- Details
- Category: สำนักนายกฯ
- Published: Saturday, 05 December 2015 17:56
- Hits: 7425
รัฐบาลขอความร่วมมือภาคธุรกิจดูแล'รากหญ้า'-เอกชนเสนอเร่งลดอุปสรรคการค้านายกฯสั่งเร่งผุดกม.ร่วมทุน
แนวหน้า : นายกรัฐมนตรี พร้อมทีมรัฐมนตรีด้าน เศรษฐกิจ หารือ 24 ธุรกิจขนาดใหญ่ นาน 3 ชั่วโมง หวังดึงร่วมกระตุ้นเศรษฐกิจ สั่งตั้งกรรมการร่วมเสนอยุทธศาสตร์การปฏิรูปเศรษฐกิจระยะที่ 1 พร้อมมอบหมายรองนายกฯ สมคิด เร่งออกพ.ร.บ.ร่วมทุน เพื่อดึงภาคเอกชนลงทุนโครงการของรัฐได้สะดวกขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 3 ธ.ค. 2558 นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ได้ประชุมร่วมกับนักธุรกิจชั้นนำรายใหญ่ของประเทศ 24 ราย ซึ่งใช้เวลาร่วม 3 ชั่วโมง โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กลุ่มนักธุรกิจ พร้อมสนับสนุนและ ขับเคลื่อนนโยบายประชารัฐ โดยจะไปดำเนินการตามศักยภาพของบริษัทตนเอง ขณะเดียวกัน ที่ประชุมได้ตั้งให้มีคณะกรรมการขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยมอบหมายให้นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการกลุ่มมิตรผล จำกัด ในฐานะประธานหอการค้าไทย เป็นผู้ประสานงาน และรวบรวมกลุ่มเอกชนให้มีการจับกลุ่มธุรกิจมาดำเนินการในเรื่องของการเสริมการเรียนรู้การสร้างธุรกิจใหม่ การวิจัย การพัฒนา เพื่อสร้างการรับรู้ รูปแบบใหม่ เตรียมพร้อมรองรับความเสี่ยงกับสถานการณ์โลกที่มีการเปลี่ยนแปลง และการประชุมในวันนี้ เป็นการเริ่มปฏิรูปเศรษฐกิจใน ขั้นที่ 1 ก่อนดำเนินการตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ และหลังจากนี้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ก็จะนำแผนไปขับเคลื่อน โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้าง พื้นฐาน และการบริหารจัดการน้ำ
ขณะที่ภาคเอกชนต่างๆ ก็ได้เสนอให้ภาครัฐพิจารณาในเรื่องของข้อกฎหมายระเบียบ โดยเฉพาะพ.ร.บ.ร่วมทุน เพื่อให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนกับรัฐในโครงการต่างๆ ได้ ขณะเดียวกันภาครัฐก็ขอให้ภาคเอกชน ได้คำนึงถึงการช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อย ด้วยการลดกำไร และรัฐบาลก็จะไปหาแนวทางอื่นๆ ทางด้านภาษี ด้านกฎหมาย ให้ภาคเอกชนสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดยยืนยันว่าไม่ใช่เป็นการจ่ายใต้โต๊ะ แต่เป็นการอำนวยความสะดวกให้ภาคเอกชน
"มอบหมายให้นายสมคิด และนายอิสระ เป็นประธานร่วมคณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ-เอกชน เพื่อเดินหน้ากิจกรรมประชารัฐ และร่วมกันปฏิรูปเศรษฐกิจในระยะยาว ส่วนการร่วมลงทุนของภาครัฐและเอกชนนั้น ขณะนี้ยังไม่มีพระราชบัญญัติร่วมทุน จึงทำให้ภาคเอกชนยังไม่สามารถมาร่วมลงทุนกับภาครัฐได้ ดังนั้นจึงต้องเร่งออกพระราชบัญญัติดังกล่าวก่อน"
นายกรัฐมนตรีกล่าวอีกว่า วันนี้ได้อธิบายการทำงานของรัฐบาลให้ภาคเอกชนฟัง ซึ่งมีหลายอย่างที่เขายังไม่รู้ ซึ่งพร้อมให้ความช่วยเหลือรัฐบาล แต่รัฐบาลไปสั่งไม่ได้ แต่ต้องปรับเข้าหากันให้ได้ ซึ่งเราต้องวางแผนให้เข้มแข็ง และให้ภาคธุรกิจส่งข้อเสนอมา หลังจากนี้จะมอบหมายให้นายสมคิด คอยประสานงานกับภาคธุรกิจ ซึ่งเสนอเรื่องกฎหมาย สัญญา เป็นต้น"นายกรัฐมนตรี กล่าว
ด้านนายอิสระกล่าวว่า ในวันนี้นายกฯได้เชิญภาคเอกชนที่เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ ว่าจะช่วยชาติได้อย่างไร ซึ่งสิ่งสำคัญคือ การเร่งช่วยเหลือเอสเอ็มอี เช่น จะทำอย่างไรให้สินค้าในชุมชนเข้ามาขายในห้างและในอนาคตจะส่งเป็นสินค้าไปขายอาเซียนได้ การสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับประชารัฐ ในราคา 600,000 บาท สำหรับผู้ที่มีรายได้ 10,000 บาท และให้อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ รวมไปถึงการพัฒนาสหกรณ์การเกษตรที่มีอยู่ 3,700 แห่งทั่งประเทศ
นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธาน เจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับปตท.ได้มีการสนองนโยบายประชารัฐในการร่วมมือกับ สสว. สสส. และการท่องเที่ยว เพื่อประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยว ร้านอาหารที่น่าสนใจ ผ่านปั๊มน้ำมัน 148 แห่ง ขณะเดียวกันจะนำสินค้าโอท็อปมาขายในปั๊มน้ำมัน ด้วย โดยจะเริ่มสถานีแรก ในเดือนมกราคม ปี'59 และครบ 148 แห่งในเดือนเมษายนปีหน้า
ด้านนายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ซีพี ออลล์(CPALL) กล่าวว่า ได้เสนอนายกรัฐมนตรีสนับสนุนการให้ภาคธุรกิจขนาดใหญ่จัดตั้งสถานศึกษาในระดับอุดมศึกษาเพื่อผลิตบุคลากรเข้ามาทำงานให้กับธุรกิจของตัวเอง ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างจริงจัง โดยหนึ่งแนวทางในการสนับสนุนจากภาครัฐคือการให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) เข้ามาสนับสนุนด้วย