- Details
- Category: สำนักนายกฯ
- Published: Saturday, 10 October 2015 13:03
- Hits: 3922
สาร พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี วันที่ 10 ตุลาคม 2558
เรียนพี่น้องประชาชนคนไทยที่เคารพรักทุกท่าน กระผมพลตรีสรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ขอนำสารจากใจ พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และนายกรัฐมนตรี ส่งถึงพี่น้องประชาชน มาเรียนให้ทราบ ในช่วงเวลาที่ประเทศเรากำลังเดินหน้าสู่การปฎิรูปและมีการยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ดังนี้ครับหัวข้อแรกของสาร เป็นเรื่องเกี่ยวกับการยกร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนหัวข้อที่สอง เป็นเรื่องการสร้างความปรองดองภายในชาติ
สำหรับ หัวข้อที่ 1 การยกร่างรัฐธรรมนูญ ประเด็นแรก คือ เรื่องของวิสัยทัศน์ของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ/นายกรัฐมนตรี ได้ให้แนวทางกับกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ ว่าขอให้มองที่ปัญหาของประเทศไทยในห้วงหลายปีที่ผ่านมา มาเป็นโจทย์ แล้วหาวิธีการแก้ปัญหาด้วยกระบวนการประชาธิปไตยที่เหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีก ไม่เอาประชาธิปไตย หรือเอาแนวคิดเสรีภาพที่ไร้ขีดจำกัดมาเป็นตัวตั้ง โดยไม่มองว่าปัญหาที่แท้จริงนั้น อยู่ที่มไหน แม้ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ แต่หากทุกคนไม่ปฏิบัติตาม พยายามแต่จะหาช่องว่าง อ้างแต่ในเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ โดยไม่คำนึงว่าจะไปกระทบสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่นหรือไม่ บ้านเมืองก็คงไม่มีเสถียรภาพ
การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในเรื่องรัฐธรรมนูญที่กำลังร่างนั้น คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มอบแนวทางให้กับ ประธานคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ แล้วว่าจะต้องดำเนินการโดยต่อเนื่อง จากคณะ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ คณะของอาจารย์บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ที่ได้ดำเนินการรับฟังความคิดความเห็นจากพี่น้องประชาชนมาแล้วทั่วประเทศ ประเด็นสำคัญคือต้องรับฟังความคิดเห็นจากคนทุกกลุ่มทุกฝ่าย ที่ผ่านมามีคนพยายามที่จะบิดเบือนว่าคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ฟังแต่เสียงของประชาชนชั้นสูง ซึ่งจริง ๆ แล้ว ประเทศไทยไม่มีคนชั้นสูง ไม่มีคนชั้นกลาง และไม่มีคนชั้นต่ำ คำพูดเหล่านั้นมันเป็นวาทะกรรมของนักการเมืองบางคน ที่มีความพยายามพูดจาแบ่งกลุ่มแบ่งฝ่าย สร้างความแตกแยกในบ้านเมือง เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง แม้กระทั่งการบังคับใช้กฎหมายในมาตรา ๑๑๒ ก็กล่าวหาว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ และรัฐบาลใช้เพื่อทำลายฝ่ายตรงข้าม ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่ามีการกระทำความผิดจริงหรือไม่ เห็นชัดเจนหรือไม่ ทั้งการพูด การชุมนุม ไม่ว่าจะจากโซเชียลมีเดียทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีการกล่าวว่า ทำไมรัฐบาลถึงไม่แก้ไขในเรื่องนี้ ก็ต้องเรียนให้ทราบว่าก่อนวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ส่วนราชการ โดยเฉพาะหน่วยงานด้านความมั่นคง ได้ดำเนินการป้องกันการพูดจาจาบจ้วงล่วงละเมิดต่อสถาบันอันเป็นที่รักสูงสุดของประเทศมาโดยตลอด
อย่างไรก็ตาม กลุ่มคนพวกนี้ยังคงใช้เทคนิคในการหลบเลี่ยงอย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกัน ก็ให้การสนับสนุนกลุ่มผู้ไม่หวังดี สร้างข่าวลือข่าวลวง ข่าวเท็จ ทำลายความเชื่อมั่นของประเทศ ทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ และความมั่นคง โดยไม่มีการห้ามปราม และเอาจริงเอาจัง จากผู้มีอำนาจบริหารประเทศในห้วงนั้นเลย หลังจากวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ และรัฐบาลได้เข้ามาบริหารประเทศ ก็ยังมีการกระทำในลักษณะนี้อยู่ ซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และรัฐบาลก็พยายามที่จะป้องกันการกระทำที่ผิดกฎหมายเหล่านั้นอย่างเต็มกำลังความสามารถ แต่ต้องเรียนตามความเป็นจริงว่าการป้องกันและปิดกั้นนั้นกระทำได้ยากมาก ในประเทศก็ดำเนินการไปตามกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่กลุ่มบุคคลทั้งหลายเหล่านี้ก็ยังอาศัยเทคนิคทางเทคโนโลยีไปเปิดเว็บไซต์แห่งใหม่อีก ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐที่จะต้องดำเนินกาต่อไป อย่างไรก็ตาม เมื่อเจ้าหน้าที่สามารถติดตามตรวจสอบ จับกุมผู้กระทำความผิดได้ ก็มักจะมีการสร้างเครือข่ายขึ้นมาต่อต้าน โดยอ้างหลักสิทธิมนุษยชน และในที่สุดก็หลบหนีไปต่างประเทศ
ประเด็นที่ 2 การมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชนต่อการร่างรัฐธรรมนูญ
คณะรักษาความสงบแห่งชาติและรัฐบาลอยากขอความร่วมมือให้พี่น้องประชาชนทุกภาคส่วน ตลอดจนนักการเมือง กลุ่มการเมือง นักวิชาการ ได้แสดงความคิดความเห็นผ่านช่องทางที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จัดไว้น่าจะมีความเหมาะสมที่สุด ดีกว่ามาแสดงความคิดเห็นผ่านช่องทางสื่อมวลชน เพราะอาจทำให้สังคมสับสนว่าเรื่องใดเป็นข้อเท็จจริง เรื่องใดเป็นเพียงการตีความไปเอง หรือเรื่องใดเป็นเพียงความคิดเห็นเฉพาะตัว ที่ไม่ได้มาจากข้อมูลรายละเอียดของร่างรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง
ประเด็นที่ 3 เป้าหมายและสิ่งจำเป็นที่จะต้องมีอยู่ในรัฐธรรมนูญ
สิ่งสำคัญ ในการร่างรัฐธรรมนูญ คือ เราจะแก้ไขเผด็จการรัฐสภา การทุจริตประพฤติมิชอบ การกระทำผิดกฎหมายได้อย่างไร การตรวจสอบ การถ่วงดุล อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร อำนาจตุลาการ จะทำอย่างไรจึงจะมีความสมดุลย์ การบริหารราชการแผ่นดินที่จะต้องมีธรรมาภิบาล จะเกิดขึ้นได้อย่างไร
ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นตลอดหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งมีความรุนแรง มีการใช้อาวุธสงครามทำร้ายประชาชนผู้บริสุทธิ์ มีการปลุกปั่นแบ่งแยกประชาชนออกเป็นฝักเป็นฝ่าย จะทำอย่างไรจะป้องกันเหตุการณ์เหล่านี้ ไม่ให้เกิดขึ้นได้อีก ทำอย่างไรให้ข้าราชการไม่เสียกำลังใจ ได้รับความเป็นธรรม ไม่ถูกครอบงำหรือชี้นำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องจากฝ่ายการเมือง
การปฏิรูปให้เกิดความยั่งยืนของประเทศในทุกมิติ อาจต้องใช้เวลานาน คงไม่ใช่เพียง ๑ ปี ๒ ปี จะเสร็จสิ้นสมบูรณ์ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จะอยู่จนกระทั่งจบการปฏิรูป เพียงแต่ต้องเริ่มต้นปรับปรุงแก้ไขปัญหาต่างๆที่หมักหมมมาเป็นเวลานาน ปฏิรูปในเรื่องต่าง ๆ เพื่อวางรากฐานที่ดีของประเทศ แล้วส่งต่อให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็ดำเนินการต่อไป โดยมีกลไก หรือกฎหมาย ควบคุมให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี ครอบคลุมแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตั้งแต่ฉบับที่ ๑๒ เป็นต้นไป โดยรัฐบาลจะต้องนำเรื่องราวต่าง ๆ เหล่านี้ไปปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม เกิดผลสัมฤทธิ์ที่จับต้องได้ ทุกหน่วยราชการจะต้องกำหนดยุทธศาสตร์ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติตลอดจนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทั้งนี้ กลไกดังกล่าว จะต้องไม่ก้าวก่ายการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล แต่จะต้องสามารถเข้ามาแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้ หากประเทศของเราจะต้องประสบปัญหาขึ้นมาอีกดังเช่นปัญหาที่มีมาก่อนวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗
คณะรักษาความสงบแห่งชาติและรัฐบาลเข้าใจดีว่า คนส่วนใหญ่และต่างประเทศที่เป็นสากลคงไม่ชอบการที่ทหารเข้ามาแก้ไขปัญหาควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ ดังนั้นคณะรักษาความสงบแห่งชาติและรัฐบาลจึงคาดหวังว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังยกร่างอยู่นี้ จะได้รับความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนทุกภาคส่วน ในการแสดงความคิดความเห็นที่เป็นประโยชน์จนเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่มีความสมบูรณ์สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ของประเทศได้ และก็คงจะเป็นการดีที่ทหารจะได้ไม่ต้องเข้ามาแก้ปัญหาเหมือนเช่นที่ผ่านมาอีก สำหรับนักการเมืองบางท่านที่เกิดความไม่สบายใจ ก็ขอให้อดทนเพื่อประเทศชาติและประชาชน ซึ่งก็คงใช้เวลาไม่นานนักตามโรดแมปที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติและรัฐบาลได้เรียนให้พี่น้องประชาชนทราบมาโดยตลอด
หัวข้อที่ 2 เรื่องการสร้างความปรองดอง
ประเด็นที่แรก เป็นเรื่องหลักของการปรองดอง หลายคนอ้างว่า หากจะเดินหน้าประเทศ กลับไปเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ จะต้องจัดให้มีการนิรโทษกรรมทันที ประเทศชาติจึงจะมีความสงบสุข ซึ่งก็ต้องตั้งคำถามกลับไปว่า กระบวนการยุติธรรมซึ่งทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน มันหายไปไหน หากยอมรับข้อกล่าวหา กลับเข้ามาต่อสู้คดีความตั้งแต่แรก คงไม่เกิดปัญหา คงไม่ต้องมีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และคงไม่ต้องมีพี่น้องประชาชนบาดเจ็บล้มตายจากการกระทำของกองกำลังที่อ้างว่าเป็นกองกำลังไม่ทราบฝ่าย ทั้งที่มีการจับกุม ดำเนินคดี ตัดสินความผิด ชดใช้ความผิดอยู่ในเรือนจำแล้วก็หลายราย ทุกคนทราบดีอยู่ว่า บุคคลพวกนี้ให้การสนับสนุนใคร หากเป็นการสนับสนุนตามระบอบประชาธิปไตย รัฐบาลแก้ปัญหาด้วยธรรมาภิบาล เหตุการณ์เหล่านี้คงไม่เกิดขึ้น ประชาชนก็คงไม่ต้องใช้ความรุนแรงต่อกัน
คณะรักษาความสงบแห่งชาติและรัฐบาลเชื่อมั่นว่า คนส่วนใหญ่ของประเทศเห็นตรงกันว่า การสร้างความปรองดองคือ การสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน โดยยังต้องยึดมั่นในข้อกฎหมาย มิใช่ละเมิดความถูกต้องของกฎหมาย ใครผิดก็ยังต้องถูกลงโทษ โดยกระบวนการยุติธรรม อย่างเด็ดขาด และเสมอภาคกัน มิฉะนั้นเท่ากับว่าเรากำลังสร้างหลักเกณฑ์กติกาที่ไร้วินัย ไร้ระเบียบ เมื่อไม่มีอะไรเป็นหลักให้รักษาอีก ความโกลาหลก็จะเกิดขึ้น ความไร้ระเบียบจะตามมาอีกมากมาย
ประเด็นที่ 2 ความร่วมมือของประชาชนเพื่อจะก่อให้เกิดความปรองดอง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ และรัฐบาลอยากให้พี่น้องประชาชนพิจารณาคำพูด ข้อเสนอของนักการเมือง นักวิชาการและนักการสื่อสารบางคน หรือสื่อมวลชนบางแขนงว่า ได้ให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับพี่น้องประชาชนหรือไม่ เกิดประโยชน์กับประเทศชาติอย่างแท้จริงหรือไม่ ซึ่งพี่น้องประชาชนสามารถที่จะช่วยเหลือในเรื่องนี้ได้ กล่าวคือ หากพี่น้องประชาชนเจอพวกที่มุ่งเอาแต่ประโยชน์ส่วนตัว ยั่วยุหวังที่จะให้เกิดความเดือดร้อน โกลาหล ยุยงให้เกิดความเกลียดชัง แบ่งฝักแบ่งฝ่าย ก็ขอให้พี่น้องประชาชน เลิกฟัง เลิกเชื่อ เลิกสนับสนุน ขณะนี้ประเทศไทยเราอยู่ในระหว่างที่จะวางรากฐานประเทศกันใหม่ แก้ไขปฏิรูปในทุกเรื่อง เสมือนการผ่าตัดใหญ่ เพื่อที่จะรักษาโรคเก่า และป้องกันโรคใหม่ที่จะตามมา
สิ่งที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ และรัฐบาลรีบดำเนินการอยู่ในทุกวันนี้ ก็เพื่อจะให้ประเทศชาติของเรา และประชาชนของเราไม่กลับไปอยู่ในสถานการณ์เช่นเดิมอีก คณะรักษาความสงบแห่งชาติ และรัฐบาลไม่ได้ต้องการเป็นศัตรูกับใคร แต่ขอยืนยันว่าจะไม่ยอมให้ใครก็ตามที่มุ่งร้ายต่อสถาบัน คิดทุจริต ทำร้ายพี่น้องประชาชนและทำร้ายประเทศ มากดดันการทำงานของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ และรัฐบาล และคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญฯ ในการทำหน้าที่เปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้มีอนาคต เข้มแข็ง มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน คณะรักษาความสงบแห่งชาติ และรัฐบาลหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการเข้ามาแก้ไขปัญหาประเทศของทหารเมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ จะเป็นการแก้ปัญหาโดยทหารครั้งสุดท้าย
โดยสรุป การร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะต้องมีทั้งที่เป็นสากล ไม่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงบ่อย ๆ และมีทั้งกระบวนการ กลไก สำหรับช่วงระยะเวลาหนึ่ง ที่จะปฏิรูปจนกระทั่งประเทศของเรานั้น มีความมั่นคง มีเสถียรภาพ และไม่ฝ่าฝืนกฎกติกา ที่เป็นประชาธิปไตยของสากล เพื่อที่จะพัฒนาการเมือง นักการเมือง ประชาชนทุกภาคส่วนให้มีความรัก ความสามัคคี มีคุณธรรม จริยธรรม มีธรรมาภิบาล ปลูกฝังอุดมการณ์ทางการเมืองที่ถูกต้อง บังคับใช้กฎหมายได้อย่างเป็นธรรม อย่างไรก็ตามแม้คสช.และรัฐบาลจะมีความตั้งใจจริงเพียงใดก็ตาม แต่หากขาดซึ่งความรัก ความสามัคคีจากคนไทยทุกคน ขาดความมีสติวิจารณญาณ ความตระหนักคิด และความรักของพี่น้องประชาชนทุกคนที่มีต่อแผ่นดินเกิด การปฏิรูปประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ก็คงไม่สามารถที่จะทำสำเร็จได้ สำคัญที่สุดพี่น้องประชาชนจะต้องช่วยกันให้กำลังใจ เอาใจช่วยคนที่ตั้งใจ มุ่งมั่น ซื่อสัตย์ อย่าปล่อยให้ถูกกดดัน ถูกต่อว่า เสียกำลังใจจากผู้ที่ไม่รักประเทศชาติอย่างแท้จริง
ทั้งหมดนี้ คือ สารจากใจของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติและนายกรัฐมนตรี ที่มีถึงพี่น้องประชาชนคนไทยทุกท่าน ขอบคุณครับ สวัสดีครับ
………………………………….
กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก