- Details
- Category: สำนักนายกฯ
- Published: Saturday, 15 April 2017 00:11
- Hits: 18807
นายกฯ นั่งหัวโต๊ะประชุมบอร์ด EEC นัดแรกสมคิดเสนอยกอู่ตะเภาเป็นเมืองการบินภาคตะวันออก
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ครั้งที่ 1 /2560 วันนี้ที่ท่าอากาศยานอู่ตะเภา อ.บ้านฉาง จ.ระยอง โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ รัฐมนตรี และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
การประชุมวันนี้รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจเตรียมเสนอให้ประกาศพื้นที่บริเวณสนามบินอู่ตะเภาเป็นเขตส่งเสริมระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือเมืองการบินภาคตะวันออก (Eastern Airport City ) ในพื้นที่ 6,500 ไร่ และการพัฒนารถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพ-ระยองที่จะต้องประกาศ TOR ให้เอกชนมาลงทุนในกลางปีนี้และเปิดประมูลให้ได้ในปีนี้ หลังผ่านขั้นตอนการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้ว
พร้อมกันนั้น นายกรัฐมนตรีจะพบปะผู้บริหารระดับสูงของบริษัทเอกชนชั้นนำต่างชาติที่สนใจเขามาลงทุน ทั้งกลุ่มผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมยางรถยนต์ อุตสาหกรรมพลังงาน และอุตสาหกรรมไอซีทีกว่า 20 ราย
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภามีความคืบหน้าไปมาก เพราะจากการลงพื้นที่เมื่อ 9 เดือนที่แล้วภาพรวมยังไม่เป็นแบบนี้ ดังนั้น วันนี้จึงรู้สึกอารมณ์ดี เพราะได้เห็นอนาคต และขอทุกคนอย่าติดกับดักตัวเอง ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะชูมือทำสัญลักษณ์ 'ไอเลิฟยู'ให้กับเจ้าหน้าที่และสื่อมวลชนในอาคาร
อินโฟเควสท์
'บิ๊กตู่'ดึงลงทุน'อีอีซี'อัดสิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษี
แนวหน้า : นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือ บีโอไอ เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ได้ลงนามในประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่ 4/2560 เรื่อง มาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนของกลุ่มอุตสาหกรรม เป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง ในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดชลบุรี และจังหวัดระยอง
ทั้งนี้ มาตรการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ เป็นการเตรียมมาตรการส่งเสริมก่อนที่ร่างพระราชบัญญัติพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ของกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาจะมีผลบังคับใช้
"โครงการลงทุนที่ต้องการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ 3 จังหวัด สามารถยื่นขอรับส่งเสริมฯ จากบีโอไอได้แล้วตั้งแต่บัดนี้ โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมจากเกณฑ์ปกติ คือ ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เป็นเวลา 5 ปีนับจากสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสิ้นสุดลง ทั้งนี้ขอให้ยื่นขอรับการส่งเสริมภายในปีนี้" นางหิรัญญากล่าว
ทั้งนี้ ภายใต้มาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัดนั้น บีโอไอได้กำหนดกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ให้การส่งเสริมการลงทุน ประกอบด้วย ยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การแปรรูปอาหาร เครื่องจักรอัตโนมัติและหุ่นยนต์ การบิน เคมีชีวภาพและปิโตรเคมีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ดิจิทัล และการแพทย์ครบวงจร รวมถึงกิจการสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ได้แก่ กิจการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานและโลจิสติกส์ กิจการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว กิจการวิจัยและพัฒนา และบริการสนับสนุนด้านเทคโนโลยี โดยมีประเภทกิจการย่อยที่เข้าข่ายได้รับส่งเสริมมากถึง 202 กิจการ
ด้าน พลโทสรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติเห็นชอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าบางปะกง แล้ว ใน วงเงินลงทุน 33,942 ล้านบาท หลังจากโครงการได้รับความเห็นชอบจาก คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแล้ว โดยโครงการโรงไฟฟ้าบางปะกง ทดแทนเครื่องที่ 1 - 2 เป็นโครงการเพื่อทดแทนกำลังผลิตที่หายไปของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนบางปะกง เครื่องที่ 1 - 2 เดิมขนาด 1,050 เมกะวัตต์ ที่ถูกปลดออกจากระบบตามอายุของโรงไฟฟ้าแล้วตั้งแต่ปี 2557 เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ให้มีความเพียงพอและมีเสถียรภาพ
ทั้งนี้ กฟผ.จะดำเนินโครงการได้ เมื่อรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ โดยระยะเวลาดำเนินโครงการมีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ในเดือนเมษายน2562 โดยต้องใช้เวลาในการก่อสร้างโรงไฟฟ้า 34 เดือน ภายหลังจากออกหนังสือสนองรับราคาอุปกรณ์โรงไฟฟ้า
สำหรับ โครงการนี้อยู่บนพื้นที่เดิมของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมบางปะกง ชุดที่ 1-2 ภายในบริเวณโรงไฟฟ้าบางปะกง ต.ท่าข้าม อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา เนื้อที่ประมาณ 50 ไร่ ขณะที่งบประมาณในการลงทุนครั้งนี้ เป็นการเบิกจ่ายจากงบประมาณลงทุนประจำปี 2559 จำนวน 3,066 ล้านบาท ซึ่งการดำเนินการให้ใช้เงินจากรายได้ก่อน เป็นลำดับแรกก่อนการกู้เงิน และหากเกิดความจำเป็นต้องใช้เงินกู้ ก็ให้ใช้เงินกู้ภายในประเทศโดยกระทรวงการคลังไม่ค้ำประกัน
BOI เปิดยื่นขอรับส่งเสริมลงทุนใน 3 จังหวัดพื้นที่ EEC พร้อมเพิ่มสิทธิลดหย่อนภาษี 50% อีก 5 ปี
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economics Corridor Development: EEC) ใน 3 จังหวัด ซึ่งเป็นการให้สิทธิประโยชน์เฉพาะโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอก่อนที่รัฐบาลจะประกาศใช้ พ.ร.บ.พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) พร้อมกำหนดประเภทกิจการย่อย 202 กิจการที่ให้ส่งเสริมในพื้นที่ โดยมีเงื่อนไขต้องยื่นขอรับส่งเสริมภายในปี 2560
นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการ BOI เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ได้ลงนามในประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่ 4/2560 เรื่อง มาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนของกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง ในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดชลบุรี และจังหวัดระยอง
ทั้งนี้ มาตรการส่งเสริมการลงทุนของ BOI เป็นการเตรียมมาตรการส่งเสริมก่อนที่ร่าง พ.ร.บ.พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ของกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาจะมีผลบังคับใช้
โครงการลงทุนที่ต้องการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ 3 จังหวัด สามารถยื่นขอรับส่งเสริมฯ จากบีโอไอได้แล้วตั้งแต่บัดนี้ โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมจากเกณฑ์ปกติ คือ ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เป็นเวลา 5 ปีนับจากสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสิ้นสุดลง ทั้งนี้ขอให้ยื่นขอรับการส่งเสริมภายในปีนี้"นางหิรัญญา กล่าว
ภายใต้มาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัดนั้น บีโอไอได้กำหนดกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ให้การส่งเสริมการลงทุน ประกอบด้วย ยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การแปรรูปอาหาร เครื่องจักรอัตโนมัติและหุ่นยนต์ การบิน เคมีชีวภาพและปิโตรเคมีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ดิจิทัล และการแพทย์ครบวงจร รวมถึงกิจการสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ได้แก่ กิจการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานและโลจิสติกส์ กิจการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว กิจการวิจัยและพัฒนา และบริการสนับสนุนด้านเทคโนโลยี โดยมีประเภทกิจการย่อยที่เข้าข่ายได้รับส่งเสริมมากถึง 202 กิจการ
อุตตม'ปลื้ม!สหรัฐ 700 รายจ่อลงทุนอีอีซี
ไทยโพสต์ : พหลโยธิน * นายอุตตม สาว นายน รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังนายเจฟฟรีย์ ดี.ไนการ์ด ประธานหอการค้าสหรัฐ นำคณะนักลงทุนสหรัฐเข้าหารือว่า มีนักลงทุนสหรัฐที่อยู่ในไทยกว่า 700 บริษัท สนใจลงทุนในพื้นที่โครงการระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (อีอีซี) เต็ม ที่ โดยมีมูลค่าการลงทุนประ มาณ 40,000 ล้านบาท
โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์ การบิน และคอมพิว เตอร์ เช่น บริษัท ซีเกรทเทค โนโลยี, บริษัท ไอบีเอ็ม รวมถึงด้านเคมีภัณฑ์ ซึ่งได้สอบถามรายละเอียดสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของสำนักงานส่งเสริมการลง ทุน (บีโอไอ) และกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้วย
"นักลงทุนสหรัฐในอุตสาห กรรมยานยนต์ เช่น ค่ายฟอร์ด ก็ไม่ได้ถามเรื่องกฎหมายควบคุมการโดยสารรถกระบะ โดยเฉพาะ การนั่งแค็บ เชื่อว่าผู้ประกอบการยานยนต์เข้าใจในเรื่องนี้ ว่าจะส่งผลดีต่อความปลอดภัยของประชาชน และยังมีความเชื่อมั่นในการผลิตรถกระบะต่อไป โดยแต่ละค่ายก็จะมีเทคโนโลยีแตกต่างกันไป ดังนั้นจึงไม่จำเป็น ที่จะต้องเรียกผู้ประกอบการอุตสาห กรรมยานยนต์มาหารือทำความเข้าใจแต่อย่างใด" นายอุตตมกล่าว.
กนอ.จัดงบ 2.6 หมื่นล้านผุด 3 โครงการดึงนักลงทุนเข้าอีอีซี
แนวหน้า : นายวีรพงษ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)กล่าวว่า กนอ.ตั้งงบประมาณเบื้องต้นเพื่อลงทุนในพื้นที่พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) วงเงิน 26,000 ล้านบาท ลงทุนระหว่างปี 2560-2564 แบ่งเป็น 1. โครงการท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 วงเงินลงทุน 10,000 ล้านบาท เพื่อขยายการรองรับสินค้าอีก 10 ล้านตันต่อปี จากปัจจุบันอยู่ที่ 25 ล้านตันต่อปี ทำให้รองรับได้มากถึง 35 ล้านตันต่อปี คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2562 แล้วเสร็จปี 2564 รัฐบาลกำหนดให้เป็นโครงการลงทุนร่วมระหว่างรัฐและเอกชน (พีพีพี) อยู่ระหว่างจัดทำกระบวนการอนุมัติให้รองรับการลงทุนแบบพีพีพี และจะเสนอเรื่องดังกล่าวเข้าสู่คณะกรรมการเร่งรัดพีพีพี ภายใต้คณะกรรมการอีอีซีซึ่งมีนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีขณะเดียวกันกนอ.ได้จัดทำรายงาน ผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม(อีเอชไอเอ) และส่งรายงานอีเอชไอเอให้สำนักงานนโยบาย และแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เรียบร้อยแล้วคาดว่าจะใช้เวลาพิจารณา 3-6 เดือน
2.การเตรียมพื้นที่ใหม่เพื่อรองรับนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซี 10,000 ไร่วงเงิน 15,000 ล้านบาท ในกรณีที่กนอ. ดำเนินการเองทั้งหมด ทั้งนี้ หลักการกนอ. จะพยายามเชิญชวนเอกชนเข้าร่วมพัฒนาเนื่องจากได้กำหนดให้เป็นนิคมร่วมพัฒนา ระหว่างกนอ.กับเอกชน คิดเป็นสัดส่วน 50-70% โครงการนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเตรียมพื้นที่รองรับการลงทุน ในพื้นที่อีอีซี 50,000 ไร่ ซึ่งปัจจุบัน 40,000 ไร่ที่เหลือ มีโครงการที่ได้มีการพัฒนาแล้ว 15,000 ไร่ อยู่ระหว่างการพัฒนา 15,000 ไร่ และพัฒนาในรูปแบบสวนอุตสาหกรรมและเขตอุตสาหกรรม 10,000 ไร่
3.การจัดตั้งเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรม ดิจิทัลเพื่อสนับสนุนการพัฒนาอีอีซี (อีอีซีดี) เป้าหมาย 700 ไร่ ในพื้นที่คงเหลือของนิคมฯมาบตาพุด คาดว่าจะลงทุน 1,000 ล้านบาท รองรับอุตสาหกรรมไฮเทค ศูนย์ซ่อมอากาศยาน แอร์บัส เคมิคอล คาดว่าก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2564
นายฮิโรกิ มิทสึมาตะ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น(เจโทร) พร้อมคณะนักธุรกิจเข้าพบพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อหารือถึงนโยบายส่งเสริมการลงทุนในอีอีซี ที่สนามบิน นานาชาติอู่ตะเภา จ.ระยอง เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2560 ว่าขณะนี้นักลงทุนญี่ปุ่นมีความเชื่อมั่นต่อการดำเนินนโยบายของไทยที่มีความชัดเจนมากขึ้น แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะมีการลงทุนจริงในพื้นที่ดังกล่าวเมื่อใด เพราะสิทธิประโยชน์ที่มีอยู่ยังไม่เพียงพอ โดยควรใช้รูปแบบเดียวกับที่มีในญี่ปุ่นเช่นการให้สิทธิประโยชน์เฉพาะรายบริการที่นำนวัตกรรมมาพัฒนาอุตสาหกรรม ทั้งรถยนต์ไฟฟ้าแห่งอนาคต สินค้าเกษตรแปรรูป
"มาตรการที่ต้องการให้รัฐบาลไทยสนับสนุนอาทิการยกเลิกการใช้แรงงานต่างชาติต่อแรงงานไทย 1 ต่อ 4 เพื่อเปิดโอกาสให้บุคลากรต่างชาติที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาทำงานในบริษัทไทยที่มีความต้องการโดยตรง รวมทั้งมีช่องทางพิเศษในการอนุญาตนำเข้าสินค้ากลุ่มอาหารโดยให้องค์การอาหารและยา (อย.) ลดขั้นตอนการพิจารณาให้รวดเร็วมากขึ้น ปรับกฎเกณฑ์ หรือยกเว้นระเบียบบางข้อเพื่อแก้ปัญหาคอขวดการลงทุนในบางอุตสาหกรรม" นายฮิโรกิกล่าว
นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรมกล่าวถึงกรณีที่เจโทรต้องการสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมนั้นอยากให้มาหารืออย่างเป็นทางการกับรัฐบาลอีกครั้งแต่มีความเชื่อมั่นว่านักลงทุนญี่ปุ่นจะเข้ามาลงทุนในอีอีซีแน่นอน เนื่องจากเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย แจ้งกับรัฐบาลไทยว่าอยู่ระหว่างตั้งทีมนักลงทุน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 ทีม เพื่อมาจับคู่ธุรกิจกับทีมรัฐบาลไทยที่มีนโยบายส่งเสริม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายเช่นกันคาดจะหารือร่วมกันเร็วๆ นี้ ทำให้นายกรัฐมนตรีพึงพอใจเป็นอย่างมาก
รัฐเนรมิตเมืองใหม่'แปดริ้ว'เป็น'สมาร์ท ซิตี้'-รถไฟเร็วสูงเชื่อมสนามบิน
แนวหน้า : นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) แถลงผลประชุมว่า ได้มีการหารือเพื่อพัฒนา จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่อีอีซีให้เป็นเมืองใหม่ (สมาร์ท ซิตี้) ขั้นตอนต่อไปจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และ สำนักงานคณะกรรมการผังเมือง ซึ่งรูปแบบการพัฒนาต้องสอดรับกับแผนการพัฒนาอีอีซี ส่วนรูปแบบจะเป็นแบบใดนั้นขึ้นอยู่กับการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และต้องนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมนโยบายการพัฒนาอีอีซีต่อไป
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้หารือถึงการพัฒนาอีอีซีให้เกิดผลในเชิงรูปธรรมอย่างรวดเร็ว โดยมีประเด็นหลักคือ เมืองการบินภาคตะวันออก ซึ่งคณะกรรมการเห็นชอบตามข้อเสนอของกองทัพเรือที่ให้ประกาศพื้นที่ 6,500 ไร่ โดยจะลงทุนในการเพิ่มทางวิ่ง (รันเวย์)มาตรฐาน 1 ทางวิ่ง ลงทุนใน 5 กิจกรรมหลัก ได้แก่ กลุ่มอาคารผู้โดยสารและการค้า เพื่อรองรับผู้โดยสาร 15 ล้านคน ในระยะ 5 ปี 30 ล้านคน ใน 10 ปี และ 60 ล้านคน ใน 15 ปี กลุ่มอุตสาหกรรมอากาศยาน กลุ่มธุรกิจขนส่งอากาศยาน ธุรกิจซ่อมเครื่องบิน กลุ่มศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรอากาศยานและธุรกิจการบิน โดยที่ประชุมยังได้เห็นชอบให้มีการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการโดยให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากนักลงทุน เพื่อจัดทำรูปแบบให้เอกชนร่วมลงทุน และจัดทำสัญญาร่วมกับเอกชนให้เสร็จในปี 2560
นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง(ไฮสปีดเทรน)เชื่อม 3 สนามบิน คือ ท่าอากาศยานดอนเมือง อู่ตะเภา และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยเห็นชอบให้การรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) เร่งรัดการศึกษาความเหมาะสมให้รถไฟความเร็วสูงตะวันออกสามารถเชื่อมโยง 3 สนามบินโดยเร็ว
นายคณิศ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยัง รับทราบความคืบหน้าในการปรับปรุงกฎระเบียบและวิธีทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ได้แก่ แนวทางเร่งรัดขบวนการร่วมทุนกับเอกชนสำหรับโครงการสำคัญในอีอีซี เขตปลอดภาษีอากรที่ปลอดเอกสารและมีความสะดวกรวดเร็ว ในระดับนานาชาติ และการชักจูงผู้ลงทุน รายสำคัญมาลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย
ขณะเดียวกัน คณะกรรมการนโยบายฯ ยังเห็นชอบแนวทางการพัฒนาเขตเทคโนโลยี 2 แห่ง ได้แก่ เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซีไอ) จ.ระยอง 350 ไร่ และเขตนวัตกรรมดิจิทัลภาคตะวันออก (อีอีซีดี) จ.ชลบุรี 700-800 ไร่
บอร์ด EEC ไฟเขียวเมืองการบินภาคตะวันออก-เดินหน้ารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการ EEC นัดแรกที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานวันนี้ ที่ประชุมฯ เห็นชอบตามข้อเสนอของกองทัพเรือที่ให้ประกาศพื้นที่ 6,500 ไร่ ของสนามบินอู่ตะเภา เป็นเขตส่งเสริมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก 'เมืองการบินภาคตะวันออก'
พร้อมระดมการลงทุนในกิจกรรมสำคัญ อาทิ เพิ่มทางวิ่งมาตรฐานอีก 1 ทางวิ่ง ลงทุนในกลุ่มกิจกรรมหลัก 5 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มอาคารผู้โดยสารและการค้า 2.กลุ่มอุตสาหกรรมอากาศยาน 3.กลุ่มธุรกิจขนส่งทางอากาศ 4.กลุ่มธุรกิจซ่อมเครื่องบิน และ 5. กลุ่มศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรอากาศยานและธุรกิจการบิน
ขณะที่ในอนาคตอาจมีอีก 3 กิจกรรมเพิ่มเติมในพื้นที่ใกล้เคียง คือ 1.กลุ่มธุรกิจท่าเรือพาณิชย์ 2.ศูนย์การแพทย์เฉพาะด้าน และ 3.อุตสาหกรรมเทคโนโลยีป้องกันประเทศ รวมถึงให้ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการโดยให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากนักลงทุน จัดทำรูปแบบให้เอกชนร่วมทุน และจัดทำสัญญาการร่วมทุนกับเอกชนให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้
นายคณิศ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมฯ ยังเห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงคมนาคมให้ปรับปรุงระบบขนส่งทางรางให้รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออก ความเร็ว 250 กิโลเมตร/ชม. สามารถวิ่งเชื่อมโยงทั้ง 3 สนามบิน คือ สนามบินสุวรรณภูมิ, สนามบินดอนเมือง และสนามบินอู่ตะเภา โดยวิ่งให้บริการในเส้นทางร่วมกับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ พญาไท-สุวรรณภูมิ และแอร์พอร์ตลิงค์ส่วนขยาย พญาไท-ดอนเมือง ซึ่งผู้โดยสารจะใช้เวลาเดินทางจาก กทม.-ระยอง โดยไม่ต้องเปลี่ยนขบวนรถในเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง ซึ่งมอบหมายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เร่งทำการศึกษาความเหมาะสมและขอรับการจัดสรรงบประมาณ
