- Details
- Category: สำนักนายกฯ
- Published: Wednesday, 28 September 2016 23:09
- Hits: 8763
'สมคิด'เชื่อจีดีพีปีนี้โตได้ 3.2% ยันไม่ออกมาตรการกระตุ้นศก.เพิ่มเติม-สั่งคลัง ปฎิรูปนโยบายศก.ให้เสร็จใน 1 ปี
'สมคิด' เชื่อจีดีพีปีนี้โตได้ 3.2% ยันไม่ต้องมีมาตรการกระตุ้นระยะสั้นเพิ่มเติม ไม่ห่วงคะแนน world economic forum ของไทยลดจาก 32 เป็น 34 ชี้หากในรายละเอียดยังอยู่ในเกณฑ์ดี สั่งคลัง ปฎิรูปนโยบายศก.ทั้งระบบให้เสร็จใน 1 ปี เร่งอุดลอยรั่วภาษี เดินหน้านโยบายเกษตร 4.0 เร่งเดินหน้าตั้งซูเปอร์โฮลดิ้ง ห่วงส่งออกติดลบ แนะปฎิรูปนวัตกรรม เอกชนเร่งปฏิรูปสินค้าช่วยดันส่งออกฟื้น หวั่นกระทบจีดีพีโตต่ำกว่า 3%
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมมอบนโยบายให้กับผู้บริหารกระทรวงการคลังว่า กรณีที่ World Economic Forum ได้สำรวจและจัดทำดัชนีความสามารถทางการแข่งขันระดับโลก ปี 2016 โดยไทยอยู่อันดับที่ 34 จากปีก่อนที่อยู่ที่ 32 ซึ่งมีคะแนนอยู่ที่ 4.6 คะแนนจากคะแนนเต็มที่ 7 คะแนน ยืนยันว่า ไม่น่าเป็นห่วง เพราะเมื่อพิจารณาในรายละเอียดย่อย พบว่า น่าพึงพอใจ โดยเฉพาะในส่วนของตัวเลขเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นจาก 27 มาอยู่อันดับที่ 13 นอกจากนี้ในเรื่องของนวัตกรรมก็ปรับตัวดีขึ้นด้วย
“เราค่อนข้างพอใจมาก แต่ว่าในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานตัวจัดอันดับเราลดลง แต่ไม่มาก เพราะในช่วงที่เขาประเมินนั้นโครงการต่างๆของเรายังไม่ได้ออกมาอย่างเต็มที่ ซึ่งเชื่อว่าในปีหน้าการประเมินของเราจะดีขึ้นอย่างแน่นอน เมื่อการลงทุนลงไปมาก วันนี้ค่อนข้างพอใจและดีใจ ซึ่งได้เล่าให้กระทรวงการคลังฟัง เพราะเป็นหน่วยงานที่เป็นตัวช่วยสูง”นายสมคิด กล่าว
นายสมคิด กล่าวถึง ภาพรวมเศรษฐกิจในขณะนี้ เชื่อว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้คงเติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 3.2% แน่นอน หากทุกอย่างยังสามารถเดินหน้าได้ตามแผนที่กำหนดไว้ ซึ่งทำให้ในช่วงที่เหลือของปีนี้ เชื่อว่าคงไม่จำเป็นที่จะต้องออกมาตรการอื่นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม เพราะน่าจะเพียงพอแล้ว โดยเชื่อว่าสิ่งที่จะต้องเร่งดำเนินการ คือ ในเรื่องของการส่งออกที่ยังคงติดลบ โดยตัวเลขการส่งออก 8 เดือนของกระทรวงพาณิชย์ยังติดลบที่ 1.2%
ทั้งนี้ ตนมองว่า ในส่วนของภาคการส่งออกนั้นบางช่วงเวลาอาจเห็นตัวเลขเป็นบวกได้ จากเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวดี และบางช่วงอาจติดลบ ดังนั้นภาคเอกชนจะต้องเร่งปฏิรูป โดยเฉพาะด้านนวัตกรรม ในการยกระดับสินค้า และสร้างจุดแข็งในเรื่องของจุดขาย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างความสามารถในการแข่งขัน
“ไม่ว่าโลกจะดีหรือร้าย หากเรามีจุดแข็ง สินค้ามีนวัตกรรม เราก็จะขายได้ สินค้าเราจะไม่ได้ขึ้นอยู่กับค่าเงิน ที่ผ่านมาที่อื่นเขายกระดับ แต่เรายังไม่ได้ทำ หากหลังจากนี้เอกชนยังนิ่ง ไม่เร่งปฏิรูป จีดีพีที่เราหังว่าจะโตได้ 3% ก็คงยาก เราต้องพยายาม ซึ่งเชื่อว่าไม่ใช่เรื่องง่ายแต่เราต้องทำ สิ่งที่เขาประเมินก็เป็นสิ่งหนึ่งที่จะเป็นตัวดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ แต่เราก็ต้องมั่นใจด้วยว่าเราทำ ในสิ่งที่เราตก คือ เรื่องของการศึกษาเราตก ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ แต่ยอมรับว่ามันเป็นเรื่องใหญ่ แต่เราก็ต้องพยายามที่จะทำให้ได้”นายสมคิด กล่าว
นายสมคิด กล่าวว่า ทั้งนี้ ตนได้มอบหมายงานให้กระทรวงการคลังและหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงการคลังเร่ง การปฏิรูปการทำงานเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการดันภาวะเศรษฐกิจให้แข็งแกร่งได้มากขึ้น โดยเฉพาะธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ที่ต้องการเห็นการเดินหน้าโครงการ 1 ตำบล 1 เอสเอ็มอีให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จากล่าสุด ธ.ก.ส. สามารถปล่อยสินเชื่อได้ 20,000 ล้านบาท จากทั้งหมด 72,000 ล้านบาท ให้มาเป็นหน่วยงานที่ตัวเองสามารถผลักดันให้มีผู้นำเกษตรกรเพิ่มมากขึ้น เพราะหากดำเนินการได้จะทำให้เกษตรกรส่วนรวมมีจิตความสามารถในการแข่งขันตามผู้นำและมีการบริหารจัดการแบบครบวงจรในส่วนของเกษตรกรได้เอง ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มสูงขึ้น
พร้อมกันนี้อยากให้ ธ.ก.ส. เดินหน้าปฎิรูปภาคการเกษตร การดำเนินนโยบายในโอกาสครบรอบ 50 ปีของธ.ก.ส. ในการสร้างนโยบายการเป็น เกษตรกรไทย 4.0 สร้างคุณค่า สร้างไทย เพื่อยกระดับคุณภาพสินค้าของเกษตรกรให้มีนวัตกรรมในการผลิตเพื่อเป็นที่ต้องการของตลาดเพิ่มสูงขึ้นด้วย
ส่วนมาตรการล่าสุดที่ออกมาช่วยเหลือเกษตรกรในการแจกเงินให้กับเกษตรผู้มีรายได้น้อยที่มาลงทะเบียนรับสวัสดิการนั้น ยืนยันว่า ไม่ใช่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เป็นมาตรการที่ช่วยเหลือคนจนจริงๆ เพราะผู้ที่ช่วยเหลือเช่น คนที่มีรายได้ 30,000 บาทต่อปี เท่ากับในแต่ละเดือนมีรายได้เพียง 2,000 บาทเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นการมอบให้ตรงจุดจริงๆซึ่งเชื่อว่าจะไม่มีการทุจริตแน่นอน ซึ่งเป้าหมายในการดำเนินการ เพราะต้องการให้เกษตรกรสามารถประคองตัวเองได้
นอกจากนี้ ยังได้มอบหมายงานให้กับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค. ที่ถือว่าเป็นหน่วยงานหลักฝนการกำหนดนโยบายของประเทศ ซึ่งจะต้องเร่งวางแผนว่าจะทำอะไรได้บ้างในช่วงเวลาที่เหลือ เช่น การกำหนดนโยบายเรื่องการช่วยเหลือคนชรา จะมีประเด็นอะไรบ้าง
ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือ สคร.นั้น ในปีหน้ามองว่า สคร.จะมีภารกิจที่สำคัญค่อนข้างมาก โดยเฉพาะด้านการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยเฉพาะในส่วนของพ.ร.บ.กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ และในส่วนของการจัดตั้งรัฐวิสากิจแห่งชาติ หรือ ซูเปอร์โฮลดิ้ง ให้มีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมให้เร็วที่สุด ซึ่งหากพบปัญหาจะต้องเร่งแก้ไขโดยเร็ว
ในส่วนของการกำหนดยุทธศาสตร์นั้น สคร.จะต้องร่วมกับรัฐวิสาหกิจต่างๆ ว่าจะต้องมีอะไรบ้าง โดยเฉพาะการมีผู้บริหารและบุคลากรที่มีทักษะอย่างเหมาะสม เพราะเมื่อมีพ.ร.บ.ฉบับใหม่เกิดขึ้นนั้น รัฐวิสาหกิจจะต้องเข้ามาอยู่ในส่วนของซูเปอร์โฮลดิ้ง โดยจะต้องเตรียมการไว้ล่วงหน้า นอกจากนี้ยังได้สั่งการให้รัฐวิสาหกิจแต่ละแห่ง ส่งแบบการประเมินผลการดำเนินงาน หรือ KPI ของแต่ละแห่งให้ตนและรมว.คลังรับทราบ ว่ามีความเหมาะสมในการทำงานหรือไม่อย่างไร
นอกจากนี้ ยังได้ฝากกับสคร.ว่าจะต้องเร่งเดินหน้าเพื่อเป็นรัฐวิสาหกิจ 4.0 โดยผู้บริหารจะต้องมีทักษะ เข้าใจเทคโนโลยี และสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว รวมถึงอาจจะต้องมีคณะที่ปรึกษาเกิดขึ้น ขณะที่การดำเนินโครงการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ หรือ PPP จะต้องเร่งให้เดินหน้าต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง
นายสมคิด กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วน 3 กรมการจัดเก็บภาษี ทั้งกรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากรนั้น ให้ทั้ง 3 หน่วยงานเร่งสร้างฐานภาษีใหม่ให้เกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้า เพื่อให้การจัดเก็บมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะกรมศุลากรจะต้องเร่งดูแลในส่วนของระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกที่จะเกิดขึ้นนั้น เพราะจะมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นจำนวนมาก จะต้องตรวจสอบให้รัดกุม โปร่งใส เพราะไม่ใช่แค่การส่งออกที่จะเกิดขึ้นเพียงอย่างเดียว แต่จะมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นๆ ดังนั้นจะต้องเร่งสร้างช่องทางในการอำนวยความสะดวก ห้ามไม่ให้มีการเล็ดลอดหรือการทุจริตเกิดขึ้น
“สิ่งที่เราอยากฝากกระทรวงการคลังคือ เวลาที่เหลือที่รัฐบาลวางแผนงานไว้ ทำอย่างไรให้มีมาตรการหรือปฏิรูปเพื่อเดินหน้าให้สอดคล้อง เช่น การสร้างสังคมคนชรา การจัดตั้งกองทุนที่จะมาดูแลสิ่งดังกล่าวนี้จะทำอย่างไรบ้าง อยากฝากให้ดู เพราะอนาคตข้างหน้าเราจะได้มีเงินก้อนนี้ไว้ดูแล ขณะเดียวกันรัฐบาลกำลังฟอร์มคลัสเตอร์อยู่ เพื่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆในการสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศ ให้ไปดูต่อจะทำอย่างไรบ้าง”นายสมคิด กล่าว
นายสมคิด กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ยังได้มอบหมายให้สศค.เร่งหารือกับกระทรวงแรงงาน เพื่อดูแลในส่วนของประกันสังคม เพราะที่ผ่านมาพบว่า มีปัญหาในเรื่องของรายจ่ายจำนวนมาก แต่รายได้ลดน้อยลง ดังนั้นจะหาแนวทางในการเพิ่มรายได้ได้อย่างไรบ้าง ซึ่งได้มอบหมายให้ทั้งสองหน่วยงานไปเร่งศึกษาเพื่อนำมาเสนอกลับต่อไป
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย