- Details
- Category: สำนักนายกฯ
- Published: Saturday, 26 December 2015 21:07
- Hits: 4276
ผุดความร่วมมือ 'ประชารัฐ''สมคิด' ใช้กองทุนหมู่บ้านเป็นตัวขับเคลื่อน
'สมคิด' ได้ฤกษ์กดปุ่มเดินเครื่องใช้กองทุนหมู่บ้านสร้างเศรษฐกิจเข้มแข็งจากภายใน ให้เครือข่ายกองทุนหมู่บ้านรวมตัวคิดโครงการเตรียมไว้ รัฐพร้อมสนับสนุนและดึงเอกชนมามีส่วนร่วมตามแนวทางประชารัฐ อัดระบบการเมืองไทยเป็นประชาธิปไตยที่มีแต่เปลือก เปลี่ยนรัฐบาลเป็นว่าเล่น นโยบายไม่ต่อเนื่อง
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีกล่าวในงานประชุมเชิงปฏิบัติการการจัดทำแผนประชารัฐเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก โดยมีผู้แทนเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง จำนวน 1,300 คน เข้ารับฟังว่า กองทุนหมู่บ้านเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาประเทศ อาจจะมีหลายฝ่ายคิดว่ากองทุนหมู่บ้านเป็นกองทุนธรรมดาที่มีไว้สำหรับช่วยเหลือชาวบ้าน แต่ส่วนตัวเห็นว่ากองทุนหมู่บ้านจะเป็นเครื่องมือที่ปรับเปลี่ยนประเทศไทยให้ถูกต้อง แข็งแรงและมั่นคงในระยะยาวได้ ตามแนวทางที่รัฐบาลต้องการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจจากภายใน โดยให้ความสำคัญกับชนบท ตำบล และหมู่บ้าน มีความร่วมมือกันกับภาครัฐและเอกชนตามแนวทางประชารัฐ
“กองทุนหมู่บ้านเป็นเครื่องมือของทุกรัฐบาลที่นำไปใช้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่น่าอาย ที่จะนำสิ่งดีๆไปใช้ให้เป็นประโยชน์กับประชาชน ทำให้ประชาชนเข้มแข็ง เกิดการพัฒนาในระดับฐานรากได้ บางคนพูดว่ากองทุนหมู่บ้านเป็นเหล้าเก่าในขวดใหม่ แต่ผมกลับเห็นว่า กองทุนหมู่บ้านเป็นน้ำดื่มที่บริสุทธิ์ ขึ้นอยู่ที่ว่าจะนำไปใช้อะไร ถ้านำไปใช้ในทางไม่ดีก็เป็นยาพิษ แต่ถ้านำไปใช้ในทางที่ดีก็จะสร้างให้เกิดความชุ่มฉ่ำ”
ทั้งนี้ รัฐบาลกำลังจะสร้างให้เกิดวิสาหกิจชุมชน พร้อมทั้งการขยายอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ไปทั่วประเทศภายใน 2 ปี เพื่อให้ชาวบ้านมีเครื่องมือในการขายสินค้าผ่านระบบออนไลน์หรืออี-คอมเมิร์ซ อย่างไรก็ตาม ขอให้กองทุนหมู่บ้านเตรียมคิดโครงการที่จะเป็นประโยชน์เอาไว้สำหรับคนในชุมชน ไม่ใช่แค่กู้เงินไปใช้ส่วนตัว เช่น การสร้างยุ้งฉาง หรือโรงแปรรูปสินค้าขนาดเล็ก การจัดหาเครื่องมืออุปกรณ์ทางการเกษตรให้คนในชุมชนได้ใช้ เป็นต้น ซึ่งทางภาครัฐจะเข้าไปช่วยดูแล และประสานกับเอกชนเข้าไปสนับสนุนในจุดที่ตรงกับความต้องการของหมู่บ้าน ซึ่งจะทำให้ทั้งประเทศมีโครงการดีๆเกิดขึ้น ซึ่งหากโครงการที่ชาวบ้านร่วมกันคิดไม่เกิดขึ้น แนวทางประชารัฐก็จะไม่เกิดเช่นกัน และขอยืนยันว่าประชารัฐไม่มีมิติทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง
นายสมคิด กล่าวว่า ถ้าไม่เปลี่ยนแปลงประเทศ ปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจใหม่ ยังปล่อยให้มีการทุจริตคอร์รัปชัน ยังมีกฎระเบียบที่ล้าสมัย ซึ่งยิ่งมีกฎหมายที่ให้อำนาจยิบย่อยมากเท่าใดก็จะยิ่งทำให้เกิดการคอร์รัปชัน ประเทศก็จะยิ่งถอยลง อย่ามัวแต่ฝันกลางวันว่า หากสภาพเศรษฐกิจกลับมาเป็นเหมือนในอดีตจะได้เห็นผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) กลับมาเติบโตได้อย่างเดิม ที่ผ่านมาจีดีพีค่อยๆลดมาตลอดจากที่เคยขยายตัว 10% ลดลงมาเหลือ 7%, 5%, 3% และตอนนี้อยู่ที่ประมาณ 2% กว่า ในอนาคตไม่มีทางเป็นไปที่จะกลับไปอยู่ที่เดิมได้ถ้าไม่ลงมือทำอะไร
“ถ้าถามว่าที่ผ่านมาทำไมไม่ทำให้ประเทศดีขึ้น เหมือนประเทศอื่นที่เขาทำ ผมไม่โทษรัฐบาลที่ผ่านๆมา แต่ผมโทษระบบการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยที่มีแต่เปลือก ให้คนไปเลือกตั้งและมีรัฐบาลขึ้นมา เปลี่ยนรัฐบาลเป็นว่าเล่น นโยบายไม่เคยต่อเนื่อง การแข่งขัน ต่อสู้เอาชนะกัน ทำให้นโยบายที่ออกมามีความจำเป็นเพื่อหวังผลในการเลือกตั้ง ทำให้นโยบายระยะยาว เช่น เรื่องการศึกษา หรือการลงทุนด้านนวัตกรรมที่กว่าจะเห็นผลใช้เวลานานนับ 10 ปี ไม่ได้รับความสนใจดำเนินการ น้ำหนักจะลงไปกับนโยบายที่ทำไปแล้วประชาชนชอบแล้วลงคะแนนเลือกตั้งให้ และประชาชนส่วนใหญ่ยากจน รู้ทั้งรู้ว่าบางทีนักการเมืองเอาเงินมาแจกเพื่อให้ลงคะแนนให้แต่ก็รับมาเพื่อจุนเจือครอบครัว โดยไม่รู้ว่าสิ่งเหล่านี้ทำให้ประเทศอ่อนแอลงเรื่อยๆ”
นายสมคิด กล่าวว่า ทุกคนต้องช่วยกันทำการเมืองของประเทศไทยให้เปลี่ยนจากการเมืองโดยนักการเมืองเป็นการเมืองโดยประชาชน ทำให้เกิดความรู้ที่เข้มแข็งภายในหมู่บ้าน ช่วยกันดูว่านักการเมืองที่มาลงเลือกตั้งเป็นคนดีหรือไม่ดี ถ้าประชาชนรวมตัวกันได้เสียงก็จะดัง ใครที่จะโกงหรือคอร์รัปชันก็จะต้องกระมิดกระเมี้ยน ดูตัวอย่างประเทศอื่นว่าโกงนิดเดียวพอเป็นข่าวแล้วลาออกเลย ส่วนของไทยต้องเรียกว่าเป็นซีแพ็ก แข็งแรงมาก ปูนตราเสือยังสู้ไม่ได้ อนาคตประเทศอยู่ในมือพวกเรา ถ้าคิดว่ารัฐบาลไม่ดีก็เปลี่ยนใหม่ไปเรื่อยๆ ชาติหน้าก็จะยังไม่ดี
ด้านนายนที ขลิบทอง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) กล่าวว่า แนวคิดของรัฐบาลคือจะใช้กองทุนหมู่บ้านมาสร้างเครือข่าย ร่วมกันทำโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน ตามแนวทางการเติบโตเศรษฐกิจจากภายใน เช่นใน 1 ตำบล มีกองทุนหมู่บ้าน 10 กองทุน ก็ให้มาร่วมกันคิดว่าจะทำโครงการอะไร เมื่อทุกคนเห็นด้วยก็ให้ทำโครงการเสนอมา เพื่อเสนอให้รัฐบาลจัดโครงการสนับสนุน เพื่อให้โครงการเกิดขึ้นได้จริง ซึ่งมีหลายแนวทาง เช่น การสนับสนุนเงินงบประมาณให้ หรืออาจจะเป็นเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อทำโรงสีชุมชน โดยให้ทุกคนในชุมชนร่วมกันรับผิดชอบบริหารจัดการ ซึ่งขณะนี้ได้หารือกับธนาคารแล้ว 5 แห่ง เพื่อสนับสนุนเงินทุน ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารกรุงไทย เอสเอ็มอีแบงก์และธนาคารอิสลาม คาดว่าภายในเดือน ก.พ.ปีหน้าจะเสนอโครงการได้ หากดำเนินการครบทั่วประเทศได้ทุกตำบลจะมีกว่า 7,000 โครงการ.
ที่มา : www.thairath.co.th