- Details
- Category: สำนักนายกฯ
- Published: Tuesday, 01 December 2015 21:55
- Hits: 2846
หุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่นชื่นมื่น 'สมคิด'จีบคลื่นลูกที่ 3 ลงทุนหนุนปฏิรูปประเทศ
'สมคิด'ระบุโรดโชว์ญี่ปุ่นสำเร็จงดงาม กระชับความสัมพันธ์หุ้นส่วนเศรษฐกิจแนบแน่น หวังคลื่นการลงทุนลูกที่ 3 จากญี่ปุ่นช่วยปฏิรูปเศรษฐกิจ สานฝันพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมใหม่ของไทย
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวสุนทรพจน์ในงานสัมมนา “Thailand : Moving forward to Sustainable Growth” ในหัวข้อ “Thailand’s New Economic Policies” ที่โรงแรมนิว โอตานิ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยมีนักลงทุนญี่ปุ่นกว่า 1,000 คนรับฟัง ว่า แม้เศรษฐกิจโลกจะซบเซาและการส่งออกของไทยจะได้รับผลกระทบแต่ฐานะเศรษฐกิจในภาพรวมยังแข็งแกร่งอยู่มาก โดยไทยมีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศจำนวน 157,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่มีหนี้สินต่างประเทศระยะสั้นเพียง 55,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีระดับหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ที่ 43% ในขณะที่มีเงินเฟ้อต่ำ และอัตราว่างงานเพียง 0.9%
ทั้งนี้ ผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลออกไปในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ทั้งการเร่งอัดฉีดงบประมาณและสินเชื่อลงสู่ท้องถิ่น การจัดหาสินเชื่อต้นทุนต่ำและลดภาษีเพื่อลดภาระแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ก่อให้เกิดการจ้างงานและสร้างรายได้ รวมทั้งมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมสำคัญและมีผลต่อเนื่องสู่อุตสาหกรรมอื่น ทำให้ความมั่นใจของผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมกลับมาอีกครั้ง ทั้งนี้ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาส 3 เริ่มมีแนวโน้มดีขึ้น โดยเติบโต 2.9% เทียบกับ 0.9% ในไตรมาส 3 ปีที่แล้ว และมีแนวโน้มที่จะดีขึ้นในไตรมาส 4 และต้นปีหน้า ทำให้คาดว่าจะมีอัตราเติบโตทั้งปี 3% ในปีนี้ และ 3.5-4% ในปีหน้า
นายสมคิด กล่าวต่อว่า ประเทศไทยต้องการพัฒนาสู่ระบบเศรษฐกิจที่มีการเติบโตอย่างสมดุล ต้องการสร้างการเติบโตจากภายในควบคู่ไปกับการเน้นการส่งออก โดยจะให้น้ำหนักกับการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น ขณะเดียวกันยังต้องการเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตจากการรับจ้างผลิตสินค้าต้นทุนต่ำใช้แรงงานราคาถูก สู่การผลิตที่เน้นนวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและความสามารถในการแข่งขัน
ทั้งนี้ การสร้างและพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายให้เติบโตและเข้มแข็งอย่างยั่งยืน ส่วนหนึ่งคือการใช้แนวคิดการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อพัฒนาคลัสเตอร์เฉพาะอย่าง ซึ่งไม่เพียงแต่ส่งเสริมผู้ผลิต แต่ยังรวมการส่งเสริมการจัดตั้งสถาบันวิจัย ดึงดูดนักวิจัย การดึงนักลงทุนชั้นนำจากต่างประเทศ ตลอดจนสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก และสร้างโครงสร้างพื้นฐานระดับสากล รัฐบาลยังได้จัดตั้งกองทุนพิเศษเพื่อส่งเสริมและดึงดูดจูงใจให้เกิดการลงทุนใหม่นี้ โดยตนเป็นประธานสรรหากลุ่มธุรกิจเป้าหมาย กำหนดสิ่งจูงใจ ตลอดจนเจรจาและชักชวนให้ธุรกิจที่มีความโดดเด่นมาลงทุน แน่นอนที่สุด กลุ่มธุรกิจญี่ปุ่นคือเป้าหมายสำคัญที่ต้องการพูดคุยและชักชวนให้มาร่วมกับเรา
“เศรษฐกิจไทยสามารถก้าวมาสู่จุดนี้ได้ ต้องยอมรับและขอบคุณการสนับสนุนจากญี่ปุ่น ทั้งภาครัฐและเอกชน จากคลื่นการลงทุนลูกแรกเมื่อกว่า 30 ปีที่แล้ว และการลงทุนในคลื่นลูกที่สองที่ผมมีส่วนร่วมผลักดันข้อตกลงเจเทปา ระหว่างไทยและญี่ปุ่น ที่ก่อให้เกิดคลื่นการลงทุนและการค้าต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน บัดนี้ ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ช่วงเวลาแห่งการปฏิรูป เราหวังอย่างยิ่งจะเห็นคลื่นลงทุนลูกที่สามจากญี่ปุ่นที่จะมาร่วมกับไทยอีกครั้งหนึ่ง”
นายสมคิด ยังเปิดเผยเพิ่มเติมภายหลังการหารือเต็มคณะระหว่างรัฐบาลไทยและญี่ปุ่น โดยมีนายโยชิฮิเดะ ซูกะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีของญี่ปุ่นเป็นหัวหน้าคณะฝ่ายญี่ปุ่น ว่า ญี่ปุ่นได้แสดงออกให้เห็นว่าไทยมีความสำคัญกับญี่ปุ่นมาก เพราะเป็นห่วงโซ่การผลิตของสินค้าที่สำคัญ และได้มีการหารือเต็มคณะกับรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจของญี่ปุ่นทุกคน รวมถึงนายกรัฐมนตรี และเลขาธิการ ครม.ของญี่ปุ่นด้วย ขณะเดียวกัน ภาคเอกชนญี่ปุ่นให้ความสนใจเข้าร่วมรับฟังงานสัมมนาของไทยอย่างล้นหลาม ทั้งๆที่มาเลเซียจัดงานในลักษณะเดียวกันด้วย
“การหารือดังกล่าวได้ย้ำให้เห็นว่า ไทยและญี่ปุ่นต้องการเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจซึ่งกันและกัน และต้องการให้ญี่ปุ่นมาร่วมกันวางยุทธศาสตร์พัฒนาเศรษฐกิจไทย ซึ่งเราพร้อมจะดูแลนักลงทุนญี่ปุ่นเป็นอย่างดี โดยฝากกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (เมติ) ญี่ปุ่นไปว่า ขอให้คัดเลือกบริษัทที่มีเป้าหมายอุตสาหกรรมใหม่ให้มาลงทุนในไทยแบบคลัสเตอร์ ไม่ใช่มาทีละบริษัท ซึ่งจะช่วยทำให้ความฝันของไทยในการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่เป็นจริงได้”
อย่างไรก็ตาม ทั้งภาครัฐและเอกชนของญี่ปุ่น แสดงความเป็นห่วงกรณีที่ไทยยังไม่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ทีพีพี) ซึ่งได้ชี้แจงว่า นายกรัฐมนตรีของไทย ได้ประกาศแสดงความสนใจที่จะเข้าร่วมทีพีพี ซึ่งเป็นความตกลงที่มีมาตรฐานสูงมาก ดังนั้น จึงอาจมีผลกระทบกับสังคมไทยหากเข้าร่วม ดังนั้น ก่อนที่ข้อตกลงจะมีผลบังคับใช้ในอีก 1-2 ปีข้างหน้า ไทยกำลังศึกษาข้อดีข้อเสียให้รอบด้านก่อน
นายสมคิด กล่าวย้ำว่า การเดินทางมาญี่ปุ่นครั้งนี้ ตนรู้สึกพอใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะสามารถสร้างการตระหนักรู้ และสร้างความตื่นตัวให้ญี่ปุ่นเห็นว่า ไทยอยู่ระหว่างการเปลี่ยนแปลงและมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนใหม่ๆ ที่เอื้อต่อการลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศมากขึ้น ที่สำคัญ ไทยต้องการคลื่นลูกที่ 3 จากญี่ปุ่นในการสร้างประเทศไทยให้เข้มแข็ง และเมื่อเราสร้างความตื่นตัวให้ญี่ปุ่นมั่นใจลงทุนในไทยแล้ว อย่านิ่งเฉย แต่ละกระทรวงต้องติดตามงานอย่างใกล้ชิด อย่าปล่อยปละละเลย ตีเหล็กต้องตีตอนที่เหล็กยังร้อน เหมือนจีบผู้หญิงที่ต้องตามตื๊อเพื่อให้เขาใจอ่อน.
ที่มา : www.thairath.co.th วันที่ 28 Nov 2015 - 05:01
'สมคิด' นำ 20 เจ้าสัวพบ “บิ๊กตู่” ดันประชารัฐ
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “สร้างไทยให้เข้มแข็ง” ในงานสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศครั้งที่ 33 ที่ จ.อุดรธานี ว่า ในวันที่ 3 ธ.ค.58 นี้ จะนำนักธุรกิจกว่า 20 รายเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อหารือการขับเคลื่อนนโยบายประชารัฐให้เป็นรูปธรรม เนื่องจากนโยบายดังกล่าวเป็นการร่วมมือของไตรภาคี ประกอบด้วยภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน การร่วมกันพัฒนาประเทศให้เกิดความยั่งยืนและจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและการสร้างความปรองดองได้เป็นอย่างดี “ยอมรับว่าในปัจจุบันและอนาคต เอกชนมีบทบาทเป็นผู้นำในการพัฒนาประเทศหลายๆด้าน เพราะมีความเข้มแข็งกว่าทุกภาคส่วน ดังนั้นจึงต้องขอความร่วมมือให้เอกชนช่วยเหลือขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว”
ทั้งนี้ ในปีหน้าภาครัฐกำลังพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบ 2 หลังจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบแรกที่ลงไปสู่ระดับรากหญ้า มีผลที่ดีต่อเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของคนในประเทศ ดังนั้นจึงอยากให้ภาคประชาชน, เอกชน, ผู้ว่าราชการจังหวัด, องค์การบริหารส่วนจังหวัด, องค์การบริหารส่วนตำบล และชุมชนต่างๆ ช่วยกันคิดโครงการสร้างเศรษฐกิจท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวในชุมชน, การพัฒนาเกษตรแปรรูปและการส่งเสริมการเชื่อมโยงกับท้องถิ่นอื่นๆ เพื่อสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจชุมชน
นายสมเกียรติ อนุราษฎร์ ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาค 5 ภาค หอการค้าไทย กล่าวว่า ขณะนี้หอการค้าไทย 5 ภูมิภาคประกอบด้วยภาคกลาง, เหนือ, ใต้, ตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันออก ได้ลงนามปฏิญญาอุดรในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยตามแผนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ 2020 โดยมีเป้าหมายให้เศรษฐกิจประเทศไทยเติบโตในระดับ 4-5% ต่อปี และให้ไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางในปี 63 ส่วนแนวคิดที่จะให้หอการค้าจังหวัดร่วมพลังกับภาครัฐ ผลักดันเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว โดยปี 59 จะผลักดันให้เศรษฐกิจโตไม่ต่ำกว่า 4% จะเน้นแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ การส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างภูมิภาคของคนไทยในทุกพื้นที่ เป็นต้น.
ที่มา : www.thairath.co.th วันที่ 30 Nov 2015 - 05:15