WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ASPบล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน 

กลยุทธ์การลงทุน
  การยืนยันใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายของ ธปท. แม้วัฎจักรดอกเบี้ยอยู่ในขาขึ้น ขณะที่ SET Index ย่อตัวลงมา ทำให้ EYG ขยายกว้างขึ้น อาจมีส่วนช่วยดึงดูดเม็ดเงินลงทุนภายในประเทศ ให้เข้ามาพยุงตลาดหุ้น อย่างไรก็ตามด้วย Fund Flow ของนักลงทุนต่างชาติที่ยังไหลออกทำให้ SET Index ยังต้องผันผวนต่อไป การเลือกหุ้นจึงต้องเน้นไปในกลุ่มหุ้นที่มีปัจจัยขับเคลื่อนที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเติบโตของผลประกอบการ การจ่ายเงินปันผลที่สม่ำเสมอ หรือหุ้นที่ Laggard Top picks วันนี้ยังเป็น BJC (FV@B73) และ BCH (FV@B 18.60)
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย..... SET Index ปรับตัวลงต่อเนื่อง 7 วันติดต่อกัน
  วานนี้ SET Index ขยับขึ้นแรงระหว่างวัน ด้วยปัจจัยหนุนจาก สนช. มีมติเห็นชอบร่างกฏหมายเลือกตั้ง ทั้งร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ด้วยมติเอกฉันท์ 211 คะแนน และร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ด้วยมติเสียงข้างมาก 202 ต่อ 1 คะแนน ขั้นตอนหลังจากนี้จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายและประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป ซึ่งหากเป็นไปตามลำดับเช่นนี้ กรอบเวลาการเลือกตั้งน่าจะยังคงเป็นช่วง ก.พ. 2562 ตามเดิม อย่างไรก็ตามตลาดได้ซึมซับข่าวค่อนข้างเร็วจึงเกิดแรงขายทำกำไรออกมาในช่วงท้าย ส่งผลให้ดัชนีปิดตลาดที่ 1,778.90 จุด ลดลง 2.74 จุด หรือ -0.15% มูลค่าการซื้อขาย 7.2 หมื่นล้านบาท แรงกดดันมาจากกลุ่มพลังงาน โดยเฉพาะ PTT ลดลง 1.48 % สวนทางกับ PTTEP GPSC และหุ้นกลุ่มปิโตรฯ อย่าง PTTGC IVL ที่เพิ่มขึ้น 0.9%, 3.56%, 1.64% และ 1.45% ตามลำดับ ขณะที่ตลาดได้แรงหนุนจากกลุ่ม ร.พ. BDMS เพิ่มขึ้น 3.13% BH เพิ่มขึ้น 2.84%, กลุ่ม ICT คือ ADVANC เพิ่มขึ้น 1.77% และกลุ่ม ธ.พ. BBL เพิ่มขึ้น 1.46% และ BAY เพิ่มขึ้น 1.17%
  สำหรับแนวโน้มตลาดหุ้นวันนี้ คาดดัชนีน่าจะแกว่งผันผวน ในกรอบ 1774 - 1795 จุด
  
ทรัมป์ลงนามขึ้นภาษีเหล็ก, อลูมิเนียมแล้ว ส่วนการประชุม ECB ส่งสัญญาณตึงตัวมากขึ้น
  วานนี้ ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ลงนามคำสั่งฯ อนุมัติการขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอลูมิเนียม โดยเหล็กปรับขึ้นอัตราภาษีเป็น 25% จากเดิม 0-10% และ อลูมิเนียมปรับขึ้นเป็น 10% จากเดิม 0-6.5% มีผลบังคับใช้ในอีก 15 วันจากนี้ แต่ได้ยกเว้นให้กับแคนาดาและเม็กซิโก เนื่องจากเป็นคู่ค้าสำคัญของสหรัฐ ทั้งยังอยู่ในขั้นตอนเจรจาปรับปรุงสนธิสัญญา NAFTA อยู่ โดยแคนาดาและเม็กซิโกมีสัดส่วนการค้า (X+M) กับสหรัฐสูงถึง 64.64% และ 64.07% ตามลำดับ
  ทั้งนี้ คาดว่ามาตรการดังกล่าวจะกระทบต่อคู่ค้าหลักของสหรัฐ โดยเหล็กน่าจะกระทบต่อบราซิล, เกาหลีใต้ และรัสเซีย เนื่องจากสหรัฐนำเข้าเหล็กจากประเทศเหล่านี้ราว 13%, 10% และ 9% ตามลำดับ ขณะที่อลูมิเนียมน่าจะกระทบต่อ รัสเซีย,  สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และจีน เนื่องจากสหรัฐนำเข้าอลูมิเนียมจากประเทศเหล่านี้ราว 11%, 10% และ 10% ตามลำดับ แม้จะดีต่อผู้ผู้ผลิตในสหรัฐ แต่กลับกระทบกับผู้บริโภคที่ต้องซื้อสินค้าแพงขึ้นเช่นกัน ขณะที่ไทย แม้จะมีสัดส่วนการส่งออกเหล็กและอลูมิเนียมไปสหรัฐไม่มากนักเพียง 0.06% และ 0.1% ตามลำดับ แต่คาดว่าจะได้รับผลกระทบทางอ้อม โดยเฉพาะเหล็กจากการที่เหล็กล้นตลาด เพราะผู้ผลิตเหล็กจะเน้นทำตลาดในสหรัฐน้อยลง และอาจหันมาทุ่มตลาดในเอเซียแทน ซึ่งในส่วนของประเทศไทยก็มีเครื่องมือที่อาจถูกหยิบมาใช้ป้องกับการทุ่มตลาดอย่างเช่นการกำหนด Save Guard และ AD (Anti Dumping)
  ส่วนผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0% ตามที่ตลาดคาด แต่ ECB ได้เริ่มส่งสัญญาณการใช้นโยบายการเงินตึงตัวมากขึ้น คาดว่าเป็นในช่วง 4Q61 หลังจากที่แผนการใช้มาตรการ QE สิ้นสุดในเดือน ก.ย. 2561 เนื่องจากเงินเฟ้อล่าสุด อยู่ที่  1.2% สูงกว่าดอกเบี้ยนโยบาย ที่ 0% ขณะที่การประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) คาดว่าจะยังไม่มีการปรับเปลี่ยนทั้งอัตราดอกเบี้ยและมาตรการ QQE แต่มีโอกาสที่จะส่งสัญญาณจะกลับมาใช้นโยบายการเงินตึงตัวในปี  2562  เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นแรงอยู่ที่ 1.4% ในเดือน ก.พ.จาก 0.2%  ใน พ.ย.2560
ดัชนี CCI ชะลอตัวเดือนแรกในรอบ 7 เดือน
  มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (CCI) เดือน ก.พ. ปรับลดลงครั้งแรกในรอบ 7 เดือน 0.88%mom มาอยู่ที่ระดับ 79.3 จุด เนื่องจากประชาชนมีความกังวลประเด็นการเลือกตั้งที่เลื่อนออกไปเป็นเดือน ก.พ.62 , ราคาพืชผลทางการเกษตรบางรายการ อาทิ เนื้อสัตว์, ไข่ และผัก ยังทรงตัวในระดับต่ำ และค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าอย่างรวดเร็ว ซึ่งกระทบต่อภาคส่งออก
  อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าแนวโน้มการบริโภคในปี 2561 ยังถูกชดเชยจากมาตรกระตุ้นภาครัฐ โดยเฉพาะการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ย 3.45%, บัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อยเดือนละ 300-500 บาทระยะเวลาตั้งแต่ ม.ค.-ธ.ค. 2561 และภาษีท่องเที่ยวที่นำค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวจังหวัดรอง 55 จังหวัดมาลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 1.5 หมื่นบาท ซึ่งมีผลตลอดทั้งปี 2561 เป็นต้น ทำให้เป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยควบคู่กับการลงทุนในประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนเอกชน มีสัญญาณฟื้นตัวต่อเนื่องจากยอดขอ BOI  และ พ.ร.บ. EEC ที่พร้อมประกาศใช้ใน 1Q61 ซึ่งมุ่งเน้นให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีและมิใช่ภาษี  อาทิ ให้สิทธิต่างชาติเช่าที่ดิน 99 ปี จากเดิม 50 ปี และลดภาษีบุคคลธรรมดาเหลือ 17% จากเดิมขั้นบันได้สูงสุด  35% และการลงทุนภาครัฐลงทุนภาครัฐน่าจะเห็นความคืบหน้ามากขึ้น โดยคาดว่าปี 2561 น่าจะมีที่อนุมัติและรอประมูลกว่า 1.52 แสนล้านบาท โดยรวมเชื่อว่า GDP Growth ไทยปี 2561 จะขยายตัวได้ราว 4.2%yoy
ไทยน่าจะยังตรึงดอกเบี้ยต่อตลอด 1H61 ขณะที่ SET Index ปรับลง หนุน EYG เปิดกว้างขึ้น
  ท่ามกลางแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น โดยการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) วันที่ 21 – 22 มี.ค. นี้ น่าจะมีการปรับดอกเบี้ยฯ ขึ้นอีก 0.25% ส่งผลให้ดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐขึ้นมาอยู่ที่ 1.75% ซึ่งสูงกว่าดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่ 1.5% อย่างไรก็ตามธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังคงยืนยันว่า ไทยไม่จำเป็นต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบายตามดอกเบี้ยโลก(สหรัฐ) เนื่องจากดอกเบี้ยนโยบายของแต่ละประเทศขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจของประเทศเป็นหลัก แม้ว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มขยายตัวต่อเนื่องและชัดเจนมากขึ้น แต่อุปสงค์ในประเทศที่ปรับดีขึ้นยังไม่แข็งแรง อีกทั้งอัตราเงินเฟ้อไทยยังคงต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย ล่าสุดอัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.พ. อยู่ที่ 0.42% ลดลงเป็นเดือนที่ 3 ทำให้ Gap ระหว่างดอกเบี้ยนโยบายกับอัตราเงินเฟ้อยังกว้างอยู่ (สะท้อนอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงยังอยู่ในระดับต่ำ)
  ขณะที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำและ Bond Yield ที่แปรผันตามอัตราดอกเบี้ย กอปรกับ SET Index ที่มีการปรับลดลงมาจากช่วงก่อนหน้า จึงเห็น Earning Yield Gap (EYG) เปิดกว้างขึ้น อยู่ที่ 4.27% ( Vs.ต้นเดือน ก.พ. ที่ 4%) เมื่อผลตอบแทนของหุ้นอยู่ในระดับที่สูงขึ้น ทำให้การลงทุนในตลาดหุ้นเป็นตัวเลือกหนึ่งที่อาจจะดึงดูดเม็ดเงินให้ไหลเข้ามาได้
ประมูลแหล่งบงกช PTTEP มีความพร้อม หากชนะประมูลถือเป็น Upside ส่วนเพิ่ม
  ที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติเห็นชอบร่างหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการเปิดประมูล (TOR) สำหรับสัมปทานจะสิ้นอายุในปี 2565-66 โดยมีข้อสรุปเบื้องต้น ดังนี้ สัญญาสัมปทานจะอยู่ในรูปแบบแบ่งปันผลผลิต (PSC) รวมถึงการกำหนดพื้นที่การประมูลจากเดิม 2 บ่อ 7 สัญญา เหลือเพียงบ่อละ 1 สัญญา โดยแหล่งเอราวัณ เสนอปริมาณผลิตขั้นต่ำ 800 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 10 ปี ส่วนแหล่งบงกช เสนอปริมาณผลิตขั้นต่ำ 700 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 10 ปี โดยมีเงื่อนไขว่าผู้ร่วมประมูลจะเสนอราคาก๊าซ โดยอ้างอิงราคาก๊าซที่ใช้ในปัจจุบัน ตามสูตรราคาที่จะกำหนดในเอกสารเงื่อนไขการประมูล ซึ่งปัจจุบันราคาก๊าซเฉลี่ยในอ่าวไทยอยู่ราว 200 บาทต่อล้านบีทียู พร้อมทั้งเสนอสัดส่วนการแบ่งกำไรให้แก่รัฐ ซึ่งจะต้องไม่ต่ำกว่า 50%
  ทั้งนี้หลักเกณฑ์สำคัญในขั้นตอนการแข่งขันประมูลที่ภาครัฐจะใช้พิจารณา คือ ราคาก๊าซและส่วนแบ่งกำไรแก่รัฐ ซึ่งผู้ประกอบการที่ยื่นเสนอราคาก๊าซต่ำสุด และเสนอส่วนแบ่งกำไรให้แก่รัฐบาลสูงสุด จะเป็นผู้ชนะการประมูล
โดยขั้นตอนกระบวนการประมูล และระยะเวลาจากนี้จะเริ่มจาก
  1) กรมเชื้อเพลิงจะต้องไปจัดทำรายละเอียดเอกสารหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการเปิดประมูล (TOR) ให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือน มี.ค. 2561
  2) นำ TOR ดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุม กพช. เพื่อขออนุมัติอีกครั้งในวันที่ 23 เม.ย. 2561
  3) ประกาศ TOR ช่วงปลายเดือน เม.ย.-ปลายเดือน พ.ค. 2561 ให้ผู้เข้าร่วมประมูลยื่นเอกสาร
  4) ประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติเดือน มิ.ย. 2561
  5) เข้าสู่ขั้นตอนการประมูล ซึ่งคาดจะประกาศผู้ชนะประมูลในเดือน ธ.ค. 2561
  6) ลงนามในสัญญากับผู้ชนะการประมูลได้ในเดือน ก.พ. 2562
  อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีผู้สนใจเข้าร่วมประมูล 10 ราย ซึ่ง 1 นั้น ได้แก่ PTTEP (ปัจจุบันถือสัมปทานในแหล่งบงกชอยู่ 66.67%) ซึ่งมีความพร้อมที่จะเข้าร่วมประมูลทั้ง 2 แหล่ง จากประสบการณ์ความชำนาญที่พัฒนาแหล่งบงกชมา รวมถึงฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง ทั้งนี้หาก PTTEP ชนะการประมูลจะถือเป็น upside จากประมาณการปัจจุบันที่กำหนด FV ณ สิ้นปี 2561 (DCF) เท่ากับ 137 บาท/หุ้น
Spread ปิโตรเคมีดีดตัวขึ้นชัดเจนตั้งแต่เดือน ก.พ. สวนทางกับราคาหุ้น SCC ที่ปรับลดลง
  ราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในสาย Olefins ที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ต้นเดือน ก.พ.61 จนถึงปัจจุบัน ทำให้ Spread ระหว่าง HDPE-Naphtha เฉลี่ยในงวด 1Q61 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 803 เหรียญฯ/ตัน สูงกว่าค่าเฉลี่ยในงวด 4Q60 ที่ 656 เหรียญฯ/ตัน น่าจะส่งผลบวกต่อกำไรของธุรกิจปิโตรเคมีของ SCC ที่อยู่ในสาย Olefin เป็นหลัก โดยที่ปัจจุบันกำไรจากธุรกิจปิโตรเคมีคิดเป็นสัดส่วนกำไรมากกว่า 70% ของกำไรทั้งหมดที่ SCC ทำได้ ช่วยหักล้างผลกระทบจากธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างที่ผลประกอบการยังคงถูกกดดันจากต้นทุนถ่านหินที่ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง สวนทางกับราคาขายปูนถุงในเดือน ก.พ. ที่ปรับตัวลดลง 40 บาท หรือ 2% จากเดือน ม.ค. 61 ได้ทั้งหมด นอกจากนี้ SCC ยังถือเป็นหุ้น Big Cap ที่ Laggard ตลาดอย่างมาก โดยตั้งแต่ต้นปี 2560 ถึงปัจจุบัน ราคาหุ้น SCC ปรับตัวลง 1.6% ขณะที่ SET Index ปรับตัวขึ้นมาแล้วถึง 15.3%  เชื่อว่าแนวโน้มผลประกอบการ 1Q61 ของ SCC ที่น่าจะออกมาโดดเด่น ประกอบกับ Upside ของดัชนีที่ค่อนข้างจำกัดในเชิง Valuation น่าจะทำให้เห็นการหมุนเวียนกลุ่มลงทุนจากหุ้นแพง กลับมาสู่หุ้นที่มีพื้นฐานดีและมีราคาถูกอย่าง SCC โดยฝ่ายวิจัยแนะนำ ซื้อ ประเมิน FV ที่ 600 บาท เทียบเท่า PER 13.69 เท่า
ต่างชาติขายหุ้นในภูมิภาคเกือบทุกแห่ง รวมถึงไทย
  วานนี้ต่างชาติขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 ด้วยมูลค่ารวม 100 ล้านเหรียญ และเป็นการขายสุทธิเกือบทุกประเทศ ยกเว้นตลาดหุ้นไต้หวันเพียงแห่งเดียวเท่านั้นที่ต่างชาติซื้อสุทธิ 18 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิเพียงวันเดียว) ส่วนที่เหลืออีก 4 ประเทศ ต่างชาติยังขายสุทธิ คือ เกาหลีใต้ถูกขายสุทธิ 42 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 2) ตามมาด้วยอินโดนีเซีย 12 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 7), ฟิลิปปินส์ 14 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 13)  และไทยที่ถุกต่างชาติขายสุทธิอีก 50 ล้านเหรียญ หรือ 1.56 พันล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 2) ต่างกับนักลงทุนสถาบันฯที่สลับมาซื้อสุทธิ 1.25 พันล้านบาท (หลังจากขายสุทธิเพียงวันเดียว)
  ส่วนทางด้านตลาดตราสารหนี้ไทย นักลงทุนสถาบันฯซื้อสุทธิ 5.95 หมื่นล้านบาท เช่นเดียวกับต่างชาติที่ซื้อสุทธิเล็กน้อย 334 ล้านบาท (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2)
ภรณี ทองเย็น  เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม  เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์  เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์  เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์  เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
โยธิน ภูคงนิล  ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร  ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์
OO6246

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!