WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

27สงหาคม

 

สมคิดโชว์แนวทางกู้ศก. ชู 2 กลยุทธ์ ลั่นรบ.เป็นมิตร'ธุรกิจ'เร่งเพิ่มรายได้รากหญ้า จับมือมท.ปลุกอปท.ลุย กกร.เชื่อมั่น-ชี้วิธีแก้ชัด แนะให้รัฐผนึก'เอกชน'

      คนล้นห้องฟัง'สมคิด'โชว์แก้เศรษฐกิจ เผยนายกฯมอบ 2 ภารกิจ เร่งช่วยผู้มีรายได้น้อย วางรากฐานประเทศ มุ่งพัฒนาเอสเอ็มอี ขอ มท.ประสานผู้ว่าฯ-ท้องถิ่นปลุกโอท็อป เอกชนเผยเชื่อมั่นมากขึ้น

มติชนออนไลน์ :

สมคิดโชว์ - นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ปาฐกถาพิเศษ "นโยบายเศรษฐกิจและทิศทางประเทศไทย" จัดโดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) ที่ห้องนภาลัยบอลลูน โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม

@ ฟัง'สมคิด'โชว์แก้ศก.ล้นห้อง

       เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ที่ห้องนภาลัยบอลรูม คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ได้เชิญนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ'นโยบายเศรษฐกิจและทิศทางประเทศไทย' โดยมีเอกชนเข้าร่วมฟังกว่า 1,000 คน จากที่เตรียมที่นั่งไว้ 750 คน โดยนายสมคิดกล่าวตอนหนึ่งว่า เข้าใจว่าที่นักธุรกิจภาคเอกชนมาฟังกันมาก เพราะเป็นห่วงเศรษฐกิจ สะท้อนได้ในดัชนีความเชื่อมั่นที่น้อยลง ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยไม่มีวิกฤตการณ์ เมื่อเทียบกับวิกฤตปี 2540 ถือเป็นคนละเรื่อง สมัยปี 2540 ไม่มีใครต้องการนั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง บริษัทใหญ่ล้มหมด คนตกงานเยอะ แต่สถานการณ์ราคาพืชผลเกษตรไม่ดี อำนาจซื้อเกษตรกรแย่ คนในประเทศลำบาก ทั้งข้าวและยางพารา 

       นายสมคิดกล่าวว่า เมื่อคนที่มีรายได้น้อย การหมุนเวียนเศรษฐกิจหายไป ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่มีกิจกรรมเศรษฐกิจลำบากตาม ธนาคารไม่กล้าปล่อยสินเชื่อ เอสเอ็มอีหาแหล่งเงินลำบาก ทำให้เอกชนชะลอการลงทุน เงินเฟ้อติดลบ ไม่ใช่เป็นเพราะน้ำมันอย่างเดียว แต่ความเชื่อมั่นไม่ดี ขณะที่พึ่งพิงการส่งออกมากเกินไป เมื่อประเทศอิงปัจจัยภายนอกวันหนึ่งต้องทรุดต่ำลง เมื่อเศรษฐกิจโลกมีปัญหาและการส่งออกแผ่วลง ทำให้ประเทศถดถอย 

@ 'บิ๊กตู่'มอบหมาย 2 ภารกิจ

      "นายกรัฐมนตรีมอบหมายและเร่ง 2 ภารกิจ 1.ภารกิจเร่งด่วนคือ กอบกู้ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย (เอสเอ็มอี) เพื่อให้เงินทุนถึงชาวบ้านให้เร็วที่สุด และสร้างท้องถิ่นให้เข้มแข็ง ได้กำชับกระทรวงการคลังเร่งให้เงินหมุนเร็วเข้าระบบใน 2-3 เดือน และอีก 2 สัปดาห์จะออกมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีเพิ่มเติม 2.ภารกิจวางรากฐานประเทศ ผมไม่รอสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) อะไรที่ทำก่อนได้ หรืออะไรที่ต้องออกกฎหมายมาก็ทำได้เลย" นายสมคิดกล่าว

      นายสมคิด กล่าวว่า สำหรับภารกิจในการสร้างอนาคตที่จะทำนั้น 1.การโอนความสนใจมาสู่เศรษฐกิจภายในประเทศหรือเศรษฐกิจท้องถิ่น ภูมิภาค 2.พัฒนาขีดความสามารถในการผลิตสินค้าเพื่อการแข่งขัน 3.การพัฒนาเอสเอ็มอี หรือนักรบทางเศรษฐกิจ 4.การลงทุนขนาดใหญ่ โดยได้หารือกับนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคมแล้ว 5.การเพิ่มประสิทธิภาพภาครัฐในด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจที่เป็นกำลังสำคัญภาครัฐ นอกจากนี้ยังมีที่ปรึกษานายกฯ ร่วมกับว่าที่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผู้ว่าการ ธปท.คนปัจจุบัน และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) คิดการปฏิรูปร่วมกัน ไม่ว่าตลาดเงินหรือตลาดทุน ทำให้ตลาดทุนเชื่อมต่อโลกได้

 

@ สภาอุตฯแนะร่วมมือเอกชน

     นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า หลังได้ฟังนายสมคิด มองว่าภาคเอกชนจะมีความมั่นใจต่อการดำเนินการของรัฐบาลเพิ่มมากขึ้น เชื่อว่าจะสามารถช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปได้ แม้ว่าการส่งออกช่วง 7 เดือนแรกยังติดลบต่อเนื่อง แต่แนวนโยบายของรัฐบาลเน้นการกระจายและหารายได้ให้กับผู้ที่มีรายได้น้อย จึงเชื่อว่าจะช่วยทดแทนการส่งออกที่หายไป ดังนั้น การชะลอตัวของการส่งออกจึงไม่น่ากังวล 

"อยากเห็นรัฐบาลทำงานร่วมกันกับภาคเอกชนอย่างมี บูรณาการมากขึ้น โดย ส.อ.ท.พร้อมทำงานร่วมกับรัฐบาลอยู่แล้ว และจะไม่ตั้งกรอบเวลาในการทำงานรัฐบาล" นายสุพันธุ์กล่าว

 

@ หอการค้าแนะปลดล็อกกม.

      นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า เมื่อรับฟังแผนงานและนโยบายของภาครัฐแล้วเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดี มองว่ารัฐมีทิศทางดำเนินนโยบายที่ชัดเจน เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตแบบยั่งยืน แต่เรื่องความเชื่อมั่นเอกชนอาจยังไม่เกิดขึ้นเร็ว ต้องรอผลการดำเนินนโยบายของรัฐ อาจต้องใช้ระยะเวลา 3-6 เดือน ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องการให้รัฐดำเนินการคือ แก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจที่ยังมีความล้าหลังอยู่มาก ซึ่งการแก้ไขกฎหมายควรรับฟังความคิดเห็นจากเอกชนผู้มีส่วนได้เสีย ก่อนเข้าสู่กระบวนการพิจารณาเห็นชอบ 

นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เชื่อว่าทีมเศรษฐกิจรัฐบาลชุดใหม่จะช่วยเดินหน้าเศรษฐกิจได้ ภาคเอกชนมีความพร้อมร่วมมือกับรัฐเต็มที่ แต่รัฐบาลต้องช่วยปลดล็อกกฎระเบียบต่างๆ โดยเฉพาะกฎหมายการนำเข้าและส่งออก การขอใบอนุญาตต่างๆ ในการดำเนินธุรกิจ เพื่อลดอุปสรรคที่เป็นปัญหาในการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน 

 

@ "สมคิด"ขอความร่วมมือมท.

       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 15.00 น. ที่กระทรวงมหาดไทย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ เดินทางมาเข้าพบ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย โดยได้ใช้เวลาหารือ 30 นาที ทั้งนี้ พล.อ.อนุพงษ์ให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า นายสมคิดมาขอความร่วมมือทางกระทรวง โดยต้องการประชุมร่วมกับทางผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ให้เป็นแกนหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับล่างให้ดีขึ้น ส่วนโครงการรวมทั้งงบประมาณต้องรอเสนอเข้า ครม.พิจารณาอีกครั้งในสัปดาห์หน้า โดยนายสมคิดต้องการบริหารจัดการโครงการต่างๆ เช่น โอท็อป กองทุนหมู่บ้าน เป็นต้น ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ เพิ่มกำลังซื้อของประชาชนในแต่ละพื้นที่

 

@ ชี้ปล่อยมุข'ม.44'รากหญ้า

      พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีสื่อบางสำนัก บางฉบับ นำถ้อยคำที่การปาฐกถาพิเศษของนายกฯ โดยระบุว่า นายกฯจะใช้มาตรา 44 บังคับให้ใช้คำว่าผู้มีรายได้น้อย แทนคำว่ารากหญ้า ว่าเรื่องนี้เป็นการนำเสนอข่าวที่ไม่ตรงกับเจตนาของผู้สื่อสาร และไม่ตรงกับสาระความเป็นจริง รวมทั้งขาดการพิจารณาบริบทอย่างรอบคอบ การเชิญชวนหรือเรียกร้องให้ใช้คำว่าผู้มีรายได้น้อยแทน คงไม่ถึงกับต้องใช้มาตรา 44 คนโดยปกติที่ได้ฟังนายกฯทราบว่าเป็นเจตนาเพื่อให้ผู้ฟังสนุกคลายเครียด เป็นมุข อยากให้สื่อนำเสนอโดยพิจารณาบริบทอย่างถี่ถ้วน ไม่ควรสื่อความหรือตีความผิดพลาด ปราศจากอารมณ์ขัน เพราะจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดได้ และอาจทำให้สื่อสูญเสียความน่าเชื่อถือในการนำเสนอข่าว

@ 'สุวพันธุ์'เร่งฟื้นกองทุนหมู่บ้าน 

       นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลเตรียมมาตรการอัดฉีดงบเข้ากองทุนหมู่บ้าน เพื่อปล่อยกู้ให้กับผู้มีรายได้น้อย ว่านายกฯสั่งการให้จัดทำแผนฟื้นฟู มีเป้าหมายเพื่อทำให้กองทุนที่ด้อยประสิทธิภาพได้รับการฟื้นฟู ขณะนี้มีประมาณ 800 กองทุน จากทั้งหมด 79,000 กองทุน ในหลายพื้นที่ไม่ผ่านการประเมิน แต่รัฐบาลจะไม่ทิ้ง ต้องมีแผนฟื้นฟูเข้ามาช่วย โดยแบ่งเป็นหลายกลุ่มที่ต้องฟื้นฟู 18,000 หมู่บ้าน ที่ยังไม่ได้รับการเพิ่มทุนระยะที่สาม 

"ผมได้พูดคุยกับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี โดยระบุว่ากองทุนหมู่บ้านเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้เกิดการขับเคลื่อนของเงินและมีผลโดยตรงต่อคนที่มีรายได้ อยากให้กองทุนหมู่บ้านเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหา โดยสมาชิกกองทุนสามารถมีเงินไปต่อยอดการประกอบอาชีพ ขณะที่บางส่วนหากนำเงินไปใช้หนี้นอกระบบ เช่น กรณีที่มีหนี้ 1 แสนบาท เมื่อมาหารือกับกองทุน ให้เงินไปชำระโดยมาผ่อนกับกองทุนในอัตราที่ยอมรับได้ โดยเดือนพฤศจิกายนนี้จะเห็นภาพความคืบหน้า" นายสุวพันธุ์กล่าว 

 

@ 'อภิศักดิ์'เร่งสรุปมาตรการ

      แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กำลังเร่งสรุปมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะเร่งด่วน 3 เดือน เพื่อนำไปหารือกับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 28 สิงหาคมนี้ ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 1 กันยายนนี้ ส่วนตัวเลขยังไม่นิ่ง ระหว่าง 80,000-100,000 ล้านบาท ที่ยังไม่นิ่งคือการปล่อยกู้ให้ชาวบ้านผ่านกลไกของกองทุนหมู่บ้านมี 2 แนวคิด ระหว่างจะให้หมู่บ้านระดับเอและบี 59,000 หมู่บ้าน หมู่บ้านละ 1 ล้านบาท รวม 59,000 ล้านบาท หรือจะให้แค่ 40,000 ล้านบาท ตามเกณฑ์เดิมที่ธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กำลังปล่อยกู้ดอกเบี้ยไม่เกิน 5% วงเงินรวม 40,000 ล้านบาท ขณะนี้รอการสรุปจากธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส.ในเรื่องเงื่อนไขการปล่อยกู้ให้กองทุนหมู่บ้าน รวมถึงอัตราดอกเบี้ยในปีที่ 1-2 ที่รัฐจะจ่ายให้แทนกองทุนหมู่บ้านจะคิดเท่าใด และในปีที่ 3-5 ที่กองทุนหมู่บ้านต้องจ่ายเองนั้น 2 ธนาคารคิดเท่าใด ซึ่งมีการเสนอตัวเลขระดับ 4-5% ใกล้เคียงกับที่ปล่อยให้ก่อนหน้านี้

 

@ ชงคิดดอกเบี้ยแบบขั้นบันได

      แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องการนำไปปล่อยกู้ต่อให้ชาวบ้านนั้น มีเงื่อนไขคือ ต้องเป็นการกู้เพื่อไปประกอบอาชีพหรือเพื่อเป็นการสร้างรายได้เท่านั้น เพื่อลดความเสี่ยงในเรื่องหนี้เสีย โดยสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง (กทบ.) กำลังรอข้อสรุปจากกระทรวงการคลังเพื่อสรุปดอกเบี้ยที่จะคิดกับชาวบ้าน เบื้องต้นกระทรวงการคลังอยากให้คิดดอกเบี้ยกับชาวบ้าน 0% เป็นเวลา 6-12 เดือน แต่กองทุนหมู่บ้านเห็นว่า การดำเนินงานปล่อยกู้ให้ชาวบ้านนั้นต้องมีค่าใช้จ่ายและการกู้เงินจากออมสิน ธ.ก.ส.มาปล่อยต่อ ถือเป็นความเสี่ยงของกองทุนต้องแบกรับไว้เช่นกัน ดังนั้นมีแนวคิดที่จะคิดดอกเบี้ยเป็นขั้นบันได 1% ในช่วงแรก 2% ในช่วงต่อมา และ 3-5% ในช่วงสุดท้าย

       "เรื่องที่นิ่งแล้วคือการเร่งรัดเบิกจ่ายโครงการลงทุนขนาดเล็ก วงเงินลงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท ในปีงบ 2559 ที่มีวงเงิน 10,000 ล้านบาท ให้เบิกจ่ายภายใน 3 เดือน คือ ช่วงตุลาคม-ธันวาคมนี้ และอีกส่วนคือโครงการของกระทรวงมหาดไทย วงเงินรวม 30,000 ล้านบาท ที่เสนอขอเข้ามา ซึ่งสำนักงบประมาณระบุว่าพร้อมจัดหางบส่วนหนี้ให้" แหล่งข่าวกล่าว 

 

@ เชียงใหม่แนะกู้เกิน 7.5 หมื่น

       นายวิทูร มูลภิชัย ประธานเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า เห็นด้วยกับรัฐบาลที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจโดยอัดฉีดงบประมาณเข้ากองทุนหมู่บ้าน เพื่อปล่อยกู้โดยไม่มีดอกเบี้ย โดย จ.เชียงใหม่ มีกองทุนหมู่บ้าน 2,122 แห่ง มีเงินหมุนเวียนกว่า 4,000 ล้านบาท และเงินออมอีก 1,000 ล้านบาท เป็น 5,000 ล้านบาท ส่วนเม็ดเงินใหม่ที่ปล่อยกู้เพื่อเติมเต็มส่วนที่ขาด ทั้งการลงทุนด้านเกษตรกรรม หัตถกรรม โอท็อป ค้าขาย และท่องเที่ยว

"อยากให้นโยบายและเงื่อนไขการกู้ชัดเจน ควรแบ่งชุมชนเป็น 3 ระดับ คือ ขนาดใหญ่ กลาง และเล็ก ตามจำนวนประชากรและหลังคาเรือน เพื่อให้เงินกู้ตามข้อเท็จจริง ไม่ใช่แบ่งเงินเท่ากันหมด เพื่อให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนและเป็นธรรมทุกฝ่าย และควรกำหนดรอบชำระหนี้เป็นรายเดือน ไม่ใช่รายปี เพื่อให้กองทุนมีเงินหมุนเวียนตลอดปี" นายวิทูรกล่าว และว่า อุปสรรคกองทุนหมู่บ้านคือ ระเบียบกฎหมายที่กำหนดให้กู้วงเงินไม่เกิน 75,000 บาท/ราย แต่บางชุมชนที่มีศักยภาพ ต้องการทุนหมุนเวียนรายละ 100,000-200,000 บาท เพื่อผลิตสินค้าออกสู่ตลาดและส่งออก จำเป็นต้องใช้วงเงินสูง อยากให้แก้ระเบียบดังกล่าว

@ โคราชหวั่นสร้างหนี้สะสม

       นายโขงเขต พรมเมตตา อายุ 50 ปี ประธานกองทุนหมู่บ้านหนองกก หมู่ 2 ต.หนองบัวน้อย อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา กล่าวว่า ต้องทำความเข้าใจว่าสมาชิกเครือข่ายกองทุน 32 อำเภอของ จ.นครราชสีมา กว่าร้อยละ 80 ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ส่วนใหญ่ประสบปัญหาภัยแล้ง ทำให้ต้องกู้เงินสถาบันการเงินและนอกระบบมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน แนวทางที่จะแก้ปัญหาได้ถูกต้องและก่อให้เกิดรายได้คือแก้ปัญหาภัยแล้งให้เป็นระบบ การจะกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้ชาวรากหญ้ามีเงินจับจ่ายซื้อสินค้ามากขึ้นนั้น จึงมิใช่การแก้ปัญหาได้ถูกจุด แต่เป็นการเพิ่มหนี้สะสมเพิ่มขึ้นอีก และอาจมีสมาชิกส่วนหนึ่งนำไปตัดดอกเบี้ยหนี้นอกระบบ หรือใช้จ่ายที่ไม่ตรงตามเป้าหมาย 

      นายปาริก ปานช่วย ประธานคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านสำนักขัน ต.สามตำบล อ.จุฬาภรณ์ จ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับรากหญ้า เพราะที่ผ่านมาเงินกองทุนหมู่บ้านที่อัดฉีดมา 3 ระยะ ไปตรวจสอบได้เลยว่าบางกองทุนฯจะไม่มีเงินเหลือ หมดตั้งแต่วันแรกที่จ่ายเงิน ทั้งนี้ มองว่าการอัดฉีดกองทุนหมู่บ้านเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเป็นการยัดเยียดให้ประชาชนต้องใช้เงินแบบไม่รู้จักวิธีการที่ถูกต้อง 

 

@ ชัยนาทชี้เหมือนโยนปลาให้

        นายธวัชชัย เอี่ยมจิตร แกนนำชาวนา จ.ชัยนาท กล่าวว่า โดยส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบนี้ เพราะเปรียบเสมือนโยนปลาให้ชาวบ้าน ไม่ใช้เครื่องมือหาปลา เพราะจากโครงสร้างเดิมของกองทุนหมู่บ้านนั้นมีตัวอย่างให้เห็นว่า ประชาชนผู้ด้อยโอกาสมักจะเข้าไม่ถึงเงินตามโครงการ ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของรัฐบาล เพราะมีปัญหาในขั้นตอนของการพิจารณาคุณสมบัติผู้กู้เงินจากกองทุนฯ ที่มักจะไปตกอยู่กับพรรคพวกและญาติของผู้นำท้องถิ่น ทำให้การอัดฉีดเงินเพิ่มลงไปในกองทุนหมู่บ้านไม่น่าจะช่วยแก้ปัญหาของคนรากหญ้าได้ 

"หากเป็นไปได้อยากให้นำเงิน 50,000 ล้านบาท ไปทำการพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจภาคเกษตร เพื่อสร้างความเข้มแข็งของการประกอบอาชีพของประชาชน จะเกิดประโยชน์ที่ยั่งยืนมากกว่า เช่น นำไปสร้างตลาดรองรับพืชผลการเกษตร เพื่อให้เกิดช่องทางในการจำหน่ายผลิตผล" นายธวัชชัยกล่าว

 

@ ชงยกเว้นภาษีให้นิติบุคคล

       นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า เตรียมเสนอมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมต่อที่ประชุม ครม. เพื่อเปิดโอกาสให้บริษัทขนาดใหญ่ สหกรณ์ หรือวิสาหกิจชุมชนที่มีโครงการลงทุนเพื่อสังคม สามารถนำเงินลงทุนดังกล่าวมาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้ไม่เกิน 2% ของกำไรสุทธิของบริษัท นอกจากนี้ รายได้ที่เกิดจากโครงการลงทุนในกิจการวิสาหกิจเพื่อสังคมจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ปัจจุบันเก็บในอัตรา 20% ทั้งนี้ การจัดตั้งกิจการเพื่อสังคมจะต้องจดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ และยื่นขอเป็นกิจการเพื่อสังคมต่อกรมสรรพากรเพื่อให้ได้สิทธิยกเว้นภาษี 

นายประสงค์กล่าวว่า ยกตัวอย่างว่า หากมีหมู่บ้านหนึ่งที่มีกิจการเลี้ยงไก่ไข่เป็นจำนวนมาก แต่ต้องเผชิญกับความผันผวนของราคาไข่ไก่ หากมีบริษัทหรือองค์กรใดนำเงินมาลงทุนในหมู่บ้านโดยสร้างโกดังเก็บรักษาคุณภาพไข่ไก่ เพื่อให้สามารถทยอยระบายไข่ไก่ออกสู่ตลาด ไม่ทำให้ไข่ไก่ล้นตลาด อันจะเป็นการกดดันราคาไข่ไก่ให้ต่ำลง กรณีการลงทุนดังกล่าวถือว่าเข้าข่ายเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกรมสรรพากร

 

@ พณ.จัดขายสินค้าถูก 6 เดือน 

       น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ 11 ราย จัดทำโครงการ "จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคราคาประหยัดเพื่อลดภาระค่าครองชีพเกษตรกร และประชาชน" ตามนโยบายนายกรัฐมนตรี โดยนำสินค้าอุปโภคบริโภค 23 กลุ่ม 108 รายการ มาจำหน่ายผ่านร้านค้าของสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส.ในราคาต่ำกว่าปกติ 10-50% ระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่วันนี้ถึงสิ้นเดือนมกราคม 2558 เริ่มจาก 257 ร้านค้า ใน 35 จังหวัด คาดว่าจะช่วยลดภาระของประชาชนได้เดือนละ 500 ล้านบาท หรือ 6 เดือน คิดเป็นมูลค่า 3,000 ล้านบาท ซึ่งเป้าหมายเน้นช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย 1,708,000 ครัวเรือน หรือประมาณ 6.83 ล้านคน

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!