- Details
- Category: สำนักนายกฯ
- Published: Sunday, 13 September 2015 16:14
- Hits: 8487
นายกฯเผย รบ.จะสนับสนุนธุรกิจทุกขนาดทุกระดับ ขับเคลื่อนศก.ประเทศ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ"ว่า เรื่องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจนั้น จะเห็นว่าเรามีหลายมาตรการออกไป เราก็ต้องดูในทุกอาชีพ ทุกรายได้ ทุกกลุ่ม ตั้งแต่รายได้สูง รายได้ปานกลาง รายได้น้อย รายได้น้อยจะมีปัญหามาก เพราะมีหลายกลุ่ม เกษตรกรก็มี รับจ้างก็มี วันนี้ก็ดูทั้งในเรื่องการเตรียมการเรื่องของการปรับโครงสร้างต่างๆ การลงทุน การดูแลธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง ให้ใหญ่ขึ้น SMEs ปรับโครงสร้างเรื่องการบริหารจัดการน้ำใหม่ว่าทำอย่างไรจะทั่วถึง
เราต้องทำให้เกิดความเท่าเทียมในการลงทุน โดยเฉพาะยิ่งต้องดูแลผลประโยชน์ของคนไทยด้วยเป็นหลัก ทั้งในการลงทุนในประเทศ และต่างประเทศ ขณะเดียวกันก็ต้องดูแลต่างประเทศที่มาลงทุนในประเทศไทย ให้มีการแข่งขันโดยเสรี เกิดความทั่วถึง มีผลดีต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย ต้องมองหลายมิติ หลายมุม ถ้าเรามองปัญหามาอย่างเดียว ทำไม่ได้ทั้งหมด เพราะว่าปัญหาวันนี้มีหลายอย่างที่หมักหมมสะสมไว้ ไม่ได้แก้ไข หลายอย่างกำลังเดินหน้าอยู่ในขณะนี้ เรื่องการค้ามนุษย์ ก็เดือดร้อนไปหมดตอนนี้ ทั้งการประเมินของต่างประเทศ ทั้งการปรับองค์กรต่างๆ การลงโทษต่างๆ มากมายไปหมด การดูแลเหยื่อ การประมงที่ผิดกฎหมายเหมือนกัน ก็เดือดร้อนชาวประมง เขาบริสุทธิ์ใจ เขาเป็นคนที่มีรายได้น้อยอยู่แล้ว
"วันนี้ ก็ต้องมาถูกบังคับใช้กฎหมายอย่างเต็มที่ คนที่รู้เรื่องทั้งหมดคือผู้ประกอบการ เจ้าหน้าที่ นายทุน รู้หมดอะไรผิด อะไรถูก แต่ท่านไม่ทำ ส่วนใหญ่ที่ทำก็ดี หากินต่อไป ส่วนไม่ทำพอถูกดำเนินคดี หรือถูกห้ามก็เดือดร้อนไปถึงแรงงานประมงด้วย อะไรด้วย จะเห็นว่าได้มีการประท้วงที่นั่น ที่นี่ ผมขอร้องอย่าทำเลย เพราะไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย เราต้องรักษาทรัพยากรสัตว์น้ำเหล่านั้นให้เจริญเติบโต เพื่อจะเป็นแหล่งอาหารของเรา เป็นแหล่งจับปลาของเราในอนาคต ถ้าจับตั้งแต่ตัวเล็กๆ หมด ก็ไปหมด ไม่มี แล้วท่านจะไปจับปลาที่ไหนอีก ไปต่างประเทศเขาจับบ้าง อะไรบ้าง ระเบิดเรือทิ้งไปบ้าง เพราะไม่ทำตามกฎหมาย นอกจากในประเทศ และต่างประเทศยังทำผิดอีก วันนี้ขอบคุณคนที่เคารพกฎหมาย ขอบคุณที่ยอมรับในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในขณะนี้ว่า เราจำเป็นต้องเปลี่ยนแล้ว ในเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งทางบก ทางทะเล"นายกรัฐมนตรี กล่าว
ในส่วนของ SMEs วันนี้ก็มีปัญหาเรื่องสำคัญหนึ่งเรื่องคือ เรื่องการขึ้นทะเบียนให้เข้ามาอยู่ในระบบ มีหลายท่านขอมาว่านิรโทษภาษี ผมยังไม่พูดเรื่องเก็บภาษีเก่าเลย ทำไมไม่พูดกันตรงนั้น ทำไมไม่พูดเริ่มต้นของใหม่ให้ดี ถ้าของใหม่ดีเริ่มไปแล้ว ไม่ทำอะไรเสียหาย ไม่ปฏิบัติตามกติกา โอเค ขั้นเปลี่ยนผ่าน ที่เขาเรียกว่าเปลี่ยนผ่าน ก็ไม่ต้องทำอะไรต่อ ไม่ต้องคิดทำอะไรให้เดือดร้อน แต่ถ้าเข้ามาหรือไม่เข้ามาก็แล้วแต่ แล้วมีปัญหาก็ต้องสอบสวนย้อนหลังไปหมด ผมอยากจะเตือนแค่นี้ จะมาบอกให้ยกเว้นภาษีทั้งหมด ทำได้หรือไม่ กฎหมายดำเนินการมาแล้ว ผ่านมาแล้ว ผมถึงบอกว่าหยุดตรงนี้ก่อนแล้วเดินหน้าให้ได้ อย่าย้อนกลับไปที่เก่า ถ้าบอกว่ายังไม่พูดคำนี้แล้วจะไม่เข้ามา ถ้าไม่เข้ามาก็จะดำเนินคดีตามกฎหมายอยู่ดี เพราะฉะนั้นอย่ามาบ่นว่าเข้าถึงแหล่งเงินทุนไม่ได้ ไม่ทั่วถึง ก็เพราะท่านไม่เข้ากติกาแล้วจะให้ผมทำอย่างไร
เรื่องเงินทุนต่างๆ เรื่องการตลาด เรื่องแรงงาน เทคโนโลยีการผลิต การดีไซด์ การบริหารจัดการ การระบุข่าวสารทุกกิจกรรม รัฐก็ต้องเข้าไปอย่างเต็มที่ ข้าราชการทุกส่วนทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องจะต้องไปดูแลให้ครบวงจร ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง ในเรื่องของการผลิตตั้งแต่ต้น การลดต้นทุนการผลิต การส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งในประเทศและต่างประเทศ สร้างความเชื่อมโยงทั้งชุมชน จังหวัด ภูมิภาค วันนี้รัฐบาลได้มีการเตรียมการจัดตั้งตลาดกลางเพิ่มขึ้นในหลายๆ พื้นที่ เชื่อมโยงกับตลาดชุมชนและลดจำนวนการค้าขายชายแดน โดยกระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์กำลังดำเนินการอยู่ และรัฐบาลได้สั่งการให้รองนายกรัฐมนตรี (นาย สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ) เร่งดำเนินการให้ได้โดยเร็ว
เรื่องการสร้างแรงจูงใจต่าง ๆ ผมคิดว่าเราจะต้องสร้างแรงจูงใจให้เขาเข้ามาในระบบให้ได้ทุกคน อย่าไปสร้างปัญหาใหม่เลย อย่าย้อนกลับไปตรงโน้นตรงนี้ ผมไม่อยากไปทำตรงนั้น นี่คือเรื่องการลงทุน เศรษฐกิจมีผลกระทบทั้งสิ้น ถ้าเข้ามาทันทีก็ไม่ต้องพูดเรื่องก่อนเรื่องอะไรก็แล้วแต่ ไปทำเรื่องหน้า ถ้าไม่ทำความผิด ทำไมจะต้องเริ่มย้อนไปย้อนมาอีก เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมานานแล้ว คนที่อยู่ในกระบวนการก็เป็นธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดย่อมทั้งสิ้น
เรื่องมาตรการทางการเงินคงทราบแล้วว่า มีโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำที่ใช้เป็นเงินหมุนเวียนวงเงินรวมไม่เกิน 2 หมื่นล้านบาท จะให้ธนาคาร สถาบันการเงินต่างๆ เข้ามาร่วมด้วย ได้มีการพูดคุยกับสถาบันการเงินเหล่านั้นแล้ว และตกลงกันว่าทำได้แบบนี้ ที่ผ่านมาบางทีรัฐบาลออกไปแล้วทำไม่ได้ เพราะยังไม่พูดคุยกันข้างล่าง วันนี้ได้เชิญให้รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมาพูดคุยกัน ทุก Factor ว่าจะร่วมกันอย่างไร เป็นไปได้แค่ไหน ไม่อย่างนั้นนำออกไปแล้ว ประชาชนก็ให้เขาไม่ได้อีก
อีกเรื่องหนึ่ง คือเรื่องการค้ำประกันสินเชื่อโครงการ PGS-5 วงเงินค้ำประกัน 1 แสนล้านบาท รายละไม่เกิน 40 ล้านบาทต่อสถาบันการเงิน เรื่องของกระทรวงการคลัง มาตรการต่างๆ ได้แก่ การลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับผู้ประกอบการ SMEs จากเดิมร้อยละ 15 หรือมากกว่า ให้เหลือร้อยละ 10 เพื่อบรรเทาภาระภาษีให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ในขณะนี้ และเพิ่มขีดความสามารถในการลงทุนของ SMEs ด้วย ช่วงแรกประมาณ 3 ปี ที่ตั้งบริษัทขึ้นมา ขนาดเล็กยังไม่มีกำไร ต้องต่อสู้หาตลาด ถ้ารัฐไปช่วยเรื่องเงินทุน เรื่องค้ำประกัน ลดภาษีให้เขาก็จะแข็งแรงขึ้นไปเรื่อยๆ และให้ความรู้เขามากๆ เรื่องการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล
สำหรับ ผู้ประกอบการ SMEs รายใหม่ (New Start-up) ก็ทำ ส่วนที่จะล้มอยู่แต่มีศักยภาพก็ไปช่วยเขาอีก ทุกอย่างรัฐบาลคิดทุกเรื่อง อันนี้รัฐบาลจะลดให้ 5 รอบ ระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกัน
สำหรับ เรื่องมาตรการสนับสนุนผ่านการร่วมลงทุน มีทั้งการจัดตั้งกองทุนร่วมลงทุน แห่งละ 2,000 ล้านบาท รวมจำนวน 6,000 ล้านบาท เพื่อร่วมลงทุนกับ SMEs ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการลงทุนที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย ทั้งนี้ รัฐบาลจะไม่สามารถช่วยเหลือหรือสนับสนุนธุรกิจที่ยังไม่เข้าสู่ระบบได้ - ไม่มีการลงทะเบียนของภาครัฐ ถ้าทุกคนให้ความร่วมมือก็จะมีการสร้างงานในท้องถิ่น การกระจายรายได้ไปสู่ชุมชนมากขึ้น โดยรัฐบาลคาดว่า จะมีการลงทุนจะเพิ่มขึ้น ประมาณ 3,800 ล้านบาท และการบริโภคภาคเอกชน เพิ่มขึ้น 960 ล้านบาท ในอนาคต
อินโฟเควสท์