- Details
- Category: สำนักนายกฯ
- Published: Friday, 07 August 2015 23:30
- Hits: 9032
หม่อมอุ๋ย ตอบจม.เอ็นจีโอ ไม่เห็นด้วย นโยบาย'เขตศก.พิเศษ' 'ปราชญ์เชียงของ'เขียนถาม แต่คสช.ประกาศไปก่อนแล้ว พณ.รับส่งออก 58 ติดลบ 3% ภาษีมรดกรัฐได้ปีละ 2 พันล. ใช้ ม.44 ยึด-จมประมงผิดกม.
'อุ๋ย'แจงเขียนจดหมายถึงปราชญ์ แค่ค้านเขต ศก.พิเศษเชียงของ ไม่ได้เหมารวมทั้งหมด บอกเป็นธรรมเนียมที่ครูถามต้องตอบกลับ พ.ร.บ.ภาษีมรดกประกาศราชกิจจาฯแล้ว
@ ประกาศใช้พ.ร.บ.ภาษีมรดก
เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษาได้ลงประกาศพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีการรับมรดก พ.ศ.2558 และ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 40) พ.ศ.2558 เรื่องเกี่ยวกับภาษีการรับให้ในกรณีที่โอนทรัพย์สมบัติก่อนผู้ให้เสียชีวิต โดย พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ในอีก 180 วัน นับจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือมีเวลาอีก 6 เดือนที่จะให้หน่วยงานต่างๆ เตรียมการให้พร้อมกับการดำเนินการเรื่องภาษีมรดก ทั้งในเรื่องการออกแบบฟอร์ม วิธีการเสียภาษี รวมถึงการทำความเข้าใจกับประชาชน โดยในระยะ 6 เดือนนี้ หากมีเศรษฐีเสียชีวิตยังไม่ต้องจ่ายภาษี
นายสมหมาย กล่าวว่า ภาษีการรับมรดกกำหนดให้ผู้รับต้องจ่ายภาษีในส่วนที่เกินกว่า 100 ล้านบาท ในอัตรา 10% แต่ถ้าเป็นการรับมรดกจากบุพการีหรือผู้สืบสันดานเสียในอัตรา 5% จากส่วนที่เกินกว่า 100 ล้านบาท หากมีการโอนทรัพย์สมบัติให้ก่อนที่ผู้ให้จะเสียชีวิตเข้าข่ายภาษีการรับให้ กำหนดภาระภาษีคือ ถ้าเป็นการรับจากบุพการี ผู้สืบสันดาน กำหนดให้จ่ายภาษีในส่วนที่เกินกว่า 20 ล้านบาท ในอัตรา 5% ถ้านอกเหนือจากนี้ กำหนดให้จ่ายภาษีในส่วนที่เกินกว่า 10 ล้านบาท ในอัตรา 5%
@ กำหนดทรัพย์สิน 5 ประเภท
นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า กรมสรรพากรเตรียมออกกฎหมายลูกให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับจำนวน 14 ฉบับ มีทั้งประกาศกรมสรรพากร ประกาศกระทรวง และพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เป็นเรื่องเกี่ยวกับวิธีการยื่นภาษี แบบแสดงรายการภาษี รวมถึงการตั้งทีมขึ้นมาดูแลภาษีมรดกเป็นการเฉพาะ เพราะในการเสียภาษีนั้นจะสามารถยื่นแบบได้ทั่วประเทศ รวมถึงการยื่นภาษีทางอินเตอร์เน็ต แล้วส่งมาให้สรรพากรส่วนกลางในการประเมินภาษี เนื่องจากกรมสรรพากรมองว่าคนมีมรดกนั้นน่าจะมีทรัพย์สินกระจายอยู่ทั่วประเทศ ดังนั้น จึงอยากให้ทีมสรรพากรส่วนกลางพิจารณาเรื่องนี้ เพราะต้องประเมินทรัพย์ที่มีอยู่ทั้งหมดรวมกัน จึงจะทราบถึงภาระภาษีที่ชัดเจน และการใช้ทีมส่วนกลางในการพิจารณาทำให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน
"ผู้รับมรดกต้องยื่นสำแดงภาษีภายใน 150 วันหลังจากที่รับมรดก กำหนดทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีมี 5 ประเภท 1.อสังหาริมทรัพย์ 2.หลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ 3.เงินฝาก 4.ยานพาหนะที่มีหลักฐานทางทะเบียน และ 5.ทรัพย์สินทางการเงินที่กำหนดเพิ่มขึ้นโดย พ.ร.ฎ. ซึ่งข้อสุดท้ายนี้เพื่อเปิดโอกาสจัดเก็บภาษีจากทรัพย์อื่นๆ เพราะยังไม่ทราบว่าในอนาคตจะมีทรัพย์ประเภทใหม่ๆ อะไรเกิดขึ้นมาบ้าง" นายประสงค์กล่าว
@ คาดรายได้เพิ่มปีละ 2 พันล้าน
นายประสงค์กล่าวว่า สำหรับการเสียภาษีนั้นจะประเมินทรัพย์ทุกประเภทและมูลค่าที่ได้รับรวมกัน แม้จะรับไม่พร้อมกันต้องถูกนำมาประเมินรวมกันทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น ที่ดิน บ้าน หุ้น เงินฝากธนาคาร สลากออมสิน รถยนต์ ตราสารการเงินอื่นๆ ถ้าไม่เกิน 100 ล้านบาทไม่ต้องเสีย โดยในการประเมิน หากเป็นที่ดินจะอ้างอิงราคาจากกรมที่ดิน หากเป็นหุ้นคิดว่าในราคาตลาด ณ วันที่ได้รับหุ้นมา เพื่อเป็นการลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่
นายประสงค์ กล่าวว่า การนำภาษีตรงนี้มาใช้เพื่อเป็นเชิงสัญลักษณ์ในเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำ กรมสรรพากรไม่ได้หวังว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นเท่าใด ซึ่งเม็ดเงินภาษีตรงนี้คิดว่าไม่มาก ปีละประมาณ 1-2 พันล้านบาท ถ้าจะมากจะน้อยกว่านี้คงต้องขึ้นอยู่กับว่าเศรษฐีเสียชีวิตในช่วงปีนั้นๆ กี่คน
@ 'ส่งออก'ปีྲྀติดลบ 3%
นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ ได้ปรับลดเป้าหมายการส่งออกปี 2558 ติดลบ 3% โดยมีมูลค่า 220,698 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดจากจากเป้าเดิมขยายตัว 1.2% และมีมูลค่า 230,304 ล้านเหรียญสหรัฐ บนสมมุติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 60 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยนค่าบาท 35 บาทต่อเหรียญสหรัฐ และราคาสินค้าเกษตรต่ำลง 10% เทียบกับปีก่อน
"การปรับลดตัวเลขเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกไม่ได้ฟื้นตัวตามที่คาดไว้ มูลค่านำเข้าของประเทศคู่ค้าติดลบ ทั้งจีน สหรัฐ ญี่ปุ่น และยังไม่น่าเป็นบวกในปีนี้ ทำให้การส่งออกของไทย 6 เดือนแรกปีนี้ติดลบ 4.84%" นายสมเกียรติกล่าว และว่า การปรับลดเป้าหมายการส่งออกทำให้มูลค่าการส่งออกลดลงจากปีก่อน 6,826 ล้านเหรียญสหรัฐ และน่าจะเป็นการตั้งเป้าประมาณการส่งออกติดลบเป็นครั้งแรกของไทย
@ 'อภิรดี'เตรียมชี้แจงครม.
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัปดาห์หน้า กระทรวงพาณิชย์จะรายงานให้ ครม.รับทราบถึงสาเหตุของการปรับลดเป้าส่งออกปี 2558 ติดลบ 3% ซึ่งมีปัจจัยเสี่ยงเข้ามากระทบต่อการส่งออกไทย โดยเฉพาะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว แม้ว่าตัวเลขการส่งออกของไทยจะติดลบ แต่หากเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ พบว่ามีการติดลบในตัวเลขส่งออกมากกว่าไทย
"เชื่อว่าทั้งปีนี้การส่งออกของไทยจะติดลบไม่มากกว่า 3% อย่างที่หลายฝ่ายแสดงความวิตกมาก เพราะยังมีตลาดส่งออกของไทยที่ประเมินว่าจะเติบโตเป็นบวกได้ เช่น ตลาดสหรัฐ อาเซียน อินเดีย เป็นต้น" นางอภิรดีกล่าว
@ ธปท.คาดตัวเลขไม่ต่างกัน
นายจิรเทพ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.จะมีการปรับประมาณการส่งออกใหม่อีกครั้งประมาณวันที่ 25 กันยายนนี้ ซึ่งการที่กระทรวงพาณิชย์ปรับลดคาดการณ์การส่งออกของไทยปี 2558 ติดลบ 3% จากเดิมเติบโต 1.2% นั้น ธปท.คาดว่าทิศทางการปรับประมาณการทั้งปีน่าจะสอดคล้องกันกับกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการคลัง โดยประเด็นที่ทำให้ ธปท.ปรับประมาณมูลค่าการส่งออกลงมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด โดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่เป็นตลาดส่งออกหลัก มีผลกระทบทางตรงต่อไทย ทั้งยังส่งผลกระทบ
ทางอ้อมผ่านการชะลอตัวของเศรษฐกิจอาเซียน ที่จีนส่งออกหลักเข้าอาเซียน นอกจากนี้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ปรับลดลงมากกว่าที่คาด ยังมีส่วนให้ราคาส่งออกหดตัวเพิ่มขึ้นในปีนี้ รวมถึงส่งผลให้เศรษฐกิจในกลุ่มประเทศที่ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ อาทิ ตะวันออกกลาง ออสเตรเลีย และอาเซียน ชะลอตัวเพิ่มเติม
@ ดัชนีเชื่อมั่นวูบต่อเดือนที่ 7
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนกรกฎาคม 2558 ทุกรายการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 และเป็นสถิติต่ำสุดในรอบ 14 เดือน นับจากเดือนมิถุนายน 2557 โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่ออนาคต ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อปัจจุบันอยู่ที่ 73.4, 80.5, 54.8 ตามลำดับ ลดลงจากเดือนมิถุนายนที่ 74.4, 81.5, 55.9 ตามลำดับ
นายธนวรรธน์กล่าวว่า สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ระดับ 62.6, 68.6, 88.8 ตามลำดับ ลดลงจากเดือนมิถุนายนที่ 63.8, 69.4, 90 ตามลำดับ และเป็นครั้งแรกในรอบ 43 เดือน นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2555 ที่ค่าดัชนีต่ำกว่าระดับ 50 เนื่องจากประชาชนมองว่าค่าครองชีพแพง แม้ราคาสินค้าจะลดลง ห้างสรรพสินค้าต่างพากันลดราคา 50-70% แต่ยังไม่สามารถกระตุ้นให้ซื้อสินค้าได้ เนื่องจากประชาชนมีรายได้น้อยและภาระหนี้สิน จึงยังไม่อยากจับจ่ายใช้สอย ส่วนดัชนีวัดความสุขในการดำรงชีวิตอยู่ระดับ 84.6 ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกันและต่ำสุดในรอบ 13 เดือน
@ เชียงใหม่เร่งแก้หนี้เกษตรกร
ส่วนกรณีกรมการปกครองสั่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดจัดทำแผนเพื่อแก้ปัญหาหนี้สินแก่เกษตรกรให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 7 สิงหาคมนั้น นายสุริยะ ประสาทบัณฑิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า จ.เชียงใหม่ อยู่ระหว่างดำเนินการแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร โดยมีคณะกรรมการระดับจังหวัดและอำเภอดูแล ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีขอให้เร่งแก้ปัญหาหนี้นอกระบบก่อน เพราะเกษตรกรบางรายที่ดินกำลังหลุดมือ เนื่องจากนำไปจำนองหรือไปกู้เงินไว้ บางรายอยู่ในชั้นบังคับคดีของศาล
นายสุริยะกล่าวว่า ขั้นตอนแรกมีการเรียกเจ้าหนี้และเกษตรกรที่เป็นลูกหนี้มาไกล่เกลี่ยพูดคุย หากจะเข้าสู่ระบบการช่วยเหลือ จะส่งข้อมูลให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ไปวิเคราะห์หนี้ก่อน หาก ธ.ก.ส.รับได้ จะนำเข้าระบบของ ธ.ก.ส. แต่หาก ธ.ก.ส.รับไม่ไหว คณะกรรมการระดับอำเภอจะเข้าไปดูแล โดยสามารถช่วยเหลือได้รายละไม่เกิน 3 แสนบาท หากมูลหนี้เกิน 3 แสน แต่ไม่เกิน 5 แสนบาท คณะกรรมการระดับจังหวัดจะเป็นผู้ดูแล เพราะอนุมัติเงินได้รายละไม่เกิน 5 แสนบาท แต่หากเกิน 5 แสนบาทขึ้นไป จะส่งให้คณะกรรมการส่วนกลางดูแล
@ 'พร้าว'มีหนี้นอกระบบมากสุด
"สำหรับ จ.เชียงใหม่ เกษตรกรที่มีหนี้สินรวม 1.7 แสนราย มูลหนี้กว่า 4,000 ล้านบาท แยกเป็นหนี้ในระบบ 17,037 ราย มูลหนี้ 4,021 ล้านบาท และหนี้นอกระบบ 170 ราย มูลหนี้ 32 ล้านบาท ซึ่งทั้ง 170 ราย อยู่ในขั้นตอนที่อำเภอกำลังเชิญมาพบเพื่อเจรจาและจะเข้าสู่กระบวนการช่วยเหลือ คาดว่าภายในเดือนสิงหาคมนี้จะสามารถแก้ไขปัญหาได้หมด เนื่องจากเป็นรายเล็กๆ มูลหนี้ไม่เกิน 3 แสนบาท จะมีรายใหญ่ที่เกิน 1 ล้านบาท ไม่กี่ราย หรือสูงสุด 1.6 ล้านบาท" นายสุริยะกล่าว
นายบุญลือ ธรรมธรานุรักษ์ จ่าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า จากการสำรวจเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา พบว่าอำเภอที่เกษตรกรมีหนี้สินนอกระบบมากที่สุดคือ อ.พร้าว 41 ราย มูลหนี้ 7 ล้านบาท รองลงมา อ.แม่วาง 30 ราย มูลหนี้ 6 ล้านบาท อ.จอมทอง 19 ราย มูลหนี้ 2.5 ล้านบาท และ อ.สันกำแพง 12 ราย มูลหนี้ 1.5 ล้านบาท ส่วนหนี้ในระบบซึ่งเป็นหนี้สถาบันการเงินต่างๆ รัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงการคลังพิจารณาหามาตรการดูแลเนื่องจากมีมูลหนี้ค่อนข้างสูง
@ โคราชกว่า 8 หมื่นเป็นลูกหนี้
นายประภาส รักษาทรัพย์ ปลัดจังหวัดนครราชสีมา ฐานะรองประธานอนุกรรมการช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจนระดับจังหวัด เปิดเผยว่า จากข้อมูลจากฝ่ายปกครอง ซึ่งมีนายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ร่วมลงพื้นที่สำรวจทั้ง 32 อำเภอ พบเกษตรกรมีหนี้สินทั้งสิ้น 80,236 ราย คิดเป็นมูลหนี้ 16,264,045,284 บาท จากนั้นได้นำมาสู่การ
กรองระดับอำเภอ โดยตัดมูลหนี้ที่ไม่ปรากฏหลักฐานน่าเชื่อออกไปค่อนข้างมาก ล่าสุดคงเหลือ 2,330,692,444 บาท โดย อ.ด่านขุนทด เป็นพื้นที่ที่มีเกษตรกรเป็นหนี้มากที่สุด 5,261 ราย มูลหนี้ 632,901,097 บาท อย่างไรก็ตามการให้ความช่วยเหลือต้องนำมากลั่นกรองอย่างเข้มข้นในระดับจังหวัด โดยผ่านมติของผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายสาขาอาชีพ จึงจะได้ข้อสรุปเสนอต่อรัฐบาลก่อนวันที่ 31 สิงหาคมนี้
@ พม.เร่งจัดหาบ้านให้คนจน
นายพุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์ อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวถึงกรณีคณะรัฐมนตรีให้ พม.เป็นเจ้าภาพจัดหาที่อยู่อาศัยให้ผู้มีรายได้น้อยว่า พส.เกี่ยวข้องเฉพาะที่ดินและการพัฒนาคุณภาพชีวิตเท่านั้น แต่รัฐมนตรีว่าการ พม.ให้ไปดูพื้นที่ว่างที่จะมาจัดสรรให้ประชาชนได้ ที่ไม่ใช่จัดให้เป็นกรรมสิทธิ์ แต่ให้เพื่ออยู่อาศัยเพื่อทำกินได้ เบื้องต้นขณะนี้กำลังเร่งสำรวจอยู่ ยังตอบไม่ได้ว่าสามารถรองรับได้กี่คน แต่มีพื้นที่ภาพรวม 1.7 หมื่นไร่ทั่วประเทศ ที่ผ่านมาจัดสรรให้คนจนอยู่อาศัยบ้างแล้ว
นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต รองปลัด พม. กล่าวว่า เตรียมเสนอร่างคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนที่ให้ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการ พม. พิจารณาวันที่ 7 สิงหาคมนี้ อย่างไรก็ดี ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งสำรวจข้อมูลอยู่ คาดว่าวันที่ 10 สิงหาคม หลายๆ เรื่องน่าจะชัดเจนขึ้น
@ แชร์ว่อนรมต.ค้านศก.พิเศษ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการแชร์กันในสังคมออนไลน์ที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี เขียนจดหมายด้วยลายมือ ลงวันที่ 2 สิงหาคม 2558 ส่งถึงนายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือ "ครูตี๋" ประธานเครือข่ายกลุ่มรักษ์เชียงของ อ.เชียงของ จ.เชียงราย แสดงความคิดเห็นกรณีนายนิวัฒน์วิพากษ์วิจารณ์นโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษของรัฐบาลในหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง โดยเนื้อหาในจดหมายระบุว่า "ผมได้อ่านบทสัมภาษณ์คุณครูแล้ว ชอบมากเลยครับ มีความเห็นที่สอดคล้องกับธรรมชาติมากที่สุด เศรษฐศาสตร์ที่ดีคือ เศรษฐศาสตร์ที่เป็นไปตามธรรมชาติของสถานที่แห่งนั้นๆ ไม่ฝืนธรรมชาติ ผมอยากเรียนให้ครูทราบว่า ผมไม่ได้เห็นด้วยกับนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษเลยครับ แต่เป็นนโยบายที่ คสช.ประกาศตั้งแต่ยังไม่ตั้งรัฐบาล พอตั้งรัฐบาลก็เลยจำต้องเดินต่อ แต่จะเห็นว่านักลงทุนไม่นิยมไปลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษเลย เพราะฝืนธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเชียงของ ไม่ควรทำเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อดึงดูดการลงทุนอุตสาหกรรมเลย เพราะเชียงของสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ดี และเป็นเมืองการค้าที่ดีซึ่งเป็นธุรกิจสะอาด ไม่ควรดึงอุตสาหกรรมที่จะนำความสกปรกต่อสิ่งแวดล้อมเข้ามา ความเห็นของผมในเรื่องนี้ พวกนักธุรกิจใน จ.เชียงราย รู้ดีว่าผมคิดเช่นนี้ เพราะเคยพูดให้เขาฟังหลายครั้งในเชียงราย"
@ 'ครูตี๋'แนะนายกฯเข้าใจชาวบ้าน
จดหมายดังกล่าวยังระบุอีกว่า "อีกประเด็นหนึ่งซึ่งผมขอชี้แจงที่คุณครูพูดว่า ผมไม่เห็นด้วยกับที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร บอกว่าท่องเที่ยวหมดมุขแล้ว เพราะ Sun sand sea เป็นตัวดึงดูดอย่างเดียวไม่เพียงพอแล้ว แต่จะต้องใช้อย่างอื่น เช่น เรื่องราวในอดีตของสถานที่นั้นๆ เป็นตัวดึงดูดด้วย เพราะนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่อยากรู้เรื่องเกี่ยวกับสถานที่ที่เขากำลังมาเยี่ยมอยู่นั้น แต่ที่ครูยกประเด็นของดีตามธรรมชาติของเมืองนั้น ของสถานที่นั้น เป็นการเปิดประเด็นที่กว้างขวางและมีประโยชน์มาก คำที่ผมชอบมากในบทความของครูคือคำว่า "วิถีชีวิต" การพัฒนาใดๆ จะต้องไม่กระทบวิถีชีวิตที่ดีและวัฒนธรรมที่ดีของท้องถิ่นนั้น ซึ่งผมก็เชื่อในความคิดนั้นเช่นกัน เพราะเป็นไปตามหลักเศรษฐศาสตร์แนวพุทธ วันนี้ ผมขอจบเพียงเท่านี้ก่อนนะครับ ผมขอโอกาสชี้แจงสิ่งที่ผมคิดและผมพูดจริงๆ เท่านั้น ผมดีใจที่ยังมีคนที่คิดแบบครูอยู่ ขอครูช่วยเผยแพร่ความคิดที่ดีของครูต่อไปด้วยครับ"
ด้านนายนิวัฒน์เปิดเผยว่า หลังจากอ่านจดหมายแล้วรู้สึกดีใจที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เข้าใจและสนับสนุนวิถีชีวิตของชุมชนและธรรมชาติ รวมถึงเศรษฐศาสตร์ท้องถิ่น เพราะเมืองเชียงของควรเป็นเมืองที่สะอาด เพราะมีแหล่งท่องเที่ยวมากมายทั้งทางธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ
"บ้านเมืองเราต้องกล้าเปิดอกคุยกันอย่างนี้ ผมอยากให้ผู้นำประเทศได้เข้าใจชาวบ้านเหมือนที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรเข้าใจและเขียนไว้ในจดหมาย หากมีการฟังเสียงชาวบ้านบ้าง ความวุ่นวายในหลายๆ เรื่องจะลดลงไปเยอะ" นายนิวัฒน์กล่าว
@ 'อุ๋ย'รับเขียนจม.ถึงปราชญ์
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ให้สัมภาษณ์ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยยอมรับว่าเป็นผู้เขียนจดหมายดังกล่าวจริง แต่เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นเฉพาะเขตเศรษฐกิจในพื้นที่ อ.เชียงของ พื้นที่เดียวเท่านั้น ไม่ใช่การแสดงความเห็นพื้นที่ทั้งหมดที่รัฐบาลจัดทำเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นการตอบจดหมายของปราชญ์ชาวบ้านที่ได้เแสดงความเห็นว่า พื้นที่ อ.เชียงของ ไม่ควรเป็นเขตอุตสาหกรรม แต่ควรเป็นแหล่งท่องเที่ยว
"เป็นการตอบแบบแสดงความคิดเห็นเท่านั้น และเป็นธรรมเนียม เมื่อครูมีจดหมายถามมา ก็ต้องตอบกลับไป" ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว