- Details
- Category: สำนักนายกฯ
- Published: Monday, 01 June 2015 21:39
- Hits: 2401
'ประยุทธ์'ไฟเขียวทำประชามติ ย้ำคนผิดต้องเข้ากระบวนการ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว 2557 เพื่อเปิดทางให้ทำประชามติว่า เรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวกับตน เพราะคณะรัฐมนตรีได้ส่งไปแล้ว ซึ่งหากมีการเสนอให้ทำประชามติรัฐบาลก็ไม่ได้ขัดข้อง ถ้าเห็นชอบร่วมกันก็ต้องแก้เป็นรัฐธรรมนูญ ซึ่งในเรื่องของรายละเอียดการทำประชามติคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ต้องเสนอว่าจะทำอย่างไร
ในส่วนประเด็นที่ตนห่วงใยก็พูดไปแล้ว ว่าจะทำอย่างไรถึงจะไม่เสียเปล่า ที่พูดกันทุกวันว่า เสียของหรือไม่เสียของ คือคนไปตัดสินกันเอง มันไม่ใช่แต่ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และต้องเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม ถ้าไม่เชื่อมั่นแล้วศาลนู้น ศาลนี่ แล้วจะไปได้อย่างไรประเทศไทย มันไม่ได้ วันนี้ตนพยายามไม่บิดเบือนอำนาจในทางตุลาการ องค์กรอิสระก็ว่าไป จะผิดจะถูกก็ว่ามา แต่ทุกคนต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ใครไม่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมก็ต้องลงโทษก็เป็นนักโทษไปเท่านั้นเอง
'ทวีศักดิ์'เตือนร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เน้น'ภาคประชาสังคม'ส่อเจอต้าน
แนวหน้า : ที่ห้องประชุม ดร.สมศักดิ์ และ คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ชั้น 2 อาคารสยามบรมราชกุมารี สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) รศ.ทวีศักดิ์ สูทกวาทิน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะประธานสภาคณาจารย์ กล่าวปาฐกถาพิเศษในวาระครบรอบ 60 ปี คณะรัฐประศาสนศาสตร์ นิด้า ในหัวข้อ "ภาคพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญใหม่"
โดย รศ.ทวีศักดิ์ กล่าวว่า การพูดเรื่องพลเมือง ภาคประชาสังคมนั้นพูดยาก เพราะถือเป็นค่านิยมในสังคม เช่น หากเราไปพูดว่าไม่เห็นด้วยในเรื่องสิทธิสตรีหรือสิทธิมนุษยชน คนพูดก็อาจมีปัญหา หากเราไปขวางกระแสก็จะถูกหาว่าไปยืนข้างเผด็จการ แนวทางการนำเสนอในวันนี้จะระบุถึงปรากฏการณ์เชิงประจักษ์ ซึ่งมีทฤษฎีรองรับ และเป็นการกล่าวถึงพลเมืองในแง่กระบวนความคิด ที่สะท้อนประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมหรือการเมืองภาคประชาชน จากที่มีการเสนอแก้ไขคำว่าพลเมืองในรัฐธรรมนูญร่างแรกให้เป็นประชาชน มองได้ในแง่ที่ว่าไม่อยากให้จำแนกคนในสังคม แต่ถ้ามองในแง่กระบวนความคิดก็ไม่มีอะไรเปลี่ยน
รศ.ทวีศักดิ์ กล่าวอีกว่า บ้านเราในช่วง 6 - 7 ปีที่ผ่านมา กลุ่มทุนไม่ได้อยู่ในภาคธุรกิจอย่างเดียว แต่ก้าวเข้ามาผนวกไปกับอำนาจรัฐ จนสังคมเกิดความไม่ไว้วางใจและความเชื่อมั่น การเรียกร้องให้ประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมจึงมีมากขึ้น ยิ่งในรัฐธรรมนูญร่างแรกที่เน้นภาคประชาสังคมแบบสุดๆ แต่ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าดีหรือไม่ เจตนารมณ์และมาตรการที่เป็นฐานในการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่นั้นคือการลดอำนาจรัฐเพิ่มอำนาจประชาชน ภาคธุรกิจอาจมีข้อกังวลว่าทำให้มีอุปสรรคต่อการลงทุน สิ่งนี้เราต้องระวังว่าอาจถูกต่อต้าน ที่ผ่านมาหากพูดถึงภาคประชาสังคมก็ต้องพูดถึงเอ็นจีโอ ที่มีบทบาทในการตรวจสอบภาครัฐมายาวนาน ซึ่งในมาตรา 28 ของร่างรัฐธรรมนูญที่ให้มีสมัชชาคุณธรรมหรือองค์กรตรวจสอบภาคพลเมืองนั้น อาจเป็นแนวทางทำให้เอ็นจีโอผันตัวเองเข้าไปอยู่ในอำนาจรัฐ และการกำหนดให้พลเมืองมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความหวั่นไหวมาก เพราะเกรงว่าคู่แข่งที่แพ้การเลือกตั้งจะไปอยู่ในองค์กรเหล่านี้ ซึ่งผลกระทบประชาชนอาจไม่ได้รับการบริการที่ดี
"การรุกคืบของประชาสังคมในกรอบการบริหารราชการแผ่นดินมีมากพอสมควร ในทัศนะผมไม่ใช่เรื่องเสียหาย แต่ถ้าผลักดันฝ่ายเดียว โดยที่ฝ่ายรัฐชาติกับทุนถูกรุกคืบ ถ้าร่างรัฐธรรมนูญแรกนี้มีผลบังคับใช้ เชื่อว่าอาจเกิดข้อขัดข้องและถึงทางตันอีกครั้งหนึ่ง เป็นไปได้หรือไม่ว่าจะลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาสังคมและทุนด้วยเพื่อเฉลี่ยให้เท่ากัน ไม่รู้ว่ากระบวนการพูดคุยจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ แต่สิ่งนี้ควรคุยกันให้ตกผลึกเสียก่อน" รศ.ทวีศักดิ์ กล่าว