WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

100ลานบาท

รัฐเทสินเชื่อแสนล. พ่วงมาตรการชุดใหญ่ คิกออฟเอสเอ็มอี-ฤๅแค่ประชานิยม

       จัดงานเดินหน้ามาตรการช่วยเหลือและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของเอสเอ็มอีเป็นที่เรียบร้อย โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน พร้อมปาฐกถาหัวข้อ'ขับเคลื่อนเอสเอ็มอี ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย'ไปแล้ว สินเชื่อเอสเอ็มอีก้อนแรกจะถึงมือผู้ประกอบการตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน 2558

  • มติชนออนไลน์ :

      ในงานนี้มีเอสเอ็มอีเข้าร่วมไม่ต่ำกว่า 3,500 ราย ซึ่งต่างต้องการฟังไฮไลต์จาก 'บิ๊กตู่'ก่อนตัดสินใจลงทุนขยายกิจการ ผ่านมาตรการสินเชื่อและมาตรการสนับสนุนอื่นที่รัฐบาลจัดสรรให้ในวงเงิน 100,000 ล้านบาท เพราะต้องไตร่ตรองถึงผลที่จะตามมาว่า ลงทุนไปแล้วมีตลาดรองรับหรือผู้บริโภคตอบรับหรือไม่ เพราะหากทำแล้วแต่ขายไม่ได้ก็เท่ากับเป็นการสร้างหนี้สร้างภาระเพิ่มขึ้น

- รัฐอัดมาตรการสินเชื่อเอสเอ็มอี

      มาตรการกระตุ้นเอสเอ็มอีในครั้งนี้ถือว่ามีความคลอบคลุม เพราะมีทั้งยาแรงและยาบำรุงเพื่อให้มีความแข็งแรงในระยะยาว เริ่มจากมาตรการทางการเงินใน 3 โครงการ ประกอบด้วย 1.สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 4% ต่อปี วงเงินรวม 100,000 ล้านบาท โดยภาครัฐจะสนับสนุนส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่ 2.8% หรือราวปีละ 2,000 ล้านบาท โดยธนาคารออมสินปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อนำไปปล่อยแก่ผู้ประกอบการในอัตรา 4% ต่อปี ระยะเวลากู้ไม่เกิน 7 ปี โดยผู้ประกอบการจะต้องยื่นขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 หรือจนกว่าวงเงินจะหมด

- ส่ง บสย.ช่วยค้ำประกันให้เอสเอ็มอี

     2.โครงการค้ำประกันสินเชื่อของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ให้แก่เอสเอ็มอีที่ขาดหลักประกันในการกู้ยืม สามารถเข้าถึงแหล่งเงินได้มากขึ้น กำหนดวงเงินค้ำประกัน 100,000 ล้านบาท โดยปีแรก บยส.ไม่คิดค่าธรรมเนียม ส่วนปีที่ 2 คิดค่าธรรมเนียม 0.5% ปีที่ 3 คิดค่าธรรมเนียม 1% ปีที่ 4 คิดค่าธรรมเนียม 1.5% และปีที่ 5-7 คิดค่าธรรมเนียม 1.75% คงที่ โดยหลักการคือ เมื่อธนาคารอนุมัติสินเชื่อแล้ว ทางธนาคารที่ปล่อยกู้จะต้องยื่นคำขอค้ำประกันสินเชื่อมายัง บสย.เพื่อพิจารณาคำขอค้ำประกันสินเชื่อ และส่งหนังสือค้ำประกันให้ธนาคารต่อไป วงเงินค้ำประกันต่อรายสูงสุดไม่เกิน 40 ล้านบาท อายุการค้ำประกันไม่เกิน 7 ปี และสิ้นสุดระยะเวลารับคำขอค้ำประกันวันที่ 30 มิถุนายน 2559

- ตั้งกองทุนร่วมลงทุน 6,000 ล้าน

     3.มาตรการสนับสนุนเอสเอ็มอีผ่านการร่วมลงทุนเพื่อสตาร์ตอัพ โดยธนาคารออมสิน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอีแบงก์) และธนาคารกรุงไทย จัดตั้งกองทุนร่วมลงทุนแห่งละ 2,000 ล้านบาท รวม 6,000 ล้านบาท ภายใน 31 ธันวาคม 2558 เพื่อร่วมลงทุนกับเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพสูง มีโอกาสเติบโต หรืออยู่ในกลุ่มธุรกิจที่มีประโยชน์ต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจประเทศให้สามารถเติบโตได้

- ลดภาษีเงินได้นิติบุคคลเอสเอ็มอี

     มาตรการทางภาษีแบ่งเป็น 2 มาตรการ คือ 1.การลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีกำไรสุทธิตั้งแต่ 300,001 บาทขึ้นไป ลงเหลือเพียง 10% (จากปกติเสียภาษี 15% และ 20%) เป็นเวลา 2 ปี ตั้งแต่ 1 มกราคม 2558-31 ธันวาคม 2559) 

- เว้นภาษีหนุนผู้ประกอบการใหม่

      มาตรการยกเว้นภาษีเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหม่ จะยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ประกอบกิจการ จดทะเบียนพาณิชย์ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2558-31 ธันวาคม 2559 เป็นเวลา 5 ปี โดยผู้ที่จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีต้องอยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมายหลัก และไม่ได้รับสิทธิจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) อยู่ก่อนแล้ว

- ขับเคลื่อนผ่านงบบูรณาการปีཷ

     ส่วนในระยะยาวถูกแบ่งเป็น 3 มาตรการ คือ มาตรการบูรณาการขับเคลื่อนเอสเอ็มอีจากงบประมาณปี 2559 วงเงิน 2,178 ล้านบาท กระจายอยู่ใน 10 หน่วยงาน อาทิ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บีโอไอ เอสเอ็มอีแบงก์ กำหนดเป้าหมายสร้างเอสเอ็มอีใหม่ที่ผลิตสินค้าจากนวัตกรรม 11,811 ราย และเป้าหมายสร้างความเข้มแข็งให้เอสเอ็มอีที่ประกอบกิจการอยู่ จำนวน 42,451 ราย

- ปรับแผนธุรกิจเอสเอ็มอี 10,000 ราย

     โครงการปรับปรุงแผนธุรกิจและเพิ่มประสิทธิภาพเอสเอ็มอี วงเงิน 630 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีทั้งภาคผลิต การค้า และบริการ ที่ประสบปัญหามีการจัดทำแผนฟื้นฟูธุรกิจและต่อยอดการพัฒนาสินค้า ทำให้เอสเอ็มอีพลิกกับมาดำเนินธุรกิจได้ เป้าหมาย 10,000 ราย 

- มาตรการเพิ่มขีดความสามารถเอสเอ็มอีรอเข้า ครม.

      มาตรการเพิ่มขีดความสามารถจะบูรณาการหลายกระทรวง เป็นการต่อยอดจากมาตรการทางการเงินและภาษี โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะเน้นลดต้นทุนแต่เพิ่มผลิตภาพ ผ่านโครงการลดไขมันเอสเอ็มอี และจะพัฒนาเอสเอ็มอีตามคลัสเตอร์อุตสาหกรรมที่รัฐบาลผลักดัน อาทิ ชิ้นส่วนยานยนต์ เกษตรแปรรูปและอาหาร ซึ่งนโยบายส่งเสริมคลัสเตอร์จะมีการหารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัปดาห์นี้ ส่วนมาตรการเพิ่มขีดความสามารถเอสเอ็มอีจะเสนอคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์ถัดไปและจะมีการของบประมาณเพิ่มเติมด้วย 

      ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการด้านการตลาดทั้งในอาเซียน ตลาดโลกและตลาดออนไลน์ เพื่อให้เอสเอ็มอีมีช่องทางขายสินค้าเพิ่มขึ้น และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะนำโครงการรูปแบบใหม่และที่เคยสำเร็จมาพัฒนาเอสเอ็มอี อาทิ โครงการแปลงเทคโนโลยีเป็นทุน โครงการคูปองนวัตกรรม

- ตัวแทนเอสเอ็มอีเชียร์รัฐบาล

     จากมาตรการกระตุ้นทั้งหมด ดูเหมือนตัวแทนเอสเอ็มอีจะพอใจและสนับสนุนรัฐบาลเต็มที่ โดยนางเพ็ญทิพย์ พรจะเด็ด นายกกิตติมศักดิ์สมาคมส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย ระบุว่า มาตรการที่ออกมาถือว่าทีมเศรษฐกิจชุดนี้มองขาดและฉีดยาแรง แต่ก็อยากให้รัฐบาลประสานกับสถาบันการเงินในการผ่อนคลายเกณฑ์สินเชื่อ เพราะหลายรายติดปัญหาเครดิตบูโร แต่พร้อมเดินหน้ากิจการหากมีเงินทุนหมุนเวียน

     นายพรชัย รัตนตรัยภพ ประธานเครือข่ายผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า มาตรการช่วยเหลือมีความน่าสนใจ คาดว่าจะช่วยเหลือเอสเอ็มอีได้มาก แต่รัฐบาลควรกำหนดกรอบความช่วยเหลือชัดเจนและควรช่วยเหลือกลุ่มที่กำลังเติบโต ประวัติดี หากดูแลกลุ่มหลังมากขึ้นจะทำให้การส่งออกเอสเอ็มอีของไทยเพิ่มขึ้น

- ถูกมองเป็นประชานิยมเหมือนอดีต

      แม้จะถูกใจเอสเอ็มอี แต่ในภาพรวมก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีความคล้ายกับนโยบายประชานิยมในอดีตที่รัฐบาลชุดนี้ปฏิเสธ เพราะแม่ทัพอย่างนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ก็เคยทำนโยบายคล้ายๆ กันนี้ในอดีต 

     เรื่องนี้ พล.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เฉพาะกิจ) แสดงความเห็นว่า การให้ความช่วยเหลือต่อเอสเอ็มอีครั้งนี้ไม่ใช่ประชานิยม แต่เป็นการให้สินเชื่อเพื่อให้ผู้ประกอบการนำไปลงทุนขยายกิจการต่อ เพื่อให้การหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจและมีอัตราดอกเบี้ยชัดเจน ไม่ได้ให้ฟรี ที่มีบ้างแต่รัฐบาลใช้งบประมาณสนับสนุนดอกเบี้ยส่วนต่าง แต่ไม่อยากให้คิดเล็กคิดน้อย และในภาพรวมการช่วยเหลือยังมีมาตรการเพิ่มขีดความสามารถระยะยาวด้วย

- เงินกองทุนหมู่บ้าน-ตำบลคือกำลังซื้อเอสเอ็มอี

     นางสาลินี วังตาล ประธานกรรมการเอสเอ็มอีแบงก์ และว่าที่ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) มองว่า มาตรการที่ออกมาจะช่วยให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนและช่วยหาช่องทางจัดจำหน่าย ซึ่งส่วนหนึ่งต้องมาจากกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น นั่นคือมาตรการก่อนหน้าที่รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 3 ด้าน รวมวงเงิน 136,000 ล้านบาท คือ เงินกองทุนหมู่บ้าน มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับชุมชุน และมาตรการเร่งรัดการใช้จ่ายงบภาครัฐ 

      "มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจล็อตแรกที่รัฐบาลอนุมัติจะช่วยทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบ เกิดกำลังซื้อส่งผลให้เอสเอ็มอีขายสินค้ามากขึ้น ขณะที่มาตรการสินเชื่อเอสเอ็มอีก็ช่วยให้มีเงินทุนในการซื้อวัตถุดิบ ผลิตสินค้าจำหน่าย รักษาการจ้างงานของเอสเอ็มอีทั่วประเทศ ซึ่งรัฐบาลไม่ต้องการให้เกิดการว่างงาน ดังนั้นทั้งหมดนี้จะช่วยให้เศรษฐกิจมีการหมุนในระบบและขยายตัวขึ้น" นางสาลินีระบุ

- ลุ้น 3 เดือนผลงานกระตุ้นเอสเอ็มอี

   ความหวังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเพื่อพยุงการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ที่ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมินเพียง 2.7-3.2% จึงเป็นภารกิจหลักของทีมเศรษฐกิจนายสมคิดจะเข้ากู้สถานการณ์และการันตีว่ารัฐบาลตัดสินใจไม่ผิดที่เปลี่ยนม้ากลางศึก 

   3 เดือนที่จะถึงนี้ จึงน่าลุ้นว่าผลงานจะได้ตามเป้าหรือไม่หลังจากคิกออฟมาตรการออกมาอย่างสวยหรู!!....

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!