- Details
- Category: สำนักนายกฯ
- Published: Monday, 09 November 2015 12:33
- Hits: 3866
พท.จวกยับ'วิษณุ' จุ้นคดีภาษีฟิลลิป
อดีตส.ส.เพื่อไทย 'ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร' ออกโรงโวย 'วิษณุ เครืองาม' รองนายกฯ กรณีเข้ามายุ่มย่ามคดีปัญหาภาษี 6.8 หมื่นล้าน บริษัทบุหรี่ ฟิลลิป มอร์ริสฯ เผยเป็นหัวหน้าทีมอภิปรายคดีนี้ สมัยนายกฯอภิสิทธิ์ ระบุเป็นคดียืดเยื้อมาหลายรัฐบาล จนอัยการสูงสุดสั่งฟ้องตั้งแต่ปี 2556 สมัยรัฐบาล'ยิ่งลักษณ์' น่าจะยุติแล้ว ต้องไปต่อสู้ในชั้นศาลเท่านั้น ไม่เข้าใจทำไมรัฐบาลจึงนำกลับมาอีก ตั้งข้อสังเกต'วิษณุ'ใช้อำนาจอะไร มายับยั้ง ลั่นเป็นปัญหาเลี่ยงภาษีตามกฎหมายไทยไม่เกี่ยวกับดับเบิลยูทีโอ พร้อมประชดหากอยากช่วยจริงๆ ให้บิ๊กตู่ใช้อำนาจ ม.44 สั่งยุติ คดีไปเลย
วันที่ 09 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9112 ข่าวสดรายวัน
คดีดัง - นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร อดีตส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย แถลงจี้คดี ฟิลลิปมอร์ริส วอนรัฐบาลอย่าใช้อำนาจบริหารแทรกแซงคดีหรือสั่งสอบสวนใหม่ เพราะอัยการสั่งฟ้องคดีตามขั้นตอนกฎหมายไปแล้ว ที่พรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 8 พ.ย.
เมื่อวันที่ 8 พ.ย. ที่พรรคเพื่อไทย นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร อดีตส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย แถลงถึงคดีภาษีบุหรี่ของ บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส ไทยแลนด์ ลิมิเตด จำนวน 6.8 หมื่นล้านบาท โดยระบุเบื้องหน้าเบื้องหลัง คดีนี้ว่า เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วง 28 ก.ค.46-20 ก.พ.50 โดยเมื่อวันที่ 3 ส.ค.49 พล.ต.อ.สมบัติ อมรวิวัฒน์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอในขณะนั้น รับเรื่องนี้เป็นคดีพิเศษ ต่อมาวันที่ 2 ก.ย.52 ดีเอสไอในยุคนายพีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค เป็น รมว.ยุติธรรม และพล.ต.อ.ทวี สอดส่อง เป็นอธิบดีดีเอสไอ ส่งฟ้องต่ออัยการฯ กระทั่ง วันที่ 3 ต.ค.56 ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริหาร รองอัยการสูงสุด ปฏิบัติราชการแทนอัยการสูงสุด มีคำสั่งเด็ดขาดให้ฟ้อง บริษัทฟิลลิปฯ
นายยุทธพงศ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ผ่านมาหลายรัฐบาล ตั้งแต่รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ในปี"49 มาจนถึงรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กระทั่งมีความเห็นสั่งฟ้องในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แสดงให้เห็นว่าที่ผ่านมาพิจารณารายละเอียดอย่างรอบคอบแล้ว รวมทั้งประเด็นที่ทาง บ.ฟิลลิปฯ ร้องขอความเป็นธรรมโดยอ้างคำสั่งขององค์การการค้าโลก หรือดับเบิลยูทีโอ ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ เกิดขึ้นนานแล้ว ยืนยันว่ากระบวนการพิจารณาเสร็จสิ้นจนนำไปสู่การสั่งฟ้องในวันที่ 3 ต.ค.56
"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ให้นโยบายต่อผู้ใต้บังคับบัญชา และแสดงออกถึงการบังคับใช้กฎหมาย ดำเนินการให้ทุกฝ่ายที่ถูกกล่าวหาในคดีต่างๆ เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมนั้น จะมี 2 ขั้นตอน คือ 1.ขั้นตอนการสอบสวน ซึ่งจะมีการถ่วงดุลอำนาจกันระหว่างพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการ ว่าผู้ถูกกล่าวหาในคดีอาญาใดจะนำคดีไปสู่ศาล ซึ่งในชั้นนี้สามารถเห็นแย้งแตกต่างกันได้ก่อนที่จะนำเรื่องไปสู่ศาล และ 2.ขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งผู้รับผิดชอบจะมีอิสระในการสั่งคดีฯ ให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ฝ่ายบริหารไม่มีขั้นตอนหรืออำนาจเข้าไปแทรกแซง"
นายยุทธพงศ์ กล่าวและว่า แต่เรื่องนี้เกิดปัญหา คือ 1.เกิดการก้าวล่วงกระบวนการยุติธรรมทางอาญาตามพ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 โดยเฉพาะมาตรา 21 พนักงานอัยการมีอิสระในการพิจารณาคดีฯ และการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และเป็นไปตามกฎหมายโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ถ้าพนักงานอัยการเห็นว่า การฟ้องคดีอาญา จะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรือต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศ ให้เสนอต่ออัยการสูงสุด(อสส.) และอสส.มีอำนาจสั่งไม่ฟ้องคดีฯ ได้
อดีตส.ส.มหาสารคาม กล่าวอีกว่า เมื่ออสส.มีความเห็นเด็ดขาดสั่งฟ้องคดีไปแล้ว และก่อนที่ อสส.จะสั่งฟ้องคดีฯ ทางบริษัทฟิลลิปฯ ขอให้ทบทวนและขอความเป็น ธรรมต่างๆ และ อสส.ได้พิจารณาเสร็จสิ้นกระบวนการต่างๆ แล้ว อสส.เห็นว่าทำความผิดกฎหมายประเทศไทย ทั้งกฎหมายศุลกากร กฎหมายสรรพสามิต และกฎหมายสรรพากร อสส. จึงสั่งฟ้องคดี นัดหมายเพื่อให้ผู้ต้องหามาพบอัยการและอัยการจะต้องนำตัวผู้ต้องหาไปด้วย หากขัดขืน ไม่ไป จะต้องออกหมายจับต่อไป
"ผมเป็นผู้เปิดประเด็นตรวจสอบฯ เรื่องการหลีกเลี่ยงภาษี ของบริษัทฟิลลิปฯ มาตั้งแต่เดือน มี.ค.54 และพรรคเพื่อไทยยื่นอภิปราย ไม่ไว้วางใจ ยื่นถอดถอนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ในขณะนั้น จึงขอตั้งข้อสังเกตว่า 1.การทำหน้าที่ของอัยการในวันนี้ขาดความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย เพราะในขณะที่จะนำตัวผู้ต้องหามาสู่ศาลฯ ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเมื่อวันที่ 9 มิ.ย.58 ที่ทำเนียบ รัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เรียกกรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร กระทรวง การคลัง กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กรมบัญชีกลาง มาประชุม โดยอ้างว่า บริษัท ฟิลลิปฯ ร้องขอความเป็นธรรมต่อนายกฯ"
แต่ในที่ประชุมฝ่ายอัยการยืนยันว่าการทำหน้าที่ของอัยการเป็นการใช้อำนาจฯ ตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 145 ที่ได้ผ่านการสอบสวนแล้ว และรับฟังได้ว่า มีการกระทำความผิดจริง จึงมีคำสั่งฟ้องฯ และในการฟ้องก็มีพยานหลักฐานสำคัญเพียงพอว่าดำเนินคดีฯได้ และไม่เกี่ยวข้องกับทางดับเบิลยูทีโอ
นายยุทธพงศ์ กล่าวต่อว่า แต่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า นายวิษณุกลับไม่ฟังคำชี้แจงของฝ่ายอัยการ แต่กลับยกประเด็นเป็นข้อหารือว่าเนื่องจาก อสส.มีคำสั่งให้ส่งสำนวนพร้อมตัว ผู้ต้องหาฟ้องต่อศาลอาญาเมื่อวันที่ 15 มิ.ย.58 ที่ผ่านมา แต่ผัดผ่อนเลื่อนนัดหมายการชะลอการส่งฟ้องผู้ต้องหาฯ ในที่สุดที่ประชุมฯ มีมติสั่งการมอบหมาย 3 ข้อ คือ 1.ให้กรมศุลกากร กรมสรรพสามิต กรมบัญชีกลาง หารือร่วมกันเพื่อหาข้อสรุปการแก้ปัญหาการขอคืนเงินประกันของบริษัทฯ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่สามารถดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย ที่เกี่ยวข้อง 2.มอบหมายให้ดีเอสไอดำเนินการตรวจสอบใบขนสินค้า ขาเข้าของบริษัทที่นำเข้าจากฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย ว่าเป็นเรื่องเดียวกันกับที่ได้ยื่นฟ้องต่อดับเบิลยูทีโอและศาลภาษีอากรกลางหรือไม่
โดยให้กรมศุลกากรส่งข้อมูลเอกสารใบขนสินค้าขาเข้าที่กรมศุลกากรสั่งวางประกันนำเข้าจากฟิลิปปินส์ จำนวน 118 ฉบับ และนำเข้าจากอินโดนีเซีย จำนวน 210 ฉบับ ให้กับดีเอสไอภายในวันที่ 12 มิ.ย.58 และให้ดีเอสไอดำเนินการตรวจสอบให้แล้วเสร็จพร้อมรายงานผล เสนอนายวิษณุภายในวันที่ 22 มิ.ย.58 ซึ่งกระการทำดังกล่าวเท่ากับว่านายวิษณุสั่งการให้ไปทำการสอบสวนใหม่เลย อยากถามว่านายวิษณุใช้อำนาจอะไรสั่งการทั้งที่การสอบสวนเสร็จสิ้นไปหมดแล้ว
นายยุทธพงศ์ กล่าวอีกว่า 3.ตามที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ หารือถึงเหตุจำเป็นที่ต้องดำเนินการส่งสำนวนพร้อมตัวผู้ต้องหาฟ้องคดีนั้น กรณีนี้นายวิษณุโดยสำนักนายกฯ จะมีหนังสือแจ้งให้สำนักงานอัยการสูงสุดได้ทราบถึงเหตุผล และข้อมูลเพิ่มเติมก่อนวันที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษนัดผู้ต้องหามารายงานตัวเพื่อจะส่งฟ้องคดีฯ อยากถามว่าอำนาจฝ่ายบริหารฯ ไปก้าวล่วงกระบวนการยุติธรรมทางอาญาได้อย่างไร และที่นายวิษณุจะทำหนังสือสำนักนายกฯ นั้น ประสงค์จะให้ อสส.ทำอะไร ในเมื่อ อสส.มีคำสั่งเด็ดขาดฟ้องคดีฯ ไปแล้ว อยากถามว่านายวิษณุมีความประสงค์ให้ อสส.สั่งไม่ฟ้องคดีบริษัทฟิลลิปฯ ใช่หรือไม่ และถ้าไม่สั่งฟ้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ จำนวน 6.8 หมื่นล้านบาทจะเสียหายทันที ทั้งนี้ ยืนยันคดีนี้ผิดกฎหมายในประเทศไม่ได้เกี่ยวอะไรเลยกับเรื่องของดับเบิลยูทีโอ ที่นายวิษณุกำลังอ้างถึง
นายยุทธพงศ์ กล่าวว่าหากนายวิษณุเห็นว่ามีประโยชน์อย่างอื่นที่เหนือกว่าเงินภาษี 6.8 หมื่นล้านบาท และสุขภาพของประชาชนและเยาวชนไทย เมื่อนายวิษณุอ้างว่าได้รับมอบหมายจากนายกฯ ขอท้าให้นายวิษณุเสนอให้นายกฯ ในฐานะหัวหน้า คสช.ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว สั่งยุติดำเนินคดีไปเลย
นายยุทธพงศ์ กล่าวอีกว่า ส่วนที่นายวิษณุอ้างว่าอย่าไปคิดเรื่องได้ภาษีอย่างเดียว หากเทียบผลประโยชน์อื่นๆ กับทางฟิลิปปินส์นั้น ขอให้นายวิษณุหยุดทำหน้าที่ช่วยบริษัท ฟิลลิปฯ เพราะบริษัทนี้เป็นของสหรัฐอเมริกา ขอประกอบธุรกิจภายใต้ความคุ้มครองสนธิสัญญาทางไมตรีและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสหรัฐ พ.ศ.2511 โดยมีผู้ถือหุ้นเป็นสัญชาติอเมริกาเพียง 1 ราย คือ บริษัทฟิลลิป มอร์ริส อินเตอร์เนชั่นแนล ไฟแนนซ์ คอร์ปอเรชั่น ดังนั้นไม่มีอะไรเกี่ยว ข้องกับประเทศฟิลิปปินส์เลย