- Details
- Category: สำนักนายกฯ
- Published: Friday, 13 January 2017 10:15
- Hits: 6759
‘สมคิด’เคาะงบ 61 ทะลุ 2.9 ล้านล้าน ขาดดุล 4.5 แสนล.บัญชีกลางโชว์เบิกจ่ายเกินเป้า
ไทยโพสต์ : พระราม 6 * ‘สมคิด’ ตีปี๊บกรอบงบรายจ่ายปี 61 พุ่งแตะ 2.9 ล้านล้านบาท ขาดดุลทะยาน 4.5 แสนล้าน บัญชีกลางปลื้มส่วนราชการรัฐวิสาหกิจตะลุยเบิกจ่ายงบ 8.76 แสนล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 2.06%
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภาย หลังเป็นประธานการประชุมพิจารณากำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2561 ร่วมกับ 4 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ว่า เบื้องต้นได้วางกรอบ งบประมาณรายจ่ายปี 2561 วง เงิน 2.9 ล้านล้านบาท จากปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 2.73 ล้านล้านบาท
โดยเป็นงบประมาณแบบขาดดุล วงเงิน 4.5 แสนล้านบาท โดยมีการประมาณการการจัดเก็บรายได้อยู่ 2.45 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.4% จากปีงบประมาณที่ผ่านมา อยู่ที่ 2.34 ล้านล้านบาท โดยการจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลจะไปเพิ่มงบลงทุนให้มากขึ้นอยู่ที่ 23% ของงบประมาณรายจ่าย จากปีงบประมาณ 2560 อยู่ที่ 21%
ทั้งนี้ สมมุติฐานในการจัด ทำกรอบงบประมาณปี 2561 ของ 4 หน่วยงาน จะอยู่ภายใต้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2561 ที่ 3.8% อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 2% การนำเข้าในรูปดอลลาร์ ขยายตัว 7% ราคาน้ำมันดิบดูไบ อยู่ที่ 55 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และ อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 36 บาทต่อดอลลาร์
"เศรษฐกิจโลกยังมีความเสี่ยงแม้ว่าเศรษฐกิจภายในฟื้นตัวมากขึ้น การทำงบประมาณ ขาดดุลยังมีความจำเป็น เพราะเป็นการลงทุนเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และในปี 2561 จะมีการจัดสรรงบลงทุนระดับกลุ่มจังหวัดเพิ่มมากขึ้น ต่อเนื่องจากปีงบประมาณ 2560 และการทำงบขาดดุลเพิ่มมากขึ้นก็ยังทำสัดส่วนหนี้สาธารณะปี 2561 อยู่ที่ 45% ของจีดีพี อยู่ในกรอบความยั่งยืนทางการคลังที่กำหนดไว้ 60% ของจีดีพี" นายสมคิดกล่าว
นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยว่า คำของบประมาณจาก หน่วยงานราชการทั้งหมดอยู่ที่ 4.52 ล้านล้านบาท และได้มีการพิจารณาในเบื้องต้นตัวเลขคำของบประมาณจากหน่วยงานราชการ ควรอยู่ที่ 3.41 ล้านล้านบาท สูงขึ้นกว่าปีงบประมาณที่ ผ่านมา 5% ซึ่งจะต้องมีการพิจารณาลำดับความสำคัญของงบประมาณ โดยส่วนราชการจะต้องส่งคำขอใช้งบประมาณให้สำนักงบประมาณพิจารณาอีกครั้งภายในวันที่ 1 ก.พ.นี้
ด้าน นางสาวอรนุช ไวนุสิทธิ์ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบการเงินการคลัง ในฐานะโฆษกกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า กรมบัญชีกลางมีการรับเงินเข้าบัญชีเงินคงคลังบัญชีที่ 1 ช่วงไตรมาสแรก (ต.ค.-ธ.ค.2559) ผ่านระบบ GFMIS ณ วันที่ 4 มกราคม 2560 จำนวน 6.92 แสนล้านบาท เป็นการนำส่งรายได้ของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ จำนวน 6.03 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการนำส่งรายได้จากภาษีต่างๆ
สำหรับ ผลการเบิกจ่ายงบประมาณไตรมาส 1 ปีงบประ มาณ 2560 (1 ต.ค.-30 ธ.ค.59) เบิกจ่ายงบประมาณภาพรวมได้จำนวน 8.76 แสนล้านบาทของวงเงินงบประมาณ 2.733 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 32.06% ซึ่งสูงกว่าเป้าหมาย 2.06% โดยแบ่งเป็นรายจ่ายประจำเบิกจ่ายแล้วจำนวน 7.83 แสนล้านบาท ของวงเงินงบประมาณ 2.18 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 35.89% และรายจ่ายลงทุนเบิกจ่ายแล้วจำนวน 9.21 หมื่นล้านบาท ของวงเงินงบประมาณ 4.64 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 19.86%.
ปีงบ'61ขาดดุลเพิ่มโหมลงทุนวงเงิน 2.9 ลล.-คลังยันรัฐยังต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ
แนวหน้า : นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561 มีวงเงิน 2.9 ล้านล้านบาท เป็นงบประมาณแบบขาดดุล 4.5 แสนล้านบาท โดยมีการประมาณการจัดเก็บรายได้ที่ 2.45 ล้านล้านบาท ซึ่งการทำงบขาดดุลจะไป เพิ่มงบลงทุนให้มากขึ้นอยู่ที่ 23% ของงบประมาณรายจ่ายทั้งหมด จากปีงบประมาณ 2560 อยู่ที่ 21-22% ทั้งนี้การทำกรอบงบประมาณ 2561 ทั้ง 4 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม แห่งชาติ (สศช.) ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปี 2561 จะขยายตัว 3.8% อัตราเงินเฟ้อ 2% การนำเข้าขยายตัว 7% ราคาน้ำมันดิบดูไบ 55 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทอยู่ที่ 36 บาทต่อเหรียญสหรัฐ
นายสมคิด กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกยังมีความเสี่ยงแม้ว่าเศรษฐกิจภายในประเทศฟื้นตัวมากขึ้น การทำงบประมาณขาดดุลยังมีความจำเป็น เพราะเป็นการลงทุนเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และในปี 2561 จะมีการจัดสรรงบลงทุนระดับกลุ่มจังหวัดเพิ่มมากขึ้น ต่อเนื่องจากปีงบประมาณ 2560 และการทำงบขาดดุลเพิ่มมากขึ้นก็ยังทำสัดส่วนหนี้สาธารณะปี 2561 อยู่ที่ 45% ของจีดีพี อยู่ในกรอบความยั่งยืนทางการคลังที่กำหนดไว้ 60% ของจีดีพี
ด้านนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวว่า การทำงบประมาณแบบขาดดุลปี 2561 จำนวน 4.5 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับการ ขาดดุลงบประมาณ 2560 วงเงิน 3.9 แสนล้านบาท แต่หากรวมกับการทำงบประมาณกลางปีเพิ่มเติม ที่จะมีการกู้เงินเพิ่มอีกประมาณ 1.6 แสนล้านบาท การทำงบขาดดุลปี 2561 จึงลดลงจากปีก่อนหน้า
"การทำงบขาดดุลปี 2561 สูง เพื่อเพิ่มเงิน ลงทุนของประเทศให้มากขึ้น ตอนนี้เครื่องยนต์ทาง เศรษฐกิจหลายตัวกำลังติด หากรัฐบาลไปลด หรือ หยุดการลงทุน ก็อาจจะทำให้เครื่องยนต์ที่จะติด ดับไปได้ และไม่เป็นผลดีกับการขยายตัวเศรษฐกิจ" นายอภิศักดิ์ กล่าว
ด้านนายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการ สำนักงบประมาณ กล่าวว่า คำของบประมาณจากหน่วยราชการทั้งหมดอยู่ที่ 4.52 ล้านล้านบาท และได้มีการพิจารณาเบื้องต้นอยู่ที่ 3.41 ล้านล้านบาท ซึ่งจะต้องมีการพิจารณาลำดับความสำคัญของงบประมาณให้เหลืออยู่ที่วงเงิน 2.9 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ในเบื้องต้นได้ตั้งเป้าหมายการเบิกจ่าย งบประมาณรายจ่ายของปี 2561 จะไม่ต่ำกว่า 88% จากปีงบประมาณ 2560 ที่ตั้งเป้าหมายเบิกจ่ายไว้ที่ 87%
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า กรอบ งบประมาณรายจ่ายปี 2561 เป็นงบประมาณแบบขาดดุล 4.5 แสนล้านบาท โดยการจัดทำงบขาดดุล งบประมาณครั้งนี้ จะเป็นการเพิ่มงบลงทุนภาครัฐมากขึ้น แต่เมื่อรวมกับโครงการลงทุนผ่านความร่วมมือ ของภาครัฐและเอกชน (พีพีพี) จะส่งผลให้ตัวเลขการลงทุนอยู่ที่ 25% ของงบประมาณทั้งหมด
ส่วนความคืบหน้ากรณี บริษัทเชฟรอนขอคืนภาษีนั้น นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยว่า หากคณะกรรมการกฤษฎีกา มีความเห็นว่า กรมศุลกากรต้องเก็บภาษีน้ำมันของบริษัทเชฟรอน ประเทศไทย ที่นำไปใช้บนแท่นขุดเจาะน้ำมันทางทะเล ก็เป็นเรื่องที่กรมศุลกากร ต้องดำเนินการ ซึ่งถือเป็นเรื่องดี เพราะทำให้เกิดความชัดเจนไม่ต้องโต้เถียงกันต่อไปอีกว่าต้องเก็บภาษีหรือไม่ต้องเก็บภาษีเหมือนที่ผ่านมา
สำหรับ การไม่เก็บภาษีน้ำมันของบริษัท เชฟรอนก่อนหน้านี้ ก็ต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริง ต่อไปว่า ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของกรมศุลกากรที่เกี่ยวข้องทำไปโดยรู้เห็นเป็นใจจนทำให้ประเทศเสียหายหรือไม่
ทั้งนี้ บริษัทเชฟรอน ได้ขอคืนภาษีจากการน้ำมันไปใช้ดำเนินการบนแท่นขุดเจาะน้ำมันกลางทะเล ซึ่งห่างจากฝั่ง 12 ไมล์ทะเล ตั้งแต่ปี 2554 ซึ่งกรมศุลกากรขณะนั้นมีความเห็นว่า การนำสินค้า ออกจากฝั่งเกิน 12 ไมล์ทะเล ถือเป็นการส่งออกสามารถขอคืนภาษีจากกรมศุลกากรได้
คลัง ตั้งเป้างบประมาณรายจ่ายปี 61 ที่ 2.9 ล้านลบ.บนสมมติฐาน GDP โต 3.8%-งบลงทุนเพิ่มเป็น 23%
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมพิจารณากำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561 ร่วมกับ 4 หน่วยงาน คือ กระทรวงการคลัง, ธนาคารแห่งประเทศไทย, สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงบประมาณว่า ในงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561 ได้ตั้งเป้าการจัดเก็บรายได้ไว้ที่ 2.45 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.4% จาก 2.34 ล้านล้านบาทในปีงบประมาณ 60 โดยได้กำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่าย ปี 61 ไว้ที่ 2.9 ล้านล้านบาท ตั้งเป้าหมายการขาดดุลงบประมาณที่ 4.5 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ ในส่วนของงบประมาณรายจ่ายที่ 2.9 ล้านล้านบาทนั้น ตั้งเป้าว่าจะต้องมีการเบิกจ่ายให้ได้ 88% จากในปี 60 ที่ตั้งเป้าการเบิกจ่ายไว้ที่ 87% พร้อมกับตั้งเป้าสัดส่วนงบลงทุนเพิ่มขึ้นเป็น 23% จากในปีงบประมาณ 60 ที่มีสัดส่วนของงบลงทุนอยู่ที่ 21% ทั้งนี้รัฐบาลคาดหวังที่จะให้ภาวะเศรษฐกิจไทยมีการเติบโตที่ต่อเนื่องจากปี 2560 ที่เป็นปีแห่งการลงทุน ดังนั้นจึงต้องมีการจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลต่อเนื่องมาถึงปี 61
ด้านนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวว่า การจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลในปีงบประมาณ 61 ที่ 4.5 แสนล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากในปีงบประมาณ 60 ที่มีเป้าหมายขาดดุลที่ 3.9 แสนล้านบาทนั้น เนื่องจากรัฐบาลต้องการนำงบประมาณมาใช้เพื่อผลักดันการลงทุนของภาครัฐให้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ พร้อมเห็นว่าขณะนี้เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจหลายตัวกำลังติดแล้ว ดังนั้นจึงมีการกระตุ้นการลงทุนเพิ่มขึ้น
ขณะที่นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561 ดังกล่าวนั้น อยู่บนสมมติฐานการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 61 ที่ 3.8% อัตราเงินเฟ้อที่ 2% ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยที่ 55 ดอลลาร์/บาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนที่ 36 บาท/ดอลลาร์
รัฐเร่งเครื่องลงทุนเต็มสูบ สมคิด จี้รสก.เบิกจ่ายงบหอฯหวังส่งออกโต 2.8%
ไทยโพสต์ * 'สมคิด'มั่นใจจีดีพีปีไก่มีโอกาสโตเกิน 3-4% ย้ำ! รัฐบาลเดินหน้าผลักดันลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน พร้อมตั้งคณะเร่งอีอีซี บี้รัฐวิสาหกิจเดินเครื่องเบิกจ่ายงบ หอการค้าไทยคาดส่งออกปีนี้ขยายตัว 1.3-4.2%
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนาประจำปีของสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ เรื่อง "2560 จุด เปลี่ยนประเทศไทย" โดยมั่นใจ ว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐ กิจไทยปีนี้มีโอกาสโตได้เกิน 3-4% จากการเดินหน้าการปฏิรูปด้านต่างๆ และการวางรากฐานในปีที่ผ่านมา รวมทั้งปัจจัยที่ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ มาจากภาวะเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว ซึ่งส่งผลดีต่อการส่งออก รวมทั้งราคาสินค้าเกษตรปรับตัวดีขึ้น การท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัวอย่างเต็มที่
ทั้งนี้ ดูจากที่ผ่านมา ยอม รับว่าระดับเศรษฐกิจที่โต 3.2% ของปีที่ผ่านมา ค่อนข้างเต็มที่แล้ว ดังนั้นหลังจากนี้เราต้องเปลี่ยน แปลงว่าจะทำอย่างไรไม่ทำให้เศรษฐกิจทรุด เราต้องเปลี่ยนวงจรเศรษฐกิจไทย เพื่อให้โตได้ในอีก 4-5 ปีข้างหน้า
"มีผู้รู้บอกว่า ปีนี้เศรษฐกิจไทยจะซึมยาว ผมก็มานั่งคิดว่า ก็เป็นไปได้ แต่ไม่ใช่ประเทศไทย แต่เป็นเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจเรามันจะซึมยาวหรือไม่ มันอยู่ที่ใจเรา หากไม่นั่งซึมอยู่บ้าน และคิด ไม่มีทางนั่งซึม แต่ถ้านั่งซึม ไม่ทำอะไร โครงสร้างไม่เปลี่ยน มันจะอยู่ไม่ได้ มันต้องทำ สินค้าเกษตรไม่แปรรูป มูลค่าก็ต่ำลง แต่ปีที่แล้วเราขับเคลื่อนไปเยอะมาก เรารู้ว่าปีนี้มันมีโครงการเยอะมาก แต่ละโครงการเตรียมจะคลอดออกมา อยู่ที่เราต้องพยายามเร่งทำคลอดออกมา เราต้องปรับเปลี่ยนด้วย เพราะการอัดฉีดเงินลงไป มันแค่ประคองเศรษฐกิจ แต่การสร้างให้แข็งแรง ต้องไปสู่การเปลี่ยนแปลงด้วย" นายสมคิดกล่าว
โดยบทบาทสำคัญของรัฐบาลจากนี้คือ การผลักดันการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ โดยเฉพาะโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายเพื่อกระตุ้นการทำงาน ผ่านคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและปรองดอง หรือ มินิ คาบิเนต (Mini cabinet) เพื่อผลักดันโครงการอีอีซี และการจัดสรรงบกลางลงสู่ระดับจังหวัด
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวว่า นายสมคิดได้เรียกประชุมรัฐวิสาหกิจที่มีงบลงทุนขนาดใหญ่ และให้นโยบายว่าจะต้องเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนปี 2560 ให้ได้ตามเป้าหมาย 95% ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบไว้ก่อนหน้านี้
โดยงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ 45 แห่ง ที่ สคร.กำกับดูแล ปี 2560 มีจำนวน 3.71 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมากว่า 20% จากมาตรการของรัฐบาลที่ให้เร่งโครงการลงทุนใน 1-2 ปีข้างหน้าให้เร็วขึ้น หรือ Front Load โดยรัฐวิสาหกิจต้องส่งแผน ดังกล่าวให้ สคร.พิจารณาภายในวันที่ 31 ม.ค.2560
นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ทิศทางการส่งออกปี 2560 เริ่มส่งสัญญาณ ฟื้นตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 คาดว่าจะขยายตัว 1.3-4.2% มูลค่า 218,403-224,635 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเฉลี่ยประมาณ 2.8% มูลค่าประมาณ 221,583 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยคาดว่าจะขยาย ตัวได้ดีในตลาดสหรัฐ ญี่ปุ่น ซึ่งญี่ปุ่นคาดว่าจะขยายตัวมากสุดในรอบ 6 ปี นับตั้งแต่ปี 2555 รวม ทั้งตลาดอาเซียน และตะวันออก กลาง.
ปลัดคลัง เล็งขยายมาตรการกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนหวังช่วยขับเคลื่อนศก.ผลักดัน GDP ปีนี้โตได้ 4-5%
นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวในงานสัมมนา "2560 จุดเปลี่ยนประเทศไทย" ว่า เศรษฐกิจไทยมีโอกาสที่จะเติบโตเต็มตามศักยภาพที่ระดับ 4-5% ได้ ซึ่งในปีนี้รัฐบาลจะพยายามทำให้เศรษฐกิจไทยโตได้มากกว่าระดับ 3% หลังจากที่ผ่านมาประเทศไทยต้องเผชิญกับการติดกับดักรายได้ปานกลางมาเป็นเวลานาน
"กระทรวงการคลังกำลังดูว่าจะมีอะไรมาช่วยกระตุ้นใจของเอกชนที่จะเข้ามาลงทุนเพิ่ม เอกชนต้องช่วยรัฐบาล เพราะเครื่องยนต์ 3 ตัวสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจล้วนมาจากเอกชนเป็นหลัก" นายสมชัย กล่าว
พร้อมระบุว่า แม้ในปัจจุบันรัฐบาลจะยังมีช่องทางเพียงพอที่จะใส่เงินลงไป เนื่องจากหนี้สาธารณะของประเทศยังอยู่ในระดับต่ำ แต่เห็นว่าการจะกู้เงินมาลงทุนในเรื่องใดนั้นจะต้องได้ผลลัพธ์ที่คุ้มค่ากลับมา และต้องสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่เศรษฐกิจไทยได้แรงและเร็ว
ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า นอกจากการลงทุนของภาคเอกชนที่จะช่วยทำให้เกิดจุดเปลี่ยนประเทศไทยได้แล้ว ในปีนี้ยังเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยมีการจัดตั้งกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้ใส่งบประมาณไว้ถึง 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งมั่นใจว่าจะมีส่วนช่วยในการดึงดูดอุตสาหกรรมที่สำคัญของโลกให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น และเป็นตัวช่วยกระตุ้นให้เอกชนของไทยมีการลงทุนตาม
"กระทรวงการคลังน้อยใจมากที่ในปีที่ผ่านมาเอกชนไม่ยอมลงทุน ทั้งๆ ที่เราให้สิทธิประโยชน์ และมาตรการทางภาษีมากสุดในประวัติศาสตร์ ทั้งอ้อนวอน ทั้งประชาสัมพันธ์ไปมากมาย แต่เอกชนก็ยังไม่ยอมลงทุน แต่เราก็เข้าใจ ในเมื่อคุณไม่มั่นใจ คุณก็ไม่อยากลงทุน พอมาปีนี้จะมาขอขยายมาตรการด้านการลงทุนเพิ่มอีก คงต้องรอดูท่านรองนายกฯ สมคิด ที่จะพิจารณาอีกรอบหรือไม่ กำลังดูเงื่อนไขอยู่" นายสมชัย กล่าว
อย่างไรก็ดี นอกจากที่รัฐบาลต้องการเห็นการลงทุนที่มากขึ้นของภาคเอกชนแล้ว ในส่วนของรัฐวิสาหกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเองก็ต้องเร่งรัดการลงทุนเช่นกัน เพื่อที่จะได้ร่วมกันช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโต ซึ่งเศรษฐกิจไทยไม่น่าจะเติบโตตาม New Normal แล้ว พร้อมเห็นว่าขณะนี้ไทยจะต้องพึ่งพาตัวเองเป็นหลัก ลดการพึ่งพาเศรษฐกิจโลก ซึ่งการที่ภาคส่งออกไม่สามารถเป็นความหวังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้นั้น ก็จะให้ภาคบริการมาเป็นตัวสร้างรายได้เข้าประเทศแทน ซึ่งภาคบริการในที่นี้ไม่ใช่เรื่องการท่องเที่ยว แต่เป็นเรื่องการให้บริการด้านการแพทย์, สถานศึกษา เช่น โรงเรียน มหาวิทยาลัย รวมทั้งการเปิดเสรีภาคการเงินเพิ่มเติม
"ทุกอย่างนี้เป็นแบบจำลองในการนำเงินเข้าประเทศ ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ตามที่หวัง 4% เพราะนอกเหนือจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การให้เอกชนลงทุนและรัฐวิสาหกิจลงทุนเพิ่มแล้ว อปท.ก็มีศักยภาพที่จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยโตได้ เราจะต้องหลุดพ้นจาก New Normal เพราะถ้าเรายังจมปลักอยู่กับความเป็นไปไม่ได้ เราก็จะทำไม่ได้เลย" ปลัดกระทรวงการคลัง
ส่วนกรณีที่ภาคเอกชนขอขยายมาตรการกระตุ้นการลงทุนนั้น ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า จะได้เสนอหลักเกณฑ์กับ รมว.คลัง เพื่อให้พิจารณาขยายมาตรการกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชน ซึ่งคงต้องมีการกำหนดเงื่อนไขใหม่เพิ่มเติม เช่น ต้องมีเงินลงทุนมากกว่าปีที่ผ่านมา รวมทั้งการกำหนดเงื่อนเวลาในการลงทุน เป็นต้น
ปลัดกระทรวงการคลัง ยืนยันว่า การคลังของไทยไม่ได้ถังแตก ปี 2560 นี้จะเป็นปีแห่งการปฏิรูป ซึ่งกระทรวงการคลังพยายามจะปิดทุกช่องโหว่ที่จะเป็นจุดอ่อนและทำให้เกิดวิกฤติการคลัง ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้พยายามดำเนินการไปแล้ว เช่น การปิดวิกฤติจากการที่ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การผลักดันเรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นต้น
นายสมชัย กล่าวด้วยว่า กระทรวงการคลังเตรียมจะเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์ ซึ่งคล้ายกับหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการกำกับดูแลธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ แต่การกำกับดูแลคงจะไม่เข้มงวดเท่ากับสถาบันการเงิน แต่ยังคงต้องให้มีการตั้งสำรอง โดยเฉพาะสหกรณ์ออมทรัพย์ขนาดใหญ่ที่ต้องมีความเข้มงวดในเรื่องนี้มากเป็นพิเศษ
ด้านนายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า จากวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 ที่ผ่านมา ทำให้นักลงทุนของไทยใช้เป็นโมเดลสำคัญที่นำมาใช้ประเมินสถานการณ์ถึงความจำเป็นในการลงทุน ทั้งนี้จะมองว่าในปีที่ผ่านมา เอกชนไม่ลงทุนเลยก็คงไม่ใช่ แต่การลงทุนเกิดขึ้นในบางธุรกิจเท่านั้น ที่เห็นได้ชัดคือ ภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยดูได้จากคอนโดมิเนียมที่ทยอยเปิดโครงการกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งการจะตัดสินใจลงทุนนั้นเอกชนจำเป็นต้องเห็นโอกาสที่ชัดเจน เพราะเมื่อใดที่เห็นโอกาสที่ชัดเจนแล้วก็ไม่พลาดที่จะเข้าไปลงทุนอยู่แล้ว
"จริงๆ เอกชนก็ลงทุน แต่ลงทุนแค่ในบาง sector เพราะเห็นถึงโอกาส เมื่อเราเห็นโอกาส เราไม่พลาดที่จะลงทุนแน่นอน ต่อให้ไม่มีมาตรการออกมากระตุ้นก็ตาม" ประธาน ส.อ.ท.กล่าว
พร้อมระบุว่า ในปี 59 ที่ผ่านมามีความผันผวนในหลายด้านที่เป็นอุปสรรคต่อการขยายการลงทุนของภาคเอกชน ทั้งในเรื่องราคาน้ำมันลดต่ำลงมาก, ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ตลอดจนปัญหาภัยแล้ง ซึ่งบรรยากาศเหล่านี้ไม่น่าจะขยายการลงทุนเพิ่มแต่อย่างใด แต่มาในปีนี้ที่ภาคเอกชนมองว่าปัจจัยหลายอย่างเริ่มคลี่คลายลงแล้วทั้งราคาน้ำมันเริ่มมีเสถียรภาพ ส่งผลดีต่อกำลังซื้อในต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมัน รวมทั้งราคาสินค้าเกษตรที่มีทิศทางดีขึ้น ซึ่งจะช่วยในเรื่องกำลังซื้อของภาคเกษตร ดังนั้นหากรัฐบาลต่ออายุมาตรการส่งเสริมการลงทุนให้ต่อเนื่องมาจนถึงปีนี้ ก็เชื่อว่านักลงทุนกล้าที่จะตัดสินใจขยายการลงทุนมากขึ้น
นายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ บล.ภัทร มองว่า จุดเปลี่ยนประเทศไทยในปีนี้มาจาก 2 ส่วนที่ชัดเจน คือ จากภายในประเทศ และจากต่างประเทศ ซึ่งจุดเปลี่ยนแรกที่เกิดจากปัจจัยภายในประเทศ คือ การเปลี่ยนถ่ายอำนาจทางการเมืองที่อาจจะได้เห็นในปลายปีนี้จากที่จะมีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งนักลงทุนประเมินว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นไม่มากก็น้อย นอกจากนี้การทำแผนยุทธศาสตร์ประเทศในระยะ 20 ปีนั้น ก็จะช่วยให้นักลงทุนได้เห็นเค้าโครงของการดำเนินนโยบายและทิศทางของประเทศในอนาคต ซึ่งจะช่วยลดความเป็นห่วงจากความไม่แน่นอนในสถานการณ์บ้านเมืองลงได้
"แต่ทั้งนี้ แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ก็จะต้องมีความพอดีด้วย คือ สามารถชี้นำได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็จะต้องมีความยืดหยุ่นได้ด้วย เอกชนก็รอดูตรงนี้อยู่ การกำหนดแผนยุทธศาสตร์นี้ ก็เพื่อให้ภาคเอกชนได้รู้ความแน่นอนในการดำเนินนโยบายของรัฐบาล ช่วยลดความเป็นห่วงในความไม่แน่นอนลง" นายศุภวุฒิ กล่าว
ส่วนจุดเปลี่ยนที่สองมาจากสถานการณ์ของต่างประเทศ เช่น แนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่คาดว่าปีนี้จะมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นถึง 3 ครั้ง หลังจากที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในหลายส่วนเริ่มดูดีขึ้น ทั้ง GDP, การจ้างงาน, อัตราเงินเฟ้อ, ค่าจ้างแรงงาน ในขณะที่สหภาพยุโรป เริ่มทยอยลดปริมาณการทำ QE ลง และมองว่าเศรษฐกิจเริ่มเติบโตได้ในระดับปกติ และไม่มีความจำเป็นต้องใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำ ส่วนญี่ปุ่น ยังคงใช้นโยบาย QE ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
"สิ่งเหล่านี้จะทำให้มีกระแสของเงินทุนไหลออกมากกว่าไหลเข้า ซึ่ง Bank of America ประเมินว่ากว่าที่จะเห็นค่าเงินเริ่มนิ่งหรือทรงตัว น่าจะเป็นช่วงกลางปี 61 ซึ่งกรณีนี้ถือว่าเป็นจุดถ่วงหรือลมต้านการฟื้นเศรษฐกิจในภูมิภาค" นายศุภวุฒิ กล่าว
นอกจากนี้ ผลการศึกษาของ Bank of America ยังพบว่าปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกจะเปลี่ยนจากความขัดแย้งในตะวันออกกลางมาเป็นปัจจัยเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับจีน ซึ่งจะมีผลกระทบต่อทุกประเทศในโลก เนื่องจากทั้งสหรัฐฯและจีนต่างเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 1 และ 2 ของโลก ซึ่งมี GDP รวมกันกว่า 1 ใน 3 ของโลก ดังนั้นทุกฝ่ายยังติดตามการดำเนินนโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐว่าจะมีนโยบายทางการค้ากับจีนอย่างไร
"ถ้าสหรัฐฯ มีปัญหาทำสงครามทางการค้ากับจีน ก็จะกระทบกับ supply chain ของหลายประเทศ คงต้องตามดูว่านโยบายใหม่จะมีความราบรื่นมากน้อยเพียงใด" นายศุภวุฒิ กล่าว
อินโฟเควสท์
เล็งอัดอีก 7หมื่นล.คลังดันศก.ให้โตเข้าเป้า 4%
แนวหน้า : แหล่งข่าวจาก กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าเมื่อเร็วๆนี้ กระทรวงการคลัง ได้รายงานให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ รับทราบถึงแนวโน้มและแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยปี 2560 เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(GDP)หรือให้อัตราการขยายตัว ทางเศรษฐกิจในปีนี้ขยายตัวได้ 4% ต่อปี
โดยกระทรวงการคลัง จะมีการใช้ งบประมาณผ่านโครงการ และมาตรการต่างๆ เพื่ออัดฉีดวงเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพิ่มเติมอีกประมาณ 70,000 ล้านบาท เมื่อรวมกับการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมได้เต็มที่วงเงิน 190,000 ล้านบาท, การเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจได้ไม่ต่ำกว่า 325,000 ล้านบาท และการส่งเสริมให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 35 ล้านคน หรือคิดเป็น 7.5% จะทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 4%
อย่างไรก็ดี ตามมาตรการนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง กระทรวง การคลัง กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) จะต้องเร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยปี 2560 ให้ได้ตามเป้าหมาย ที่วางไว้ โดยเฉพาะการอัดฉีดวงเงินดังกล่าว เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจที่มียอดรวมกว่า 585,000 ล้านบาท ถือเป็นส่วนสำคัญที่ผลักดันให้ จีดีพีเศรษฐกิจไทยกลับมาฟื้นตัวในระดับที่ 4% ต่อปี ทำให้เศรษฐกิจของไทยสามารถหลุดจากกับดักรายได้ปานกลางได้เร็วขึ้น
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ กระทรวงการคลัง ยังต้องเร่งดำเนินงาน ตามนโยบายและมาตรการที่ได้รับมอบหมาย ปี 2560 ประกอบด้วย มาตรการเปิด ลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยรอบที่สอง, การเตรียมความพร้อมการบังคับใช้ พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง, ศูนย์กระจายและจำหน่ายสินค้าปลอดภาษี เขตเศรษฐกิจพิเศษ, มาตรการจัดเก็บรายได้บริเวณโครงสร้างพื้นฐาน, มาตรการภาษีสนับสนุนอุปกรณ์ลดอุบัติเหตุทางถนน, การผลักดันกองทุนไทยแลนด์ ฟิวเจอร์ ฟันด์ ที่จะเป็น กองทุนระดมทุนเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน, การจัดตั้งกองทุนผู้สูงอายุ, การแก้ไข พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์, การยกร่างพระราชบัญญัติ ทรัสต์เพื่อเป็นการทั่วไป
