- Details
- Category: สำนักนายกฯ
- Published: Sunday, 27 August 2017 22:15
- Hits: 8601
วิษณุ ไม่ขัดข้อเสนอให้ ขรก.ทุกระดับ-เอกชนแจงบัญชีทรัพย์สิน แต่ห่วงยุ่งยากในทางปฏิบัติ แนะศึกษารายละเอียด
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงแนวคิดที่จะให้ข้าราชการทุกระดับแจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินว่า เป็นแนวคิดที่มีผู้เสนอมาในที่ประชุมคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ซึ่งนายกรัฐมนตรีรับแนวคิดดังกล่าวและได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไปพิจารณาต่อ
ส่วนตัวเห็นว่าไม่ได้เป็นเรื่องเสียหาย แต่อาจจะมีความยุ่งยากในทางปฏิบัติ เพราะจำนวนบุคคลากรของภาครัฐ มีหลายตำแหน่งและมีเป็นจำนวนมาก อีกทั้ง ต้องดูรายละเอียดเรื่องข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินว่า จะสามารถเปิดเผยได้เมื่อใด และอาจจะต้องมีการแก้ไขข้อกฎหมายด้วย ดังนั้นจึงต้องมีการไปศึกษาข้อดีและข้อเสียก่อน
"หากว่ายื่นกันมาก แม้จะบอกว่าให้ยื่นต่อหน่วยงานของใครของมันเก็บไว้ก็จะมีปัญหาเหมือนกัน เพราะอาจจะต้องไปแก้กฎหมาย คือพอยื่นไป ขนาดของบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิ้นที่ยื่นต่อ ป.ป.ช. มี 2 ประเภท ทั้งให้เปิดเผย และให้ยื่นเฉยๆ ไม่ต้องเปิดเผย เช่น กรรมการรัฐวิสาหกิจ ให้ยื่นแต่ไม่ต้องเปิดเผย ถ้าเป็น ครม. สนช. ส.ส. ส.ว. ยื่นแต่ต้องเปิดเผย ทีนี้พวกที่ยื่นต่อ ป.ป.ช.และห้ามเปิดเผยนั้น กฎหมายยังบอกไว้ว่า ห้ามเปิดเผยต่อเมื่อมีคดีเกิดขึ้น จึงจะเปิดเผย นั่นเป็นเพราะกฎหมายเขียนไว้ มันก็มีปัญหาว่า ถ้าให้ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐทุกตำแหน่งยื่นบัญชี และไม่ได้แก้กฎหมายอะไร ถามว่าพอมีเรื่องอะไรขึ้นมา ใครจะเป็นคนไปเปิดซอง เปิดก็ผิดนะ ขนาดป.ป.ช.จะเปิดก็ยังผิด เว้นแต่กฎหมายบอกให้เปิด อย่างนี้ก็ต้องไปแก้กฎหมาย ทำให้เกิดความยุ่งยากล่าช้าเหมือนกัน" นายวิษณุ กล่าว
นายวิษณุ กล่าวว่า แนวทางที่จะสามารถทำได้และเหมาะสมกว่าคือ ให้ ป.ป.ช.ขยายตำแหน่งของข้าราชการที่จะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม
ส่วนที่มีการเสนอแนวคิดให้ภาคเอกชนเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินด้วยนั้น เห็นว่า เป็นเพียงแนวคิดกว้างๆเท่านั้น ซึ่งหากภาคเอกชนที่ไม่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ ก็ไม่จำเป็นต้องเปิดเผย แต่หากเป็นภาคเอกชน ที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ เช่น การเข้าร่วมประมูล อาจจะต้องเปิดเผย แต่ก็ต้องพิจารณากันอีกครั้ง
"เอกชนไม่ได้ใช้อำนาจหน้าที่อะไร แต่บางกรณี มีเรื่องเหมือนกัน เพราะมันจะเห็นเส้นทางว่า เวลาเราไปตรวจสอบเจ้าหน้าที่ของรัฐ เราเห็นเงินเข้า แต่เราไม่เห็นว่าเงินออกมาจากไหน ถ้าตรวจสอบจากเอกชน บางทีก็แมตช์กันนะ ว่าเงินออกจากบัญชีบริษัทนี้ และอีกวันมีบัญชีของข้าราชการเปิดรับ ก็เอาเป็นว่าเป็นเรื่องที่ต้องไปศึกษาอยู่เหมือนกัน" นายวิษณุ กล่าว
อินโฟเควสท์