คณะกรรมการฯ ยังรับทราบความก้าวหน้าการปรับปรุงกฎระเบียบและวิธีทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นใน 3 เรื่อง คือ เร่งรัดกระบวนการร่วมทุนกับเอกชนสำหรับโครงการสำคัญใน EEC ให้แล้วเสร็จภายใน 8-10 เดือน, เรื่องของเขตปลอดอากรที่ปลอดเอกสาร เพื่อให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว, การชักจูงผู้ลงทุนรายสำคัญมาลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ รถยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมดิจิทัล และศูนย์การแพทย์
เลขาธิการ EEC กล่าวด้วยว่า คณะกรรมการฯ ยังเห็นชอบแนวทางการพัฒนาเขตเทคโนโลยีระดับโลกของไทย 2 แห่ง คือ 1.เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ระยะแรก พื้นที่ 350 ไร่ ที่วังจันทร์วัลเล่ย์ จังหวัดระยอง โดยให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปศึกษาความเป็นไปได้ เพื่อประกาศเป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ภาคตะวันออกโดยเร็ว และ 2.เขตนวัตกรรมดิจิตัลภาคตะวันออก ในพื้นที่ 800 ไร่ บริเวณอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ซึ่งมอบหมายให้กระทรวงดิจิตัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นผู้ดำเนินการ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะกรรมการ EEC ว่า EEC ถือเป็นก้าวแรกในการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยใหม่ไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง ซึ่งในอนาคตอาจจะมีการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจในพื้นที่อื่นเพื่อเชื่อมโยงกับทุกพื้นที่อุตสาหกรรม นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ผลักดันเขตเศรษฐกิจพิเศษใน 10จังหวัด ที่จะเชื่อมโยงกับ EEC เพื่อเชื่อมต่อไปยังกลุ่มประเทศ CLMV และประชาคมโลกต่อไป
สำหรับ การพบปะหารือกับผู้บริหารภาคเอกชน พบว่าทุกคนมีความพึงพอใจในโครงการของรัฐบาล ซึ่งประเด็นสำคัญคือการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน สร้างผลประโยชน์ที่เท่าเทียมและเป็นธรรม สร้างผลประโยชน์กับประชาชนในพื้นที่และประชาชนโดยรวม พร้อมกับฝากให้ทุกคนช่วยกันสร้างสิ่งดีๆ ให้กับประเทศไทย เพราะหากไม่ทำวันนี้ อนาคตก็จะไม่มี จึงต้องแก้ปัญหาและสร้างอนาคตจากวันนี้สู่วันหน้าด้วยการผลักดันโครงการในลักษณะเช่นเดียวกับ EEC อย่างต่อเนื่อง
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้มีความคืบหน้าในการปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบ สิทธิประโยชน์ และการรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน และรัฐบาลได้เดินหน้าผลักดันการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน ซึ่งถือเป็นการปฏิรูปมาโดยตลอด โดยถือเป็นการเริ่มต้นในช่วง 5 ปีแรกของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พร้อมเน้นย้ำเรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่จะต้องผลิตบุคลากรให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานมีฝีมือ และพัฒนาทักษะด้านภาษา และสร้างแรงกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาตนเอง ซึ่งภาพรวมทั้งหมดเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องผลักดัน
พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยันด้วยว่าการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ไม่เกี่ยวข้องกับการเอื้อประโยชน์ให้กองทัพเรือ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ด้านความมั่นคง แต่ได้มีการหารือและมีข้อตกลงที่จะใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าวทั้งเชิงพาณิชย์และความมั่นคง ซึ่งมีการจัดทำแนวทางไว้ในขณะนี้และในอนาคตไว้แล้ว