- Details
- Category: สำนักนายกฯ
- Published: Sunday, 02 October 2016 22:36
- Hits: 8558
นายกฯ มอบรมว.คลังลงนามคำสั่งเรียกค่าเสียหายจำนำข้าว-ไม่หวั่นบุญทรงฟ้องกลับ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผยว่า มอบหมายให้ รมว.คลัง เป็นผู้ลงนามคำสั่งทางปกครองเพื่อเรียกค่าเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งเป็นกระบวนการเดียวกันกับที่กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการไว้ พร้อมทั้งยืนยันว่า จะดำเนินการส่งฟ้องศาลทันอายุความภายในเดือน ก.พ.60
สำหรับ กรณีที่คณะกรรมการพิจารณารับผิดทางแพ่งได้เรียกค่าเสียโครงการรับจำนำข้าวจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี 20% ของความเสียหาย 178,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 35,700 ล้านบาทนั้น นายรัฐมนตรีชี้แจงว่า เป็นการดำเนินการในฐานะที่อดีตนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบในโครงการนี้ และไม่ระงับยับยั้งโครงการตามที่ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราปบรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)และ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)ได้แจ้งเตือน
ส่วนความเสียหายที่เหลือ 80% หรือ 142,000 ล้านบาทที่มีการฟ้องร้องผู้ที่กระทำทุจริตในโครงการนี้อีก 850 คดีนั้น จะมอบหมายให้ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) เข้าไปร่วมในการตรวจสอบหาผู้กระทำผิดในระดับผู้บริหาร ร่วมกับหน่วยงานอื่นๆที่ต้องตรวจสอบหาผู้กระทำผิดและเรียกค่าเสียหายจากเจ้าหน้าที่รัฐ ข้าราชการ และเอกชน
อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่าการใช้ ม.44 คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 56/2559 เรื่องการคุ้มครองการบริหารจัดการผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรในการดูแลของรัฐ และการดำเนินการต่อผู้ต้องรับผิด ไม่ใช่เป็นการเข้าไปตัดสินคดีรับจำนำข้าวแต่เพื่ออำนวยความสะดวกให้ข้าราชการมีการมั่นใจในการตรวจสอบคดีนี้
"ผมมีหน้าที่อำนวยความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรม ไม่ได้ใช้อำนาจชี้ผิดชี้ถูก แต่ปกป้องเจ้าหน้าที่ไว้ เพราะเขาไม่กล้าที่ผ่านมามีการขู่ ผมต้องมีมาตราของผมปกป้องเขา ไม่ใช่ปกป้องให้เขารังแกคน ให้เขากล้าทำงานแค่นั่นเอง ม.44 ไม่ใช่ไปตัดสินชี้ผิดชี้ถูก ไม่ได้ไปตัดสินจำนำข้าว"พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ขณะที่กรณีที่นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ จะมีการฟ้องร้องกลับทั้งทางอาญาและทางแพ่งกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด นายกรัฐมนตรี ยืนยันไม่กังวลต่อเรื่องนี้ เพราะทำตามหน้าที่ในการทำให้คดีความเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเท่านั้น
อินโฟเควสท์
รมว.คลัง พร้อมลงนามหนังสือเรียกค่าเสียหายจำนำข้าว 3.57 หมื่นลบ.จากยิ่งลักษณ์
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ได้รับรายงานสรุปจากคณะกรรมการความรับผิดทางแพ่ง กรณีเรียกค่าเสียหายโครงการรับจำนำข้าว 3.57 หมื่นล้านบาท กับน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แล้วเมื่อวันที่ 23 ก.ย.59 และได้ส่งต่อให้ นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ไปดำเนินการในขั้นตอนทางธุรการให้ถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนจะลงนามรับรองในหนังสือเรียกค่าเสียหายหรือไม่นั้น ตนพร้อมจะดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายตามที่ปลัดกระทรวงการคลังเสนอมา หากมีข้อสรุปเห็นว่า รมว.คลังต้องเป็นผู้ลงนามเอง
คลัง สั่งตั้งกรรมการตรวจสอบ เตรียมเช็คบิลผู้เกี่ยวข้องจำนำข้าวยกแก๊ง เรียกค่าเสียหายอีก 1.42 แสนลบ.คืน
นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง และในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง เปิดเผยว่า คณะกรรมการฯ ได้สรุปความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว ในสมัยรัฐบาล น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ทั้งหมดอยู่ที่ 178,000 ล้านบาท ซึ่งคณะกรรมการฯได้พิจารณาความรับผิดเฉพาะตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ในมาตราที่ 8 ที่ระบุว่า ในกรณีที่การละเมิดเกิดจากเจ้าหน้าที่หลายคน มิให้นำหลักเรื่องลูกหนี้ร่วมมาใช้บังคับและเจ้าหน้าที่แต่ละคนต้องรับผิดชอบใช้ค่าสินไหมทดแทนเฉพาะส่วนของตนเท่านั้น ทำให้ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ต้องชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นคิดเป็น 20% ของความเสียหายทั้งหมดของโครงการ หรือคิดเป็น 35,717 ล้านบาท
ในส่วนที่เหลืออีก 80% หรือ 142,000 ล้านบาทนั้น จะพิจารณาจากหน่วยงานที่ได้รับความเสียหาย และหน่วยงานผู้ที่กระทำความผิดทางละเมิด ซึ่งจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนร่วมกัน ในส่วนของกรณีย่อย เช่น การนำข้าวผิดประเภทมาจำนำ การสวมสิทธิ ข้าวหายไปจากสต๊อก ซึ่งในช่วงที่ผ่านมามีหลากหลายรูปแบบในการโกง ซึ่งเกิดขึ้นทั่วประเทศ และสร้างความเสียหายจำนวนมาก โดยผลการตรวจสอบจะสรุปมาเพื่อหาผู้รับผิดชอบทางแพ่ง และเรียกชดใช้เงินคืนต่อไป
“ในส่วนของเจ้าหน้านั้นจะต้องพิจารณากันในหลายส่วน ซึ่งบางส่วนมีการชี้มูลความผิดแล้ว ว่าข้าวหายไปจากโรงสีไหนบ้าง ซึ่งในส่วนของเจ้าหน้าที่รัฐ รวมไปถึงเจ้ากระทรวงที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งอดีตรัฐมนตรีในสมัยดังกล่าว และข้าราชการระดับอื่นๆ ก็จะสอบสวนและตรวจสอบในแนวทางเดียวกัน ซึ่งจะต้องขึ้นอยู่กับคณะกรรมการในการตรวจสอบต่อไป”นายมนัส กล่าว
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย
พาณิชย์ ลุยสอบ'นอมินี'1.3 หมื่นราย ครอบคลุม 17 จังหวัดทั่วไทย พุ่งเป้าธุรกิจ'ล้ง-อสังหาฯ'
แนวหน้า : น.ส.ผ่องพรรณ เจียรวิริยพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในปี 2560 กรมจะเดินหน้าทำการตรวจสอบการดำเนินธุรกิจในลักษณะปิดบังอำพราง หรือถือหุ้นแทน หรือนอมินี อย่างเข้มข้นต่อเนื่อง โดยจะขยายประเภทของธุรกิจที่จะเข้าไปตรวจสอบเพิ่มอีก 2 ธุรกิจ คือ ล้งผลไม้ และธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ จากเดิมกำหนด 10 ธุรกิจ และจะขยายพื้นที่ตรวจสอบจากเดิม 10 จังหวัด เป็น 17 จังหวัด ซึ่งจังหวัดที่เพิ่มขึ้นมาได้แก่ พังงา จันทบุรี ระยอง ลำปาง ลำพูน ชุมพร และระนอง เบื้องต้น มีธุรกิจเสี่ยงที่จำเป็นจะต้องเข้าไปตรวจสอบ กว่า 13,000 ราย จากนั้นจะต้องคัดกรอง อีกครั้ง เพื่อให้การทำงานกระชับมากขึ้น
"การตรวจสอบจะมีความเข้มข้นขึ้น คือจะมี 2 แบบจากเดิมเป็นการตรวจสอบจากการวิเคราะห์งบ การเงินอย่างเดียว ก็จะมีการตรวจสอบแบบจู่โจมร่วมกับหน่วยงานอื่นหลายหน่วยงาน เช่น ตำรวจท่องเที่ยว และทหาร ซึ่งเรามีข้อมูลเชิงลึกมาแล้ว พร้อมที่จะเข้าไปตรวจสอบ" น.ส.ผ่องพรรณ กล่าว
สำหรับ การดำเนินงานตรวจสอบในปี 2559 กรม ได้เดินหน้าตรวจสอบนอมินีในพื้นที่เสี่ยง 10 จังหวัด ประกอบด้วยกรุงเทพมหานคร ชลบุรี สุราษฎร์ธานี ประจวบคีรีขันธ์ เชียงใหม่ ภูเก็ต กระบี่ เพชรบุรี (ชะอำ) ตราด และเชียงราย และตรวจสอบใน 10 ประเภทธุรกิจ ได้แก่ จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม, ท่องเที่ยว, ซื้อ ขาย ให้เช่า อสังหาริมทรัพย์ (นายหน้า), ค้าอสังหาริมทรัพย์, ให้เช่ารถยนต์, สปา, ขายปลีกผลิตภัณฑ์งานฝีมือและของ ที่ระลึก,ขายปลีกทางอินเตอร์เนต, ขายตรง และบริการที่สนับสนุนการศึกษา โดยมีรายชื่อธุรกิจเสี่ยงอยู่ 7,025 ราย แต่หลังจากการคัดกรองเหลือธุรกิจที่เข้าไป ตรวจสอบ 474 ราย และเป็นรายชื่อจากกรมท่องเที่ยวที่ส่งมาอีก 37 ราย รวมเข้าไปตรวจสอบ 511 ราย และได้ทำการเพิกถอนธุรกิจไปแล้ว 18 ราย ซึ่งที่ ตรวจสอบแล้วส่วนใหญ่เป็นลักษณะของการสวมสิทธิ์โดยใช้บัตรประชาชนปลอมในการจดทะเบียนธุรกิจ
น.ส.ผ่องพรรณกล่าวว่า ในการตรวจสอบครั้งล่าสุด ร่วมกับตำรวจท่องเที่ยวกรณีทัวร์ศูนย์เหรียญนั้น ในส่วนการตรวจสอบนอมินี ยังไม่พบผิดปกติเนื่องจากเป็นนิติบุคคลไทย ขณะเดียวกันการตรวจสอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ได้ลงพื้นที่แล้วที่ชลบุรี และเชียงใหม่ ยังไม่พบผิดปกติ ส่วนล้งนั้นในส่วนของพาณิชย์จังหวัด และกรมการค้าภายในก็จะเข้าไปจัดระเบียบเพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำและให้มีความเป็นธรรม
ส่วนกรณีคนต่างด้าวที่ให้คนไทยถือหุ้นแทนและกรรมการบริษัทนั้น หากตรวจสอบแล้วพบการกระทำความผิดจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับตั้งแต่ 100,000-1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และยังมีโทษปรับรายวันอีก วันละ 10,000-50,000 บาท จนกว่าจะเลิกฝ่าฝืน