WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

Gสมคดเอกชนชง 'สมคิด' 3 เรื่องด่วน แก้ไขปมร้อนภาคธุรกิจส่งออก-เกษตร-เอสเอ็มอี

    บ้านเมือง : ส.อ.ท.ชง 3 เรื่องเร่งด่วนแก้เศรษฐกิจในเวทีปาฐกถา 27 ส.ค.นี้ ให้ 'สมคิด'หวัง ครม.ใหม่ช่วยขับเคลื่อนทั้งการดูแลสินค้าเกษตร เอสเอ็มอี และการส่งออก ชี้ดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตฯ ก.ค.58 อยู่ที่ 83.0 วูบต่อเดือนที่ 7 ตลท.มั่นใจพื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังแกร่ง แม้ตลาดหุ้นปรับตัวลดลงมาก และเป็นโอกาสดีทยอยลงทุน พร้อมหนุนการทำงานรัฐบาล

   นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการ ตลาด หลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยถึงการที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงเป็นอย่างมากเมื่อวันที่ 24 ส.ค. ถึง 64 จุด ว่า ในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมานักลงทุนต่างประเทศมีการทบทวนการลงทุนในตลาดหุ้น และแม้ว่านักลงทุนจะลงทุนในตลาดหุ้นอาเซียน แต่ส่วนใหญ่จะเข้าลงทุนในตลาดหุ้นที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่าประเทศไทย เช่น อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ทำให้ปัจจัยหลักของดัชนีตลาดหุ้นไทยมาจากปัจจัยภายในประเทศเป็นหลัก ขณะที่พื้นฐานเศรษฐกิจของไทยยังคงแข็งแกร่ง รวมทั้งผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังคงขยายตัว 6.4% ซึ่งดีกว่าบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มอาเซียนที่มีอัตราการขยายตัว 4.5%

    อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตั้งแต่ต้นปี 58 นักลงทุนต่างประเทศขายหุ้นไทยแล้ว 70,000-80,000 ล้านบาท แต่ยังคงมีนักลงทุนต่างประเทศที่ยังคงถือหุ้นไทยถึง 32% หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของกลุ่มผู้ลงทุนในปัจจุบัน ดังนั้น ในภาวะที่ดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวลดลง จึงเป็นโอกาสของนักลงทุน เช่น กลุ่มพนักงานประจำที่จะลงทุนในกองทุนอาร์เอ็มเอฟ และแอลทีเอฟระยะยาว ส่วนผู้ที่ลงทุนในหุ้นอยู่แล้ว ก็ควรที่จะประเมินจากสถานการณ์และเป็นโอกาสที่จะลงทุนยาวได้ เพราะยังมีบริษัทจดทะเบียนที่ยังมีการจ่ายเงินปันผลมากกว่า 5%

   ส่วนการที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจและคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจชุดใหม่เข้าทำหน้าที่นั้น ทาง ตลท.พร้อมให้การสนับสนุนและทำงานร่วมกับรัฐบาล และเห็นว่าขนาดนี้ยังไม่จำเป็นต้องออกกองทุน หรือมาตรการพยุงหุ้น รวมทั้งลักษณะกองทุนวายุภักษ์ ซึ่งนายสมคิด เคยออกในสมัยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพราะปัจจุบันนักลงทุนในตลาดหุ้นไทยมีหลายกลุ่มและนักลงทุนมีความรู้ความเข้าใจมากขึ้นกว่าอดีต รวมทั้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ควรที่จะมีความเข้มแข็งด้วยตัวเอง

    นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมเดือน ก.ค.58 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ อยู่ที่ระดับ 83.0 ปรับตัวลดลงจากระดับ 84.0 ในเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นค่าดัชนีฯ ที่ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกันและยังเป็นการลดลงต่ำสุดในรอบ 74 เดือนหรือ6ปี2เดือนนับตั้งแต่เดือน มิ.ย.52 สำหรับปัจจัยสำคัญที่ฉุดความเชื่อมั่นลดลงมาจากการชะลอตัวการเติบโตทางเศรษฐกิจ การบริโภคภายในประเทศรวมถึงการหดตัวของการส่งออกในช่วงที่ผ่านมา

   โดยวันที่ 27 ส.ค.นี้คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วยส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสมาคมธนาคารไทยจะจัดปาฐกถาพิเศษเรื่อง "นโยบายเศรษฐกิจและทิศทางประเทศไทย" โดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี รวมถึงได้เชิญ นายสุวิทย์ เมษิณทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์มาร่วมตอบข้อซักถามด้วยดังนั้นคงจะมีโอกาสเรียนนำเสนอภาพรวมเรื่องภาวะเศรษฐกิจของ กกร. และในส่วนของ ส.อ.ท.คงจะเสนอประเด็นให้ ครม.ใหม่ขับเคลื่อนที่สำคัญ 3 เรื่องได้แก่ 1.ราคาสินค้าเกษตร 2.เอสเอ็มอีและ 3.การส่งออก ซึ่งทั้งหมดเคยเสนอต่อครม.เดิมไปแล้ว

    ทั้งนี้ ราคาสินค้าเกษตรนั้นที่ผ่านมาตกต่ำมีผลกระทบต่อการบริโภครัฐเองก็คงต้องพิจารณาว่าจะมีมาตรการใดๆ ที่จะมาพยุงราคาโดยความเหมาะสมและให้ถึงเกษตรกรโดยมองถึงการเพิ่มศักยภาพในระยะยาวด้วย ส่วนเอสเอ็มอีนั้นเป็นเรื่องของโครงสร้างภาษีที่มองแบบครบวงจรโดยเสนอให้ลดอัตราการจัดเก็บภาษีเงินได้แก่เอสเอ็มอีที่มีรายได้ไม่เกิน 200 ล้านบาทแบ่งเป็นกรณีรายได้ไม่เกิน 50 ล้านบาทเสีย 5% รายได้ไม่เกิน 100 ล้านบาทเสีย 10% และรายได้ไม่เกิน 200 ล้านบาทเสีย 15% เป็นต้น

   ส่วนส่งออกต้องการให้มีการฟื้นคณะกรรมการพัฒนาการส่งออกหรือไทยแลนด์ทีมที่มีอยู่เดิมมาทำให้เกิดรูปธรรมเพราะมีองค์ประกอบจากทุกภาคส่วนซึ่งเห็นว่ากระทรวงพาณิชย์จะดำเนินการเองลำพังคงไม่ได้ โดยจะต้องหาตลาดใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มเช่นการทำ FTA กับตุรกีเพื่อเปิดประตูการค้าสู่สหภาพยุโรป เป็นต้น

    นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบีไทย เปิดเผยว่า ทิศทางค่าเงินบาทยังอ่อนค่าโดยมีโอกาสจะแตะ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในปลายปีนี้ และอาจจะถึง 38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในปลายปี 2559 หาก ธปท.ใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนเป็นตัวนำในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจแทนนโยบายอัตราดอกเบี้ยที่คาดว่าดอกเบี้ยปีนี้น่าจะคงไว้ที่ 1.50% ตลอดทั้งปี ก่อนจะปรับขึ้นเป็น 1.75% ในปลายปีหน้า โดย ธปท.จะใช้นโยบายทำให้เงินบาทอ่อนค่าเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการส่งออกที่หดตัวต่อเนื่อง 3 ปี โดยปีนี้การส่งออกคาดว่าจะโตติดลบ 4% ซึ่งหากสงครามค่าเงินปะทุขึ้นมาแรงอีกครั้งหลังจากจีนลดค่าเงินหยวน เวียดนามลดค่าเงินดอง และอาจจะมีประเทศกำลังพัฒนาจะลดค่าเงินลง เงินบาทอาจจะทะลุระดับ 40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐได้ในปลายปี 2559

กกร.บี้'สมคิด'แก้เศรษฐกิจเร่งอุ้มสินค้าเกษตรหลังดัชนีอุตฯต่ำสุดรอบ 74 เดือน

      ไทยโพสต์ : ศูนย์ฯ สิริกิติ์ * ส.อ.ท.บี้สมคิดเร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ จ่อชง 3 ประ เด็นหลักในเวทีปาฐกถาพิเศษ กกร. 27 ส.ค.นี้ เร่งหามาตรการอุดหนุนราคาสินค้าเกษตรระยะสั้น ปรับโครงสร้างภาษี เอสเอ็มอี และการผลักดันการส่งออก เพื่อฟื้นเศรษฐกิจไทยก่อนย่ำแย่ พร้อมแจงดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ ร่วงต่ำสุดรอบ 6 ปี 2 เดือน พร้อมเล็งหั่นเป้าขายรถในประเทศเหลือ 7.5 แสนคัน

   นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประ ธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประ เทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการร่วมเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) วันที่ 27 ส.ค.นี้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ จะปาฐกถาพิเศษ เรื่องนโยบายเศรษฐกิจและทิศทางประเทศไทย ซึ่งทาง ส.อ.ท. จะเสนอให้เร่งรัดแก้ปัญหา 3 ข้อ ประกอบด้วยขอให้เร่งแก้ปัญหา ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ เพราะส่ง ผลกระทบต่อการบริโภคลดลง ดังนั้นในระยะสั้นภาครัฐต้องมีมาตรการเข้ามาพยุง หรืออุดหนุนราคา

    นอกจากนี้ ต้องเร่งแก้ปัญหาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอย่างเจาะลึก โดยเฉพาะในเรื่อง โครงสร้างภาษี และเร่งแก้ปัญหา ภาคส่งออกที่ได้รับผลกระทบ จากปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอตัว เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อภาคประชาชน และเศรษฐกิจในประเทศ

    สำหรับ เรื่องของโครง สร้างภาษีของเอสเอ็มอี ต้องมองแบบครบวงจร โดยเสนอให้ลดอัตราการจัดเก็บภาษีเงินได้แก่เอสเอ็มอีที่มีรายได้ไม่เกิน 200 ล้านบาท แบ่งเป็นกรณีรายได้ไม่เกิน 50 ล้านบาทเสีย 5% รายได้ไม่เกิน 100 ล้านบาทเสีย 10% และรายได้ไม่เกิน 200 ล้านบาทเสีย 15% โดยจะต้องมีการสนับสนุนให้ลงทะเบียนมีการจัดอบรมการทำบัญชี ซึ่งต้องยอมรับว่าปัจจุบันเอสเอ็มอีไทยกว่า 80% ที่เลี่ยงภาษี ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ ดังนั้นจึงหารือกับสภาวิชาชีพบัญชีที่จะช่วยตรวจสอบบัญชีให้ถูกต้องเพื่อให้ เกิดความเชื่อมั่นที่สุดสถาบันการเงินก็จะปล่อยกู้"นายสุพันธุ์กล่าว

   ส่วนการแก้ไขปัญหาการส่งออกนั้น ไทยควรเร่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาการส่งออก หรือทีมไทยแลนด์โดยเร็ว เนื่องจากปัญหาการส่งออกขณะนี้ไม่สามารถพึ่งกระทรวงพาณิชย์เพียงหน่วยงานเดียว รวมทั้งควรขยายการลงนามเอฟทีเอกับประเทศอื่นๆ เช่น ปากีสถาน อินเดีย ตุรกี หลังจากไทยไม่สามารถลง นามเอฟทีเอกับกลุ่มยุโรปได้ โดย เฉพาะประเทศตุรกีเพื่อเป็นประตูการค้าส่งสินค้าไปยังกลุ่มยุโรป ระหว่างที่ยังไม่สามารถลงนาม ได้ และการแก้ปัญหาการค้าชายแดนกับกลุ่มประเทศเวียดนาม กัมพูชา เมียนมาลาว (ซีแอลเอ็มวี)  เนื่องจากขณะนี้สินค้ายังติดค้างด่านหลายวัน ทำให้เสียโอกาสในการส่งออก หากแก้ปัญหาดังกล่าวได้จะช่วยส่งออกสินค้าชายแดนได้มากขึ้น

   นายสุพันธุ์ กล่าวว่า ด้านดัชนีความเชื่อมั่นในเดือน ก.ค.58 ที่ผ่านมานั้น อยู่ที่ระดับ 83.0 ปรับตัวลดลงจากเดือน มิ.ย.ที่อยู่ ที่ระดับ 84.0 ซึ่งถือว่าลดลงต่อ เนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7 และ ต่ำสุดในรอบ 6 ปี 2 เดือน โดยปัจจัยหลักมาจากการชะลอตัว การเติบโตทางเศรษฐกิจ การบริโภคภายในประเทศ รวมถึงการหดตัวของการส่งออกในช่วงที่ผ่านมา

    นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท. กล่าวว่า ในเดือน ก.ย.58 จะปรับเป้าผลิตรถยนต์เพื่อขายในประเทศลดลงจากเดิมที่วางไว้ 850,000 คัน เหลือ 750,000-800,000 คัน เนื่องจากกำลังซื้อผู้บริโภคยังตกต่ำ และหนี้ครัวเรือน สูงขึ้น ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศ 7 เดือนแรกปี 58 (ม.ค.-ก.ค.58) อยู่ที่ 429,972 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 15.8%.

สมคิด ใช้เวที กกร.โชว์วิสัยทัศน์ ฟื้นโอท็อป-สร้างนักรบเศรษฐกิจ-ดึงต่างชาติตั้งคลัสเตอร์

    'สมคิด'ปาฐกถาเรียกความเชื่อมั่นภาคเศรษฐกิจ เตรียมทยอยออกมาตรการต่อเนื่องหลังเดินงานด่วนอุ้มผู้มีรายได้น้อย-เกษตรกร-SMEs ฟื้น'โอท็อป'กระตุ้นเศรษฐกิจระดับท้องถิ่น เร่งโครงสร้างพื้นฐานระบบรางหวังกระจายความเจริญทุกหย่อมหญ้า ระดมมาตรการจูงใจดึงต่างชาติขนาดใหญ๋เข้าลงทุนผลักดันตั้งคลัสเตอร์ขนาดใหญ่หลากหลายอุตสาหกรรม ร่วมมือสถาบันการศึกษาสร้าง'นักรบเศรษฐกิจ'ออกลุยตลาดโลก พร้อมระดมสมองฝ่ายเศรษฐกิจวางแนวทางการปฏิรูปการเงินการคลัง

     นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง "นโยบายเศรษฐกิจและทิศทางประเทศไทย" ว่า ขออย่าให้ตื่นตระหนกหรือกังวลกับภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้มากจนเกินไป เพราะเศรษฐกิจไทยยังแค่ส่อแววการอ่อนแอ แต่ยังไม่มีวิกฤติการณ์เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามก็ไม่ควรประมาทเช่นกัน โดยรัฐบาลกำลังเตรียมทยอยใช้มาตรการต่างๆ ออกมาตั้งแต่สัปดาห์หน้าเป็นต้นไป เพื่อช่วยกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้น และวางแนวทางเพื่อการเติบโตในระยะยาว ซึ่งรัฐบาลพร้อมจะทำงานร่วมกับภาคเอกชน

   "ประเทศยังไม่ใช่วิกฤต เป็นแค่ขาดความเชื่อมั่นและเศรษฐกิจชะลอตัว แต่หากปล่อยไว้จะกลายเป็นปัญหาเรื้อรังต่อการขยายตัวได้ในอนาคต"นายสมคิด กล่าว

    นายสมคิด มองว่า ปัญหาที่แท้จริงของเศรษฐกิจไทยคือความสามารถในการแข่งขันของประเทศอยู่ในภาวะถดถอยลงมาตั้งแต่ก่อนหน้านี้ เนื่องจากขาดการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานมาเป็นเวลานาน และการพึ่งพาเศรษฐกิจภายนอกประเทศ โดยเฉพาะการส่งออกถึง 60% ต่อจีดีพี ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้นจึงต้องหันมาเน้นการพึ่งพาการบริโภคในประเทศตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพราะเมื่อเกิดปัญหากับการส่งออกก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศทันที จึงต้องทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างสมดุลทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ

     "ลักษณะนี้อย่างในประเทศอังกฤษถึงแม้จะขาดดุลเรื่องการส่งออกตลอด แต่พอดูในภาพรวมอังกฤษจะเกินดุลจากการเติบโตภายในประเทศ ได้แก่ การท่องเที่ยว การบริการ จะได้ดุลเหล่านี้มาชดเชย" นายสมคิด กล่าว

   ทั้งนี้ สิ่งที่รัฐบาลกำลังจะดำเนินการอย่างเร่งด่วนใน 2 จุดใหญ่ คือ การช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย เกษตรกร และ SMEs ซึ่งหลังจากเสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดแรกเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.)ในสัปดาห์หน้าแล้ว และอีก 2 สัปดาห์หลังจากนั้นจะเสนอมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนของ SMEs ให้ ครม.พิจารณา นอกจากนั้นจะมีการฟื้นโครงการโอท็อปเป็นการผลักดันให้ระดับหมู่บ้านและตำบลสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจใหม่ๆ เพื่อเป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่น ส่วนการเบิกจ่ายกระทรวงการคลังจะเข้าไปดูแลกระบวนการที่ทำให้เม็ดเงินกระจายลงสู้ระดับล่างโดยตรงทันที

    "แนวทางการพัฒนาประเทศ ผู้ว่าราชการจังหวัดจะต้องเป็นกลไกสำคัญในอนาคตที่แต่ละจังหวัดจะต้องมีแนวทางของตนเองว่าในท้องที่ของตัวเองมีอะไรดีโดยไม่รอส่วนกลาง โดยเตรียมฟื้น"โอท็อป"กระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นดันหมู่บ้าน-ตำบลเป็นแกน" นายสมคิด กล่าว

     ขณะที่ภาครัฐจะเร่งรัดโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง โดยเฉพาะเส้นทางรถไฟต่างๆ เพื่อเชื่อมโยงแต่ละภูมิภาค ซึ่งจะเป็นการช่วยกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจไปในทุกพื้นที่ของเส้นทาง โดยจะมองเพียงเรื่องของผลตอบแทนของโครงการไม่ได้ แต่ต้องมองไปถึงผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่จะเกิดมูลค่าเพิ่มตามมาในอนาคต โดยจะเน้นการลงทุนแบบ PPP ที่ไม่เกินฐานะทางการคลัง ซึ่งนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง มีความถนัดในเรื่องนี้เพราะมาจากบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(IFCT)

   "เป็นช่วงเวลาที่ดีในการวางรากฐานของประเทศ ผมจะไม่รอข้อเสนอของ สปช.แต่จะเร่งดำเนินการไปก่อนเลย รัฐบาลต้องเป็นตัวนำปฏิรูป รัฐมนตรีต้องเป็นตัวผลักดัน" นายสมคิด กล่าว

    นอกจากนั้น งานสำคัญอีกประการหนึ่งที่ต้องเร่งดำเนินการคือ การส่งเสริมการลงทุน ซึ่งได้มอบหมายให้ รมว.อุตสาหกรรม พิจารณาแนวทางและมาตรการต่างๆ ทุกด้านที่จะสามารถจูงใจให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอย่างเวียดนามได้ทุ่มทุกอย่างเพื่อดึงค่ายซัมซุงเข้าไปตั้งฐานการผลิตใหม่ ดังนั้นประเทศไทยก็จะช้าไม่ได้ เพราะเราได้เปรียบเรื่องภูมิศาสตร์ และในอนาคตอาจจะมีการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษเฉพาะสินค้าแต่ละรายการ เช่น สินค้าฮาลาล ไอที ยางพารา นอกเหนือจากการพัฒนาในรูปแบบของคลัสเตอร์ใหญ่ ร่วมมือสถาบันการศึกษาพัฒนาและยกระดับเทคโนโลยีด้านต่างๆ เพื่อสร้างนักรบเศรษฐกิจไปต่อสู่ในตลาดโลก

     "ถึงเวลาแล้วที่จะต้องทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างแท้จริงจากภายใประเทศ วันนี้เศรษฐกิจภายนอกไม่ค่อยดีจึงเป็นโอกาสที่จะกลับมาส่งเสริมเศรษฐกิจในประเทศ" นายสมคิด กล่าว

   สำหรับ การส่งออกต้องเพิ่มมูลค่าสินค้าและสร้างแบรนด์เพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ โดยรวมตัวกันเป็นคลัสเตอร์ ซึ่งจะช่วยให้มีการพัฒนาที่รวดเร็ว เกิดนวัตกรรมใหม่ ซึ่งเรื่องนี้ประเทศสิงคโปร์ประสบความสำเร็จมาแล้วในเรื่องไอทีที่เปิดให้สถาบันการศึกษาจะต่องประเทศเข้าไปทำวิจัยแล้วนำผลที่ได้มาต่อยอด

    "ต้องเร่งเรื่องคลัสเตอร์ ไม่ใช่เอาสินค้าทุกตัวไปแข่ง แต่จะต้องมีบางตัวที่เอาไปแข่งและสู้เขาได้" นายสมคิด กล่าว

    รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้กำลังปรับปรุงเรื่องสิทธิประโยชน์เพื่อจูงใจนักลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในอีก 1 เดือน แล้วเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พิจารณาก่อนที่จะนำออกไปโรดโชว์ในต่างประเทศ

   นายสมคิด ยังเปิดเผยว่า รัฐบาลจะผลักดันการเพิ่มประสิทธิภาพหน่วยงานภาครัฐ เช่น รัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องด้านเศรษฐกิจเพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนให้สอดรับกับแนวทางต่างๆ โดยขณะนี้ทีมเศรษฐกิจ พร้อมด้วยที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)คนปัจจุบัน และว่าที่ผู้ว่าการ ธปท.คนใหม่ รวมทั้งอีกหลายคนที่เกี่ยวข้องได้หารือเรื่องการปฏิรูปการเงินการคลังร่วมกัน ทั้งตลาดเงินและตลาดทุน

    "ผมไม่ได้มุ่งหวังว่า ออกมาตรการเศรษฐกิจแล้วกระตุ้น GDP ให้โตได้เท่าไหร่เพราะมันเป็นปลายเหตุ เป็นเรื่องเฉพาะหน้า GDP เป็นเรื่องที่ตามมาในภายหลัง....จุดนี้เป็นจุดที่สำคัญของประเทศ ถ้าทำได้ดีประเทศก็จะพัฒนาไปได้" นายสมคิด กล่าว

     อินโฟเควสท์

'สมคิด' วอนอย่าตระหนก ชี้ ศก.แค่ส่อแววอ่อนแอ จ่อกระตุ้นบริโภค ฟื้นโอทอป

     "สมคิด" ปาฐกถา เรียกเชื่อมั่น ศก. วอนอย่าตื่นตระหนก ยัน แค่ส่อแววอ่อนแอแต่ไม่วิกฤติ ทยอยออกมาตรการกระตุ้น เข้า ครม.สัปดาห์หน้า จ่อฟื้นโอทอป ระดมสร้างจูงใจดึงต่างชาติลงทุน จับมือสถาบันศึกษาปั้นนักรบ ศก. ลุยตลาดโลก ...

       เมื่อวันที่ 27 ส.ค. นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “นโยบายเศรษฐกิจและทิศทางประเทศไทย” โดยระบุว่า อย่าตื่นตระหนกหรือกังวลกับภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้มากจนเกินไป เพราะเศรษฐกิจไทยยังแค่ส่อแววการอ่อนแอ แต่ยังไม่มีวิกฤตการณ์เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ควรประมาทเช่นกัน โดยรัฐบาลกำลังเตรียมทยอยใช้มาตรการต่าง ๆ ออกมาตั้งแต่สัปดาห์หน้าเป็นต้นไป เพื่อช่วยกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้น และวางแนวทางเพื่อการเติบโตในระยะยาว ซึ่งรัฐบาลพร้อมจะทำงานร่วมกับภาคเอกชน

       ทั้งนี้ มองว่า ปัญหาที่แท้จริงของเศรษฐกิจไทยคือความสามารถในการแข่งขันของประเทศอยู่ในภาวะถอดถอยลงมาตั้งแต่ก่อนหน้านี้ และการพึ่งพาเศรษฐกิจภายนอกประเทศ โดยเฉพาะการส่งออกถึง 60% ต่อจีดีพี เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง จึงต้องหันมาเน้นการพึ่งพาการบริโภคในประเทศ เพราะเมื่อเกิดปัญหากับการส่งออก จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทันที จึงต้องทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างสมดุลทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ

       พร้อมย้ำ สิ่งที่รัฐบาลกำลังจะดำเนินการอย่างเร่งด่วนใน 2 จุดใหญ่ คือ การช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย เกษตรกร และ SME ซึ่งหลังจากเสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดแรกเข้าสู่การพิจารณาของคณะ รัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์หน้าแล้ว อีกภายใน 2 สัปดาห์หลังจากนั้นจะเสนอมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนของ SME ให้ ครม.พิจารณา นอกจากนั้น จะมีการฟื้นโครงการโอทอป เป็นการผลักดันให้ระดับหมู่บ้านและตำบลสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจใหม่ๆ เพื่อเป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่น ส่วนการเบิกจ่าย กระทรวงการคลังจะเข้าไปดูแลให้ลงไปถึงระดับล่างทันที

      ส่วนแนวทางการพัฒนาประเทศ ผู้ว่าราชการจังหวัดจะต้องเป็นกลไกสำคัญในอนาคตที่แต่ละจังหวัดจะต้องมี แนวทางของตนเองว่าในท้องที่ของตัวเองมีอะไรดีโดยไม่รอส่วนกลาง โดยเตรียมฟื้นโอทอป กระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นดันหมู่บ้านและตำบลเป็นแกนหลัก

     ขณะที่ภาครัฐจะเร่งรัดโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง โดยเฉพาะเส้นทางรถไฟต่างๆ เพื่อเชื่อมโยงแต่ละภูมิภาค ซึ่งจะเป็นการช่วยกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจไปในทุกพื้นที่ของเส้นทาง โดยจะมองเรื่องของผลตอบแทนของโครงการไม่ได้ แต่ต้องมองไปถึงผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่จะเกิดมูลค่าเพิ่มตามมาในอนาคต โดยจะเน้นการลงทุนแบบ PDP ที่ไม่เกินฐานะการคลัง ซึ่ง รมว.คลัง มีความถนัดเพราะมาจากบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (IFCT) และจะเพิ่มประสิทธิภาพหน่วยงานภาครัฐเพื่อใหสอดรับกับแนวทางต่างๆ ของรัฐบาล

      นอกจากนั้น งานสำคัญอีกประการหนึ่งที่ต้องเร่งดำเนินการคือ การส่งเสริมการลงทุน ซึ่งได้มอบหมายให้ รมว.อุตสาหกรรม พิจารณาแนวทางและมาตรการต่างๆ ทุกด้านที่จะสามารถจูงใจให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอย่างเวียดนามได้ทุ่มทุกอย่างเพื่อดึง ค่ายซัมซุงเข้าไปตั้งฐานการผลิตใหม่ ดังนั้น ประเทศไทยก็จะช้าไม่ได้ และในอนาคตอาจจะมีการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษเฉพาะสินค้าแต่ละรายการ เช่น ฮาลาล ไอที ยางพารา นอกเหนือจากการพัฒนาในรูปแบบของคลัสเตอร์ใหญ่ รวมมือสถาบันการศึกษาพัฒนาและยกระดับเทคโนโลยีด้านต่างๆ เพื่อสร้างนักรบเศรษฐกิจไปต่อสู่ในตลาดโลก

      สำหรับแผนการส่งเสริมการลงทุนของต่างประเทศ คาดว่าใน 1 เดือนจะเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พิจารณา ทั้งนี้ รัฐบาลจะผลักดันการเพิ่มประสิทธิภาพภาครัฐในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ โดยขณะนี้ทีมเศรษฐกิจ พร้อมด้วยที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนปัจจุบัน และว่าที่ผู้ว่าการ ธปท.คนใหม่ รวมทั้งอีกหลายคนที่เกี่ยวข้องได้หารือเรื่องการปฏิรูปการเงินการคลังร่วมกัน ทั้งตลาดเงินและตลาดทุน

     "ผมไม่ได้มุ่งหวังว่าออกมาตรการเศรษฐกิจ แล้วกระตุ้น GDP ให้ได้โตเท่าไหร่ เพราะมันเป็นปลายเหตุ เป็นเรื่องเฉพาะหน้า GDP เป็นเรื่องที่ตามมาในภายหลัง จุดนี้เป็นจุดที่สำคัญของประเทศ ถ้าทำได้ดีประเทศก็จะพัฒนาไปได้" นายสมคิด กล่าว.

 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!