- Details
- Category: สำนักนายกฯ
- Published: Saturday, 10 October 2015 13:27
- Hits: 3523
คณะกรรมการพัฒนาระบบนวัตกรรมฯ เห็นชอบในหลักการมาตรการเร่งด่วนในการพัฒนาเทคโนโลยีระบบขนส่งทางรางเพื่อสนับสนุนโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐบาล
คณะกรรมการพัฒนาระบบนวัตกรรมฯ เห็นชอบในหลักการมาตรการเร่งด่วนในการพัฒนาเทคโนโลยีระบบขนส่งทางรางเพื่อสนับสนุนโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐบาล
ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบนวัตกรรมของประเทศ (คพน.) ครั้งที่ 4/2558 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยนายกรัฐมนตรี ประธานฯ แจ้งที่ประชุมรับทราบว่า วันนี้เป็นเรื่องของการพัฒนาระบบนวัตกรรมของประเทศ ซึ่งต้องขอบคุณคณะกรรมการทุกคนทั้งภาครัฐและเอกชนที่ได้ร่วมกันขับเคลื่อนจนเกิดผลเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนขึ้น อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญทุกกระทรวง ทบวง กรม ซึ่งมีงบประมาณอยู่แล้วทำอย่างไรจะบูรณาการการทำงานร่วมกันในการที่จะผลิตนักวิจัยและพัฒนาขึ้นมาให้ได้ และนำไปสู่การปฏิบัติอย่างยั่งยืน โดยวัตถุประสงค์หลักในการดำเนินการดังกล่าวคือการสร้างแบรนด์ไทยเพื่อให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้
ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมฯ นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วยนายทวีศักดิ์ กออนัตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และนายสุพรรณ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้เปิดเผยถึงผลการประชุมสรุปสาระสำคัญ ดังนี้
ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการต่อมาตรการเร่งด่วนการพัฒนาเทคโนโลยีระบบขนส่งทางรางเพื่อสนับสนุนโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐบาล โดยเฉพาะการลงทุนระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ที่เสนอให้ปรับเปลี่ยนวิธีการจัดซื้อจัดจ้างจากการประมูลทีละสายเป็น Big lot และให้รัฐเป็นผู้กำหนดรายละเอียดด้านเทคนิคแทนผู้ได้สัญญาเดินรถ รวมทั้งบรรจุเงื่อนไขในสัญญากับผู้ประกอบการเดินรถเกี่ยวกับการถ่ายทอดเทคโนโลยี การร่วมวิจัยและพัฒนากับสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย หรือหน่วยงานวิจัยกลางของรัฐ ทั้งนี้ที่ประชุมฯ ได้มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการประสานกับกระทรวงคมนาคม เพื่อดำเนินการในรายละเอียดต่อไป โดยให้แบ่งการดำเนินงานในขั้นตอนเริ่มจากการเตรียมความรู้ และเตรียมคนให้มีความพร้อมก่อนขยายไปสู่การผลิตซึ่งอาจเริ่มจากการนำของที่มีอยู่มาดัดแปลงชิ้นส่วน โดยในการดำเนินการให้คำนึงถึงตลาดและควรแสวงหาความร่วมมือในระดับภูมิภาคอาเซียนด้วย
พร้อมทั้งที่ประชุมมีมติเห็นชอบการขยายผลการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนชนบท เพื่อสร้างความเข้มแข็งของเกษตรกรและชนบทด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ตลอดจนเพื่อลดต้นทุน เพิ่มรายได้ แก้ไขปัญหาภัยธรรมชาติด้วยความและแนวคิดตามหลักวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับความสามารถของเกษตรกรไทย ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวเป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่าง 3 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติการ ร่วมกับเครือข่ายอุดมศึกษา โดยตั้งเป้าหมาย 200 ชุมชนทั่วประเทศใน 2 ปี และมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการเสนอเรื่องดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
สำหรับ การสนับสนุนนโยบายส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในอาเซียน ที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าในการจัดซื้อรถโดยสารไฟฟ้าของ ขสมก. ทั้งนี้ มอบหมายให้ ขสมก. ดำเนินการจัดทำรายละเอียดเพื่อทบทวนมติคณะรัฐมนตรีจากเดิมที่เห็นชอบให้จัดซื้อ NGV เป็นรถโดยสารไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศไทยจำนวนหนึ่งให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ เนื่องจากผลการศึกษาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพบว่าต้นทุนรวมค่าซ่อมบำรุ่งรักษาแล้ว การใช้รถโดยสารไฟฟ้ามีความคุ้มค่ามากกว่ารถโดยสารประเภทอื่นและสามารถลดมลพิษในอากาศได้อีกด้วย ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเน้นคุณภาพ ความปลอดภัย และสร้างความเข้าใจกับประชาชนเป็นหลัก เพื่อนำร่องให้เกิดกระแสการตื่นตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ในการผลิตรถอนุรักษ์พลังงานประเภทต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น รวมทั้งให้มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยเร่งพัฒนาเทคโนโลยีและมาตรฐานสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าด้วย
ขณะเดียวกัน เนื่องจากรัฐบาลได้มีความพยายามในการสร้างระบบการรวบรวมนวัตกรรมที่ผลิตโดยคนไทย ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติมอบหมายหน่วยจัดทำบัญชีนวัตกรรมไทยแล้วนั้น ที่ประชุมฯ จึงขอเชิญชวนหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษาที่พัฒนานวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ขึ้นเองยื่นความจำนงขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทย โดยสามารถดูหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ที่กำหนดได้ทาง www.innovation.go.th ซึ่งรัฐจะให้สิทธิประโยชน์ในการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีกรณีพิเศษตามรายการในบัญชีนวัตกรรมไทย
ขณะที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ระบุว่าเรื่องนวัตกรรมเป็นเรื่องที่ประเทศไทยเริ่มให้ความสำคัญมากขึ้น ซึ่งสิ่งสำคัญภาคเอกชนจะต้องเข้าไปร่วมลงทุน โดยนายกรัฐมนตรีเล็งเห็นว่านวัตกรรมทุกด้านจะต้องผลิตออกไปสู่เชิงพาณิชย์เพื่อไม่ให้กลายเป็นผลงานวิจัยหรือนวัตกรรมที่อยู่บนหิ้งเท่านั้น โดยเฉพาะเรื่องของอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ในประเทศภาคเอกชนก็มีความแข็งแรงและมีศักยภาพในเรื่องนี้และเป็นหนึ่งในอาเซียน ซึ่งในส่วนของอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าและระบบรางก็จะต้องมีการพิจารณาระบบของแต่ละประเทศว่าจะสามารถเข้าไปร่วมลงทุนได้อย่างไร เพราะจะมีทั้งประเทศญี่ปุ่นและจีนที่กำลังเข้ามาลงทุน ขณะเดียวกันประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนทั้งประเทศลาว มาเลเซีย อินโดนีเซีย ก็มีการลงทุนเรื่องของระบบรางเช่นกัน
และคาดว่า ภายใน 2- 3 ปีข้างหน้าระบบรายจะขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งหากประเทศไทยมีโอกาสและจังหวะช่วงนี้ในการลงทุนในเรื่องอะไหล่ หรือชิ้นส่วนของระบบรางขึ้นมา ก็จะสามารถพัฒนาการส่งออกของประเทศได้ พร้อมกันนี้สภาอุตสาหกรรมจะร่วมมือกับ สวทช. ในการพัฒนาในแต่ละ cluster ที่ต้องการใช้นวัตกรรม เช่น เครื่องมือแพทย์ ซึ่งจะช่วยชดเชยการนำเข้าและสามารถส่งออกไปยังต่างประเทศได้สอดคล้องกับเป้าหมายของนายกรัฐมนตรีที่ต้องการให้ภาคเอกชนลงทุนวิจัย 70 เปอร์เซ็นต์ และรัฐลงทุน 30 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้คาดว่าหากภาคเอกชนจับมือกับภาครัฐในการดำเนินการดังกล่าวจะทำให้สามารถผลิตนวัตกรรมออกไปในเชิงพาณิชย์ซึ่งจะเป็นประโยชน์มากขึ้น อีกทั้งยังสามารถเข้าไปแข่งขันกับตลาดต่างประเทศได้อีกด้วย
ด้าน นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม คพน. ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำข้อเสนอการพัฒนาระบบนวัตกรรมของประเทศ (อคพน.) โดยมี รองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) เป็นประธานฯ และมีองค์ประกอบอนุกรรมการเป็นรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง เช่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอตุสาหกรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรงศึกษาธิการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ฯลฯ
รวมทั้ง สภาวิจัยที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และสถานบันการศึกษาที่เน้นเรื่องของนวัตกรรม เข้ามาร่วมเป็นอนุกรรมการด้วย ทั้งนี้ มีอำนาจหน้าที่รวบรวม ศึกษา วิเคราะห์สถานภาพ และข้อจำกัดของนวัตกรรมไทย และความสามารถของประเทศในการก้าวสู่งสังคมฐานความรู้และการสร้างสรรค์ ตลอดจนศึกษาบทบาท อำนาจหน้าที่ และภารกิจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และองค์ประกอบของคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ที่อยู่ภายใต้ระบบนวัตกรรมของประเทศ ซึ่งการดำเนินการของคณะอนุกรรมการดังกล่าวมีแนวคิดหลักสำคัญ 3 เรื่อง คือ 1) เรื่อง idea ใหม่ ๆ 2) การเปลี่ยน idea ให้เกิดเป็นผลผลิตนำไปสู่ผลทางการค้าและเศรษฐกิจ และ3) เมื่อเจริญแล้วสามารถนำเทคโนโลยีมาประยุกต์กับภาคต่าง ๆ ได้ ทั้งภาคการเกษตร การศึกษา อุตสาหกรรม ตลอดจนด้านสาธารณสุข เป็นต้น
กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก