- Details
- Category: สำนักนายกฯ
- Published: Tuesday, 21 July 2015 14:58
- Hits: 2296
หม่อมอุ๋ย เดินหน้าสร้างฐาน 3 อุตสาหกรรมใหม่ 'โปแตซ-เหล็กต้นน้ำ-ยาง'เชื่อดันศก.ไทยในระยะยาว มองการค้าโลกซบเซาอีก 2-3 ปี
'หม่อมอุ๋ย' เดินหน้าสร้างฐาน 3 อุตสาหกรรมใหม่ 'โปแตซ-เหล็กต้นน้ำ-ยาง' เชื่อดันศก.ไทยโตยาว ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ซึมอีก 2-3 ปี ยันไม่ใช้นโยบายประชานิยมกระตุ้นศก.เน้นปิดจุดอ่อนหนุนรากหญ้าปลอดหนี้ พร้อมเร่งปรับฐานอุตสาหกรรมเน้นสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีขึ้นสูง มั่นใจดันส่งออกฟื้นแรงภายใน 2 ปี เผยอยู่ระหว่างรอผลสำรวจผู้ได้รับปัญหาภัยแล้ว พร้อมเตรียมเร่งแก้ไขและเข้าช่วยเหลือ ส่วนหุ้นจีนดิ่งไม่กระทบการค้าระหว่างทั้ง 2 ประเทศ ระบุส่งผลต่อผู้ซื้อหุ้นเท่านั้น ซึ่งมีไม่มากนัก พร้อมแนะ ธปท.ดูแลค่าบาทให้เหมาะสมตามความผันผวนค่าเงินอื่นๆ ในโลก -หวังจีดีพีปีนี้เข้าเป้าโต 3% เตรียมผุดกองทุนโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบรนด์ของประเทศ ตั้งเป้าทุกครัวเรือนเข้าถึงอินเตอร์เน็ตในปี 2560 รวมถึงสร้าง "ดาต้าเซ็นเตอร์" ใหญ่สุดในอาเซียน ดึงเอกชนทั้งใน-ตปท.เข้าลงทุน คาดเปิดประมูล ต.ค.-พ.ย.นี้
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลเตรียมผลักดันแผนการสร้างฐาน 3 อุตสาหกรรมใหม่ในประเทศ ประกอบไปด้วย อุตสาหกรรมโปแตช โดยประเทศไทยที่มีทรัพยากรดังกล่าวมากถึง 4 แสนล้านตันในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดชัยภูมิ, นครราชสีมา และอุดรธานี ซึ่งโปแตชถือเป็นวัตถุดิบสำหรับในการผลิตแม่ปุ๋ยหากพัฒนาสำเร็จจะช่วยให้เกิดการลงทุนและการจ้างงาน ที่จะทำให้ไทยกลายเป็นฐานการผลิตแม่ปุ๋ยที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีประเทศจีนเป็นผู้นำเข้าหลัก ซึ่งปัจจุบันมีกลุ่มทุนจากประเทศดังกล่าวเข้ามายื่นขอใบอนุญาตแล้วกว่า 10 ราย คาดว่าจะเร่งสรุปรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับการจัดสรรพื้นที่สัมปทานภายในปีนี้ เพื่อเข้าสู่กระบวนการก่อสร้างและพัฒนาให้เร็วที่สุด
ต่อมาคือการสร้างฐานอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำ ซึ่งสามารถต่อยอดได้อย่างมหาศาล และมีความต้องการอย่างต่อเนื่องทั่วโลก ดังเช่นอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่ปัจจุบันไทยเป็นผู้ผลิตหลักอันดับ 1 ของอาเซียน รวมไปถึงการยกระดับอุตสาหกรรมยางพาราให้มีขนาดใหญ่กว่าปัจจุบันซึ่งจะช่วยดึงบริษัทผลิตยางรายใหญ่ต่างประเทศเข้ามาลงทุนใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออกไปยังตลาดโลก และจะเป็นการช่วยผลักดันราคายางพาราในประเทศให้สูงขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการเดินทางไปดูงานรับเบอร์ซิตี้ทีประเทศจีนและหารือกับบริษัทผลิตยางรายใหญ่ของจีนแล้ว
ขณะเดียวกันจะมีการปรับฐานอุตสาหกรรมไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงขึ้น เช่น อุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ, อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอากาศยาน, รถยนต์ไฮบริด ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า, การวิจัยและพัฒนา, สถานฝึกฝนวิชาชีพเฉพาะทาง และเปิดฐานทรัพยากรใหม่โดยที่บีโอไอให้การส่งเสริมการลงทุนอย่างเต็มที่ จะช่วยทำให้ภาคการส่งออกของไทยฟื้นตัวได้อย่างมีนัยสำคัญภายใน 2 ปี โดยที่ผ่านมาอุตสาหกรรมของไทยได้รับผลกระทบจากนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ทำให้ความสามารถในการแข็งขันของผู้ประกอบการรายเล็กลดลง ส่งผลถึงคุณภาพสินค้า บางอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานสูงในต่างจังหวัดก็ต้องปิดกิจการลงจำนวนมาก เพราะแบกรับภาระต้นทุนไม่ไหว ทำให้ภาคการส่งออกปรับตัวลดลงอย่างที่ปรากฏในปัจจุบัน
นอกจากนี้ ภาครัฐมีนโยบายจะทำให้ไทยเป็นฐานทางการค้า เพื่อให้มีกิจการการค้าเกิดขึ้นในประเทศ ส่งเสริมให้มีการเข้ามาตั้งสำนักงานใหญ่ระหว่างประเทศในไทยและส่งเสริมยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับรายได้จากเงินปันผลและกำไรจากการขายทรัพย์สิน, ภาษีเงินได้จากการให้บริการ,ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับยอดขายกิจการจัดซื้อและขายสินค้า เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางของกิจกรรมการค้าในภูมิภาค จากปัจจุบันที่ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศสิงคโปร์
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวเพิ่มเติมว่า อีกเรื่องที่สำคัญก็คือการพัฒนา เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) โดยล่าสุดมีแผนสำคัญ 5 ด้านออกมาแล้ว ได้แก้ 1.ปรับปรุงโครงสร้างทางกายภาพ โดยจะตั้งบริษัทขึ้นมาดูแลเรื่อง "เนชั่นแนลบรอดแบรนด์" ซึ่งจะจัดตั้งเป็นลักษณะกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน "Infrastructure Fund" ล่าสุดได้มีการพูดคุยกับเอกชนรายใหญ่ของประเทศที่ดำเนินธุรกิจโครงข่ายสายสัญญาณไฟเบอร์ออปติกแล้ว และจะมีการหาแนวทางร่วมกันเกี่ยวกับการใช้ขอใช้โครงข่ายที่บริษัทเหล่านั้นมีอยู่แล้ว โดยให้ร่วมถือหุ้นในบริษัทฯ ใหม่ที่จะจัดตั้ง เพื่อให้ประชาชนทุกครัวเรือนเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ภายในปี 2560 ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางความรู้ได้เป็นอย่างดี 2.การลงทุนเรื่อง Gate way ที่ทำให้ค่าเช่าถูกลงและแข่งขันได้ 3.จัดตั้ง Data Centre ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากในการเข้าสู่ดิจิทัล โดยมีการดึงเอกชนทั้งในและต่างประเทศเข้ามาลงทุน คาดว่าเปิดประมูลได้ ต.ค.-พ.ย.นี้ 4.การออกกฎหมายและข้อบังคับที่ใช้ควบคุมได้จริงและมีประสิทธิภาพรวมถึงการสนับสนุนเพื่อสร้างบุคลากรให้เกิดขึ้นในอุตสาหกรรม และ 5.การทำให้ประเทศไทยเป็นสังคมดิจิทัลอย่างแท้จริง และใช้ดิจิทัลให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการดำเนินชีวิต เช่น การทำธุรกรรมราชการผ่านอินเตอร์เน็ต การแพทย์ และการศึกษา เป็นต้น
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อไปว่า แนวโน้มการค้าโลกจะยังซบเซาอีก 2-3 ปี เป็นไปตามการลดลงของราคาน้ำมัน เพราะการค้นพบเชลล์แก๊สที่มีปริมาณสำรองสูง กดดันราคาน้ำมันโลก และฉุดราคาสินค้าโภคภัณฑ์และสินค้าเกษตรทั่วโลก ดังนั้นในระยะสั้นจึงไม่ควรออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบทั่วไปโดยเฉพาะนโยบายประชานิยม เพราะจะทำให้เสียงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์ แต่รัฐบาลจะเน้นเข้าไปอุดในจุดที่อ่อนแอ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายหลักคือ เกษตรกร ทั้งชาวนา ชาวสวนยาง โดยจะมีการออกมาตรการช่วยเหลือต่างๆ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาหนี้สินที่มีอยู่และที่กำลังจะเกิดขึ้น
ขณะที่ยืนยันว่าเศรษฐกิจไทยปัจจุบันมีความแข็งแกร่ง แต่ประชาชนขาดความเชื่อมั่น เพราะข่าวสารในแต่ละวันนำเสนอแต่ประเด็นเศรษฐกิจแย่ ดังนั้นรัฐบาลต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นที่ยังขาดอยู่ และสื่อมวลชนก็ต้องช่วยกันนำเสนอข้อเท็จจริงในเชิงบวกให้มากขึ้น เพื่อเรียกความเชื่อมั่นกลับมา
"เศรษฐกิจไทยตอนนี้ถือว่าแข็งแรงมาก รายได้ของประชาชนก็สูงกว่าปีก่อนกว่าปีก่อน คนมีเงินแต่ไม่ใช้จ่าย เพราะไม่มีความเชื่อมั่น รับข่าวแต่เรื่องร้ายๆ ผมมองว่าตอนนี้เศรษฐกิจดีกว่าช่วงสมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ด้วยซ้ำไป แต่สมัยนั้นคนมีความเชื่อมั่นดี รัฐบาลมีการสื่อสารให้คนมีความเชื่อมั่น แต่ตอนนี้เราขาดการสร้างความเชื่อมั่น คนก็ไม่ใช้จ่าย เราควรต้องปรับแนวทางด้านการสื่อสารกันใหม่ให้ประชาชนได้รับสิ่งที่ถูกต้อง เพื่อการก้าวไปข้างหน้าของประเทศ" ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว
ด้านสถานการณ์ภัยแล้งในปัจจุบัน รัฐบาลอยู่ระหว่างการติดตามข้อมูลว่ามีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจริงมากน้อยเพียงใด และจะเร่งช่วยเหลือเยียวยาให้เร็วที่สุด โดยต้นเหตุสำคัญมาจากการพร่องน้ำในเขื่อนมากเกินไปในปี 2554 ทำให้น้ำในเขื่อนในปัจจุบันมีน้อยนั้น ซึ่งพบว่าจะมีชาวนาส่วนหนึ่งเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบเท่านั้น โดยในพื้นที่ปลูกข้าว จำนวน 63 ล้านไร่ มีพื้นที่ปลูกข้าวอยู่ 55 ล้านไร่ ที่อยู่ นอกเขตชลประทาน ซึ่งคนกลุ่มนี้จะปลูกข้าวในช่วงเดือน ส.ค.และเก็บเกี่ยวเดือนธ.ค.โดยจะเริ่มปลูกเมื่อมั่นใจว่ามีน้ำฝนมาก ส่วนที่ 3.5 ล้านไร่ มีการขุดบ่อน้ำที่พอใช้ในการเพาะปลูกได้ ดังนั้นจะเหลือเพียง 4.6 ล้านไร่ เท่านั้นที่อยู่ในเขตชลประทานและจะได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง
ส่วนปัญหาหนี้กรีซเชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยน้อยมาก เนื่องจากไทยส่งออกไปกรีซเพียง 0.6% ขณะที่สถาบันการเงินของไทยไม่มีการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลของกรีซ ขณะที่กรณีตลาดหุ้นจีนปรับตัวลงลงอย่างต่อเนื่องจำนวนมากนั้นจะไม่มีผลกระทบต่อการค้ากับไทยเช่นกัน เนื่องจากเป็นคนละส่วน แต่อาจกระทบกับผู้ซื้อหุ้นในจีน ซึ่งเชื่อว่ามีไม่มากนักไม่น่าเป็นห่วง
พร้อมกันนี้ระบุว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยควรดูแลและยืดหยุ่นค่าเงินบาทให้เหมาะสมกับค่าเงินอื่นๆ ในโลก ที่มีความผันผวนค่อนข้างมากในปัจจุบัน โดยเงินของประเทศจีนและกลุ่มประเทศยุโรปมีการอ่อนค่าลง ขณะที่เงินสหรัฐฯ และญี่ปุ่นแข็งค่าขึ้น ซึ่งต้องปรับให้ค่าบาทอยู่ในระดับที่สมดุลเพื่อป้องกันผลกระทบต่อภาคการส่งออก แต่มองว่าระดับปัจจุบันถือว่าธนาคารแห่งประเทศไทยทำได้เหมาะสมแล้ว ซึ่งต้องรักษาความยืดหยุ่นดังกล่าวให้ได้ต่อไป
สำหรับ อัตราการขยายตัวของจีดีพีปีนี้ยังเชื่อว่าจะเป็นไปตามเป้าหมายที่ 3% โดยคาดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ในครึ่งปีหลัง
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย