- Details
- Category: สำนักนายกฯ
- Published: Sunday, 22 November 2015 18:57
- Hits: 2949
โหมหั่นภาษี 10 อุตฯเป้าหมาย-ไทยติดท็อป 5 ประเทศน่าลงทุนของเอเชีย นายกฯบี้ครม.เร่งปลุกลงทุน
แนวหน้า : นายกรัฐมนตรี ไล่บี้กลางที่ประชุมครม. เร่งการลงทุน ผ่านความร่วมมือกับเอกชน หลังพบข้อจำกัดการใช้งบประมาณ จี้ "สมคิด" ตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน กระทรวงอุตสาหกรรมเผย คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแผนมาตรการส่งเสริม 10 อุตสาหกรรมที่มีอนาคต เล็งลดภาษีเหลือ 10-15% และสิทธิประโยชน์อื่นนอกเหนือ บีโอไอ ผลสำรวจ 800 ซีอีโอ ทั่วเอเชียแปซิฟิก ไทยยังติด 1 ใน 5 ประเทศน่าลงทุน
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ มอบหมายให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เร่งรัดการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน หรือ อินฟราสตรัคเจอร์ ฟันด์ (infrastructure fund) ให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็ว โดยกองทุนดังกล่าวจะระดมทุนจากเอกชนรายย่อย เพื่อนำเงินมาลงทุนในโครงการ ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งนี้ เป็นผลจากปัญหาในการจัดทำงบประมาณ ซึ่งมีส่วนของงบประจำเป็นจำนวนมาก ทำให้งบลงทุนมีค่อนข้างน้อย แต่ปัจจุบันโครงการโครงสร้างพื้นฐานมีมากขึ้น หลังจากเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนผ่านการร่วมลงทุนรัฐและเอกชน หรือพีพีพี
นอกจากนี้ ครม.ยังเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง เสนอแนวทางส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์วิจัยและพัฒนา ทดสอบ สมรรถนะรถยนต์ต้นแบบ โดยให้มีการกำหนดว่า ผู้ที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ประกอบด้วย 1.ต้องเป็นผู้ที่ดำเนินการวิจัยและพัฒนา ทดสอบอุตสาหกรรมยานยนต์ 2.เป็นผู้ประกอบอุตสาหกรรม จะต้องส่งต้นแบบให้กับผู้วิจัย พัฒนา และทดสอบ 3.รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่จะได้รับสิทธิ์ ต้องไม่เคยมีจำหน่ายในท้องตลาดในไทย โดยทั้งหมดกรมสรรพสามิตจะเป็นผู้รับผิดชอบ
สำหรับ สิทธิประโยชน์ที่จะได้รับการยกเว้น คือ ยกเว้น ภาษีอากรขาเข้า ยกเว้นภาษีสรรพสามิต ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม นอกจากนี้ ค่าวิจัย พัฒนา ค่าทดสอบ นำมาเป็นต้นทุน สามารถหักออกจากกำไรและลดหย่อนทางภาษีได้เพิ่มเติม
"ประชุมครม.ยังตั้งข้อสังเกต ขอให้กระทรวงการคลังจัดทำรายละเอียดของกฎหมายให้มีผลตามมาหลังจากมติ ครม.ประกาศ ภายใน 2 สัปดาห์ หลังจากที่ผ่านมามาตรการต่างๆ ที่ผ่านมติครม.แล้วแต่มีความล่าช้าเรื่องเอกสารรายละเอียดในแต่ละมาตรการ"
ด้านนางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติเห็นชอบ หลักการ กำหนดอุตสาหกรรมในอนาคต 10 อุตสาหกรรมแบ่งเป็น ต่อยอดจากเดิม 5 อุตสาหกรรม และเพิ่มเติมใหม่อีก 5 อุตสาหกรรม เพื่อสนับสนุนการลงทุนภาคเอกชน ให้สามารถขยายตัวได้ 10% ต่อปี ซึ่งจะทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพีของไทย ขยายตัวเพิ่มขึ้น 5-6% ต่อปี
สำหรับ 5 อุตสาหกรรมเดิมเพื่อเป็นการต่อยอด ประกอบด้วย 1.กลุ่มยานยนต์แห่งอนาคต 2.อิเล็กทรอนิกส์ อัจฉริยะ 3.การท่องเที่ยวระดับคุณภาพ 4.เกษตรเชิงประสิทธิภาพและเทคโนโลยีชีวภาพ 5.อาหารแห่งอนาคต ซึ่งหากดำเนินการได้จะเพิ่มรายได้ 70% ส่วน 5 อุตสาหกรรมใหม่ ประกอบด้วย 1.หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม 2.อุตสาหกรรมขนส่ง และการบิน 3.อุตสาหกรรมชีวภาพ ด้านพลังงาน และเคมี 4.อุตสาหกรรมดิจิตอล 5.อุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ ซึ่งจะเพิ่มรายได้ 30%
สำหรับ มาตรการในการส่งเสริมการลงทุนนั้น ได้มอบหมายให้แต่ละกระทรวงไปหาแนวทางในการช่วยเหลือเพิ่มเติม ก่อนเสนอให้ ครม.พิจารณาอย่างเร็วที่สุด โดยเบื้องต้นกระทรวงการคลังศึกษาการจัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนการลงทุนภาคเอกชน มีแนวทางที่จะยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมอีก 10-15 ปี นอกเหนือจากสิทธิ์ของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) และให้สิทธิพิเศษกับผู้เชี่ยวชาญในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้เหลือ 15%
ขณะเดียวกัน นายศิระ อินทรกำธรชัย ประธานกรรมการบริหารและหุ้นส่วน บริษัท PwC ประเทศไทยเปิดเผยถึงผลสำรวจ APEC CEO Survey 2015: "CEO confidence in Asia Pacific shaken but strong" ที่ใช้เผยแพร่ในการประชุมสุดยอดผู้นำ APEC CEO Summit ประจำปี 2558 ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2558 ซึ่งทำการสำรวจซีอีโอและผู้นำในอุตสาหกรรมชั้นนำ จำนวน 800 ราย ใน 52 เขต เศรษฐกิจรวมทั้งสมาชิกกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) จำนวน 21 ประเทศ ว่า จากผลสำรวจพบว่า แม้ความมั่นใจต่อการเติบโตของธุรกิจและรายได้ในปีหน้าจะลดลง แต่ซีอีโอเอเปกถึง 53% วางแผนที่จะเพิ่มการลงทุนในภูมิภาคในอีก 12 เดือนข้างหน้า โดยส่วนใหญ่(68%) มองว่าการกระจายการลงทุนใหม่ๆจะอยู่ภายในเขตเศรษฐกิจเอเปก โดยประเทศ 5 อันดับแรกที่ซีอีโอ เอเปกจัดให้เป็นตลาดที่น่าลงทุนในอีก 12 เดือนข้างหน้า ได้แก่ อันดับ 1 สาธารณรัฐประชาชนจีน(53%), อันดับ 2 อินโดนีเซีย เวียดนาม และ สหรัฐอเมริกา (52% เท่ากัน), อันดับ 3 สิงคโปร์ (46%), อันดับ 4 ฟิลิปปินส์ (45%) และอันดับ 5 ไทย (42%) ซึ่งขยับขึ้นจากปีก่อนที่อันดับ 8 และนำหน้ามาเลเซีย และญี่ปุ่น (40% เท่ากัน)
"แม้ปีนี้เศรษฐกิจไทยจะชะลอตัวแต่ก็ยังเป็นตลาดที่น่าสนใจลงทุนนั่นเพราะเราเป็นฐานการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าเกษตรรายใหญ่รายหนึ่งของโลกขณะที่ระบบการเงินการธนาคารของเราก็มีความเข้มแข็งกว่าในอดีตเยอะนอกจากนี้หากเปิดเออีซีไทยยังมีความได้เปรียบจากการเป็นศูนย์กลางอาเซียนในหลายด้านไม่ว่าจะเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์หรือ แหล่งท่องเที่ยวสำคัญของโลก อย่างไรก็ดี เราต้องเร่งพัฒนาขีดความสามารถและความน่าสนใจของไทย ไม่ให้แพ้เพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซียและเวียดนาม ซึ่งทั้งสองตลาดมีขนาดใหญ่ และค่าจ้างแรงงานยังถูกกว่าไทยมาก"