มติชนออนไลน์ : สัมภาษณ์
หมายเหตุ - นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และคณะกรรมการกิจการพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ ?มติชน? ถึงเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่อยู่ระหว่างการทบทวนของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ
- มุมมองต่อภาพรวมของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทำให้องค์กรที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งมีอำนาจกำหนดความเป็นไปของบ้านเมือง และกำหนดว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลบริหารประเทศ องค์กรที่ว่าคือองค์กรอิสระที่ได้มาจากการลากตั้ง เช่น สมัชชาคุณธรรมจริยธรรม คณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ปฏิรูป องค์กรเหล่านี้สามารถกำหนดให้ใครจะมาเป็นรัฐบาล และกำหนดกติกาให้คนนอกมีโอกาสได้เป็นนายกรัฐมนตรี ผลสุดท้ายเลือกตั้งไม่นาน ก็จะได้คนนอกเข้าเป็นนายกฯ รัฐบาลหลังเลือกตั้งจะบริหารประเทศภายใต้แนวทางการกำกับของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ปฏิรูป ไม่สามารถกำหนดนโยบายเองได้ เท่ากับว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชน
- แต่กรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญนำเสนอเพื่อสร้างความสมดุลต่อระบบการเมือง
มันไม่ใช่ความสมดุลที่แท้จริง ต้องดูว่า ส.ว.มีหน้าที่อะไร หากมีหน้าที่ในการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญร่วมถึงนายกฯ และมีอำนาจหน้าที่ในการเห็นชอบในการตั้งกรรมการต่างๆ หรือองค์กรอิสระ การให้ ส.ว.จากการแต่งตั้งทำหน้าที่เหล่านี้ จะเท่ากับมาหักล้างอำนาจของประชาชน ถ้าเป็นระบบสรรหาหรือแต่งตั้ง จะขาดความเป็นตัวแทน จะทำหน้าที่กลั่นกรองกฎหมายยังพอรับได้ แต่นำมาหักล้างการตัดสินใจของประชาชนคงไม่ใช่การถ่วงดุล ที่ร่างกันออกมา ไม่ใช่เป็นการปรับปรุงเรื่องการถ่วงดุล เพราะจะยิ่งเสียหายกว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 สูญเสียการถ่วงดุลไปมาก ยิ่งองค์กรอิสระบางองค์กรอย่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพียงชี้มูลความผิด ก็ทำให้ผู้บริหารประเทศต้องหยุดทำหน้าที่แล้ว ซึ่งเป็นหน้าที่ใหญ่มาก อีกทั้งศาลรัฐธรรมนูญก็มีบทบาทต่อการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารได้ เมื่อมีรัฐธรรมนูญใหม่ ยิ่งเพิ่มความไม่สมดุลมากขึ้นไป
- ระบบเลือกตั้งที่ให้ได้มาซึ่งรัฐบาลผสมก็เพื่อสร้างความปรองดอง
คนพูดน่าจะมีความรู้ด้านประวัติศาสตร์การเมืองไทยอยู่บ้างแต่อาจแกล้งลืม เราเคยมีรัฐบาลผสมมาหลายครั้ง และมีปัญหามากในเรื่องนโยบาย ตกลงกันไม่ค่อยได้ เพราะมีปัญหาแก่งแย่งกันเป็นแกนนำหรือเป็นนายกฯ เมื่อมาถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือมีเหตุการณ์การเมืองเกิดขึ้น พรรคการเมืองบางพรรคก็ถอนตัวทั้งที่มีและไม่มีเหตุผล อาจถอนตัวเพื่อให้รัฐบาลล้ม เพื่อให้ตัวเองมีโอกาสเป็นรัฐบาลแทน เกิดขึ้นมาหลายครั้ง การมีรัฐบาลผสมจึงทำให้เกิดความขัดแย้ง
ผมว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนให้คนนอกมาเป็นนายกฯง่าย ส่วน ส.ส.เป็นนายกฯได้ยากและอยู่รอดยาก เมื่อ ส.ส.เขตมีการลาออกกันมากๆ จะคิดเรื่องการเลือกตั้งซ่อมหรือไม่ หาก ส.ส.ได้เป็นนายกฯ แล้วโดนสอบเรื่องคุณธรรมจริยธรรม เมื่อโดนเรื่องไหนก็จะถูกถอดถอน ถ้า ส.ว.200 คน มาจากการแต่งตั้ง ได้จับมือกับ ส.ส.จำนวนหนึ่ง ก็จะสามารถถอดถอนได้ ถ้าบอกว่ามีวิกฤตก็ให้คนนอกเป็นนายกฯ วิกฤตที่ว่าคืออะไร หากเปรียบกับวิกฤตที่ก่อนการรัฐประหาร ก็สามารถเกิดได้ง่าย และจะอยู่ในกำมือขององค์กรอิสระ ฝ่ายตุลาการและฝ่ายกองทัพ ร่วมกันรับรองการชุมนุมที่ผิดกฎหมาย ก็กลายเป็นการชุมนุมที่เห็นชอบโดยรัฐธรรมนูญ จะกลายเป็นวิกฤตที่รัฐบาลมาจากเลือกตั้งไม่สามารถแก้ไขได้
- ก่อนหน้านี้ กมธ.ยกร่างฯได้เปิดรับฟังความเห็นจากพรรคการเมือง
ไม่มีการรับฟังอย่างจริงจัง ทั้งยังห้ามปราม ดุใส่ผู้ที่เห็นต่างอยู่บ่อยครั้ง แม้แต่การทำโพลที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ และไม่ตรงใจ กมธ.ยกกร่างฯ ก็สั่งให้ไปทำโพลใหม่ การร่างรัฐธรรมนูญนี้ จึงขาดการรับฟังเป็นอย่างมาก ส่วนที่เรียกพรรคการเมืองเข้าไปแสดงความคิดเห็น คิดว่าเรียกไปพอเป็นพิธีเท่านั้น ไม่ได้เอาไปใช้อะไร หากจะฟังความเห็นของพรรคการเมืองจริง ก็ต้องทำให้เป็นกิจจะลักษณะที่สำคัญต้องอนุญาตให้พรรคการเมืองเปิดประชุมกันได้ ถึงขณะนี้ยังประชุมกันไม่ได้ ที่ผ่านมาก็เรียกสมาชิกพรรคไปแสดงความคิดเห็นส่วนตัวเท่านั้น ไม่รู้ว่าตรงกับเสียงส่วนใหญ่ของพรรคการเมืองหรือไม่
ปัญหาจะเกิดขึ้นอีกหรือไม่หากรัฐบาลใหม่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้
รัฐธรรมนูญฉบับนี้ การแก้จะเป็นไปไม่ได้ เพราะการใช้เสียง 2 ใน 3 ของทั้งสองสภา ทำได้ยากมาก เนื่องจากมี 200 คน มาจากการแต่งตั้งและต้องรักษารัฐธรรมนูญนี้ไว้ ต้องมีศาลรัฐธรรมนูญตีความ อาจต้องให้ลงประชามติก่อน จึงถูกมัดไว้หลายชั้นจนกระทั่งแก้ไม่ได้ ตรงนี้เป็นการเขียนไว้ล่วงหน้าว่าแก้ไม่ได้ ดังนั้น รัฐธรรมนูญนี้เขียนไว้ในลักษณะที่ทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคมมากยิ่งขึ้น เพราะเมื่อสังคมเผชิญความขัดแย้งในลักษณะนี้ ทางออกของประชาธิปไตยคือต้องการแก้กติกานั้น หากมีความเห็นต่างกันว่าใครควรเป็นรัฐบาล ควรให้มีการเลือกตั้ง แต่เมื่อการเลือกตั้งไม่สามารถเป็นเครื่องมือในการแก้ไขความเห็นต่างว่าใครควรเป็นรัฐบาล แสดงว่ากติกามีปัญหา แต่เมื่อแก้กติกาไม่ได้ ปัญหาความขัดแย้งก็ไม่สามารถแก้ได้
เมื่อเป็นอย่างนั้นจะเกิดความขัดแย้งทางการเมืองมากยิ่งขึ้น ฉะนั้นรัฐธรรมนูญฉบับนี้ร่างขึ้นมาเพื่อจะนำสังคมไทยสู่วิกฤตที่ร้ายแรงกว่าเดิม และไม่มีทางออกจนกว่าจะมีความขัดแย้งรุนแรงหรือความรุนแรงในรูปแบบรัฐประหาร เท่ากับว่ารัฐธรรมนูญที่ร่างไว้เพื่อรอการฉีกเท่านั้น เหมือนเขียนบัญญัติล่วงหน้าว่าการรัฐประหารปี?57 จะไม่ใช้ครั้งสุดท้าย
- มีเหตุผลอะไรที่ต้องเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดความขัดแย้ง
ผู้เขียนคงไม่ได้ซาดิสต์จนเขียนให้เกิดความขัดแย้ง ความรุนแรงและเกิดรัฐประหาร แต่คิดแบบมักง่ายและเอาแต่ได้ คิดแต่ว่าทำอย่างไรไม่ให้ประชาชนกำหนดอะไรได้ แล้วไปทำลายหน้าที่ของการเลือกตั้ง ทำลายพรรคระบบพรรคการเมือง และสร้างกลไกที่มาหักล้างมติสิทธิเสียงของประชาชน โดยมองข้ามไปว่าคนไทยมีความรู้และตื่นตัวทางการเมืองมาเป็นสิบปี ผ่านการเลือกตั้งมาหลายสมัย มีประสบการณ์จากการเลือกนายกฯ เลือกพรรคและนโยบายมากับมือ แต่วันหนึ่งต้องมาเจอกติกาที่ทำลายสิ่งที่เคยรับรู้มา
- คิดว่าคณะรัฐประหารต้องการสืบทอดอำนาจโดยรัฐธรรมนูญหรือไม่
จะเป็นการสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยตรงหรือไม่คงไม่สำคัญ แต่ยังมีข้อสงสัยและความเป็นไปได้ว่าร่างรัฐธรรมนูญแบบนี้ จะเปิดทางให้ผู้นำ คสช.บางคนมาเป็นรัฐมนตรี ถือว่าเป็นการสืบทอดอำนาจเผด็จการและอำนาจ คสช.ในเวลาเดียวกันอย่างชัดเจน นอกจากนี้คณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ปฏิรูปไม่ควรมีอยู่ มันผิดตั้งแต่มีความคิดให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มากำหนดแนวทางปฏิรูปของประเทศ แล้วบอกให้รัฐบาลหลังการเลือกตั้งนำมาปฏิบัติเป็นเวลา 5-10 ปี ไม่มีความชอบธรรม ทำไมรัฐบาลหลังการเลือกตั้งต้องทำตาม คุณเป็นใครมาจากไหน ประชาชนเลือกมาหรืออย่างไร ผ่านมากว่า 6 เดือนแล้วยังไม่เห็นจะมีอะไรที่เป็นข้อสรุปพอจะเห็นได้ว่าปฏิรูปก้าวหน้า
- อยากเสนอเรื่องใดกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.และกมธ.ยกร่างฯ
ท่านเข้ามายึดอำนาจเพื่อยุติความขัดแย้งในสังคม ต้องรับฟังความคิดเห็นประชาชนมากกว่านี้ ส่วนตัวเข้าใจว่าเสียงคัดค้านรัฐธรรมนูญจะมีมากกว่าเห็นด้วย เมื่อมีความต่างกันมาก สิ่งที่ควรทำนอกจากรับฟังความเห็น คือการกำหนดให้มีการลงประชามติ การลงประชามติจะไม่มีประโยชน์อะไรเลยและอาจทำให้สะสมปัญหามากยิ่งขึ้น หากทำโดยไม่เป็นไปอย่างเสรีและยุติธรรม แต่ต้องทำโดยไม่ใช้กฎอัยการศึกมาควบคุม อีกทั้งต้องไม่มีเงื่อนไขว่า หากไม่ผ่านจะไม่นำร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่เป็นเผด็จการยิ่งกว่านี้มาใช้
การทำประชามติต้องเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนับสนุนและเห็นต่างสามารถแสดงความเห็นได้อย่างเต็มที่ ก่อนการลงประชามติ ส่วนตัวไม่ขัดข้องว่าทำประชามติไม่ผ่าน แล้วจะร่างกันใหม่ แต่คนที่ตั้ง กมธ.ยกร่างฯ ก็ต้องรับผิดชอบ มันดีกว่าให้รัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยออกมาบังคับใช้ สำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ หากปล่อยรัฐธรรมนูญอย่างนี้มีผลบังคับใช้ ไม่เพียงแต่จะแก้ปัญหาไม่สำเร็จตามที่อ้าง แต่เท่ากับกำลังยินยอมให้เกิดความขัดแย้งในอนาคตขึ้นอีก