- Details
- Category: สำนักนายกฯ
- Published: Friday, 04 August 2017 21:07
- Hits: 26018
สมคิด เล็งแบ่งเงิน CMDF ผุดกองทุนส่งเสริม Start Up,ตลท.เตรียมตั้ง Corporate Venture Capital
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมหารือ เรื่อง"การเข้าถึงเงินทุน จาก VC โดย Startup" ว่า หลังจากที่รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนให้เกิด Startup ในประเทศไทย ทำให้ที่ผ่านมามีการตื่นตัวกันมาก โดยการประชุมวันนี้สิ่งที่ต้องดำเนินการมี 3 ขั้นตอน คือ การบ่มเพาะให้เกิดซัพพลาย โดยเริ่มสร้างบรรยากาศตั้งแต่ระดับมหาวิทยาลัย เพื่อให้เกิดไอเดียใหม่ๆ, การช่วยเหลือสตาร์ทอัพให้สามารถเริ่มดำเนินธุรกิจได้ และการนำไปสู่การเป็นสตาร์ทอัพอย่างสมบูรณ์ ซึ่งคาดว่าภาครัฐจะมีการผลักดันให้เห็นเป็นรูปธรรมได้ภายในเดือน ก.ย.นี้
ขณะที่ได้มอบหมายให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) นำเงินส่วนหนึ่งของกองทุนพัฒนาตลาดทุน (CMDF) มาจัดตั้งกองทุนในการส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพ เพื่อเป็นการสนับสนุนให้ธุรกิจสตาร์ทอัพในประเทศไทยเติบโตอย่างแข็งแกร่ง
ทั้งนี้ ในวันพรุ่งนี้ (1 ส.ค.) จะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติการออกวีซ่า ให้แก่ชาวต่างชาติที่มีความเชี่ยวชาญในการทำธุรกิจเพื่อร่วมงานกับคนไทยในการสนับสนุนสตาร์ทอัพ เพื่อรองรับปัญหาขาดแคลนแรงงาน และเพิ่มศักยภาพให้กับบุคลากรไทยด้วย
นอกจากนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้าอยู่ระหว่างการระดมความเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เพื่อสนับสนุนการระดมทุน ทั้งหมด 4 เรื่อง คือ การออกหุ้นกู้แปลงสภาพ (Convertible Bond) การเปลี่ยนแปลงบุริมสิทธิ์ในหุ้น (Preferred Shares) การทยอยให้หุ้น หรือ Vesting หรือสิทธิที่จะซื้อหุ้นได้ในราคาที่กำหนด และการออกหุ้นให้พนักงานหรือกรรมการ (ESOP) โดยเป็นการเสนอขายหลักทรัพย์ที่ต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
ด้านนายชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ประธานกรรมการ ตลท.กล่าวว่า ตลท.เตรียมจัดตั้ง Corporate Venture Capital (CVC) จำนวน 1 แห่ง เพื่อช่วยเหลือตลาดทุนไทย และเป็นพันธมิตรกับ CVC อื่นๆ โดยจะมีวงเงินในการจัดตั้งราว 1,000 ล้านบาท คาดว่าปี 61 น่าจะเห็นความชัดเจนมากขึ้น
ทั้งนี้ ตลท.มองว่าความต้องการเงินทุนของสตาร์ทอัพรายเล็กส่วนใหญ่เฉลี่ยอยู่ที่ 10-20 ล้านบาท และหากเป็นรายใหญ่จะต้องการเงินทุน 40-50 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันมี VC ทั้งในและต่างประเทศเริ่มดำเนินการแล้ว 30 แห่ง และมีวงเงินสนับสนุนรวมแล้ว 27,000 กว่าล้านบาท โดยพบว่าที่ผ่านมาการดำเนินการดังกล่าวยังมีอุปสรรคในหลายด้าน ทั้งในเรื่องการสร้างความเข้มแข็ง, การเพิ่มศักยภาพของสตาร์ทอัพ กระตุ้นให้เกิด Corporate Venture Capital (CVC) ในอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะ 10 อุตสาหกรรม S-Curve ให้มากขึ้น กระตุ้นให้เกิด Crowd Funding เพื่อเป็นช่องทางระดมทุนระดับ retail ของสตาร์ทอัพ เป็นต้น
"ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาตลาดฯ ได้มองถึงเรื่องกระบวนการที่จะสร้างบริษัทให้มีความเข้มแข็ง ในบริษัทที่มีการใช้นวัตกรรม และความสามารถที่จะสร้างการเติบโตอย่างก้าวกระโดด เพื่อเข้ามาสู่ตลาดหลักทรัพย์ในอนาคต โดยเราให้การสนับสนุนตั้งแต่ระดับมหาวิทยาลัยเพื่อให้ความรู้ และขยับมาถึงการให้ความรู้ในระดับบริษัทจดทะเบียนไทย ซึ่งในลำดับถัดไปเราจะจัดให้มีการพบกันระหว่างสาร์ตอัพกับผู้ที่ต้องการลงทุน หรือให้การสนับสนุน"นายชัยวัฒน์ กล่าว
อินโฟเควสท์