- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Thursday, 12 April 2018 17:19
- Hits: 2730
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง หนุนราคาน้ำมันปรับขึ้นระยะสั้น แต่คาดว่าน่าจะไม่เกิน 68-69 เหรียญฯ เพราะระยะยาวยังให้น้ำหนักกับความขัดแย้งการค้าจีน-สหรัฐฯที่อาจกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในวงกว้าง ส่วนในประเทศ ให้น้ำหนักเรื่องกำไรตลาดงวด 1Q61 ซึ่งคาดว่ามีหุ้นใหญ่ที่ผลกำไรดีขึ้น เช่น PTTEP, SCC, BBL, KBANK หุ้นชิ้นส่วนรถยนต์ (AH, SAT) ยกเว้นหุ้นส่งออกอาหารที่กำไรน่าจะต่ำสุดใน 1Q61 (CPF, TU) แต่จะดีขึ้นเมื่อเข้าสู่ 2Q61 เป็นต้นไป Top picks ยังเลือก HANA(FV@B46) และเพิ่ม AH(FV@B43)
ย้อนรอยหุ้นไทยวานนี้ ….. กลุ่มแบงก์ประคอง SET Index ปิดบวก
วานนี้ SET Index แกว่งตัวกรอบแคบ ก่อนจะปิดที่ 1,763.22 จุด เพิ่มขึ้น 2.27 จุด หรือ 0.13% มูลค่าการซื้อขาย 5.49 หมื่นล้านบาท ภาพรวมการเคลื่อนไหวของ SET ถูกประคองจากการ rebound ของหุ้นขนาดใหญ่ในกลุ่ม ธ.พ. ตามด้วยกลุ่มปิโตรฯ ขณะที่ PTTEP ปิดบวกตามราคาน้ำมันดิบโลกที่ขยับขึ้น ส่วนหุ้นที่ฉุดตลาดคือ หุ้นโรงไฟฟ้า EA ลงแรงกว่า 9.03%
คาดว่าวันนี้ SET Index ยังแกว่งทรงตัวในกรอบ 1752 - 1770 จุด ให้น้ำหนักกับผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนงวด 1Q61 ตามมาด้วยราคาน้ำมันที่ฟื้นตัว เพราะความขัดแย้งในแหล่งผลิตแต่คาดว่าน่าจะเป็นเหตุการณ์ระยะสั้น ราคาน้ำมันระยะกลาง-ยาว ขึ้นกับปมปัญหาการค้าสหรัฐ-จีน
สถานการณ์ตะวันออกกลางระอุ..ราคาน้ำมันฟื้นสั้น ติดแนวต้าน 68-69 เหรียญฯ
ความกังวลสงครามการค้าสหรัฐ-จีนยังมีอยู่ และปัญหาด้าน Supply จากตะวันออกกลางที่ครุกรุ่นเพิ่มขึ้น หลังจากวานนี้ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ขู่จะยิงขีปนาวุธถล่มซีเรีย โดยให้เหตุผลว่า กองกำลังของซีเรียได้ใช้สารเคมีสังหารกลุ่มกบฎ และตามด้วยความรุนแรงในซาอุดิอาระเบีย (กำลังการผลิตราว 9.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน ราว 30%ของกลุ่ม OPEC) เมื่อ กลุ่มกบฏฮูตีของเยเมนได้ยิงขีปนาวุธโจมตีกรุงริยาด เมืองหลวงของซาอุดิฯ เมื่อวานนี้ (แต่ไม่มีความเสียหาย)
ปัญหาแหล่งผลิตน้ำมันมีน้ำหนัก หักล้างการรายงานสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐ ที่พลิกกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง 3.3 ล้านบาร์เรล มากกว่าตลาดคาดลดลง 6 แสนบาร์เรล หนุนราคาน้ำมันดิบดูไบแกว่งตัวขึ้นต่อเนื่อง ทำจุดสูงสุดในรอลบ 3 ปี ล่าสุดอยู่ที่ 69.3 เหรียญฯต่อบาร์เรล (ytd ราว 65 เหรียญฯใกล้เคียงสมมติฐาน ASPS) แต่เชื่อว่าน่าจะติดแนวต้าน 68-69 เหรียญฯ เนื่องจากระยะกลางและยังถูกกดดันจากปัญหาความขัดแย้งสหรัฐ-จีน ยังชอบ PTTEP(FV@B137) มี Upside 18.1%
เงินเฟ้อสหรัฐฯ เข้าสู่ขาขึ้น ดอกเบี้ยอาจ่ขึ้นแรงกกว่าคาด
อัตราเงินเฟ้อสหรัฐเดือน มี.ค. เพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 2 อยู่ที่ 2.4%yoy จาก 2.2% ในเดือน ก.พ. ผลจากราคาน้ำมัน, หมวดเคหสถาน, อาหารที่เพิ่มขึ้น (สูงกว่ากรอบที่ Fed ตั้งไว้ที่ 2.0%) ทำให้เชื่อว่าสหรัฐจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยฯได้อีก 2 ครั้งๆละ 0.25%ในปีนี้และขึ้นอีก 3 และ 2 ครั้ง ในปี 2562-2563 ทำให้ดอกเบี้ยฯ ณ.สิ้นปี อยู่ที่ 2.25%, 3.0% และ 3.5% ตามลำดับ สอดคล้องกับรายงาน Fed minute เมื่อคืนที่ผ่านมา โดยคณะกรรมการ Fed ยังสนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐ แต่ค่อยเป็นค่อยไป
อย่างไรก็ตาม สหรัฐจะขึ้นดอกเบี้ยได้เร็วกว่าที่คาดหรือไม่ ขึ้นกับราคาน้ำมันดิบและผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ ซึ่งถ้าสหรัฐขึ้นภาษีนำเข้า จะกดดันให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ตามต้นทุนสินค้าที่สูงขึ้น ซึ่งหาก Fed ยังขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าคาดเชื่อว่าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจสหรัฐในระยะยาว
ยอดขายรถยนต์ในประเทศฟื้น หนุนกำไร AH/SAT ใน 1H61
หุ้นที่เน้นเศรษฐกิจในประเทศที่คาดว่าจะมีผลกำไรเด่นใน 1Q61 และ จะต่อเนื่องใน 2Q61 คือ หุ้นชิ้นส่วนรถยนต์ ซึ่งได้อานิสงค์จากการฟื้นตัวของตลาดในประเทศ ซึ่งพบว่ายอดขายใน 2 เดือนแรก เติบโต 10% yoy (อยู่ที่ 1.41 แสนคัน) และตลาดส่งออกที่กระเตื้องขึ้นแม้เติบโตน้อย 3% แต่มีสัญญานดีขึ้นจากตลาดส่งออกหลักบางแห่ง คือออสเตรเลีย-นิวซิแลนต์ และ ตะวันออกกลาง เป็นต้น ซึ่งน่าจะดีต่อผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ที่จดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์ฯ
เริ่มจาก AH (ซื้อ:FV@B43) ซึ่งผลิตโครงรถกระบะคิดเป็น 65% ของรายได้ ผลิตให้กับ Food และ Izuzu ที่เหลืออีก 35% รายจากการเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ ตามมาด้วย SAT([email protected]) ผลิตเพลาข้างรถกระบะให้กับ Toyota และ Mitsubishi สัดส่วน 30% เท่ากัน ที่เหลือเป็นการผลิต เครื่องจักรกลการเกษตร เป็นต้น แต่หากพิจารณาราคาตลาดพบว่า AH มี upside มากกว่าสุดจึงเลือก AH เป็น Top pick
เริ่ม Earnings Preview 1Q61 หุ้น Real sector... โปรดติดตาม
หลังจากนักวิเคราะห์กลุ่ม ธ.พ. ได้ประเมินถึงผลการดำเนินงานงวด 1Q61 เติบโต 17.3% qoq (แต่ยังลดลง 5.8% yoy) จากค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ฯ ที่ลดลงมากของ ธ.พ. ขนาดใหญ่ ขณะที่กำไรจากธุรกิจหลักแผ่วตัวหลังผ่านช่วงฤดูกาลทั้งสินเชื่อฯ อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่เกิดจากการปรับลดค่าธรรมเนียมฯ นำไปสู่การลดประมาณการกำไรปี 2561-62 ของ ธ.พ. 6 แห่ง กระทบกำไรกลุ่มฯ เฉลี่ย 5-7% จากเดิม ทำให้ราคาหุ้น ธ.พ. หลายแห่งปรับฐานรุนแรง ฝ่ายวิจัยมองเป็นโอกาสสะสมหุ้นแข็งแกร่งที่มีปัจจัยหนุนเฉพาะตัว BBL (FV@B220) คาดกำไรสุทธิปี 2561เติบโต 9.4% yoy หนุนจากการเติบโตของธุรกิจหลักจากสินเชื่อรายใหญ่และ SME รวมถึงพันธมิตร AIA จะช่วยผลักดันการเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียมฯ ที่เป็นจุดอ่อน
หลังจากนี้คาดว่าจะมีการประเมินกำไร 1Q61 กลุ่ม real sector ตามมา กลุ่มไหนรุ่ง กลุ่มไหนร่วง สามารถติดตามได้จากนักวิเคราะห์พื้นฐานของ ASPS และสรุปได้ดังนี้
กลุ่มเกษตร-อาหาร :
CPF (FV@B30) คาดกำไรสุทธิ 1Q61 เท่ากับ 2.60 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.6% qoq (แต่ลดลง 34.4% yoy) หนุนด้วยกำไรจากการขายเงินลงทุน CPALL แต่หากพิจารณาผลการดำเนินงานจากธุรกิจหลักใน 1Q61 ยังขาดทุนกว่า 903 ล้านบาท เป็นผลจากราคาสุกรย่ำแย่ในช่วงที่ผ่านมา แต่มีแนวโน้ม ฟื้นตัวตั้งแต่ปลาย 2Q61เป็นต้นไป จากราคาสุกรในประเทศฟื้นตัวชัดเจน จากปัญหาสุกรล้นตลาดที่คลี่คลาย อีกทั้งเริ่มเข้าสู่ช่วง high season ของการส่งออกไก่สู่ต่างประเทศ
TU ([email protected]) คาดกำไรสุทธิงวด 1Q61 อยู่ที่ 830 ล้านบาท ลดลง 40.9% qoq และ 43.5% yoy เพราะนอกจากจากเป็นช่วง low season การส่งออกทูน่ากระป๋องและกุ้ง บริษัทฯ ยังได้รับผลกระต่อเนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบทูน่าที่อยู่ในระดับสูง แต่ใน 2Q61 คาดกำไรจะฟื้นตัวชัดเจน จากการเริ่มเข้าช่วง high season ของธุรกิจ รวมทั้งผลบวกจากราคาวัตถุดิบทูน่าและกุ้งที่เริ่มอ่อนตัวลง
กลุ่มท่องเที่ยวและโรงแรม : ฤดูกาลท่องเที่ยว และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ คาดหนุนผลประกอบการของกลุ่มธุรกิจโรงแรมทั้ง 3 บริษัท (MINT, CENTEL, ERW) ได้รับประโยชน์เต็มที่ (การเพิ่มขึ้นของอัตราการเข้าพักและค่าห้องพัก) เมื่อบวกกับการขยายธุรกิจโรงแรมใหม่ ช่วยหนุน กำไรปกติกลุ่มฯ 1Q61 เติบโตโดดเด่นและมีโอกาสทำจุดสูงสุดของปี (1Q60 กำไรรวม 2.9 พันล้านบาท)
MINT (FV@B50) อานิสงค์จากช่วงฤดูกาลและตรุษจีน ผลักดันรายได้เฉลี่ยต่อห้องพัก (revpar) เพิ่มขึ้น ส่วนธุรกิจอาหาร แม้ SSSG เดือน ม.ค. ติดลบเล็กน้อย (ปีก่อนมีเทศกาลตรุษจีน) แต่กลับมาเป็นบวกเดือน ก.พ. รวมทั้งการขยายสาขาใหม่ เป็นผลให้กำไร 1Q61 เติบโตอย่างแข็งแกร่ง
CENTEL (FV@B56) คาดกำไร 1Q61 เป็นช่วงที่ดีสุดของปี เพราะธุรกิจโรงแรมได้ประโยชน์จาก Peak Season ขณะที่ธุรกิจอาหาร แม้เดือน ก.พ. SSSG ติดลบราว 1.5% yoy แต่เริ่มมีสัญญาณบวกเดือน มี.ค. และจะสูงขึ้นเดือน เม.ย. จากเทศกาลวันหยุดยาว
ERW ([email protected]) คาดกำไร 1Q61 มีแนวโน้มแข็งแกร่งขึ้นอีก จากการขยายส่วนของโรงแรมในปี 2560 ทำให้ปี 2561 มีความพร้อมในการสร้างรายได้เต็มที่ นอกจากนี้ยังได้แรงหนุนจากโรงแรมใหม่ HOP INN อีก 2 แห่ง คาดผลักดันให้การดำเนินงานเติบโต YoY และ QoQ
กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง :
STEC (FV@B25) ผ่านพ้นวิกฤติไปแล้ว และเชื่อจะกลับมาทำกำไรได้ใน 1Q61 คาดกำไรสุทธิ อยู่ที่ 214 ล้านบาท ฟื้นตัวจาก 4Q60 ที่ขาดทุน ขณะที่การรับรู้รายได้งานก่อสร้างต่างๆ จะเพิ่มขึ้น และจะเติบโตแบบก้าวกระโดดตั้งแต่ 3Q61 เป็นต้นไป ส่วนของ Backlog บริษัทมีสูงถึง 1.3 แสนล้านบาท สามารถรองรับการสร้างรายได้ในอนาคตนานที่สุดถึง 4 ปี อีกทั้งยังมีศักยภาพในการรองรับงานประมูลที่จะมีเข้ามาอีกในอนาคต จึงเชื่อว่า STEC กำลังก้าวเข้าสู่ช่วงของการเติบโตรอบใหม่
กลุ่มวัสดุก่อสร้าง :
SCC (FV@B600) คาดผลการดำเนินงาน 1Q61 เพิ่มขึ้น 4.9%QoQ แต่ลดลง 24.2%YoY เนื่องจากงวด 1Q60 SCC มีกำไรจากการขายสินทรัพย์สูงถึง 1.9 พันล้านบาท ขณะที่ผลการดำเนินงานยังถูกขับเคลื่อนด้วยธุรกิจปิโตรเคมีเป็นหลักจาก spread HDPE-Naphtha ที่ดีดตัวขึ้น รวมทั้ง Demand ที่เพิ่มขึ้น คาดวัฏจักรขาขึ้นธุรกิจปิโตรเคมียืดไปถึงปี 2565 ส่วนธุรกิจหลักอื่นๆทั้ง ปูนซีเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง และ Packaging ยังถูกกดดันจากต้นทุนพลังงานและวัตถุดิบที่สูงขึ้น ขณะที่การฟื้นตัวของ Demand ยังเป็นไปอย่างเชื่องช้า แต่คาดน่าจะเห็นการฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง โดยรวมผลประกอบการปี 2561 ชะลอตัวลงเล็กน้อย 4.4%
หุ้นไทยถูกขายมากสุดในภูมิภาค
แม้วานนี้ต่างชาติสลับมาซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคราว 331 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิ 3 วัน) แต่เป็นการซื้อสุทธิเฉพาะตลาดหุ้นเกาหลีใต้เพียงแห่งเดียวเท่านั้น ด้วยมูลค่า 482 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิ 3 วัน) ตรงข้ามกับอีก 4 ประเทศ ที่ต่างชาติยังถูกขายสุทธิ คือ ไต้หวันถูกขายสุทธิ 17 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 6) ตามมาด้วยอินโดนีเซีย 9 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิเพียงวันเดียว), ฟิลิปปินส์ 12 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 4) และไทยที่ต่างชาติขายสุทธิสูงสุดในภูมิภาคกว่า 113 ล้านเหรียญ หรือ 3.52 พันล้านบาท (หลังจากซื้อสุทธิ 2 วัน) ต่างกับสถาบันในประเทศที่ซื้อสุทธิ 2.22 พันล้านบาท (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 4)
ส่วนทางด้านตลาดตราสารหนี้ไทย นักลงทุนสถาบันฯซื้อสุทธิ 1.91 หมื่นล้านบาท ต่างกับต่างชาติที่ขายสุทธิ 1.77 พันล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 2)
นักวิเคราะห์: ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
โยธิน ภูคงนิล ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์
OO7486