- Details
- Category: สำนักนายกฯ
- Published: Tuesday, 24 November 2015 11:13
- Hits: 4243
นายกรัฐมนตรีเผยในช่วง 10 เดือนของปีงบประมาณ 2558 ได้อนุมัติให้มีการส่งเสริมการลงทุน 1,923 โครงการ คิดเป็นเงินทุน 665,631 ล้านบาท มีรายได้จากการส่งออกกว่า 1,033,000 ล้านบาท
นายกรัฐมนตรีเผยในช่วง 10 เดือนของปีงบประมาณ 2558 ได้อนุมัติให้มีการส่งเสริมการลงทุน 1,923 โครงการ คิดเป็นเงินทุน 665,631 ล้านบาท มีรายได้จากการส่งออกกว่า 1,033,000 ล้านบาท
วันนี้ ( 23 พฤศจิกายน 2558) เวลา 14.30 น. ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานเปิดงานและกล่าวปาฐกถาในงานสัมมนา'อนาคตไทย ก้าวไกลด้วยคลัสเตอร์' โดยมี รัฐมนตรี ผู้บริหารระดับสูงภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ผู้ประกอบการภาคเอกชน สถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย สื่อมวลชนเข้าร่วมจำนวนมาก
ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวปาฐกถา ตอนหนึ่งว่า รัฐบาลได้เข้ามาบริหารประเทศ ทำหน้าที่เพื่อคนไทย และที่สำคัญเพื่ออำนวยความสะดวกให้นักลงทุนเข้ามาร่วมลงทุนโดยมีการแก้กฎหมายที่สำคัญ ซึ่งรัฐบาลมองว่าหากประชาชนได้ประโยชน์รัฐบาลก็ได้เช่นกัน ทั้งนี้ รัฐบาลพร้อมจะปรับปรุงและรับฟังปัญหาจากผู้ประกอบการ หากปัญหานั้นไม่ส่งผลต่ออนาคต โดยมุ่งส่งเสริมการแบ่งกลุ่มเป็นคลัสเตอร์ เพื่อผลักดันให้เกิดในเขตเศรษฐกิจพิเศษที่รัฐบาลได้วางไว้ โดยจะขยายการลงทุนให้เกิดชุมชนเมืองในท้องถิ่น ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนมีรายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนครั้งใหญ่ที่สุดในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาเป็นยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนใหม่ ในระยะ 7 ปี (พ.ศ.2558 – 2564) โดยให้สิทธิประโยชน์พื้นฐานและเสริมสิทธิประโยชน์ตามคุณค่าของโครงการ เพื่อจูงใจให้นักลงทุนพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งในช่วง 10 เดือนของปี 2558 ได้มีการอนุมัติให้มีการส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 1,923 โครงการ คิดเป็นเงินทุน 665,631 ล้านบาท ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นรายได้จากการส่งออกประมาณ 1,033,000 ล้านบาท มีการใช้วัตถุดิบในประเทศมูลค่าประมาณ 709,000 ล้านบาท ก่อให้เกิดการลงทุนใน 20 จังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวต่ำจำนวน 101 โครงการ เงินลงทุนรวม 44,626 ล้านบาท และก่อให้เกิดการลงทุนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 7 โครงการ เงินลงทุนรวม 2,337 ล้านบาท
นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า ในระยะแรกรัฐบาลได้กำหนดคลัสเตอร์เป้าหมายประกอบด้วย 6 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ 1) Super Cluster สำหรับกิจการที่ใช้เทคโนโลยีสูง และอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (คลัสเตอร์ยานยนต์และชิ้นส่วน คลัสเตอร์เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ คลัสเตอร์อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม คลัสเตอร์อุตสาหกรรมดิจิทัล) และ 2) คลัสเตอร์เป้าหมายอื่น ๆ (คลัสเตอร์เกษตรแปรรูป คลัสเตอร์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม) โดยมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมเป็นพิเศษในแต่ละคลัสเตอร์ 2 กลุ่ม คือ โครงสร้างพื้นฐานที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาคลัสเตอร์ และกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตที่มีความสำคัญสูง ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดมาตรการสนับสนุนเพื่อผลักดันให้เกิดการลงทุนในพื้นที่เป้าหมาย และช่วยยกระดับคลัสเตอร์ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น การให้สิทธิประโยชน์ การพัฒนาคนและเทคโนโลยี การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค และการสนับสนุนเงินทุน เป็นต้น
สำหรับ การกำหนดคลัสเตอร์ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลพิจารณาจากศักยภาพและพื้นที่ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต ซึ่งจะเน้นบริเวณพื้นที่ตอนใน โดยมุ่งส่งเสริมธุรกิจที่เป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เช่น กิจการวิจัยและพัฒนา กิจการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและใช้แรงงานน้อย พร้อมกันนี้ได้มุ่งสร้างความเชื่อมโยงระหว่างสถานประกอบการกับสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย ผ่านโครงการของภาครัฐ เช่น โครงการ Talent Mobility ซึ่งจะสนับสนุนให้บุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของภาครัฐเข้าไปปฎิบัติงานในสถานประกอบการของภาคเอกชน และสนับสนุนให้ผู้ประกอบการรายย่อยหรือ SMEs มีการวิจัยและพัฒนามากขึ้นเพื่อสร้างความเข้มแข็งเป็นพื้นฐานสำคัญของเศรษฐกิจของประเทศ
โดยนายกรัฐมนตรีฝากให้ผู้ประกอบการ SMEs เรียนรู้และจัดทำระบบบัญชีเดียวเพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถใช้เป็นข้อมูลในการปรับปรุงและพัฒนาประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ นอกจากนั้นเพื่อเป็นการช่วยให้ภาครัฐได้รับภาษีเงินได้เพื่อใช้ในการพัฒนาประเทศ และยังส่งผลให้ภาคเอกชน ภาคประชาชนเข้าถึงมาตรการและความช่วยเหลือของภาครัฐได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมต่อไป