- Details
- Category: สำนักนายกฯ
- Published: Saturday, 11 November 2017 16:15
- Hits: 6619
นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมอย่างไม่เป็นทางการระหว่างผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคกับผู้นำอาเซียน
ณ ห้องOcean Ballroom โรงแรม Furama Resort Da Nang นครดานัง สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมอย่างไม่เป็นทางการระหว่างผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคกับผู้นำอาเซียนภายใต้หัวข้อ การร่วมมือกันเพื่อสร้างพลวัตใหม่สำหรับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่บูรณาการและเชื่อมโยงในทุกมิติ (Partnering for New Dynamism for a Comprehensively Connected and Integrated Asia-Pacific)โดยภายหลังการหารือ พลโท วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความขอบคุณเวียดนามที่จัดให้มีการหารือระหว่างผู้นำเอเปคและอาเซียนในวันนี้ในฐานะที่ไทยเป็นสมาชิกก่อตั้งทั้งเอเปคและอาเซียน ไทยเห็นพัฒนาการของทั้งสองกรอบมาตั้งแต่แรกเริ่ม จนในวันนี้ที่อาเซียนครบรอบ 50 ปี และก้าวสู่การเป็นประชาคมเป็นปีที่สอง นับเป็นช่วงเวลาอันเหมาะสมที่เอเปคและอาเซียนมีปฏิสัมพันธ์ที่สร้างสรรค์ระหว่างกันเพื่อสร้างพลวัตใหม่ให้ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก นายกรัฐจึงเสนอมุมมองต่อความร่วมมือระหว่างเอเปคและอาเซียนใน 4 ประเด็น ได้แก่
ประการแรก การส่งเสริมความเชื่อมโยงในทุกมิติ ทั้งด้านกายภาพ กฎระเบียบ และระหว่างประชาชน รวมถึงความเชื่อมโยงทางดิจิทัล เป็นเครื่องมือผลักดันการบูรณาการทางเศรษฐกิจและสังคมในภูมิภาค โดยไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก - ตะวันตก (East-West Economic Corridor) เหนือ – ใต้ (North – South Economic Corridor) และได้จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งมีเป้าหมายในการยกระดับความเชื่อมโยงในอนุภูมิภาคและภูมิภาค
ประการที่สอง การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคนายกรัฐมนตรีสนับสนุนให้การเจรจา RCEP คืบหน้าไปสู่ข้อสรุปโดยเร็วและต่อยอดไปสู่การจัดทำ FTAAP ในอนาคต ทั้ง RCEP และ FTAAP ควรเป็นข้อตกลงที่ได้มาตรฐานและครอบคลุม ดังนั้น เอเปคและอาเซียนจะต้องร่วมกันสื่อสารผลประโยชน์ของการค้าเสรีและการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคแก่สาธารณชน
ประการที่สาม เอเปคและอาเซียนควรร่วมมือกันพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับสังคมสูงวัยและการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัล โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนบุคลากรในสาขาวิชาชีพซึ่งสามารถต่อยอดจากข้อตกลงยอมรับร่วมคุณสมบัตินักวิชาชีพของอาเซียน (Mutual Recognition Agreement หรือ MRA) และกรอบมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพที่เอเปคมีอยู่แล้ว เช่น วิศวกรและสถาปนิก
ประการที่สี่ ไทยสนับสนุนความพยายามในการขับเคลื่อนให้เอเปคและอาเซียนก้าวสู่เศรษฐกิจสีเขียวโดยไทยได้ร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับเปรูจัดทำยุทธศาสตร์เอเปคว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ยั่งยืน และมีนวัตกรรม (APEC Strategy for Green, Sustainable and Innovative MSMEs) และพร้อมที่จะขยายผลให้เกิดความร่วมมือในประเด็นนี้ในกรอบอาเซียนต่อไป
ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีหวังว่าเอเปคและอาเซียนจะเป็น 'หุ้นส่วนเชิงสร้างสรรค์' โดยสร้างความสอดคล้องระหว่างวิสัยทัศน์ของเอเปคหลังปี 2563 (ค.ศ. 2020) วิสัยทัศน์อาเซียนปี 2568 (ค.ศ. 2025) และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ เพื่อส่งเสริมเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในภูมิภาคและยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนทุกกลุ่ม