- Details
- Category: สำนักนายกฯ
- Published: Thursday, 24 September 2015 22:30
- Hits: 2992
'สมคิด'จีบญี่ปุ่นลงทุนสร้างรถไฟ เชื่อมตอ.-ตต.ส่งสินค้าออกทวาย
แนวหน้า : นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวสุนทรพจน์ในโอกาสคณะนักลงทุนจากญี่ปุ่นเข้าพบโดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) จัดขึ้นที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์เมื่อวันที่ 22 ก.ย. ว่า เชิญชวนให้ญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟเชื่อมภาคตะวันออกไปสู่ภาคตะวันตกหากญี่ปุ่นไม่สนใจ กระทรวงคมนาคมก็พร้อมศึกษาความเป็นไปได้และลงทุนโครงการดังกล่าวเองเพื่อดึงดูดนักลงทุนญี่ปุ่นจำนวนมากที่อยู่ในพื้นที่อุตสาหกรรมภาคตะวันออกไปสู่การลงทุนในภาคตะวันตกและเชื่อมไปยังโครงการเขตเศรษฐกิจทวาย เส้นทางจากกาญจนบุรี-เพชรบุรี-ราชบุรี-กรุงเทพฯ(ลาดกระบัง)-แหลมฉบัง-มาบตาพุด จ.ระยอง ซึ่งมั่นใจว่าจะเกิดประโยชน์ด้านการขนส่งสินค้าและสร้างความคุ้มค่าต่อระบบเศรษฐกิจอย่างมาก
ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เร่งศึกษาแนวทางการให้สิทธิประโยชน์การถือครองที่ดินแก่ต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยรวมทั้งจะให้สิทธิประโยชน์ภาษีจูงใจต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในลักษณะรวมกลุ่มอุตสาหกรรม(คลัสเตอร์) กับผู้ประกอบการไทยในการวิจัยและพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำกลางน้ำและปลายน้ำโดยเฉพาะคลัสเตอร์ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) กลุ่มเกษตร ยานยนต์ ยา อาหารและไอที เป็นต้น เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจซึ่งเบื้องต้นจะขยายพื้นที่อุตสาหกรรมออกไปยังฉะเชิงเทรา ปทุมธานีและศรีราชา จ.ชลบุรี นอกเหนือจากมาบตาพุด และแหลมฉบัง ที่ จ.ระยองที่ค่อนข้างอิ่มตัวแล้ว
"ปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนเอสเอ็มอีเป็นวาระแห่งชาติเพื่อส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มคลัสเตอร์ระหว่างเอสเอ็มอีไทย-ญี่ปุ่นโดยใช้จุดแข็งเรื่องเทคโนโลยีของญี่ปุ่นผสานกับทักษะด้านการผลิตของผู้ประกอบการไทยรวมถึงความร่วมมือเอสเอ็มอีในกลุ่มท่องเที่ยวเนื่องจากอัตราการขยายตัวระหว่างนักท่องเที่ยวไทยกับญี่ปุ่นเติบโตสูงมากอย่างต่อเนื่อง"นายสมคิดกล่าว
นายสมคิด กล่าวว่า จากการพูดคุยกับตัวแทนและนักลงทุนญี่ปุ่นในครั้งนี้ ทางนายชิโระ ซะโดะชิมะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นและผู้แทนกระทรวงการค้าและอุตสากรรม (เมติ)ก็เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลไทยมีนโยบายสนับสนุนการสร้างคลัสเตอร์ในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆจึงมีความสนใจจะทำธุรกิจร่วมกันแบบคลัสเตอร์ต่อคลัสเตอร์นอกเหนือจากปัจจุบันที่เป็นคลัสเตอร์ระหว่างผู้ประกอบการแต่ละรายเท่านั้นซึ่งในช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย.นี้จะมีการนำผู้ประกอบการไทยไปโรดโชว์ที่ญี่ปุ่นเพื่อชักจูงนักลงทุนญี่ปุ่นมาร่วมลงทุนในไทย
ทั้งนี้ นักลงทุนญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนไทยมีมูลค่าสูงถึง 40% ของมูลค่าลงทุนทั้งหมด และเข้ามาอย่างต่อเนื่องแบ่งเป็น 3ระลอกและในระยะนี้ถือเป็นระลอกที่ 3โดยไทยนั้นมีแนวคิดที่จะปรับเปลี่ยนโครงสร้างการลงทุนใหม่เพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจประเทศโดยแบ่งเป็น 3 แนวทางสำคัญได้แก่ 1.จะเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจที่เน้นมูลค่าสูงนวตกรรมและเทคโนโลยีมากขึ้น และสร้างให้เกิดคลัสเตอร์อุตสาหกรรม(Cluster)และผนวกเข้ากับการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษโดยกระทรวงอุตสาหกรรมและสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ)จะออกนโยบายต่างๆมาจูงใจให้เป็นไปตามเป้าหมาย
2.การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC)ไทยเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงกับภูมิภาคนี้และอื่นๆ ตั้งแต่จีนเชื่อมลงไปยังสิงคโปร์ และไปยังพม่าและอินเดียรัฐบาลไทยจึงลงทุนระบบคมนาคม(ลอจิสติกส์)ที่จะเชื่อมต่อกับประเทศรอบข้างเหล่านี้ทั้งหมดและหนึ่งในเส้นทางดังกล่าวที่ไทยต้องการให้เกิดก็คือเส้นทางที่ได้เสนอญี่ปุ่นให้ดำเนินการครั้งนี้โดยอนาคตเชื่อมั่นว่าไทยจะเป็นศูนย์กลางของตลาดการค้าและการส่งออกสำคัญในการเชื่อมโยงในภูมิภาคนี้
3.รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม(SMEs)โดยได้ทยอยออกแพคเกจในการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันและเห็นว่าSMEsญี่ปุ่นสามารถที่จะมาเป็นหุ้นส่วนธุรกิจกับSMEsไทยได้เป็นอย่างดีโดยได้มอบให้กระทรวงอุตสาหกรรมและบีโอไอหาคู่ค้าที่ดีให้กับนักลงทุนญี่ปุ่นเพื่อให้เกิดการจับคู่ธุรกิจในการที่จะพัฒนาระบบเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ไปด้วยกันในอนาคต
นายชิโร ซะโดะชิมะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย กล่าวว่านักลงทุนญี่ปุ่นสนใจให้ไทยเป็นฐานการผลิต เครื่องจักรขนาดใหญ่และเครื่องจักรความละเอียดสูง ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมในไทยเพื่อกระจายสินค้าไปยังภูมิภาคอาเซียนเช่นเดียวกับที่ให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์เนื่องจากมองไทยเป็นประเทศศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน ที่มีศักยภาพขณะเดียวกันญี่ปุ่น สนใจตั้งสถาบันการศึกษาเพื่อให้ความรู้ถ่ายทอดเทคโนโลยีวิจัยและพัฒนา (อาร์แอนด์ดี)เนื่องจากขณะนี้นักลงทุนญี่ปุ่น มาลงทุนในประเทศไทยเป็นจำนวนมากและมีความสัมพันธ์กับไทยมาอย่างยาวนาน
อย่างไรก็ตาม นักลงทุนญี่ปุ่นพอใจแผนส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ฉบับใหม่และมาตรการเร่งรัดการลงทุนฉบับเพิ่ม ซึ่งช่วยส่งเสริมการลงทุนและอำนวยความสะดวกมากขึ้น