- Details
- Category: สำนักนายกฯ
- Published: Tuesday, 10 November 2015 21:34
- Hits: 2330
โฆษกฯ เผย นายกสั่งตั้งงบผูกพันงบประมาณประจำปีไม่ให้เกินปี 60 พร้อมต่ออายุภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแบบขั้นบันไดออกไป 1 ปี
โฆษกฯ เผยนายกสั่งการให้ตั้งงบผูกพันงบประมาณประจำปีไม่ให้เกินปี 60 เพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อรัฐบาลชุดถัดไป พร้อมกับขยายระยะเวลาใช้อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแบบขั้นบันไดออกไปอีก 1 ปี และใช้รถไฟ-รถเมล์ฟรีต่อไปอีก 6 เดือน ยันไม่คิดจะปิดTCDC ตามที่เป็นข่าว
พลตรีสรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมครม.ในวันนี้ว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการเกี่ยวกับการผูกพันงบประมาณประจำปีว่า ในส่วนของโครงการการลงทุนทั่วไปนั้นนายกฯ ต้องการให้มีการผูกพันในงบประมาณไม่เกินปี 60 เท่านั้น หรือตามที่รัฐบาลชุดของตนอยู่ เนื่องจากไม่ต้องการให้เป็นภาระต่อรัฐบาลถัดไป แต่หากโครงการใดเกินกว่างบประมาณที่ตนอยู่นั้นให้เขียนเป็นแผนการดำเนินการออกมา
"พยายามไม่ให้เกินเพราะไม่ต้องการให้เป็นภาระต่อรัฐบาลที่มาดำเนินการต่อ ยกเว้นเป็นโครงการที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานที่มีความจำเป็นต้องผูกพันงบประมาณเกินกว่า 3 ปี เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการลงทุน โดยภายใต้หนี้สาธารณะไม่เกิน 60%"พลตรีสรรเสริญ กล่าว
นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม.ยืนยันว่าไม่ได้มีมิตยุบศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบหรือ TCDC ตามที่เป็นข่าว ซึ่งอยากให้ประชาชนต้องชั่งใจในการพิจารณาเรื่องดังกล่าวซึ่งมองว่ากระแสข่าวที่เกิดขึ้นอาจ เป็นผลจากที่นายกฯมีนโยบายว่า หากหน่วยงานของรัฐทุกหน่วย กองทุน องค์การมหาชนทั้งหลายต้องมีการประเมินงานด้วยตนเอง และบุคคลภายนอก ว่าดำเนินการเป็นไปตามวัตถุประสงค์ตามโครงการที่มีการจัดตั้งหรือไม่ การดำเนินงานของหน่วยมีประโยชน์ต่อส่วนรวมหรือไม่ หน่วยงานใดประเมินแล้วผ่านก็ให้ดำเนินการต่อ แต่หากแห่งใดต้องควบรวมเพราะมีความซ้ำซ้อนก็ควบรวม หรือหากต้องยุบก็ต้องดำเนินการ
ขณะเดียวกัน ในที่ประชุมยังได้รับทราบ ถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนตุลาคมที่ผ่านมาปรับตัวดีขึ้นจาก 72% เป็น 73% สูงสุดในรอบ 10 เดือน สะท้อนว่าโครงการที่รัฐบาลลงไปนั้นเริ่มเห็นผลย้าว และการดำเนินการตามโครงการทั้งหลายผู้ที่มีรายได้น้อยนั้นอาจต้องใช้ระยะเวลา แต่ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ รวมไปถึงการจัดระเบียบของสังคมด้วย โดยนายกฯได้สั่งการว่าทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการอะไรนั้นจะต้องคำนึงถึงผู้ที่มีรายได้น้อยด้วย โดยเฉพาะในส่วนของการจัดระเบียบทางสังคม
พลตรีสรรเสริญ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมครม.มีมติขยายระเวลาการใช้อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแบบขั้นบันไดออกไปอีก 1 ปี โดยแบ่งเป็นผู้มีเงินได้ไม่เกิน 3 แสนบาท เสียภาษีในอัตรา 5% ผู้มีเงินได้ 3-5 แสนบาท เสียภาษีในอัตรา 10% ผู้มีเงินได้ 5-7.5 แสนบาท เสียภาษีในอัตรา 15% ผู้มีเงินได้ 750,000-1 ล้านบาท เสียภาษี 20% ผู้มีเงินได้ 1-2 ล้านบาท เสียภาษีในอัตรา 25% และผู้มีเงินได้ 2-4 ล้านบาท เสียภาษีในอัตรา 30% และผู้มีเงินได้ 4 ล้านบาทขึ้นไปเสียภาษีในอัตรา 35% โดยให้สิ้นสุดในปี 2559
นอกจากนี้ ที่ประชุม ได้ต่อมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพ รถไฟ-รถเมล์ฟรี ออกไปอีก 6 เดือน ตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 58 - 30 เมษายน 59 เพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อประชาชน ในช่วงที่อยู่ระหว่างการพิจารณาการปรับเงื่อนไขให้ช่วยเหลือค่าครองชีพเฉพาะกลุ่มเท่านั้น หรือผู้ที่มีรายได้น้อยในการเดินทางสาธารณะเท่านั้น โดยการต่ออายุครั้งนี้ ถือเป็นการต่ออายุต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 18
ส่วนการแก้ไขปัญหาอุปสรรคผังเมือง ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม และแนวทางนี้ยังรวมถึงแก้ไขในส่วนของบัญชีแนบท้าย เช่น โรงงานที่มีอยู่เดิมแล้วพอมีกฎหมายผังเมืองไม่สามารถขยายโรงงานได้ หรือต้องการยกระดับราคาก็ไม่สามารถทำได้ ไม่ส่งเสริมการแก้ไขปัญหาวิ่งแวดล้อม โรงงานปรับปรุงคุณภาพของเสีย ก็ไม่สามารถทำได้ นอกจากนียังมีปัญหาในเรื่องของการจัดทำผังเมืองรวม บางส่วนมีการลดพื้นที่อุตสาหกรรม หรือ คลังสินค้า เช่น มาบตาพุด
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย