- Details
- Category: เพื่อไทย
- Published: Monday, 23 March 2015 10:17
- Hits: 10938
'ชูศักดิ์ ศิรินิล' สะท้อน'รธน.ฉบับห้องแล็บ' ไม่คำนึงอำนาจอธิปไตยปวงชน
มติชนออนไลน์ : สัมภาษณ์พิเศษ
หมายเหตุ - นายชูศักดิ์ ศิรินิล หัวหน้าคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ "มติชน" ในประเด็นร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญกำลังทบทวนร่างเพื่อส่งให้สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) พิจารณา
- มองภาพรวมของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างไร
มองในภาพรวม ผมไปย้อนดูที่เขาประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ในคำปรารภมีการเขียนไว้นิดหนึ่งว่า เขาจะร่างรัฐธรรมนูญโดยคำนึงถึงหลักการพื้นฐาน ยิ่งกว่าวิธีการในระบอบประชาธิปไตย ถ้าพิเคราะห์ถ้อยคำแล้วก็งงเหมือนกันว่าคืออะไร แต่ผมก็คิดเอาเองคงหมายความว่าเป็นแบบไทยๆ ไม่คำนึงถึงว่าวิธีการที่ทั่วโลกเขามีอยู่ในระบอบประชาธิปไตยเขามีอย่างไร เราจะตัดเสื้อตามสไตล์ของเรา ดังนั้นในรัฐธรรมนูญที่ออกมาในภาพรวม ผมเข้าใจว่าผู้ร่างไม่ได้คำนึงว่าหลักการในการปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้นต้องคำนึงถึงประชาชน ต้องตระหนักว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ในรัฐธรรมนูญทุกๆ ฉบับ ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ อย่างไร เขาจะเขียนไว้ในมาตราต้นๆ ว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย ถ้าเรายึดมั่นหรือมีจุดยืนเช่นนี้ ต้องเข้าใจว่าสิทธิและอำนาจทั้งหลายต้องยกให้ประชาชน ผมมองในภาพรวมแล้วผมไม่เห็นว่าเขาได้คำนึงถึงจุดนี้ ผมอาจใช้คำว่าเขามองว่าประชาธิปไตยในประเทศไทยมันต้องมีการควบคุม ต้องมีการกำกับ เพราะฉะนั้นเลยต้องสร้างองค์กรกำกับมามากมายไปหมด จนรัฐบาลไม่สามารถที่จะทำงานได้อย่างชนิดที่ควรจะทำ ที่บอกว่าจะยกประชาชนชาวไทยให้เป็นพลเมือง แต่พอเอาเข้าจริงๆ ก็ตัดสิทธิพลเมืองเต็มไปหมด เช่น ตัดสิทธิในการเลือก ส.ว. เป็นต้น
- มองอย่างไรที่จะทำให้รัฐธรรมนูญแก้ไขยากขึ้น
เป็นเรื่องที่แปลกประหลาด รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะไม่มีการทำประชามติ เว้นแต่คุณจะเปลี่ยนใจ ในอดีตที่ผ่านมา จริงอยู่รัฐธรรมนูญต้องแก้ไขยาก แต่การแก้ไขยากในอดีตเกือบทุกๆ ฉบับก็เอาเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา จะแก้รัฐธรรมนูญต้องประชุมรัฐสภา และมีขั้นตอนในวาระต่างๆ ไม่เหมือนกับกฎหมายธรรมดา รัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังยกร่างนี้ไม่มีการทำประชามติ แต่กลับบอกว่า 1.ต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ของทั้งสองสภา 2.ถ้าเป็นหลักการสำคัญต้องไปศาลรัฐธรรมนูญ ดูแล้วการแก้ไขเกือบทุกเรื่องต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก่อน แปลว่าให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจมากกว่ารัฐสภาที่เป็นตัวแทนของปวงชาวไทย และถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วก็อาจจะต้องไปทำประชามติ แปลกไหมว่าตอนร่างรัฐธรรมนูญไม่ต้องทำประชามติ แต่พอจะแก้ไขต้องทำ เขากำกับไว้ทั้งหมด คนที่เป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญจะเป็นคนที่ชี้ชะตาประเทศไทยว่าหลักการของประเทศไทยต้องเป็นแบบนี้ในอนาคต และห้ามเปลี่ยนนะ เหมือนกับเป็นการใช้อำนาจสิทธิขาดว่าสิ่งที่คิดและทำนั้นถูกต้องดีงามแล้ว ไม่คำนึงว่าประชาชนเขาเห็นดีเห็นงามด้วยหรือไม่
- มีคนวิจารณ์ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญที่สร้างขึ้นในห้องแล็บ ไม่สามารถเอามาใช้ได้จริง
ต้องถามว่าที่เขียนขึ้นจากหลักคิดของ กมธ.ยกร่างฯ หลักคิดนั้นเป็นหลักคิดที่ถูกต้องหรือไม่ และเป็นหลักคิดที่คุณไปเอามาจากไหน หลักการที่คุณคิดขึ้นนี้เหมือนเป็นหลักที่คิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของสังคมไทยและถูกต้องหรือไม่
ประเทศเยอรมนีเขามีมลรัฐ เพราะฉะนั้นเขาก็มี ส.ส.ตามสัดส่วนของมลรัฐ เขามีเหตุผลความจำเป็นที่ต้องทำเช่นนี้ เพื่อไม่ให้รัฐบาลกลางในสมัยหนึ่งมีอำนาจสูงสุด เขาจึงให้มีพรรคเล็กพรรคน้อย กลุ่มต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองก็เกิดระบบนี้ขึ้น ของเราไม่มีมลรัฐ เราเป็นราชอาณาจักร เป็นอันหนึ่งอันเดียว รัฐธรรมนูญเขียนด้วยว่าแบ่งแยกไม่ได้ เราก็ไปสร้างทฤษฎีแบ่งเป็น 6 ภาค ทั้งที่ก็เคยใช้มาแล้วตอนรัฐธรรมนูญปี 2550 ตอนต้น ตอนนั้นแบ่งเป็น 8 ภาค ภาคหนึ่งมี ส.ส.บัญชีรายชื่อ 10 คน เอาจังหวัดนั้นรวมกับจังหวัดนี้ บ้านผมอยู่ จ.พิจิตร แต่ไปรวมกับ จ.ชัยภูมิ วุ่นวายไปหมด คราวนี้ก็คิดว่ารัฐบาลมีอำนาจมากเหลือเกิน จะทำอย่างไรให้รัฐบาลมีเสียงน้อยลง ให้เป็นรัฐบาลผสม ไปใช้คำว่าเป็นรัฐบาลเพื่อความปรองดอง
เหมือนกับยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อไปกำหนดว่าใครจะผสมกับใคร โดยไม่คำนึงว่าประชาชนเขาคิดอย่างไร ไม่คำนึงว่าพรรคการเมืองเขามีนโยบายอย่างไร เพราะฉะนั้นที่ถามว่าเหมือนเป็นการสร้างทฤษฎีอะไรในห้องแล็บ ปัญหามันไปไกลกว่านั้นมาก คุณไปเอาทฤษฎีอะไรมา ทฤษฎีนั้นถูกต้องไหม คุณได้ทดลองจริงๆ หรือเปล่า ที่สำคัญคือเป็นมาตรฐานสากลไหม ก็ไม่มี หรือล่าสุด ระบบโอเพ่นลิสต์ ไปค้นจริงๆ ประเทศที่เขาใช้ระบบนี้เขามีการเลือกตั้งระบบสัดส่วนอย่างเดียว หมายความว่ามีคนอยู่ในลิสต์ และประชาชนจะเลือกใครในลิสต์นั้น หรือบางประเทศคนสมัครได้ทั้งระบบเขตและระบบบัญชี เขาอาจจะไม่ได้ในระบบเขต แต่ได้ในระบบบัญชี สรุปว่าทดลองในห้องแล็บไม่มีหลักที่พอจะสรุปได้เลย เอามาใช้แบบมั่วไปหมด
- คิดว่าอะไรคือจุดอ่อนที่สุดของรัฐธรรมนูญฉบับนี้
ผมคิดว่า การไม่ตระหนักว่าอำนาจอธิปไตยที่เป็นของประชาชนสะท้อนความไม่เชื่อถือ ไม่ไว้วางใจ ไม่เคารพประชาชน และการเอาระบบที่เป็นปัญหาในอดีตมาใช้ เช่น นายกฯไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง ส.ว.มาจากสรรหาทั้งหมด ที่สำคัญคือคุณจะทำให้รัฐบาลอ่อนแอ คิดดีแล้วหรือ จำเหตุการณ์ก่อนปี 2540 ได้หรือไม่ ที่รัฐบาลโดยเฉลี่ยอยู่ได้ประมาณหนึ่งปี ปีครึ่ง หรือ 2 ปี เป็นอย่างมาก เพราะรัฐบาลเป็นรัฐบาลผสม มีพรรคเล็กพรรคน้อย ท้ายที่สุดคน 3 คน 5 คน กลายเป็นปัจจัยสำคัญทางการเมือง สำหรับความอยู่รอดของรัฐบาล ผมว่าคิดผิดที่จะให้รัฐบาลไม่มีเสียงข้างมากและมีหลายพรรค ที่ผ่านมารัฐบาลที่เข้มแข็งไม่ได้เกิดจากรัฐธรรมนูญ แต่เกิดจากนโยบาย เกิดจากประชาชน เขาคิดว่าเขาเลือกพรรคนี้เพราะมีนโยบายดีๆ ให้เขา เราวิจารณ์รัฐธรรมนูญปี 50 กันมาก แต่ว่าฉบับนี้จะไปไกลกว่า ถอยหลังลงไปไกลกว่านั้น
- คิดอย่างไรที่จะมีการตั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญต่างๆขึ้นมาอีกมาก
ถ้าเป็นองค์กรที่ถูกตีความได้ว่าคุณต้องการที่จะสืบทอดอำนาจ เช่น ตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปหรือคณะกรรมการยุทธศาสตร์ รวมถึงสมัชชาต่างๆ เอาคนจาก สนช. สปช. เข้ามาเป็น ก็มองได้ว่าคุณจะสืบทอดอำนาจโดยการนำคนของคุณเข้าไปเป็นกรรมการในองค์กรตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อย่างนี้ก็ชัดเจนว่าคุณต้องการกำกับความเป็นไปของบ้านเมืองในอนาคตด้วย ไม่ได้ปล่อยวางอำนาจหลังจากที่มีการยึดอำนาจแล้วและมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
- อนาคตของพรรคเพื่อไทยจะมีทิศทางต่ออย่างไร
พูดตรงไปตรงมา เราเป็นฝ่ายถูกกระทำเกือบทุกด้าน ไล่ตั้งแต่ผู้นำพรรค อดีตนายกฯ ต้องไปสู้คดี ทั้งอดีตนายกฯสมชาย อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ แถมจะถอดถอน ส.ส.ของเราอีก ผมก็คิดว่าเราก็จำเป็นที่จะต้องยืนหยัดต่อสู้ สู้ประเด็นดีๆ อาจจะได้เห็นความเป็นไปเป็นมา อาจจะได้เห็นการใช้ทฤษฎีสมคบคิดเพื่อทำลายพรรคเพื่อไทย ข้อสำคัญเราจะต้องชี้แจงให้ประชาชนทราบ ถ้าประเทศนี้จะทำกันแบบนี้ก็ให้ประชาชนได้รับรู้รับทราบว่าเป็นอย่างไร เราได้รับความเป็นธรรมหรือไม่ ส่วนการที่เราจะทำอย่างไรต่อไปในอนาคต จะรวมตัวกันอย่างไร เช่น ผู้สื่อข่าวชอบถามผมว่า ถ้า 200 กว่าคนนี้โดนถอดถอนแล้วจะเอาใครมาสมัคร ผมว่ามันเป็นเรื่องของอนาคต ส.ว.ไม่ถูกถอดถอน แต่ ส.ส.จะถูกถอดถอนกระนั้นหรือ เท่าที่ผมฟังดูทุกคนยังมีกำลังใจ พร้อมที่จะต่อสู้ในวิถีทางประชาธิปไตย พร้อมที่จะเข้าไปชี้แจงทุกคน แต่เราก็ไม่รู้ว่าในท้ายที่สุดคุณจะทำประชามติรัฐธรรมนูญไหม ระบบที่คุณว่ายังจะยืนยันเอาอย่างนั้นไหม ท้ายที่สุดคุณจะยังแบ่งเป็น ส.ส.เขต 250 ส.ส.บัญชีรายชื่อ 200-220 ไหม ก็ยังไม่ชัด ขณะนี้พรรคประชุมไม่ได้ วิธีการที่ทำอยู่ในขณะนี้ก็คือสดับตรับฟังกัน โทรศัพท์คุยกัน ไลน์คุยกัน บอกข่าวคราวกันไป ผมก็ยังเห็นว่าทุกคนก็ยังมีกำลังใจที่จะต่อสู้ในแนวทางประชาธิปไตยต่อไป