- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Friday, 05 September 2014 15:59
- Hits: 2186
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
เศรษฐกิจสหรัฐที่แข็งแกร่ง สวนทางกับยุโรป จะหนุนให้ดอลลาร์แข็งค่าต่อเนื่อง ซึ่งน่าจะกดดันราคาน้ำมันดิบและทองคำให้อ่อนตัว กลยุทธ์ยังเน้นลงทุนในหุ้นขนาด กลาง-เล็ก ที่การเติบโต และ Upside สูง STPI ([email protected]), GFPT (FV@B22), RML ([email protected]) และเลือก DEMCO (FV@B18) เป็น Top pick เช่นเดิม วันนี้เชิญชวนนักลงทุนพบผู้บริหาร DEMCO ที่ ASP
ติดตามเรื่องแนวทางเกี่ยวกับ กฎอัยการศึก
หลังจากที่ นายกรัฐมนตรีได้นำ คณะรัฐมนตรี เข้าถวายสัตย์ฯ เรียบร้อยแล้ว กระบวนการต่อไปจะเป็นการแถลงนโยบายต่อ สนช. ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วง 1-2 วันข้างหน้า โดยที่ คณะรัฐมนตรีมีกำหนดการที่จะเปิดการประชุมครั้งแรก วันอังคารที่ 9 ก.ย.2557 สำหรับประเด็นที่อยู่ในความสนใจในช่วงเวลานี้ ได้แก่แนวทางที่ คสช. จะดำเนินการเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎอัยการศึก โดยที่มีกระแสข่าวออกมาว่าจะมีการพิจารณาในวันนี้ ฝ่ายวิจัยประเมินว่า แนวทางที่เป็นไปได้เกี่ยวกับการบังคับใช้กฎอัยการศึกอาจมี 4 แนวทาง คือ
คงประกาศใช้กฎอัยการศึก แต่ผ่อนคลายให้ดำเนินกิจกรรมบางอย่างได้มากขึ้น ลักษณะเหมือนกับที่เคยประกาศยกเลิกเคอร์ฟิวในช่วงที่ผ่านมา แต่อาจเปิดโอกาสให้มีการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้บางส่วนเป็นต้น
ยกเลิกการบังคับใช้ กฎอัยการศึกในบางพื้นที่ เฉพาะอย่างยิ่งในเป้าหมายที่เป็นแหล่งการท่องเที่ยว และ ศูนย์กลางธุรกิจ ซึ่งอาจครอบคลุมประมาณ 22 จังหวัด ซึ่งดูเหมือนจะเป็นจุดที่นักลงทุนในตลาดหุ้น คาดหวังว่าจะเห็น
ยกเลิกการใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศ หากออกมาในแนวทางนี้ ก็น่าจะทำให้ SET Index ปรับตัวขึ้นต่อได้
คงระดับการบังคับใช้กฎอัยการศึก ตามเดิม เนื่องจากยังมีหลายปัญหาที่ คสช. จำเป็นต้องใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก เข้าทำการแก้ไข อย่างเช่นการรุกพื้นที่ราชการของกลุ่มอิทธิพล, การค้ายาเสพติด, การทำธุรกิจผิดกฎหมายของกลุ่มอิทธิพลต่างๆ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังเป็นการป้องปรามการประทุขึ้นของความขัดแย้งทางการเมืองที่อาจเกิดขึ้นได้ กรณีนี้น่าจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อ SET Index
คาดว่า SET Index วันนี้ น่าจะผันผวนรอผลสรุปของประเด็นดังกล่าว ส่วนภาพรวมของการเมือง ถือได้ว่าการดำเนินการต่างๆ ตามแผนงานที่ คสช. กำหนดไว้หลังยึดอำนาจการปกครอง เป็นไปตามกำหนด ซึ่ง SET Index ก็ได้ตอบสนองเชิงบวกต่อพัฒนาการดังกล่าวไปแล้ว
ยุโรปลดดอกเบี้ยอีกหวังกระตุ้นการใช้จ่ายครัวเรือน
ผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) วานนี้ มีมติให้ลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.1% เหลือ 0.05% ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ (หลังจากที่เดือน มิ.ย. เพิ่งลดไป 0.1%) และลดดอกเบี้ยเงินฝากลงจากเดิมติดลบ 0.1% เป็นติดลบ 0.2% และพร้อมจะประกาศแผนซื้อตราสารหนี้ที่มีสินทรัพย์ค้ำประกัน (ABS) และพันธบัตรรัฐบาล ตั้งแต่เดือน ต.ค. เป็นต้นไป ซึ่งคาดว่าขั้นต่ำวงเงินราว 7 แสนล้านยูโร หรือ 9.06 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อหวังว่าจะเพิ่มเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ และ เพิ่มกำลังซื้อของประชาชน และการลงทุนภาคเอกชน เพื่อฟื้นฟูอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำ 0.3% อย่างไรก็ตามเชื่อว่าในขั้นตอนการปฏิบัติอาจจะยุ่งยากกว่าประเทศอื่น ๆ ที่เคยทำมา เนื่องจากสหภาพยุโรป มีประเทศสมาชิก 18 ประเทศ การจัดสรร เม็ดเงินอาจจะต้องพิจารณาจากขนาดของเศรษฐกิจของ GDP ในแต่ละประเทศ แต่อย่างไรก็ตามถือว่าการเพิ่มมาตรการกระตุ้นน่าจะช่วงสร้างความเชื่อมั่นว่าจะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจในกลุ่ม แต่แน่นอนผลกระทบใน ระยะสั้นคงมีผลต่อค่าเงินยูโรต้องอ่อนค่าต่อไป ซึ่งจะได้พูดถึงในย่อหน้าต่อไป
เช่นเดียวกับญี่ปุ่น ผลการประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่น มีมติให้คงวงเงินเข้าซื้อสินทรัพย์ ที่ระดับเดิม 60-70 ล้านล้านเยน (จากเพดาน 101 ล้านล้านเยน) เพื่อรักษาระดับเงินเฟ้อ และพยุงเศรษฐกิจ หลังจากได้มีการขึ้นภาษีขายอีก 3% ไปเมื่อ เม.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งได้กดดันการใช้จ่ายภาคครัวเรือน (60% ของเศรษฐกิจญี่ปุ่น) อ่อนตัวชัดเจน ล่าสุด เดือน ส.ค. ปรับลดลง 5.9 %yoy หรือ ลดลง 5%qoq ซึ่งคล้ายกับในอดีตเมื่อ เดือน เม.ย. 2540 การขึ้นภาษีขาย 2% เป็น 5% ทำให้การบริโภคของผู้บริโภคในงวด 2Q41 หดตัวกว่า 29%yoy และทำให้ GDP ในงวด 2Q41 หดตัวถึง 2.4%yoy และ ต้องใช้เวลาหลังจากนั้นถึง 5 ไตรมาสกว่า เศรษฐกิจจึงกลับมาขยายตัวอีกครั้ง ดังนั้นจึงคาดว่าช่วง 2H57 น่าจะชะลอตัวหลังงวด 1H57 เติบโตเฉลี่ย 1.45%
สหรัฐ รายงานดัชนีชี้นำเศรษฐกิจแข็งแกร่งต่อเนื่อง ล่าสุดพบว่า ดัชนี PMI ภาคบริการ (มาร์กิต) เดือน ส.ค. เพิ่ม 1.7% mom ขณะที่ตลาดแรงงานยังคงฟื้นตัว แม้อาจจะผันผวนระยะสั้น กล่าวคือ ผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในสัปดาห์ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 4,000 ราย อยู่ที่ระดับ 302,000 ราย สูงกว่าค่าเฉลี่ย 4 สัปดาห์ที่ 3,000 ราย และ การจ้างงานภาคเอกชน จาก ADP แม้จะเพิ่มขึ้น 204,000 ตำแหน่ง แต่ยังลดลงจากเดือนก่อนหน้า 8,000 ตำแหน่ง ขณะที่คาดว่าในวันนี้จะมีการรายงานตัวเลขตลาดแรงงานการจ้างงานนอกภาคการเกษตร เดือน ส.ค. จะเพิ่มขึ้น 230,000 ตำแหน่ง สูงกว่าเดือนก่อนหน้าที่ 209,000 ตำแหน่ง และคาดว่าอัตราการว่างงานในสหรัฐน่าจะคงที่ ระดับ 6.1% (เทียบกับที่ระดับ 5.5% ในช่วงก่อนวิกฤติการเงิน) ซึ่งยังเป็นข้ออ้างของ FOMC ที่ยืดการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไปกลางปี 2558
ไทย ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ส.ค. อยู่ที่ 80.1 เพิ่มขึ้น 2.4%mom ซึ่งเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 (สูงที่สุดในรอบ 13 เดือน) และสอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมใน เดือน ส.ค. อยู่ที่ 70.1 เพิ่มขึ้น 2.3% mom เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 (เป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบ 13) ซึ่งเป็นการตอกย้ำกว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะมีแนวโน้มฟื้นตัว ชัดเจนในงวด 2H57 โดยมีรูปแบบ V-Shape (คาดว่าจะขยายตัวเฉลี่ย 3.1% ในงวด 2H57 และ ทำให้ตลอดทั้งปี ขยายตัวได้ 1.5%) ขณะที่ในปี 2558 คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 3.5% โดยการทำงานของเครื่องจักรทุกตัว โดยเฉพาะ การบริโภคครัวเรือน และ การลงทุนโดยรวม ส่วนการนำเข้า–ส่งออก จะค่อยเป็นค่อยไป ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
ดอลลาร์มีแนวโน้มแข็งค่าต่อกดดันสินทรัพย์เสี่ยง
ผลกระทบจากการลดดอกเบี้ยในสหภาพยุโรป และมีแนวโน้มจะเพิ่มมาตรการในการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ คาดว่าจะกดดันให้ค่าเงินยูโรอ่อนค่าต่อไป หลังจากที่อ่อนค่าแล้ว 7% ตลอด 4 เดือนที่ผ่านมา (พ.ค. - ปัจจุบัน) สวนทางกับ Dollar Index แข็งค่าต่อเนื่อง 6.08% ในช่วงเดียวกัน ซึ่งน่าจะกดดันต่อสินทรัพย์เสี่ยงโดยเฉพาะน้ำมัน และ ทองคำ เป็นต้น
ทั้งนี้หากย้อนกลับไปที่ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมาสหรัฐที่มีการใช้ QE หลายรอบ กล่าวคือ เดือน มิ.ย. 2551 มีการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบผ่าน QE รอบแรกมากสุดถึง 1.75 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ถัดมา คือ 7.2 แสนล้านเหรียญฯ และ 7.2 แสนล้านเหรียญฯ ในปี 2554 และ 2556 ตามลำดับ ซึ่งพบว่า ได้กดดันให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าสูงสุดราว 17.3% ราว 1 ปี หลังจากใช้ QE แต่หลังจากนั้นค่าเงินดอลลาร์มีทิศทางแกว่งตัว ตรงกันข้ามกับค่าเงินยูโรแข็งค่า เมื่อเทียบกับดอลลาร์ ในอัตราสูงถึง 23% ราว 1 ปี ในช่วงเดียวกัน และเริ่มแกว่งตัวหลังจากนั้น แต่เป็นที่สังเกตว่าในช่วงเวลา ที่ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าในตลาดโลกดังกล่าว ได้มีส่วนสำคัญที่หนุนให้สินทรัพย์เสี่ยงส่วนใหญ่มีแนวโน้มปรับตัวขึ้น กล่าวคือ ทั้งราคาน้ำมันดิบโลก และ ราคาทองคำได้ทะยานขึ้นในอัตราสูงทำสถิติสูงสุด (ราคาน้ำมันดูไบจาก 38 เหรียญฯ ขึ้นมาสูงสุดที่ 124.7 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล 16 มี.ค. 2555 หรือกว่า 230% และทองคำ จาก 680 เหรียญฯ สู่ 1,883 เหรียญฯ ต่อทรอยออนซ์ ในเดือน ก.ย. 2554 หรือกว่า 180%) แต่หลังจากนั้นก็เริ่มแกว่งตัวในทิศทางตรงกันข้ามกับดอลลาร์ กล่าวคือ ดอลลาร์แข็งค่าขึ้น แต่สินค้าโภคภัณฑ์กลับมาราคาลดลงมาโดยตลอด
โดยสรุป ในสถานการณ์ปัจจุบัน การที่ดอลลาร์มีแนวโน้มแข็งค่าน่าจะมีอิทธิพลกดดันให้ราคาน้ำมันดิบ และทองคำในทิศทางอ่อนค่า แต่ตรงข้ามอาจจะเป็นผลดีต่อตลาดหุ้น เพราะการอัดฉีดเงินเข้าสูระบบของยุโรป น่าจะหนุนให้เงินไหลออกจากยุโรป เพื่อไปสู่ตลาดที่ให้ผลตอบที่สูงกว่า ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยหนุนตลาดหุ้นโลกในระยะถัดไป
ECB ลดดอกเบี้ยหนุนเงินทุนไหลเข้า
วานนี้นักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคติดต่อกันเป็นวันที่ 13 แต่ลดลงจากวันก่อนหน้าถึง 82% เหลือเพียงราว 88 ล้านเหรียญฯ โดยที่ยอดซื้อสุทธิลดลงในทุกประเทศ กล่าวคือ เกาหลีใต้ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 8 ลดลง 67% เหลือราว 46 ล้านเหรียญฯ ตามมาด้วยไทย ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 5 แต่ลดลง 47% เช่นกัน เหลือราว 32 ล้านเหรียญฯ (1.0 พันล้านบาท) ส่วนอินโดนีเซียซื้อสุทธิติดต่อกันเป็นวันที่ 2 ราว 13 ล้านเหรียญฯ (ลดลง 67%) และไต้หวันซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2 แต่ลดลงถึง 96% เหลือเพียง 9 ล้านเหรียญฯสวนทางกับ ฟิลิปปินส์ที่สลับมาขายสุทธิราว 11 ล้านเหรียญฯ (ขายสลับซื้อ 3 วันหลังสุด)
ทั้งนี้การที่ ECB ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง และเดินหน้าแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจ น่าจะเป็นปัจจัยหนุนตลาดหุ้นในช่วงสั้นให้กระแสเงินทุนจากต่างชาติไหลเข้าในภูมิภาคอีกครั้งหลังจากที่เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะในกลุ่ม TIP ขณะที่ตลาดหุ้นไทยวานนี้ถูกกดดันจากแรงขายจากกลุ่มนักลงทุนสถาบันที่ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 ราว 2.5 พันล้านบาท สูงสุดในรอบกว่า 1 เดือน (รวม 3 วันขายสุทธิ 3.5 พันล้านบาท) และคาดว่านักลงทุนกลุ่มนี้น่าจะเป็นผู้ขายกดดันดัชนีต่อเนื่องหลังจากที่ซื้อสุทธิตั้งแต่ต้นปีรวมกว่า 3.6 หมื่นล้านบาท
ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล