- Details
- Category: สำนักนายกฯ
- Published: Monday, 26 September 2016 08:44
- Hits: 7213
'สมคิด'ทิ้งทวนไตรมาส 4 ดึงประชาสังคมกระตุ้นเศรษฐกิจ
บ้านเมือง : 'สมคิด'ทิ้งทวนไตรมาส 4 ดึง 'ภาคประชาสังคม' ร่วมกระตุ้นเศรษฐกิจ สสส.ชง 5 โมเดล "ประชารัฐเพื่อสังคม" จูงใจเอกชนจ้างงานคนพิการ-ดูแลผู้สูงอายุ ตั้งเป้าสร้างรายได้หมุนเวียน 1 พันล้านบาท เตรียมชง ครม.ในเดือน ต.ค.นี้ เห็นชอบกลไกประชารัฐภาคสังคม
วันที่ 23 กันยายน 2559 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดเวที "ประชารัฐเพื่อสังคม" เพื่อผนึกกำลังภาคธุรกิจและภาคประชาสังคม เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิตด้านต่างๆ โดยมีหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมจากหลากหลายหน่วยงานกว่า 100 คน เข้าร่วม ณ ห้องวิมานสุริยา โรงแรมดุสิตธานี โดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส กล่าวบรรยายพิเศษเรื่อง "ภาคีธุรกิจ เพื่อการพัฒนาประเทศไทย" ว่า แนวทางประชารัฐเป็นการเปลี่ยนวิธีคิดครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งภาคเอกชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมเป็นกลไกทำงานเพื่อประโยชน์ของประเทศได้ อาทิ การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ เด็ก และเยาชน
ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า นโยบายประชารัฐตลอด 1 ปีที่ผ่านมาเป็นไปได้ดีมาก แต่ส่วนใหญ่เป็นไปในด้านเศรษฐกิจ ตนจึงได้หารือร่วมกับ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส อยากให้มีการเริ่มต้นนโยบายประชารัฐด้านสังคมอย่างจริงจัง ซึ่งมีหลายเรื่องที่ภาคเอกชน สามารถเข้ามาร่วมผลักดันไปได้ เช่น การผลักดันการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ อาทิ กระทรวงการคลัง กระทรวงสาธารณสุข แต่หากให้เฉพาะหน่วยงานดูแลก็มีกำลังน้อย ในขณะที่ภาคเอกชนมีกำลัง มีเครื่องมือ จึงอยากให้เข้ามามีส่วนร่วม ในครั้งนี้จึงเป็นการรับฟังข้อมูลจากภาคประชาสังคมที่จะช่วยเสนอประเด็นที่ภาคเอกชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการผลักดันเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ในขณะที่ภาครัฐจะร่วมสนับสนุน อาทิ ให้มีมาตรการทางภาษีสนับสนุนกรณีการจ้างงานผู้สูงอายุ เป็นต้น
น.พ.พลเดช ปิ่นประทีม เลขาธิการ สช. กล่าวว่า ประชารัฐเป็นกระบวนการทำงานแบบสานพลังระหว่างภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคเอกชน ในการแก้ปัญหาหรือพัฒนาประเทศและชุมชนท้องถิ่น ในช่วง 1 ปี ของการขับเคลื่อนนโยบายสานพลังประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากของรัฐบาล ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าภาคธุรกิจและภาคประชาสังคมไทย มีศักยภาพและความพร้อมที่จะเข้ามาช่วยเหลือและร่วมมือกับภาครัฐในการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ดังนั้น ประชารัฐเพื่อสังคม จึงเป็นการขยายบทบาทความร่วมมือการพัฒนาจากประเด็นเศรษฐกิจสู่ประเด็นการพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิต
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่าในการประชุมนี้ได้มีการนำข้อมูลตั้งต้นของกิจกรรมความร่วมมือด้านสังคมที่จะประสานภาครัฐ ประชาสังคมและเอกชนได้ มาเป็นจุดตั้งต้นในการประสานความร่วมมือ ได้แก่ 1.การพัฒนาสุขภาวะเด็กปฐมวัย 2.การจ้างงานคนพิการ 3.การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ 4.การลดอุบัติเหตุและการบาดเจ็บ และ 5.การสร้างเครือข่ายเพื่อการแก้ปัญหาในพื้นที่ โดยให้ภาคเอกชนเข้ามาสนับสนุนกิจกรรม ร่วมบริหารจัดพื้นที่และชุมชนใกล้เคียง อาทิ ภาคธุรกิจเข้ามาสนับสนุนการจ้างงานคนพิการเพื่อทำงานสาธารณประโยชน์ใกล้บ้านในอัตรา 1 ต่อ 100 ตาม ม.33 หรือส่งเสริมอาชีพคนพิการตาม ม.35 พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีคนพิการ 1.9 ล้านคน ลงทะเบียน 1.56 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็น ผู้พิการไม่มีงานทำ 46% หรือ 352,859 ล้านคน หากภาคเอกชนเข้าร่วมสนับสนุนจ้างงานผู้พิการได้ตามเป้าอย่างน้อย 10,000 คน จะทำให้เกิดการสร้างรายได้ถึง 1 พันล้านบาท
"ปัจจุบันผู้สูงอายุ 34% มีรายได้ต่ำกว่าเส้นยากจน หรือ 2,572 บาทต่อคนต่อเดือน และปัจจุบัน 1 ใน 10 ถูกทอดทิ้งให้อยู่ตามลำพัง ทำให้ในอนาคตรัฐจะต้องจัดสวัสดิการรักษาพยาบาลและการดูแลเพิ่มขึ้นเป็น 18 ล้านล้านบาท ในส่วนนี้ภาคเอกชนสามารถเข้ามาร่วมพัฒนาธุรกิจหรือระบบบริการเพื่อการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน พัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุได้ หรือในประเด็นการป้องกันอุบัติเหตุภาคเอกชน สามารถกำหนดมาตรการความปลอดภัยในนิคมอุตสาหกรรม สถานประกอบการและโรงงาน อาทิ มาตรการสวมหมวกนิรภัย 100% มาตรการเมาไม่ขับ มาตรการคาดเข็มขัดนิรภัย เป็นต้น โดยภาคประชาสังคมจะเป็นจุดจัดการในพื้นที่ เชื่อมโยงและประสานเครือข่ายในระดับชุมชน ติดตามการปฏิบัติงาน และเตรียมความพร้อมให้ในกลุ่มต่างๆ อาทิ ผู้พิการ ครอบครัว และชุมชน ซึ่งเหล่านี้เป็นพื้นที่มีการเตรียมดินไว้แล้ว หากมีความร่วมมือจากภาคเอกชน ไปร่วมกันลงแรงเพาะปลูกต่อในพื้นที่นั้น เมล็ดพันธุ์เหล่านั้นก็จะงอกงามได้เร็วขึ้น และเกิดประโยชน์ที่ยั่งยืนต่อการพัฒนาประเทศ" ดร.สุปรีดา กล่าว
นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานหอการค้าไทย และประธานสภาหอการค้าไทย กล่าวว่า ในส่วน 5 ประเด็นที่ นำเสนอมีความเป็นไปได้สูง ในการที่ภาคธุรกิจจะเข้ามาเป็นกลไกร่วมพัฒนาชุมชน สร้างความเข้มแข็งในพื้นที่ ในส่วนกลุ่มมิตรผลได้ร่วมเป็นภาคีเครือข่ายทำงานกับ สสส. โดยเฉพาะประเด็นการจ้างงานผู้พิการมาแล้วหลายปี และเชื่อว่าหากสร้างกลไกสนับสนุนให้องค์กรเอกชนที่เข้มแข็งได้รับรู้วิธีการก็จะเกิดประโยชน์ยิ่งขึ้น ที่ผ่านมากลุ่มมิตรผลได้ร่วมกับ สสส.จ้างงานผู้พิการในพื้นที่ 77 คน ผลออกมาดีมาก โดยผู้พิการสามารถเข้าไปทำงานใน อบต.และ อบจ. ก็จะช่วยได้มาก และสร้างงานให้เอกชนได้
ดร.สมคิด กล่าวปิดท้ายด้วยว่า นโยบายประชารัฐตลอด 1 ปีที่ผ่านมาเป็นไปได้ดีมาก แต่ส่วนใหญ่เป็นไปในด้านเศรษฐกิจ ตนจึงได้หารือร่วมกับ ศ.นพ.ประเวศ วะสี เพื่อเริ่มต้นนโยบายประชารัฐด้านสังคมอย่างจริงจัง เป็นประชารัฐภาคสังคม เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ร่วมกันบูรณาการทำงานให้เกิดความยั่งยืน โดยมี พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นแกนหลักประสานงานทุกภาคส่วน มีปลัดกระทรวงร่วมเป็นคณะทำงาน ภาคเอกชนนำโดยนายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานหอการค้าไทย และภาคประชาสังคมมี น.พ.พลเดช ปิ่นประทีม เลขาธิการ สช. และ ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. ร่วมเป็นคณะทำงาน ซึ่งตนจะเสนอให้ ครม.เห็นชอบในเดือนตุลาคมนี้
สมคิด เผยปรับ ครม.ทีมเศรษฐกิจหรือไม่ขึ้นกับนายกฯ ยันไม่มีปัญหาการทำงาน
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า การปรับคณะรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจนั้น อยู่ที่การตัดสินใจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แต่ในฐานะที่ตนเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจนั้น มองว่าที่ผ่านมารัฐมนตรีทุกคนสามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ แม้ว่าแต่ละคนอาจจะมีพื้นฐานการทำงานที่แตกต่างกันก็ตาม แต่ก็ได้พยายามปรับจูนให้สามารถทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี
พร้อมระบุว่า กรณีของนายอุตตม สาวนายน อดีต รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) นั้น เป็นการปรับเพราะตำแหน่ง เนื่องจากได้มีการตั้งกระทรวงใหม่เพิ่มขึ้น คือ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายอุตตมจึงจำเป็นต้องลาออกจากตำแหน่งเดิมก่อน ส่วนจะกลับไปทำหน้าที่เดิมหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรี
อย่างไรก็ตาม หากนายกรัฐมนตรีจะขอความเห็นว่านายอุตตม เหมาะหรือไม่ที่จะกลับไปนั่งในตำแหน่งเดิมนั้น เชื่อว่านายกรัฐมนตรีทราบดีว่าตนต้องการอะไร แต่คงจะไม่สามารถบอกได้ตรงนี้
"นายกฯ รู้อยู่แล้วว่าผมต้องการใคร แต่ผมไม่บอก" นายสมคิด กล่าว
พร้อมกันนี้ นายสมคิด ยังได้ชี้แจงถึงสาเหตุที่ไม่ได้กำกับดูแลกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมว่า เป็นเพราะ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่ดูแลกระทรวงนี้อยู่แล้ว เป็นการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรี ซึ่งไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับตนแต่อย่างใด
นายสมคิด ยังยืนยันว่า ไม่ได้มีปัญหาในการทำงานกับ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ โดยยังสามารถทำงานร่วมกันได้ดี
"กรณีของนายอุตตม...ตามกฎหมาย รัฐมนตรีก็ต้องออกแล้วตั้งใหม่ นายอุตตม ก็ต้องลาออก เพื่อรอการตั้งใหม่ ส่วนนายอุตตม จะอยู่ตรงนี้หรืออยู่ที่ไหน อยู่ที่นายกฯ จะดูที่ความเหมาะสม ก็จบ...มีการไปต่อนวนิยายเรื่องเทคโนแครตกับทหาร ผมเป็นเทคโนแครตที่ไหน ผมเป็นอดีตอาจารย์" นายสมคิดระบุ
ในส่วนการทำงานภายในคณะรัฐมนตรีระหว่างทหารกับพลเรือนนั้น นายสมคิด ยืนยันว่า ทุกคนต่างทำหน้าที่ของตนเอง โดยในช่วงนี้ไม่ต้องการให้ทุกคนมุ่งแต่เรื่องการเมือง เพราะถือว่าไม่มีประโยชน์ ช่วงทำงานที่เหลืออีกเพียง 1 ปีนี้ อยากจะทำงานให้คุ้มค่าโดยการวางรากฐานเศรษฐกิจให้มากที่สุด
อินโฟเควสท์