- Details
- Category: สำนักนายกฯ
- Published: Thursday, 16 July 2015 22:58
- Hits: 9573
นายกฯ เผยต่างชาติยังมองไทยน่าลงทุน พร้อมปัดข่าวปรับ ครม. ยกทีมเศรษฐกิจ ระบุเป็นเรื่องที่สื่อเขียนไปเอง
นายกฯ เผยต่างชาติยังมองไทยน่าลงทุนพร้อมแนะ รัฐ- เอกชนเร่งเสริมสร้างความเข้มแข็ง ส่วนเบิกจ่ายงบลงทุนล่าช้า เพราะหลายโครงการไม่ผ่านการสำรวจด้านสิ่งแวดล้อม พร้อมปัดข่าวปรับ ครม. ยกทีมเศรษฐกิจ ระบุเป็นเรื่องที่สื่อเขียนไปเอง
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวในงานสัมมนา Thailand Competitiveness Conference 2015 ว่า ขณะนี้ประเทศไทยติดกับดักเรื่องขีดความสามารถในการแข่งขันที่ทุกภาคส่วนยังไม่มีความเข้มแข็ง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องสร้างความเข้มแข็งโดยเฉพาะภาคการเกษตร ด้านสาธารณสุข ด้านการท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้กับประเทศ
และจากการสอบถามภาคเอกชนพบว่า ในปี 2558-2559 ยังคงมีนักลงทุนจากต่างประเทศมากกว่า 70% ที่ให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ถึงแม้ค่าแรงจะสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน แต่ประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าอยู่จึงอยากจะเข้ามาลงทุน และฝากให้ทุกคนนำเรื่องนี้ไปคิดเป็นการบ้าน เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งยั่งยืนในอนาคต ถึงแม้จะมีทรัพยากรธรรมชาติที่จำกัดแต่ต้องมาบริหารกันอย่างรอบด้าน และขอให้มีการขึ้นทะเบียนแรงงานที่มีความสามารถพูดภาษาอื่นได้ และเตรียมพัฒนาคนเพื่อเตรียมเข้าสู่ AEC
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ต้องการเห็นประเทศเดินหน้า แต่บางครั้งต้องประสบปัญหาด้านการเมือง ขาดความมีเสถียรภาพ การเบิกจ่ายงบประมาณมีปัญหา
"วันนี้มีบางคนกำลังจ้องทำลายประเทศ โดยอ้างกฎหมายเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งไทยไม่เคยที่จะดำเนินการในแบบนี้ เพราะตลอดชีวิตก็เป็นทหารประชาธิปไตยคนหนึ่ง ผมไม่สามารถทนเห็นประเทศเป็นแบบนี้ได้ พอเข้ามาแล้วก็ทิ้งไม่ได้" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ประเทศไทยติดกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลางมาตั้งแต่ปี 2530 จึงทำให้ฐานเศรษฐกิจของประเทศสูงกว่าประเทศในกลุ่ม CLMV ซึ่งอยากให้ประชาชนเข้าใจว่า เมื่อเศรษฐกิจโตกว่าประเทศเพื่อนบ้านจำเป็นต้องรักษาระดับไว้ และต้องเพิ่มศักยภาพให้สามารถแข่งขันได้ด้วยการพัฒนาด้านนวัตกรรม
ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจขณะนี้ ทุกประเทศประสบปัญหาเดียวกัน ซึ่งเป็นผลพวงจากภาวะเศรษฐกิจโลก ทำให้บางประเทศต้องมีการปรับประมาณการณ์การเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งในส่วนรัฐบาลก็จะเตรียมการและวางแผนการทำงานด้านเศรษฐกิจต่อไป โดยมี 3 ปัจจัยหลักที่รัฐบาลจะดำเนินการคือ 1.รัฐบาลจะเป็นผู้อำนวยความสะดวกให้กับเอกชน 2.ต้องมีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ด้วยการพัฒนาคนซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดโดยเฉพาะการศึกษา และ 3.มีกลไกติดตามผลด้วยการกำหนดยุทธศาสตร์ประเทศในการเดินหน้าประเทศ
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอให้เอกชนทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ รวมถึงได้เชิญชวนให้ภาคเอกชนมาร่วมพัฒนาในเศรษฐกิจพิเศษเฉพาะและเขตเศรษฐกิจพิเศษภายใน โดยรัฐบาลพร้อมให้สิทธิพิเศษด้านภาษี และอำนวยความสะดวกให้ ส่วนด้านการวิจัยและพัฒนา รัฐพร้อมจะร่วมลงทุนกับภาคเอกชน เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยง และให้ความเชื่อมั่นกับภาคเอกชนว่ารัฐบาลกำลังกระตุ้นเศรษฐกิจในทุกด้านทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
ส่วนการจัดเก็บภาษีรัฐบาลยังยืนยันภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 ซึ่งทำให้รายได้ประเทศน้อยลงและส่งผลต่อด้านการสาธารณสุข แต่ก็ต้องมีการแก้ไขต่อไป ส่วนหน่วยงานที่ทำงานไม่ได้ตรงตามเป้าก็ควรจะหยุดทิ้งทั้งหมด ขณะเดียวกันขอให้ทางเอกชนมีความเชื่อใจและมั่นใจรัฐบาลไม่ใช่แค่ตัวนายกรัฐมนตรีแต่ก็ต้องเชื่อใจรัฐมนตรีด้วย และต้องเชื่อข้อมูลต่างๆอย่างมีเหตุผล
นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะด้านการคมนาคม ซึ่งรัฐบาลได้ดำเนินการในหลายเส้นทาง เช่น การสร้างทางรถไฟ ความเร็วปานกลางกับประเทศจีน ซึ่งผลประโยชน์จะต้องแบ่งปันกัน และจีนก็พร้อมที่จะเชื่อมทางรถไฟมายังไทยซึ่งในปลายปีนี้เชื่อมั่นว่าจะเริ่มการก่อสร้างได้แน่นอน ขณะเดียวกันขออย่าให้มีการโก่งราคาที่ดินในย่านที่จะสร้างรถไฟด้วย
ส่วนรถไฟความเร็วสูงไทยจะต้องมีการศึกษาร่วมกับประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะเกิดแน่นอนเพราะมีการศึกษาร่วมกับญี่ปุ่นไว้แล้ว เดินหน้าก่อสร้างมอเตอร์เวย์ 3 สาย และรัฐบาลพร้อมเดินหน้าในการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา พัฒนาท่าเรือยอร์ชเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว และเดินหน้าให้เกิดอุตสาหกรรมซ่อมอากาศยานให้ได้ และเร่งซ่อมเทอร์มินอล 2 ของสนามบินดอนเมือง
นายกรัฐมนตรี ยังแสดงความเป็นห่วงกรณีการขยายข่าวที่สร้างความขัดแย้งในประเทศไทย ซึ่งต่างประเทศสามารถรับรู้ได้จากการติดตามข่าว อยากให้เอกชนเข้ามาช่วยสร้างความเชื่อใจ ลดความหวาดระแวง และและสร้างผลประโยชน์ที่เท่าเทียมกัน ขอให้ทุกคนช่วยกันสร้างความคุ้มกันในด้านเศรษฐกิจ
ส่วนการอนุมัติงบประมาณในการลงทุนในโครงการต่างๆยังพบว่า หลายโครงการยังมีปัญหา ติดอยู่ที่ยังไม่ผ่านการสำรวจผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม หรือ EIA และการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ หรือ HIA อย่างไรก็ตาม รัฐบาลชุดที่ตนบริหารอยู่นั้นจะอยู่อีกประมาณ 2 ปี ดังนั้นจะต้องรีบทำโครงการต่างๆให้สำเร็จ โดยเฉพาะการแก้ไขให้ไทยหลุดพ้นจากประเทศที่มีรายได้ปานกลางตั้งแต่ปี 2530
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ปฏิเสธกระแสข่าวว่าจะมีการปรับคณะรัฐมนตรีทีมเศรษฐกิจ หลังจากแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเปิดทางให้สามารถตั้งบุคคลที่เคยถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมืองเข้ามารับตำแหน่งได้ แต่นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เป็นเรื่องที่สื่อเขียนไปเอง
"วันนี้รัฐมนตรีอยากออกทั้งหมด ไม่ต้องไปปรับเขาออกหรอก แต่เขาบ่นว่าเหนื่อย....ทำงานไปอยู่นานก็โดนด่าอีก"นายกรัฐมนตรี กล่าว
อนึ่ง มีรายงานข่าวระบุว่า มีความเคลื่อนไหวในการปรับคณะรัฐมนตรีเร็วๆ นี้ ทั้งนี้ รัฐมนตรีที่อยู่ในเป้าหมายปรับออก อาทิ นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายพรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) และนายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
ขณะที่ หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ไม่มีการปรับเปลี่ยน ยังคงดำรงตำแหน่งต่อไป แต่อาจปรับบทบาทให้เหมาะสม มีผู้มาทำหน้าที่แทนในการเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจตัวจริงของรัฐบาล ซึ่งคาดว่าจะเป็นนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษาคสช.
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย