- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Wednesday, 03 September 2014 14:41
- Hits: 2353
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
การขับเคลื่อนเศรษฐกิจพร้อมเดินหน้าหลังได้รัฐบาล ซึ่งคาดว่าน่าจะเดินหน้าการลงทุนสาธารณูปโภคฟื้นฐานทั้งระบบขนส่ง ไฟฟ้า และโทรคมนาคม จึงเลือก DEMCO(FV@B18) เป็น Top pick เนื่องจากเป็นทั้งผู้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าและระบบสายส่ง ขณะที่ราคาหุ้นมี P/E ต่ำสุดในกลุ่ม
การเมืองเดินหน้าไปได้ตามแผน ขณะที่ SET Index ก็ได้ดูดซับข่าวไปแล้ว
กกต. สรุปจำนวนผู้สมัครรับการคัดเลือกเป็นสมาชิกสภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช.) ช่วงวันที่ 14 ส.ค. – 2 ก.ย.2557 มีจำนวนทั้งสิ้น 6,729 คน (เดิม กกต. คาดว่าจะมีจำนวนผู้สมัครประมาณ 3,000 คน) โดยจะต้องคัดเลือกให้เหลือ 250 คน ซึ่งจะได้ข้อสรุป 2 ต.ค.2557 หลังจากนั้นกระบวนการในการร่างรัฐธรรมนูญจะเริ่มขึ้น โดย สปช. มีหน้าที่ในการเสนอความเห็นในแง่มุมต่างๆ เพื่อให้ คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญรับไปเป็นแนวทางในการร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีระยะเวลาในการพิจารณา 60 วัน ในการประชุมเพื่อสรุปความเห็น หลังจากนั้นก็จะเป็นหน้าที่ของกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ ที่จะต้องดำเนินการยกร่าง โดยมีระยะเวลา 120 วัน เมื่อแล้วเสร็จ สปช. ก็จะมีบทบาทอีกครั้งในการลงมติเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบ ร่างรัฐธรรมนูญ หากทุกอย่างดำเนินไปอย่างราบรื่น คาดว่าร่างรัฐธรรมนูญน่าจะเสร็จพร้อมนำขึ้นทูลเกล้าฯ ได้ประมาณกลางเดือน ก.ย.2558
ในส่วนของรัฐบาลหลังจากที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ แล้ว ต่อไปก็จะเป็นการเข้าเฝ้าเพื่อถวายสัตย์ฯ และแถลงนโยบายต่อ สนช. ก่อนที่จะเริ่มงาน ซึ่งกระบวนการต่างๆ น่าจะจบได้ภายในสัปดาห์หน้า ส่วนความคาดหวังในเรื่องการประกาศยกเลิกกฎอัยการศึก คาดว่าจะยังไม่เกิดขึ้นในระยะเวลาสั้นๆ แต่เป็นไปได้มากที่จะเห็นการผ่อนคลายการใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก หรือการยกเลิกในบางพื้นที่ ซึ่งน่าจะส่งผลเชิงบวกเล็กน้อยต่อบรรยากาศการซื้อขายในตลาดหุ้น ส่วนระยะเวลาในการทำงานของรัฐบาลใหม่ นายกรัฐมนตรี ให้ความเห็นว่า ไม่ควรตั้งเงื่อนเวลาเข้ามาเป็นตัวกำหนดการทำงาน พร้อมกับเน้นย้ำให้ คณะรัฐมนตรี เร่งทำงานให้เกิดผลโดยเร็ว ทั้งนี้ในความเห็นของฝ่ายวิจัย คิดว่ากรอบระยะเวลาในการทำงานของรัฐบาล โดยหลักการแล้ว จะถูกกำหนดด้วยระยะเวลาที่ใช้เพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญใหม่ และนำไปสู่การเลือกตั้ง ซึ่งคาดว่าจะเป็นช่วงปลายปี 2558 หรือต้นปี 2559 โดยภาพรวมของสถานการณ์ทางการเมืองแล้ว ถือว่าไม่ได้มีประเด็นที่จะเข้ามาสร้างแรงกดดันต่อ SET Index แต่ขณะเดียวกัน SET Index ก็ได้สะท้อนภาพพัฒนาการเชิงบวก และความเสี่ยงทางการเมืองที่ลดไปแล้วเช่นกัน
GDP ปีนี้น่าเหลือ 1.5% หลังส่งออกต่ำกว่าเป้า
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เตรียมปรับลด เป้าส่งออกสินค้าลง จากเดิมคาดว่าขยายตัว 3% เนื่องจากการส่งออกสินค้า 7 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ค. 2557) หดตัว 0.2% เช่นเดียวกับการหดตัวของการนำเข้า ดังนั้นคาดว่าการส่งออกสุทธิจะไม่กระทบต่อประมาณการเศรษฐกิจรวมมากนัก เนื่องจาก ธปท. เชื่อว่าการหดตัวของการส่งออก จะถูกชดเชยด้วยการขยายตัวในช่วง 2H57 ได้แก่ ภาคการใช้จ่าย (55% ของ GDP), การลงทุนภาคเอกชน (22% ของ GDP), การใช้จ่ายภาครัฐ (9% ของ GDP) ซึ่งจะมีการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ ปี 2558 โดยมีเป้าหมาย 96% ของวงเงินรายจ่ายรวม 2.5 ล้านล้านบาท และการลงทุนภาครัฐ (6% ของ GDP) เบิกจ่าย 87% ของงบลงทุนรวม 450,110 ล้านบาท โดยงวด 1Q58 จะเบิกจ่ายงบลงทุนให้ได้ 35% คิดเป็นวงเงิน 157,538.5 ล้านบาท ขณะที่อีก 3 ไตรมาสที่เหลือ ตั้งเป้าเบิกจ่ายไว้ไตรมาสละ 20%
เช่นเดียวกับ ASP ที่ได้ปรับลดเป้าส่งออกสินค้า ปี 2557 เหลือ1.7% (จากเดิม 5.7%) ทำให้การส่งออกสินค้าและบริการรวมขยายตัว 1% (จากเดิม 6.1%) เนื่องจาก 1H57 เห็นการหดตัวอย่างชัดเจนของภาคการส่งออก ทั้งผลกระทบจากคู่ค้าที่ชะลอตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดจีน และ อาเซียน รวมทั้งได้ปรับลด GDP Growth ลงเหลือ 1.5% (เป็นไปทิศทางเดียวกับค่าเฉลี่ยใน consensus) จากเดิมคาดขยายตัว 2% ซึ่งติดตามอ่านรายละเอียดใน Economic Update บ่ายวันนี้
ดอลลาร์แข็งค่า กดดันสินทรัพย์เสี่ยงอื่น ๆ อ่อนค่า
ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจสหรัฐยังส่งสัญญาณการฟื้นตัวที่แข็งแกร่ง หลังจากการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่ฟื้นตัวตามตลาดแรงงาน ล่าสุดพบว่าภาคการลงทุนฟื้นตัวในลักษณะเดียวกันคือ ภาคก่อสร้าง เพิ่มขึ้น 1.8%mom (เป็นระดับสูงสุดตั้งแต่ ธ.ค. 2551) โดยเป็นฟื้นตัวของภาคเอกชนเป็นหลัก (70% ของการใช้จ่ายด้านก่อสร้างทั้งหมด) ขยายตัว 1.4% ตามมาด้วย ดัชนี PMI การผลิตขั้นสุดท้าย เดือน ส.ค. ปรับเพิ่มขึ้น 3.8%mom (เป็นระดับสูงสุดตั้งแต่ เม.ย. 2553) สอดคล้องกับดัชนี ISM ภาคการผลิต เดือน ส.ค. ปรับเพิ่มขึ้น 4.4%mom (สูงสุดตั้งแต่ มี.ค. 2554) แต่คงต้องติดตามการรายงานอัตราการว่างงาน ที่จะมีการรายงานในวันที่ 5 ก.ย. ซึ่งตลาดคาดว่าจะลดลงใกล้เคียงที่ 6% จาก 6.2% เดือนก่อนหน้าที่ ซึ่งถือเป็นปัจจัยหลักที่จะกำหนดทิศทางนโยบายดอกเบี้ยในปี 2558
ด้วยภาวะเศรษฐกิจสหรัฐที่แข็งแกร่ง หนุนให้ค่าเงินดอลลาร์ยังอยู่ในทิศทางแข็งค่าต่อเนื่อง นับตั้งแต่ต้นเดือน ก.ค. หรือ 2 เดือนที่ผ่านมา กว่า 3.8% สวนทางกับค่าเงินยูโรที่อ่อนค่ามาโดยตลอดในอัตราใกล้เคียงกัน แต่เป็นที่สังเกตว่าค่าเงินในภูมิภาคเอเซียกลับเคลื่อนไหวแกว่งตัวต่อเนื่องในช่วงเดียวกัน ก่อนที่จะอ่อนค่าลงมาในช่วง 2 วันหลังสุด โดยค่าเงินบาทไทยอ่อนค่าจาก 31.96 บาท/เหรียญ มาอ่อนค่าสุดที่ 32.13 บาท/เหรียญ หรือ 0.53% ริงกิตมาเลเซียอ่อนค่ามากสุด 0.95% รูเปียห์อินโดนีเซียอ่อนค่าเล็กน้อย 0.38% ยกเว้นเปโซฟิลิปปินส์ไม่เปลี่ยนแปลง ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าราว 0.72% ทั้งนี้ การแข็งค่าของเงินดอลลาร์ดังกล่าว ทำให้ราคาสินค่าโภคภัณฑ์ปรับลดลง โดยราคาทองลดลงจาก 1,287 ลงมาที่ 1265 เหรียญ/ทรอยออนซ์ หรือเกือบ 1.75% ในระยะเวลาเพียง 2 วัน และราคาน้ำมันดิบดูไบ ลดลงจาก 101.12 สู่ 98.74 เหรียญ/บาร์เรล หรือ 2.5%
และการที่ราคาน้ำมันดิบโลกอ่อนตัวดังกล่าว ถือเป็นปัจจัยหนุนให้ค่าการกลั่นมีแนวโน้มฟื้นตัวอยู่หนือ 5 เหรียญฯต่อบาร์เรล นับตั้งแต่กลางเดือน ส.ค. เป็นต้นมา (แม้มีการอ่อนตัวลงต่ำกว่า 4 เหรียญ/บาร์เรล ซึ่งนับว่าดีต่อผู้ประกอบการโรงกลั่น โดยเฉพาะ BCP(ซื้อ: FV@46) และ TOP(ถือ : FV@B56) ซึ่งมีสัดส่วนของกำไรจากโรงกลั่น 75% และ 65% ตามลำดับ จึงแนะนำทยอยสะสม แม้ยังมีคำแนะนำ TOP ถือก็ตาม แต่คาดว่าราคาหุ้น TOP ที่ระดับปัจจุบันได้สะท้อนความเลวร้ายต่า ง ๆ ไปเกือบหมดแล้ว โดยเฉพาะในเรื่องผลประกอบการคาดว่าในงวด 3Q57 น่าจะเป็นไตรมาสสุดท้ายที่ย่ำแย่ และหลังจากนั้นน่าจะดีขึ้นตามลำดับ (จากภาวะตกต่ำของอะโรเมติกส์ และการปิดซ่อมบำรุงโรงงาน) และจะกลับมาเติบโต 16.3% ในปี 2558
ค่าเงินเอเซียเริ่มอ่อน หลังแรงซื้อต่างชาติชะลอตัว
แม้วานนี้ต่างชาติยังคงซื้อสุทธิในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 11 แต่พบว่า ยอดซื้อสุทธิกลับลดลงถึง 80% เหลือราว 77 ล้านเหรียญฯ เท่านั้น และเป็นการเลือกซื้อสลับขายเบาบางรายประเทศ โดยยังคงซื้อสุทธิเกาหลีใต้ต่อเนื่องเป็นวันที่ 6 ราว 94 ล้านเหรียญฯ และเพิ่มขึ้น 72% จากวันก่อนหน้า ตามมาด้วย ไทย ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2 ราว 26 ล้านเหรียญฯ หรือ 846 ล้านบาท แต่ลดลง 44% จากวันก่อนหน้า สวนทางกับที่เหลือมีการขายสุทธิ คือ อินโดนีเซีย สลับมาขายสุทธิราว 20 ล้านเหรียญฯ (หลังขายสลับซื้อ 4 วันหลังสุด) ฟิลิปปินส์ขายสุทธิเป็นวันที่ 2 ราว 13 ล้านเหรียญฯ และเพิ่มขึ้น 52% และไต้หวันพลิกมาขายสุทธิเล็กน้อยราว 11 ล้านเหรียญฯ หลังจากที่ซื้อสุทธิติดต่อกันถึง 12 วันก่อนหน้า
เป็นที่สังเกตว่าต่างชาติได้ชะลอการซื้อประเทศในกลุ่ม TIP ต่อเนื่อง โดยเฉพะอินโดนีเซีย หลังจากที่มียอดซื้อสะสมมาตั้งแต่ต้นปี 2557 กล่าวคือ อินโดนีเซียมียอดซื้อสุทธิสะสมนับจากปี 2557 จนถึงปัจจุบัน ราว 4.9 พันล้านเหรียญฯ และ ฟิลิปปินส์มียอดซื้อสุทธิราว 1.3 พันล้านเหรียญฯ ยกเว้นไทยเพียงประเทศเดียวที่ยังคงขายสุทธิราว 671 ล้านเหรียญฯ หรือ 2.3 หมื่นล้านบาท ปัจจัยกดดันทางการ สวนทางกับนักลงทุนสถาบันที่คอยพยุงตลาดได้ โดยตั้งแต่ต้นปีซื้อสุทธิราว 3.7 หมื่นล้านบาท
ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล