- Details
- Category: สำนักนายกฯ
- Published: Saturday, 13 June 2015 20:04
- Hits: 2900
ผุดโรงผลิตไฟฟ้าจากขยะ รัฐไฟเขียว 2 โครงการ 6 พันล้าน
แนวหน้า : คณะกรรมการนโยบายร่วมลงทุนภาครัฐและภาคเอกชน อนุมัติให้โรงผลิตไฟฟ้าจากการแปรรูปขยะมูลฝอย 2 โครงการ ใน นนทบุรี-กับโคราช เริ่มโครงการแล้ว ขณะที่ 'คลัง' ลงนามกู้ไจก้าเพิ่ม 1 หมื่นล้านสร้างรถไฟชานเมือง บางซื่อ-รังสิต แล้วเช่นกัน
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ได้ประชุมคณะกรรมการนโยบายร่วมลงทุนภาครัฐและภาคเอกชน ครั้งที่ 4/2558ที ทำเนียบรัฐบาล
ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวว่า ที่ประชุมมีมติให้เริ่มดำเนินโครงการโรงผลิตไฟฟ้าจากการแปรรูปขยะ 2 แห่งภายในปีนี้ โดยจะใช้งบประมาณ กว่า 6,000 ล้านบาท ซึ่งถึงเป็น 2 โครงการแรกที่สามารถเริ่มดำเนินการได้ นอกจากนี้ ที่ประชุมอนุมัติหลักการให้กระทรวงคมนาคมเร่งศึกษาการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการลงทุนศูนย์ขนส่งจังหวัดนครพนม ด้วย
นายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวว่า ที่ประชุมอนุมัติให้มีการดำเนินโครงการตั้งโรงผลิตไฟฟ้าจากการแปรรูปขยะมูลฝอย 2 โครงการที่องค์กรปกครองส่วนจังหวัด (อบจ.) นนทบุรี มูลค่าโครงการประมาณ 4,400 ล้านบาท และเทศบาลเมืองนครราชสีมา มูลค่าโครงการประมาณ 2,200ล้านบาท ส่วนโครงการที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมดจะเริ่มดำเนินการปี 2559 ยืนยันทุกโครงการไม่มีความล่าช้า เนื่องจากบางโครงการเริ่มศึกษาการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และการศึกษาความเป็นไปได้ของแต่ละโครงการ โดยทุกโครงการยังเป็นไปตามยุทธศาสตร์ PPP ที่มี 65 โครงการ
ส่วนที่ กระทรวงการคลัง วันเดียวกัน นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง ได้ลงนามในหนังสือแลกเปลี่ยนว่าด้วยความร่วมมือทางการเงินระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลญี่ปุ่น ในการกู้เงินผ่านองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency : JICA) วงเงิน 38,203 ล้านเยน หรือคิดเป็น 10,697 ล้านบาท เพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ระยะที่ 2 ของ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) โดยเป็นการทยอยเบิกจ่ายตามความคืบหน้าของการดำเนินงาน
สำหรับเงื่อนไขเงินกู้รัฐบาลญี่ปุ่นเป็นเงินกู้ผ่อนปรน มีอัตราดอกเบี้ยสำหรับการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการในอัตรา 0.40% ต่อปี และสำหรับส่วนค่าจ้างที่ปรึกษา อัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี และมีค่าธรรมเนียมเงินกู้ (Front-End Fee) ที่ 0.20% ของวงเงินกู้ กำหนดระยะเวลาการชำระหนี้ 20 ปี ปลอดหนี้เงินต้น 6 ปี ส่วนเงื่อนไขในการจัดซื้อสินค้าและบริการเปิดโอกาสให้กระทำโดยเสรี โดยสามารถจัดซื้อสินค้าและบริการได้จากทุกประเทศ โดยวิธีประกวดราคานานาชาติ
นอกจากนี้ การกู้เงินให้ ร.ฟ.ท.ก่อสร้างรถไฟชานเมืองสายสีแดงจะมีการขอกู้อีกครั้งงวดสุดท้ายในช่วงปี 2559 อีกจำนวน 3 หมื่นล้านบาท คาดว่ารถไฟดังกล่าวจะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในอีก 3 ปีข้างหน้า
ทั้งนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นได้ให้ความช่วยเหลือทางการเงินในรูปเงื่อนไขผ่อนปรนเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแก่ประเทศไทยอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2511 จนถึงปัจจุบันมีวงเงินกู้รวมทั้งสิ้น 2,202,608 ล้านเยน โดยความช่วยเหลือทางการเงินส่วนใหญ่จะมุ่งให้แก่โครงการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาเมือง และพัฒนาชนบท รวมทั้งโครงการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรมนุษย์