- Details
- Category: สำนักนายกฯ
- Published: Tuesday, 19 April 2016 19:42
- Hits: 4334
รัฐบาลเปิดตัวบริการใหม่ภายใต้ GovChannel ชูระบบ ภาษีไปไหน
รัฐบาลเปิดตัวบริการใหม่ภายใต้ GovChannel ชูระบบ 'ภาษีไปไหน' ตรวจสอบภาครัฐ หวังลดคอรัปชั่น สร้างความมั่นใจให้ประชาชน เผยเตรียมแผนสองจับสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ สำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ เซ็นเอ็มโอยูรับเทคโนโลยีใหม่ให้ประชาชนร้องเรียนผ่านแอปพลิเคชั่นได้โดยตรง
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลไทยได้เปิดตัวระบบภาษีไปไหน ทำให้เป็นรัฐบาลแรกของประเทศไทยที่ทำให้ประชาชนได้รับรู้ว่าภาษีของประชาชนทุกคนถูกจับจ่ายไปกับโครงการใดบ้าง ที่เว็บไซต์ govspending.data.go.th สามารถเห็นภาพรวมการใช้งบประมาณทั้งประเทศ หรือจังหวัด,ภูมิภาคได้ เป็นความโปร่งใสที่ประชาชนสามารถตรวจสอบและร้องเรียนสิ่งผิดปกติได้ ลดการคอรัปชั่นตามนโยบายที่รัฐบาลประกาศไว้อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้รัฐบาลใหม่ที่เข้ามาบริหารประเทศต่อไปต้องผ่านการตรวจสอบเช่นกัน
ระบบภาษีไปไหนจะมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยรัฐบาลได้มอบหมายให้ กรมบัญชีกลาง สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) สำนักงบประมาณ และสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ร่วมกันทำข้อตกลงความร่วมมือหรือ MOU เพื่อพัฒนาระบบอย่างต่อเนื่องเพื่อที่ในอนาคตระบบจะมีทั้งข้อมูลงบประมาณที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ความคืบหน้าของโครงการที่ระบุเป็นพื้นที่โดยใช้ GPS และสามารถให้ประชาชนร้องเรียนด้วยการถ่ายรูปหรือเขียนข้อความได้ นอกจากนี้ ยังมีแผนพัฒนาให้เป็นโมบาย แอปพลิเคชัน ซึ่งจะเปิดให้ใช้ผ่านโทรศัพท์มือถือได้ในปีงบประมาณนี้
ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ICT เปิดเผยว่า จากการที่คณะรัฐมนตรีได้เร่งรัดให้ ICT และสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สรอ. พัฒนาระบบศูนย์กลางบริการภาครัฐสำหรับประชาชน (GovChannel) และระบบการติดต่อสื่อสารสำหรับหน่วยงานภาครัฐ ให้เกิดความสมบูรณ์ ล่าสุดทั้งสองหน่วยงานได้พัฒนาบริการภายใต้ GovChannel เพิ่มเติมเข้ามา ๓ ระบบ ประกอบด้วย ๑. ระบบแจ้งข้อมูลข่าวสารภาครัฐ หรือ แอปพลิเคชัน G-News ๒. ระบบข้อมูลการใช้จ่ายภาครัฐ หรือ ระบบภาษีไปไหน และ ๓. บริการใหม่เพิ่มเติมในตู้ Government Kiosk พร้อมทั้งบริการสำหรับให้บริการหน่วยงานภาครัฐโดยเฉพาะอย่าง ระบบติดต่อสื่อสารแบบออนไลน์สำหรับหน่วยงานภาครัฐ หรือ G-Chat ซึ่งบริการทั้งหมดได้นำเรื่องเข้าเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และเราได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันนี้
แอปพลิเคชัน G-News เป็นโมบายแอปพลิเคชัน ที่หน่วยงานภาครัฐสามารถใช้เป็นช่องทางสื่อสารไปยังประชาชนทั่วไปเพื่อรับทราบข่าวสารที่สำคัญ และถูกต้อง แม่นยำ เชื่อถือได้ ผ่านอุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่อย่างรวดเร็วและทันเหตุการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อเป็นช่องทางสื่อสารโดยตรงจากภาครัฐ ในกรณีที่สังคมประสบปัญหากระแสข่าวลือผ่านทางโซเชียลมีเดีย ส่วน ระบบภาษีไปไหน เป็นระบบข้อมูลการใช้จ่ายภาครัฐในรูปแบบเว็บไซต์ ซึ่งเป็นบริการใหม่ที่พัฒนาขึ้นตามมติที่ประชุมคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ถือเป็นการพัฒนาต่อยอดจากชุดข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างที่กรมบัญชีกลางนำมาเปิดเผยในรูปแบบของ Open Government Data ผ่านศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ (data.go.th)
สำหรับ บริการเพิ่มเติมภายในตู้ Government Kiosk จะเป็นบริการตรวจสอบข้อมูลผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา บริการตรวจสอบข้อมูลการนัดหมายแพทย์โรงพยาบาลรามาธิบดี และระบบข้อมูลการตรวจสุขภาพเบื้องต้น โดยใช้บัตรประจำตัวประชาชนแบบสมาร์ทการ์ดเพียงใบเดียว
รวมถึงยังได้มีการติดตั้งตู้เพิ่มเติมในพื้นที่สาธารณะเพื่อความสะดวกในการเข้าใช้บริการของประชาชน ได้แก่ โรงพยาบาลรามาธิบดี, ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวสต์เกต, บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จังหวัดมหาสารคาม และกระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้ ทุกบริการที่ได้กล่าวมาทั้งหมดคือบริการใหม่ภายใต้ GovChannel
ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการ สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สรอ. เปิดเผยว่า จุดเด่นของระบบภาษีไปไหนคือ ในรุ่นแรกจะพัฒนาผ่านเว็บไซต์ govspending.data.go.th ได้นำข้อมูลของงบประมาณโครงการต่างๆ ที่ผ่านสำนักงบประมาณมานำเสนอให้ดูง่ายผ่านระบบ dash board ที่สวยงาม และสามารถทำการสืบค้นด้วยการระบุตำแหน่ง ตรวจสอบจำนวนงบประมาณได้จากทั้งหน่วยงาน พื้นที่หรือตำแหน่งที่ตั้ง รวมถึงภาคเอกชนที่ได้งาน และความคืบหน้าของโครงการ
การพัฒนารุ่นต่อไปจะพัฒนาเป็นระบบแอปพลิเคชั่นผ่านโทรศัพท์มือถือ ทั้งระบบแอนดรอยด์และไอโอเอส โดยให้ประชาชนสามารถเข้าใช้งาน หรือล็อคอินผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ หรือ social network ได้โดยทันที สามารถตรวจสอบโครงการต่างๆ และส่งผ่านความคิดเห็น สิ่งผิดปกติ หรือแม้แต่การถ่ายรูปข้อผิดพลาดเข้ามา ซึ่งในระบบจะถูกส่งต่อไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบ และประชาชนที่เข้ามาทีหลังจะสามารถติดตามผลการร้องเรียนได้ทันที ซึ่งระบบใหม่จะสามารถให้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นได้ผ่าน Government Application Center หรือ GAC ที่มีให้ดาวน์โหลดในระบบต่างๆ อยู่แล้วภายในปีนี้