สำหรับ นโยบายที่ดำเนินการไปแล้ว เมื่อปี 2559 ประกอบด้วย การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างจริงจัง, ธุรกิจ สินเชื่อเพื่อประชาชนใช้บริโภคกรณี ฉุกเฉิน (พิโกไฟแนนซ์), ภาษีมรดก, กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.), การสนับสนุนการจ้างงานผู้สูงอายุ หักภาษี 2 เท่า, มาตรการด้านสินเชื่อและการ ค้ำประกันให้กับผู้ประกอบการขนาดกลาง และขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) เป็นต้น
ก่อนหน้านี้ นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เคยให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงการคลัง จะใช้มาตรการเพื่อทำให้จีดีพี จากเดิมที่ประมาณการว่าจะขยายตัวกว่า 3% โดยให้ดันจะขยายตัวไป ระดับ 4% ขึ้นไป
คลังปูพรมใช้งบดันจีดีพี4%บี้'สคร.-ท่องเที่ยว'ลงทุนฝันไทยหลุดกับดักรายได้
ไทยโพสต์ * คลังพร้อมลุยแผนขับเคลื่อนเศรษฐกิจปี 2560 หวังดันจีดีพีโตตามฝัน 4% เร่งอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจ บี้ สคร.-กระทรวงท่องเที่ยวเร่งลงทุน ดันประเทศหลุดกับดักรายได้ปานกลาง
รายงานข่าวจากกระทรวง การคลัง ระบุว่า กระทรวงการคลังได้รายงานให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี รับทราบถึงแนวโน้ม และแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยปี 2560 เพื่อให้เศรษฐกิจ (จีดีพี) ขยายตัวได้ที่ 4% โดยจะมีการใช้งบประมาณผ่านโครงการและมาตรการต่างๆ เพื่ออัดฉีดวงเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพิ่มเติมอีกประมาณ 7 หมื่นล้านบาท เมื่อรวมกับการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมได้เต็มที่วงเงิน 1.9 แสนล้านบาท, การเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจได้ไม่ต่ำกว่า 3.25 แสนล้านบาท, และการส่งเสริมให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 35 ล้านคน หรือคิดเป็น 7.5% จะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยว ข้อง ทั้งกระทรวงการคลัง กระ ทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) จะต้องเร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยปี 2560 ให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยเฉพาะการ อัดฉีดวงเงินดังกล่าวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจที่มียอดรวมกว่า 5.85 แสนล้านบาท ถือเป็นส่วนสำคัญที่ผลักดันให้จีดีพีเศรษฐกิจไทยกลับมาฟื้นตัวในระดับที่ 4% ทำให้เศรษฐกิจของไทยสามารถหลุด จากกับดักรายได้ปานกลางได้เร็วขึ้น
"เศรษฐกิจไทยปีที่ผ่านมามีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้ที่ 3.2% โดยไตรมาสที่ 4 คาดว่าจะขยายตัวได้ที่ 2.8% ซึ่งได้รับปัจจัยบวกจากการส่งออก พ.ย.2559 ที่กลับมาขยายตัวสูง และเชื่อว่าทั้งปีตัวเลขการส่งออกจะอยู่ที่ลบ 2% รวมถึงการลงทุนภาครัฐขยายตัวต่อเนื่อง หรือคิดเป็นกว่า 8.6% แต่ยังได้รับผลกระทบจากการปราบปรามทัวร์ศูนย์เหรียญ ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวไตรมาสที่ 4 ต่ำกว่าที่คาดไว้ และการลงทุนภาคเอกชนยังไม่ฟื้นตัวได้เต็มที่" รายงานข่าวระบุ
นอกจากการกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว กระทรวงการคลังยังเร่งดำเนินงานตามนโยบายและมาตรการที่ได้รับมอบหมายปี 2560 ประกอบด้วย มาตรการเปิดลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยครั้งที่ 2, การ เตรียมความพร้อมการบังคับใช้ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง, ศูนย์กระจายและจำหน่ายสินค้าปลอดภาษี เขตเศรษฐกิจพิเศษ, มาตรการจัดเก็บรายได้บริเวณโครงสร้างพื้นฐาน, มาตรการภาษีสนับ สนุนอุปกรณ์ลดอุบัติเหตุทางถนน, การผลักดันไทยแลนด์ ฟิวเจอร์ ฟันด์, การจัดตั้งกอง ทุนผู้สูงอายุ, การแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์, การยกร่าง พ.ร.บ. ทรัสต์เพื่อเป็นการทั่วไป
สำหรับ นโยบายที่ดำเนินการไปแล้ว เมื่อปี 2559 ประกอบด้วย การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างจริงจัง, ธุรกิจสินเชื่อเพื่อประชาชนใช้บริโภคกรณีฉุกเฉิน (พิโกไฟแนนซ์), ภาษีมรดก กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.), การสนับสนุนการจ้างงานผู้สูงอายุ หักภาษี 2 เท่า มาตรการด้านสินเชื่อและการค้ำประกันให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เป็นต้น.
อนุสรณ์ประเมินน้ำท่วมภาคใต้ส่งผลศก.เสียหายไม่ต่ำกว่า 8.5 หมื่นลบ.-1.24 แสนลบ.,แนะรัฐเร่งเยียวยา
นายอนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า การประเมินเบื้องต้นถึงผลกระทบน้ำท่วมภาคใต้ พบว่าก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ โอกาสการลงทุน การสูญเสียรายได้ของประชาชนและภาคธุรกิจ การท่องเที่ยว ภาคขนส่งคมนาคม ภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรมไม่ต่ำกว่า 85,000-123,841 ล้านบาท กระทบผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) คิดเป็น 0.58-0.84% อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นจาก supply shock ภาคการบริโภคชะลอตัวลง การว่างงานในภาคใต้เพิ่มขึ้นชัดเจนแต่อัตราการว่างงานทั้งประเทศยังคงต่ำกว่า 2% การสูญเสียรายได้และความเสียหายเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวไม่น่าจะต่ำกว่าสัปดาห์ละ 6,000 – 11,000 ล้านบาท ความเสียหายในภาคเกษตรกรรมไม่น่าจะต่ำกว่า 15,000 ล้านบาท
กรณีดังกล่าวจะส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการและนักลงทุน ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมภาคใต้ในช่วงไตรมาสแรกปีนี้น่าจะลดอย่างชัดเจน
ความเสียหายต่อทรัพย์สินโดยรวมยังไม่สามารถประเมินได้ชัดเจนเนื่องจากต้องมีการสำรวจหลังน้ำลด อย่างไรก็ตามเนื่องจากน้ำท่วมครั้งนี้มีลักษณะเป็นน้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลันความเสียหายต่อทรัพย์สินจึงค่อนข้างมาก เพราะเตรียมการรับมือไม่ได้ดีนัก มีพื้นที่ได้รับผลกระทบถึง 10 จังหวัด ครอบคลุม 85 อำเภอ ประชาชนได้รับผลกระทบ 700,000 คน ถึง 1,000,000 คน เส้นทางคมนาคมในหลายพื้นที่ถูกตัดขาดทำให้ความช่วยเหลือเป็นไปด้วยความยากลำบาก และสิ่งที่รัฐบาลต้องดำเนินการเร่งด่วน คือหยุดการสูญเสียชีวิตของประชาชนจากน้ำท่วมให้ได้มากที่สุด
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า รัฐบาลควรเร่งเยียวยาประชาชน เกษตรกร ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมที่เดือดร้อน เตรียมรับมืออาหารทะเลราคาแพงขึ้น หรือกุ้งอาจขาดแคลนเนื่องจากบ่อกุ้งได้รับความเสียหายหนักในพื้นที่นครศรีธรรมราช สุราษฎรธานี แนวโน้มราคายางพารา น้ำมันปาล์มปรับตัวสูงขึ้น โดยเสนอให้รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือให้เปล่าจากงบกลางไม่ต่ำกว่า 5,000-10,000 ล้านบาททันที การใช้มาตรการทางการเงิน ด้วยการลดดอกเบี้ย ยืดหนี้ ดอกเบี้ยต่ำกู้เงินเพื่อซ่อมแซมฟื้นฟูสภาพ มาตรการภาษี ด้วยการลดภาษีนิติบุคคลสำหรับกิจการในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง มาตรการใช้จ่ายภาครัฐ โดยการอัดฉีดเม็ดเงินหลังน้ำท่วมเพื่อซ่อมแซมสาธารณูปโภคสาธารณูปการที่ได้รับความเสียหาย มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคใต้เป็นการเฉพาะ
ทั้งนี้ หากสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ฟื้นฟูให้กลับเข้าสู่ภาวะปรกติโดยเร็ว เร่งการลงทุนเพื่อซ่อมสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่เสียหาย ย่อมทำให้ตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจทั้งปี 2560 ยังจะเติบโตในระดับ 3.6-4.2% ได้ตามที่เคยคาดการณ์ไว้ช่วงปลายปี 2559
ส่วนท่าทีในการกีดกันการค้ามากขึ้นตามลำดับของว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา จะสร้างความไม่แน่นอนต่อระบบการค้าเสรีของโลกเพิ่มขึ้น แต่เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกไทยมากนัก และตัวเลขส่งออกในปีนี้น่าจะเป็นบวกและรายได้จากภาคการท่องเที่ยวที่อาจเติบโตจากปีที่แล้ว 5-8% แต่ต้องเร่งฟื้นฟูภาคใต้ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญโดยเร็วหลังน้ำลด
อินโฟเควสท์