเหมืองในอินโดนีเซีย
  ยกเว้นกลุ่มท่องเที่ยว-โรงแรม กลุ่มค้าปลีก น่าจะเติบโตได้ดีเพราะผลของฤดูกาล โดยกลุ่มท่องเที่ยว-โรงแรม คาด 1Q61 จะเป็นช่วงดีสุดของปีของ CENTEL (FV@B56) จากธุรกิจโรงแรมที่รายได้เติบโตตามฤดูกาลท่องเที่ยวต้นปีและช่วงเทศกาลตรุษจีน ส่วนธุรกิจอาหารเริ่มดีขึ้น โดยรวมปี 2561 คาดกำไรปกติเติบโต 9%yoy เช่นเดียวกับ ERW ([email protected]) คาด 1Q61 จะดีที่สุดเช่นกันจากช่วง High Season ของภาคท่องเที่ยวและเทศกาลตรุษจีนที่มีอัตราเข้าพักสูง อีกทั้งโรงแรมที่ปิดปรับปรุงก็กลับมาเปิดดำเนินการได้ทำให้สามารถปรับขึ้นราคาห้องพักได้ โดยรวมกำไรปีนี้เติบโต 17% yoy รวมทั้ง MINT (FVB@50) ได้อานิสงส์จากช่วงฤดูกาลและตรุษจีน ผลักดันรายได้เฉลี่ยต่อห้องพักเพิ่มขึ้น ส่วนธุรกิจอาหารเริ่มดีขึ้น โดยรวมปี 2561 คาดกำไรปกติเติบโต 12%yoy
  ส่วน กลุ่มค้าปลีก ผลประกอบการ 1Q61 ฟื้นตัวต่อเนื่องจากกำลังซื้อผู้บริโภคที่ฟื้นตัวตามเศรษฐกิจ หนุนให้ยอดขายสาขาเดิม (SSSG) ของกลุ่มฯ ยังเป็นบวกเมื่อเทียบกับจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่หดตัว 4.7%yoy และโตต่อเนื่องจาก 4Q60 ที่มี SSSG เฉลี่ยเติบโต 2.3% yoy โดยเฉพาะ COM7 (FV@B21) ผลประกอบการ 1Q61 ยังเติบโตได้ yoy จากยอดขายสมาร์ทโฟนที่ยังเติบโตได้อย่างโดดเด่น รวมทั้งการบริหารทรูช็อปที่กำไรยังเติบโตได้ดี คาดทั้งปีกำไรสุทธิโตถึง 29%yoy ส่วน BEAUTY (FV@B25) ผลประกอบการน่าจะดีเช่นกันจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีน คาดผลประกอบการทั้งปีโต 46%yoy
  และกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ที่จะเติบโตได้ดีทั้ง yoy และ qoq ตามสัญญาณการฟื้นตัวของยอดการผลิตรถยนต์ และการควบคุมต้นทุนการผลิตที่มีประสิทธิภาพ โดย AH (FV@B43) แนวโน้มกำไร 1Q61 คาดสูงขึ้น yoy จากทั้งการขยายตัวของภาคการผลิตรถยนต์ และส่วนแบ่งกำไรจาก SGAH ที่เพิ่มเข้ามา หนุนกำไรปกติปี 2561 โต 19%yoy
ความเสี่ยงดัชนีปรับฐานยังมี ตราบที่การปรับลดกำไรรายกลุ่มยังมี 
  ดังที่ได้นำเสนอก่อนหน้านี้แล้วถึงการปรับลดกำไรของหุ้นรายกลุ่มลง โดยเฉพาะกลุ่มธนาคารพาณิชย์ หลังประกาศลดค่าธรรมเนียมบริการกันทุกราย และ ตามด้วยกลุ่ม ICT และ รายหุ้น  ในเบื้องต้นทุน ทำให้ กำไรสุทธิของตลาดฯ ปี 2561 ลดลงจาก 1.11 ล้านล้านบาท เป็น 1.09 ล้านล้านบาท ลดลง 2.49 หมื่นล้านบาท หรือ 2.2% และทำให้กำไรสุทธิตลาดฯ ต่อหุ้น (EPS) ลดลงจาก 112.4 บาท เป็น 109.9 บาท มี EPS Growth ที่ราว 11.3%  ซึ่งทำให้ EPS Growth หุ้นไทยดูด้อยลงไปเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนามอยู่ที่ 17.8%, จีน 13.8% แต่ใกล้เคียงกับอินโดนีเซีย 12.6% และสูงกว่าฟิลิปปินส์ 10.3%   ทั้งนี้การปรับประมาณการกำไรรายกลุ่มดังนี้  
  กลุ่มธนาคารพาณิชย์ จากการประกาศฟรีค่าบริการสำหรับการทำธุรกรรม โอนเงิน / ชำระเงิน และเติมเงิน ผ่านช่องทาง Electronic (ATM, Internet Banking และ Mobile Banking) ทำให้เกิดผลกระทบต่อรายได้สูงกว่าคาด  โดยรวมส่งผลให้กำไรสุทธิกลุ่มฯ ในปี 2561 ลดลง 10,337 ล้านบาท หรือราว 4.9% เหลือ 201,066ล้านบาท ส่วนปี 2562  ปรับลด 7% เหลือ  220,678 ล้านบาท    ทำให้ปี 2561 อัตราการเติบโตของกำไรสุทธิในปี 2561 ลดลงจากประมาณการครั้งก่อนที่ 14%  เหลือ 7% เท่านั้น 
  ตามมาด้วยด้วยกลุ่ม ICT  มีการปรับลดกำไรสุทธิกลุ่มฯ ในปี 2561 ลงจากเดิม 1.3 หมื่นล้านบาท เหลือ   8.7 หมื่นล้านบาท จากการเลื่อนรับรู้กำไรจากการขายสินทรัพย์เข้ากองฯ ของ JAS ซึ่งจะไปรับรู้ในปี 2562 แทน ส่งผลให้กำไรสุทธิกลุ่มฯ ในปี 2562 เพิ่มจากเดิม 15%   เป็น 7.6 หมื่นล้านบาท
  กลุ่มเหล็ก ปรับลดกำไรสุทธิกลุ่มฯ ในปี 2561 ลงจากเดิมที่ 9.1 เป็น 8.9 พันล้านบาท และปรับลดปี 2562 ลงจากเดิมที่ 9.6 เป็น 9.2 พันล้านบาท จากการปรับลดประมาณการฯ ของ MCS ลง
  กลุ่มบันเทิง ปรับลดกำไรสุทธิกลุ่มฯ ในปี 2561 ลงจากเดิมที่ 7.4 เป็น 7.2 พันล้านบาท และปรับลดปี 2562 ลงจากเดิมที่ 8.6 เป็น 8.2 พันล้านบาท จากการปรับลดประมาณการฯ ของ WORK ลง
  กลุ่มชิ้นส่วนฯ : ปรับลดกำไรสุทธิกลุ่มฯ ในปี 2561 ลงจากเดิมที่ 1.36 เป็น 1.33 หมื่นล้านบาท และปรับลดปี 2562 ลงจากเดิมที่ 1.47 เป็น 1.44 หมื่นล้านบาท จากการปรับลดประมาณการฯ ของ HANA ลงวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น
  กลุ่มรับเหมาฯ : ปรับลดกำไรสุทธิกลุ่มฯ ในปี 2561 ลงจากเดิมที่ 8.91 เป็น 8.88 พันล้านบาท และปรับลดปี 2562 ลงจากเดิมที่ 1.19 เป็น 1.17 หมื่นล้านบาท จากการปรับลดประมาณการฯ ของ TTCL ลง
  ทั้งนี้ประมาณการกำไรตลาดยังอิงอัตราแลกเปลี่ยน 33 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ค่าเฉลี่ยจากต้นปีถึงปัจจุบันอยู่ที่ 31.5 บาท แต่ประเมินว่าหากการกีดกันการค้า และ นำไปสู่สงครามค่าเงินแล้ว เงินบาทน่าจะมีแนวโน้มอ่อนค่ากว่านี้จึงยังคงประมาณการกำไรเดิม และ กำหนดให้ราคาน้ำมันดิบดูไบที่ 65 เหรียฐฯ ต่อบาร์รเลในปี 2561 และ 70 เหรียญฯ ในปี 2562  ในเบื้องต้นหากอิงกำไรตลาดที่ปรับข้างต้น   และ ยัง อิง Expected PER 16 เท่า  จะได้ดัชนีเป้าหมายสิ้นปี 2561  ที่ 1758 จุด  ด้วยเหตุนี้จึงคาดว่า ดัชนีหุ้นไทยน่าจะแกว่งตัวต่ำกว่า 1800 จุด  ตราบที่ยังไม่มีประเด็นหนุนตลาดใหม่ๆ 

ภรณี ทองเย็น  เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม  เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์  เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์  เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์  เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
โยธิน ภูคงนิล  ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร  ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์
OO7555

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!