- Details
- Category: เพื่อไทย
- Published: Sunday, 04 May 2014 01:17
- Hits: 11982
พรรคเพื่อไทย ออกแถลงการณ์ 7 ข้อ ยืนยัน ทางออกประเทศ คือ เลือกตั้ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พรรคเพื่อไทยออกแถลงการณ์7 ข้อ ยืนยัน “ทางออกของประเทศคือการเลือกตั้ง”ระบุเนื้อหาแถลงการณ์ดังนี้
1. ความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยขณะนี้ และมีแนวโน้มว่าจะนำไปสู่ความรุนแรงถึงขั้นกลียุคได้นั้น พรรคเพื่อไทยเห็นพ้องด้วยกับหลายฝ่ายว่า มีสาเหตุหลักมาจากความพยายามของกลุ่มบุคคลและพรรคการเมืองบางพรรคที่ไม่ต้องการระบอบประชาธิปไตย ไม่ยอมรับและเคารพในอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยและการตัดสินใจของประชาชนผ่านกระบวนการเลือกตั้ง ไม่เคารพกติกาของบ้านเมือง พวกเขาจึงร่วมมือกันปฏิเสธการเลือกตั้ง และจงใจขัดขวางกระบวนการเลือกตั้งทุกขั้นตอน โดยได้รับการสนองตอบและร่วมมือจากหลายองค์กรตามรัฐธรรมนูญในลักษณะสมคบคิดกัน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดสุญญากาศทางการเมืองการบริหาร เพื่อที่พวกตนจะได้สถาปนาตนเองขึ้นเป็นรัฏฐาธิปัตย์ผ่านวิธีการใดวิธีการหนึ่งใน3วิธีการนี้คือ 1) การยึดอำนาจรัฐโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการกลุ่ม กปปส. 2)การใช้กระบวนการทางวุฒิสภาที่ขัดรัฐธรรมนูญเพื่อเสนอให้มีนายกรัฐมนตรีที่มิได้มาจากการเลือกตั้ง3) การขอพระราชทานนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 7
2. พรรคเพื่อไทย ขอเรียนพี่น้องประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกคนทุกระดับว่า การสมคบคิดและการดำเนินการเพื่อไปสู่ความมุ่งหมายดังกล่าว เป็นความคิดและการกระทำที่จะเป็นต้นเหตุสำคัญที่สุดของความพินาศของชาติ เพราะเป็นสิ่งที่ขัดต่อหลักสากลและประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันดีงามของประเทศไทยอย่างชัดแจ้ง เป็นการยั่วยุให้เกิดความแตกแยกและเกลียดชังในหมู่ประชาชน เป็นความต้องการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
3. พรรคเพื่อไทยขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ตระหนักว่า ทางออกจากความขัดแย้งและความพยายามให้เกิดสุญญากาศนั้น มีเพียงวิธีการเดียวคือการฟังเสียงประชาชน ซึ่งในระบอบประชาธิปไตยก็คือการเลือกตั้ง และการออกเสียงประชามติดังที่ศาลรัฐธรรมนูญในคำวินิจฉัยที่9/2549วันที่ 8 พฤษภาคม 2549 ระบุว่า “การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปที่เกิดขึ้นภายหลังจากการยุบสภาผู้แทนราษฎรในครั้งนี้ มีสาเหตุตามที่ปรากฏในพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2549 สรุปได้ว่ามีการเกิดการชุมนุมสาธารณะตั้งข้อเรียกร้องทางการเมือง โดยการชุมนุมเรียกร้องดังกล่าวได้ขยายตัวไปในทางที่กว้างขวางและอาจรุนแรงขึ้น เมื่อปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นความคิดเห็นในสังคมที่หลากหลายและยังคงแตกต่างกันจนกลายเป็นความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรงเช่นนี้ การดำเนินการเพื่อตรวจสอบความประสงค์อันแท้จริงของประชาชน โดยประการอื่นเพื่อให้ทุกฝ่ายหยั่งทราบแล้วยอมรับให้เป็นไปตามกลไกในระบอบประชาธิปไตยก็ทำได้ยากทางออกในระบอบประชาธิปไตยที่เคยปฏิบัติมาในนานาประเทศและแม้แต่ในประเทศไทย คือ การคืนอำนาจตัดสินใจทางการเมืองกลับไปสู่ประชาชนด้วยการยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปขึ้นใหม่ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญต่อไป”
4. พรรคเพื่อไทยขอยืนยันความเห็นตามหนังสือของพรรคการเมืองทั้งหลายที่มีถึงศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อ 31มีนาคม 2557 โดยสรุปคือ ขอให้ กกต. ดำเนินการจัดการการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นใหม่โดยเร่งด่วนภายใน 45-60วัน นับตั้งแต่วันที่ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2557 ที่วินิจฉัยว่าการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์2557 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มีผลใช้บังคับ คือวันที่ 27มีนาคม 2557 แต่บัดนี้เวลาได้ล่วงเลยมาเกือบ 1เดือน หลังคำวินิจฉัยมีผลบังคับใช้แล้ว กกต. ก็ยังไม่มีท่าทีกระตือรือร้นเพื่อทำหน้าที่ของตน และใช้การฟังเสียงประชาชนด้วยการเลือกตั้งเป็นทางออกของประเทศเลย มิหนำซ้ำ กกต. บางคนกลับไปเสนอกำหนดการเลือกตั้งในเดือนกรกฎาคมเสียอีก พรรคเพื่อไทยจึงหวังว่า การหารือระหว่าง กกต. กับพรรคการเมืองในวันที่ 22 เมษายนนี้ จะนำไปสู่การเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด มิเช่นนั้นจะเป็นการสมประโยชน์ของทฤษฎีสมคบคิด ที่มุ่งหมายให้เกิดสุญญากาศทางการเมืองและการบริหารและจะมีผลกระทบต่อการจัดทำงบประมาณรายจ่ายของประเทศประจำปี 2558 ซึ่งโดยปกติสภาผู้แทนราษฎรจะเริ่มพิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณฯ ดังกล่าวในเดือนพฤษภาคม และจะต้องเป็นกฎหมายใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2557 ดังนั้นการขับเคลื่อนประเทศในทุกภาคส่วนจะติดขัดหมด ประเทศและประชาชนจะเดือดร้อนอย่างหนัก
5. แม้ว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2557 จะเป็นคำวินิจฉัยที่แปลกเพราะไม่ปกป้องคนสุจริตที่เข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง แต่ก่อให้เกิดผลที่ไปรับรองความมุ่งหมายของคนไม่สุจริตที่ไม่ร่วมมือและขัดขวางการเลือกตั้งเพื่อไปสู่สุญญากาศ อย่างไรก็ตามศาลก็มิได้วินิจฉัยเลยว่า การเลือกตั้งเมื่อ 2 กุมภาพันธ์2557 เป็นไปโดยไม่สุจริตและเที่ยงธรรม แต่ให้เหตุผลว่าการเลือกตั้งไม่อาจเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักรได้ เพราะการรับสมัครผู้สมัครฯ ใน 28 เขตเลือกตั้งไม่อาจทำได้ เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่มีความขัดแย้งและแตกแยกของชนในชาติอย่างรุนแรงและมีการขัดขวางการสมัครรับเลือกตั้งดังนั้นขอให้ฝ่ายที่ไม่ร่วมมือและขัดขวางการเลือกตั้งอย่าได้อ้างว่าถ้ามีการเลือกตั้งแล้วจะไม่สุจริตและเที่ยงธรรม เพราะเท่ากับเป็นการดูถูก กกต. ว่าจะไม่สามารถจัดการเลือกตั้งให้สุจริตและเที่ยงธรรมได้
6. พรรคเพื่อไทยขอเรียกร้องให้ทุกพรรคการเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคประชาธิปัตย์เห็นความสำคัญของการฟังเสียงประชาชน ด้วยการให้ความร่วมมือในทุกขั้นตอนของกระบวนการเลือกตั้ง และขอให้ทุกฝ่ายหยุดการใช้วาทกรรมและการกระทำที่เป็นการสร้างความเคลือบแคลงหรือขัดขวางการใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย และการดำเนินไปอย่างต่อเนื่องของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
7. พรรคเพื่อไทยขอให้พี่น้องประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกคนร่วมมือกันยืนหยัดพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (รัฐธรรมนูญ มาตรา 70) และใช้วิจารณญาณของท่านโดยสุจริตและไม่เห็นแก่ผู้ใดหรือสิ่งใด ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่จะมีขึ้นในเร็ววันนี้ และขอให้ทุกท่านทราบด้วยว่า หากมีบุคคลใดหรือองค์กรใด การกระทำใดๆ ที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ ท่านทุกคนมีสิทธิต่อต้านการกระทำดังกล่าวโดยสันติวิธี (รัฐธรรมนูญ มาตรา 69)
กกต.เผยมีมาตรการดูแลเลือกตั้งรอบใหม่รัดกุม มั่นใจไม่โมฆะ
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) กล่าวว่า จะนำประสบการณ์ในการจัดการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 2 ก.พ.57 มาใช้กับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นรอบใหม่ โดยเชื่อว่าการเลือกตั้งครั้งใหม่จะไม่เป็นโมฆะด้วยสาเหตุเดิมเหมือนครั้งที่ผ่านมาจากกรณีที่ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ภายในวันเดียว ทั้งนี้ กกต.ได้จัดเตรียมกระบวนการในการรับสมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อสำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้าไว้ โดยจะเปิดให้รับสมัครทางไปรษณีย์ได้ และจะให้พรรคการเมืองมีใบมอบอำนาจแก่ กกต.ในการสามารถจับฉลากเลือกหมายเลขประจำตัวผู้สมัครแทนได้ ขณะที่การรับสมัคร ส.ส.ระบบแบ่งเขตนั้น จะเปิดช่องให้มีการรับสมัครทางอินเตอร์เน็ตได้ ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้มีผู้สมัครส.ส.ได้ครบทุกเขต ส่วนการเปิดรับสมัครทางไปรษณีย์นั้น อาจจะมีเหตุปิดล้อมที่ทำการไปรษณีย์ขึ้นได้จนทำให้การรับสมัครส.ส.แบบแบ่งเขตในช่องทางนี้ไม่ประสบความสำเร็จ
"เหตุที่ทำให้การเลือกตั้ง 2 ก.พ.โมฆะ คือ การเลือกตั้งทั่วไปที่ไม่สามารถจัดขึ้นได้ในวันเดียว ย้อนไปคือ ไม่มีผู้สมัครบางเขต เนื่องจากถูกขัดขวาง กกต.จึงได้พยายามออกแบบการรับสมัครในครั้งนี้ให้มีผู้สมัครครบทุกเขต ดังนั้นยืนยันได้ว่าการเลือกตั้งครั้งใหม่จะไม่โมฆะด้วยสาเหตุเดิม" นายสมชัย กล่าวผ่านรายการโทรทัศน์เช้านี้
สำหรับในวันเลือกตั้งนั้น กกต.จะจัดกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งสำรองไว้ ถ้ากรรมการตัวจริงไม่มา ก็จะจัดกรรมการสำรองไปแทน ส่วนสถานที่หรือหน่วยลงคะแนนจะต้องจัดอยู่ในสถานที่ปลอดภัยไว้ ทุกคนสามารถเดินทางไปได้ แต่ทั้งนี้ กกต.คงไม่สามารถรับประกันได้ว่า หน่วยเลือกตั้งทุกหน่วยจะสามารถเปิดดำเนินการได้ครบ หรือจะไม่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดเกิดขึ้น ตราบใดก็ตามที่ยังมีความขัดแย้งกันอยู่ เพราะไม่รู้ว่าคนจะเกรงกลัวกฎหมายหรือไม่ ซึ่งหากมีกรณีใดๆ เกิดขึ้นจนทำให้บางหน่วยเลือกตั้งไม่สามารถจัดเลือกตั้งได้ก็ต้องยกเลิกไป แต่ กกต.จะจัดเลือกตั้งซ่อมไปเรื่อยๆ ในหน่วยที่ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้
พร้อมยืนยันว่า กกต.เตรียมไว้หลายมาตรการ และนำประสบการณ์การจัดเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ.มาปรับปรุงใหม่ โดยจะมีมาตรการที่ดีขึ้น ซึ่งเชื่อว่าคราวนี้จะสามารถทำให้การเลือกตั้งเดินไปถึงวันเลือกตั้งได้ แต่ถ้าการเลือกตั้งทำได้ไม่ครบทุกหน่วย หรือไม่สามารถเปิดประชุมสภาฯ ได้ภายใน 30 วันอย่ามาว่ากัน เพราะเป็นเรื่องที่ต้องรับผิดชอบร่วมกันว่าเป็นปัญหาของฝ่ายบ้านเมืองเองที่ไม่สามารถจะดูแลให้เกิดความเรียบร้อยได้ กกต.มีบุคลากรอยู่เท่านี้ และคงไม่สามารถจะทำอะไรได้มากไปกว่านี้แล้ว
"หน่วยเลือกตั้งไหนมีปัญหา จะแขวนไว้ก่อน แล้วค่อยมาเลือกตั้งซ่อมทีหลัง จะไม่เกิดการโมฆะเหมือน 2 ก.พ. แต่การซ่อมจะยาวนานแค่ไหนเราไม่ทราบ...หน่วยเลือกตั้งใดที่สามารถจัดการเลือกตั้งซ่อมได้ เราจะจัดไปเรื่อยๆ ถ้ายังซ่อมไม่เสร็จ ส.ส.บัญชีรายชื่อก็ประกาศไม่ได้ ดังนั้นที่เราบอกว่า จะประกาศชื่อ ส.ส.ได้ครบ 95% ใน 30 วัน ก็ต้องบอกว่าเราไม่สามารถรับประกันได้ ส่วนจะเลยไปใช้เวลาเท่าใดไม่ทราบ มีกรอบ 180 วัน หากยังเลือกตั้งได้ไม่ครบทุกหน่วย ตัองไปลุ้นอีกว่าจะเกิดอะไรขึ้น" นายสมชัย ระบุ
"สมชัย" เผย กกต.เล็ง จัดเลือกตั้งใหม่ถายใน 90 วัน หลังหารือร่วมพรรคการเมือง
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง เผยวางกรอบหารือร่วมกับ 70 พรรคการเมือง เพื่อรับฟังข้อเสนอเกี่ยวกับการกำหนดวันเลือกตั้งให้ประสบความสำเร็จ โดยเบื้องต้น กกต.กำหนดกรอบเวลาการเลือกตั้งภายใน 90 วัน นับจากวันหารือพรรคการเมืองแล้ว
"กกต.จะเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองได้แสดงความคิดเห็นในแนวทางที่จะสามารถทำให้การเลือกตั้งประสบความสำเร็จ และได้ จำนวน ส.ส.เพื่อเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้" นายสมชัย กล่าว
นายสมชัย กล่าวว่า กกต.ไม่ได้กำหนดรูปแบบการหารือไว้ล่วงหน้า แต่จะใช้กระบวนการในที่ประชุมเสนอความเห็นกำหนดรูปแบบร่วมกัน ซึ่งอาจจะเป็นการให้ทุกพรรคได้แสดงความเห็น หรือแบ่งช่วงเวลาให้มีการอภิปราย เป็นสองฝ่ายๆ ละ 30 นาที คือฝ่ายที่ต้องการให้มีการเลือกตั้งเป็นไปอย่างรวดเร็ว กับฝ่ายที่มองว่ายังไม่ถึงเวลาของการเลือกตั้ง จากนั้นจะมีการถามความเห็นของแต่ละพรรคเพื่อสรุปข้อมูล แต่จะไม่มีการลงมติ พร้อมเชื่อว่าการเปิดให้มีการถ่ายทอดสดในวันพรุ่งนี้จะทำให้พรรคการเมืองแสดงความเห็นมากขึ้น
นายสมชัย กล่าวว่า ในการหารือดังกล่าว กกต.จะเสนอกรอบระยะเวลาการจัดการเลือกตั้งภายใน90 วัน เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่เร็วที่สุด โดยหลังจากการหารือในวันพรุ่งนี้แล้ว กกต.จะใช้เวลาประชุมภายในอีก 10 วัน ก่อนหารือกับรัฐบาล และใช้เวลาประมาณ 20 วัน ในกระบวนการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งใหม่ ก่อนจะมีการจัดการเลือกตั้งภายใน 60 วัน
นายสมัชย เชื่อว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จะไม่เป็นโมฆะจากสาเหตุเดิมอย่างแน่นนอน แต่หากเกิดการคุกคาม การทำหน้าที่ของ กกต.ในการลงพื้นที่ตรวจการเลือกตั้งและพรรคการเมืองไม่สามารถลงพื้นที่หาเสียงได้ ก็อาจจะเป็นเหตุให้การเลือกตั้งไม่บริสุทธิ์ยุติธรรมนำมาสู่ความเป็นโมฆะได้ และหากการหารือในวันพรุ่งนี้ไม่ประสบความสำเร็จ กกต.จะนัดหารือพรรคการเมืองครั้งใหม่จนกว่าจะได้ข้อสรุป
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย