- Details
- Category: สำนักนายกฯ
- Published: Sunday, 18 June 2017 15:47
- Hits: 8056
นายกฯ คาดสัปดาห์หน้าออกคำสั่ง ม.44 แก้ปัญหารถไฟไทย-จีน, ปมใช้ที่ดิน ส.ป.ก.ผลิตปิโตรเลียม
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เกี่ยวกับการออกประกาศคำสั่งตามมาตรา 44 ในการแก้ไขปัญหาความล่าช้าโครงการรถไฟไทย-จีนและแก้ปัญหากรณีการใช้พื้นที่ ส.ป.ก.ในการผลิตปิโตรเลียมว่า คาดว่าน่าจะออกประกาศได้ในสัปดาห์หน้าหลังจากที่ได้มีการหารือกันเรียบร้อยแล้ว
พร้อมยืนยันว่า รัฐบาลจะทำให้ดีที่สุด และไม่เคยคิดเอื้อประโยชน์ให้กับใคร โดยเฉพาะกรณีของความร่วมมือรถไฟไทย-จีน เพราะทุกอย่างเป็นไปตามข้อตกลงความร่วมมือ ซึ่งอนาคตต้องเกิดขึ้นเพื่อเชื่อมโยงโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ดังนั้น ขอทุกฝ่ายอย่าติดกับดักปัญหาเดิมๆ ต้องช่วยกันแก้ไข และรัฐบาลจะทำงานให้ดีที่สุด
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กฏหมายหลายฉบับจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุง ซึ่งหลายอย่างต้องใช้มาตรา 44 เข้าไปแก้ปัญหาทั้ง ๆ ที่ไม่ต้องการใช้ แต่ก็จำเป็นต้องใช้เพราะมันไปต่อไม่ได้ สำหรับประเด็นปัญหาเรื่องพลังงาน ก็ได้ให้แนวทางไปแล้วให้เพิ่มพลังงานสำรองไฟฟ้าให้ได้ แต่จะหาวิธีการอย่างไร จะใช้พลังงานแบบใดก็ไปว่ามา เพราะอย่างไรก็ต้องเกิดขึ้น ส่วนประเด็นที่ยังมีความขัดแย้งก็พักไว้ก่อน ขอให้ดำเนินการในส่วนที่สามารถทำได้ก่อน อย่างน้อยๆก็เพื่อเพิ่มพลังงานไฟฟ้าและความมั่นคง ซึ่งได้สั่งการใน ครม.ไปแล้ว
"วันนี้ มีปัญหาหลายโครงการของรัฐบาลมันเดินไม่ได้ เพราะมีกฏหมายเดิมอยู่ เช่นกฏหมายสปก. ที่สปก. กฏหมายกรมป่าไม้ ของกระทรวงเกษตร มันมีกฏหมายคนละฉบับหมดเลย ผมก็ต้องหาวิธีการและบูรณาการแก้ปัญหาเหล่านี้ให้ได้ จะเห็นได้ว่ามีเรื่องเข้าศาลปกครองให้หยุดการปฏิบัติแล้วใครจะรับผิดชอบ มันเกิดตั้งแต่เมื่อไหร่ มีผลประโยชน์กับพี่น้องประชาชนมากน้อยเพียงใด เช่น บางกระบือ รู้มั้ยหยุดการผลิตน้ำมันที่บางกระบือเสียหายวันละเท่าไหร่วันละ 40 ล้านนะ"นายกรัฐมนตรี กล่าว
ด้านพล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้หัวหน้า คสช.ยังไม่ได้ออกคำสั่งตามมาตรา 44 ในการดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน (กรุงเทพฯ-นครราชสีมา) เนื่องจากนายกรัฐมนตรีได้หารือในที่ประชุม ครม.เกี่ยวกับประเด็นที่ต้องการสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนถึงเหตุผลและความจำเป็นที่จะต้องใช้มาตรา 44 เข้ามาดำเนินการเนื่องจากกฎหมายปกติไม่สามารถทำได้
"เพื่อไม่ต้องการให้มาวิพากษ์วิจารณ์ว่า ทำไมต้องใช้มาตรา 44"โฆษกรัฐบาล ระบุ
พร้อมยกตัวอย่างโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ซึ่งนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้รายงานที่ประชุมฯว่า มีการหารือเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดเกี่ยวกับข้อกฎหมาย เพื่อให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีพิจารณาว่าสามารถตอบโจทย์เศรษฐกิจได้อย่างไร และจะได้เสนอต่อนายกรัฐมนตรีต่อไป
สำหรับ ปัญหา 5 ด้านในโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนที่ทำให้จำเป็นต้องพิจารณาใช้มาตรา 44 เข้ามาดำเนินการแก้ไข คือ 1.ปัญหาด้านการก่อสร้าง อันเนื่องจากวิศวกรและสถาปนิกจากจีนไม่สามารถเข้ามารับงานก่อสร้างในไทยได้หากไม่ใช่เป็นการรับงานในรูปแบบของนิติบุคคล เพราะติดข้อกฎหมายที่จะต้องมีการสอบใบอนุญาตในวิชาชีพดังกล่าวจากไทยก่อน
"ถ้าเป็นนิติบุคคลยกเว้นได้ แต่ถ้าเป็นรายบุคคลจะทำไม่ได้ ตามกฎหมายต้องสอบก่อน จริงๆ การสอบไม่ได้ยุ่งยาก เพียงแต่จีนรู้สึกว่าประเทศเขามีรถไฟความเร็วสูงถึง 2 หมื่นกิโลเมตร แต่ขณะที่ไทยยังไม่มีสักเมตร แต่ประเทศไทยกำลังจะสอบวิศวกรของเขา ซึ่งอันนี้ต้องยอมรับความจริงว่าในสาขาวิชานี้เขาเชี่ยวชาญกว่า ดังนั้นตรงนี้ต้องใช้ ม.44 เข้ามา" พล.ท.สรรเสริญ กล่าว
พร้อมระบุว่า กรณีปัญหาเรื่องการสอบใบอนุญาตนั้น ไทยจะยอมอนุญาตให้สถาปนิกและวิศวกรจากจีนที่เป็นรายบุคคลเข้ามารับงานได้ แต่จะต้องได้รับการปฐมนิเทศจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยก่อน เช่น ข้อมูลในเรื่องเส้นทาง, ทรัพยากรธรรมชาติ และสภาพภูมิประเทศของไทย เป็นต้น
ปัญหาที่ 2 เรื่อง พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งจะต้องมีการพิจารณาตามเงื่อนไขขั้นตอนต่างๆ เช่น กรณีที่มีการจัดซื้อจัดจ้างในโครงการที่เกินมูลค่า 5 พันล้านบาทขึ้นไป จะต้องมีขั้นตอนต้องนำเข้าที่ประชุมซูเปอร์บอร์ดเพื่อพิจารณานั้น กรณีนี้อาจจะต้องใช้ ม.44 เข้ามาช่วยเพื่อให้การดำเนินการสามารถทำได้รวดเร็วและคล่องตัวยิ่งขึ้นและทันต่อโรดแมพการก่อสร้างที่วางไว้
ปัญหาที่ 3 เรื่องราคากลาง ซึ่งการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ในการทำโครงการต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทยต้องมีราคากลางเป็นตัวกำหนดนั้น แต่กรณีรถไฟไทย-จีน คงไม่สามารถมีราคากลางได้ ดังนั้น จะให้ใช้วิธีการเสนอ ครม.เพื่อกำหนดเป็นราคามาตรฐานที่ใช้อ้างอิงสำหรับการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์สำหรับการก่อสร้างในโครงการดังกล่าว ดังนั้นกรณีนี้จึงจำเป็นต้องใช้ ม.44 เข้ามาช่วยดำเนินการแก้ปัญหา
ปัญหาที่ 4 การจัดซื้อแบบรัฐต่อรัฐ ซึ่งในส่วนของรัฐบาลไทยไม่มีปัญหานี้ เพราะได้มอบหมายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นตัวแทนรัฐบาล แต่ในส่วนของจีนไม่เคยต้องมีการนำเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรีในการดำเนินการดังกล่าว เพียงแค่ให้สภาพัฒน์ของจีนเป็นผู้คัดเลือกบริษัทคู่สัญญาที่จะดำเนินโครงการร่วมกับไทย ดังนั้นในส่วนนี้จึงต้องใช้ ม.44 เพื่อให้เกิดความสะดวกในการเตรียมพร้อมรับรองในส่วนนี้
"ขอให้กระทรวงคมนาคมไปติดต่อประสานงานกับจีน ว่าให้รัฐบาลจีนช่วยออกหนังสือรับรอง ว่าเขาได้ดำเนินการโดยให้สภาพัฒน์ของเขาเป็นผู้กำหนดว่าให้บริษัทไหนเป็นคู่สัญญา ดังนั้นวิธีการแบบนี้ต้องใช้อำนาจตามมาตรา 44 เข้ามาดำเนินการ" พล.ท.สรรเสริญ กล่าว
ส่วนปัญหาที่ 5 คือ เส้นทางที่รถไฟไทยจีนจะตัดผ่านนั้นบางส่วนอาจเป็นพื้นที่ป่าสงวน หรือพื้นที่ ส.ป.ก. ซึ่งการใช้พื้นที่ ส.ป.ก.เพื่อวัตถุประสงค์อื่นนอกเหนือจากด้านการเกษตรจะเป็นการผิดกฎหมาย ดังนั้นอาจจะต้องใช้มาตรา 44 เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาในส่วนนี้ด้วย
"นายกรัฐมนตรีเห็นว่าถ้าประชาชนและภาคส่วนต่างๆ ได้รับทราบถึงเหตุและผลอย่างนี้แล้ว จะเกิดความเชื่อมั่นว่าการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ไม่ได้ทำให้ระบบงานที่มีอยู่เดิมเสียหายหรือรวน แต่กลับจะช่วยแก้ไขปัญหาให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจเป็นไปตามโรดแมพที่วางไว้" พล.ท.สรรเสริญ กล่าว
พล.ท.สรรเสริญ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ นายวิษณุ ยังได้กล่าวต่อถึงการใช้พื้นที่ ส.ป.ก. ซึ่งตามหลักของกฎหมายไม่สามารถนำที่ดิน ส.ป.ก.ไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นใดได้เลยนอกจากเพื่อการเกษตร และศาลปกครองได้มีคำตัดสินว่าเรื่องที่เกิดขึ้นจากการใช้ที่ดิน ส.ป.ก.ผิดวัตถุประสงค์ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนที่รัฐบาลชุดนี้จะเข้ามานั้นมีปัญหา เช่น กรณีการติดตั้งกังหันลมผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งได้มีการให้เช่าที่ดิน ส.ป.ก. จึงไม่สามารถทำได้
แต่กรณีนี้ได้ประสานงานไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แล้ว พบว่าเฉพาะกรณีเรื่องการติดตั้งกังหันนั้นแก้ไขได้ไม่ยาก เพราะยังคงสามารถใช้พื้นที่ว่างด้านล่างในการทำประโยชน์ด้านการเกษตรได้
"จริงๆ ถ้าเราใช้พื้นที่นี้ทำการเกษตร เราอาจได้ผลตอบแทนแค่ 1 เท่า แต่ถ้าเราทำแบบนี้ด้วย (ให้เช่าที่ดินติดตั้งกังหัน) อาจได้ผลตอบแทนถึง 3 เท่า แบบนี้พอได้ แต่อีกหลายกรณีอาจจะลำบาก ซึ่งค่อยว่ากันไป เช่น กรณีการขุดเจาะน้ำมันที่ลานกระบือ การติดตั้งโซล่าฟาร์ม ก็คงต้องแก้ไขกันเป็นระยะๆ" พล.ท.สรรเสริญ กล่าว
ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมได้รายงานต่อนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีแล้ว ในการใช้มาตรา 44 เพื่อเร่งรัดกระบวนการทำงานโครงการรถไฟไทย-จีน เรื่องกำหนดเวลา การทำโครงการให้เร็วขึ้น ซึ่งรองนายกฯเป็นผู้ดูแลรายละเอียดและจะพิจารณาว่า จะมีการออกคำสั่งมาตรา 44 ในประเด็นใดบ้าง เพราะมีหลายประเด็น เนื่องจากเป็นการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล (จีทูจี) เช่น ระเบียบการจัดซื้อ ระเบียบพัสดุ ระเบียบราคากลาง สภาวิศวกร กระทรวงจะหารือจีนเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ดีที่สุด สำหรับโครงการจะดำเนินการตามที่กำหนดขั้นตอน|