- Details
- Category: สำนักนายกฯ
- Published: Wednesday, 05 April 2017 22:24
- Hits: 23330
นายกฯ นั่งประธานบอร์ด EEC ลุยโครงสร้างพื้นฐาน หวัง 5 ปีดึงเงินลงทุน 1.5 ล้านลบ. ด้าน กนอ. ตั้งงบ 2.6 หมื่นลบ.ลุย 3 โปรเจ็ก
นายกฯ นั่งประธาน บอร์ด EEC เดินหน้าพัฒนาภาคตะวันออก ทั้งเมืองการบิน รถไฟฟ้าเชื่อมโยง 3 สนามบิน ดิจิตอลปาร์ก เขตนวัตกรรม หวังดึงเงินลงทุน 1.5 ล้านล้านบาท ในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคตะวันออก ด้านกนอ. ตั้งงบลงทุนโครงสร้างพื้นฐานใน EEC รวม 2.6 หมื่นล้านบาท 3 โครงการ ทั้งท่าเรือมาบตาพุด, Digital Park และแผนเตรียมพื้นที่รองรับนิคมฯ อีก 1 หมื่นไร่
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ (ครศ.) เพื่อพิจารณาแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยเฉพาะเมืองการบินภาคตะวันออก ผ่านการตั้งโรงเรียนการบิน ศูนย์ซ่อม โลจิสติกส์ การพัฒนารถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพ-ระยอง เพื่อประกาศ TOR ให้เอกชนมาลงทุนในกลางปีนี้และเปิดประมูลภายในปีนี้ เพื่อเชื่อม สนามบินดอนเมือง สุวรรณภูมิและสนามบินอู่ตะเภา รองรับผู้โดยสารเพิ่มจาก 15-30-60 ล้านคนในระยะเวลา 5-10-15 ปี
นอกจากนี้ ยังเตรียมพัฒนาดิจิทัลปาร์ก (EECd) ด้วยพื้นที่ 621 ไร่ที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี หวังให้เป็นส่วนหนึ่งของ EEC วงเงินลงทุน 6.8 หมื่นล้านบาท การสร้างพื้นที่นวัตกรรม (Area of Innovation) ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เพื่อให้เกิดการทำวิจัยพัฒนาและสร้างนวัตกรรมร่วมกันระหว่างภาครัฐ เอกชน มหาวิทยาลัย รวมถึงชุมชน และยังต้องส่งเสริมการพัฒนาจังหวัดฉะเชิงเทราเป็นเมืองอุตสาหกรรมใหม่ด้านนวัตกรรม คาดว่าภายใน 5 ปี (2560-2565) เมื่อ EEC เริ่มลงทุนจะมูลค่าสูงถึง 1.5 ล้านล้านบาท เศรษฐกิจไทยเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 5 ต่อปี เกิดการจ้างงานใหม่ 100,000 อัตรา/ปี สร้างฐานภาษีใหม่ 100,000 ล้านบาท/ปี ลดค่าใช้จ่าย ด้านโลจิสติกส์ 400,000 ล้านบาท/ปี
ด้านนายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการลงทุนในพื้นที่พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ในส่วนของโครงการที่ กนอ.ดูแล ในโอกาสที่นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ดูงานและเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพื้นที่อีอีซี ครั้งที่ 1/2560 ที่ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา จ.ระยอง ว่าขณะนี้กนอ.ตั้งงบประมาณลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซีรวม 26,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 3 โครงการ ได้แก่
1. โครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 ที่อยู่ระหว่างจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) ส่งให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณาแล้ว คาดจะแล้วเสร็จภายใน 3-6 เดือนนับจากนี้นอกจากนี้ จะดำเนินการควบคู่กับการจัดทำหลักเกณฑ์การอนุญาตการร่วมลงทุนภาครัฐและเอกชน (พีพีพี) เตรียมเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการเร่งรัดพีพีพี ที่มีนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานอยู่ภายใต้คณะกรรมการอีอีซีพิจารณาเร็ว ตั้งเป้าหมายแล้วเสร็จภายในปีนี้ เพื่อเริ่มก่อสร้างในปี 2562 แล้วเสร็จปี 2564 ตามแผนที่กำหนดไว้ บนพื้นที่ 10,000 ไร่ งบลงทุน 10,000 ล้านบาท ช่วยขยายการรองรับสินค้าเพิ่มขึ้นจากปีละ 25 ล้านตัน เป็น 35 ล้านตัน
2.โครงการจัดตั้งเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัลใน EEC (Digital Park Thailand:อีอีซีดี) บนพื้นที่ 700 ไร่ งบลงทุน 1,000 ล้านบาท รองรับอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ปิโตรเคมี ศูนย์ซ่อมอากาศยาน แอร์บัส คาดการก่อสร้างจะแล้วเสร็จในปี 2564
3.การเตรียมพื้นที่ใหม่รองรับนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC จำนวน 10,000 ไร่ วงเงิน 15,000 ล้านบาท ในกรณีที่กนอ.เป็นผู้ดำเนินการเองทั้งหมด แต่โดยหลักการ กนอ.จะเชิญชวนเอกชนเข้าร่วมพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว เนื่องจากได้กำหนดให้เป็นนิคมร่วมพัฒนาระหว่างกนอ.กับเอกชน คิดเป็นสัดส่วน 50-70% โดยโครงการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเตรียมพื้นที่รองรับการลงทุนใน EEC จำนวน 50,000 ไร่ ซึ่งที่ผ่านมาได้ดำเนินการไปแล้ว 40,000 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่พัฒนาแล้ว 15,000 ไร่ อยู่ระหว่างการพัฒนา 15,000 ไร่ และพัฒนาในรูปแบบสวนอุตสาหกรรมและเขตอุตสาหกรรม 10,000 ไร่
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย