- Details
- Category: สำนักนายกฯ
- Published: Wednesday, 13 May 2015 23:57
- Hits: 3390
'บิ๊กตู่'ชูใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนปท. ตั้งเป้า SME เข้มแข็งด้วยเทคโนโลยี
แนวหน้า : ที่ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วย นายวรพล โสคติยานุรักษ์ กรรมการในคณะกรรมการพัฒนาระบบนวัตกรรม และนายทวีศักดิ์ กออนันตกูล เลขาธิการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกันแถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบนวัตกรรมของประเทศ ครั้งที่ 2/2558 โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน
นายพิเชฐ กล่าวว่า นายกฯ ได้ย้ำว่าเรื่องนวัตกรรมถือเป็นวาระแห่งชาติที่จะนำประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน โดยเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศโดยใช้วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม ในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
โดยมีวาระสำคัญคือ 1.นายกฯ ให้ความเห็นชอบในมาตรการส่งเสริมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 2.นายกฯ ได้มีดำริสืบเนื่องจากการประชุมครั้งที่แล้วว่า ประเทศไทยควรมีระบบการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อเอื้ออำนวยให้เกิดนวัตกรรมไทยที่สร้างสรรค์มากยิ่งขึ้น โดยได้มีการจัดทำบัญชี 2 บัญชี คือ บัญชีของความต้องการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐโดยมีสำนักงบประมาณเป็นผู้รับผิบชอบ ซึ่งขณะนี้ได้มีการเริ่มทำแล้วโดยมีข้อกำหนดว่า อย่างน้อยที่สุด 10% แต่ไม่เกิน 30% ของปริมาณหรือมูลค่าการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อสนับสนุนให้ใช้นวัตกรรมไทย และบัญชีนวัตกรรมไทยโดยมีข้อสำคัญคือสิ่งที่คิดค้นสร้างสรรค์ และสามารถนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ โดยมีมาตรฐานเทียบเคียงหรือไม่ต่ำกว่ามาตรฐานสากล
3.ข้อเสนอมาตรการสร้างความเข้มแข็งของ SME ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม 4.กลไกลระบบตลาดทุนเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการนวัตกรรมไทย 5.การพัฒนาเทคโนโลยีการขนส่งทางรางและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อสนับสนุนการคมนาคมระบบรางของประเทศไทย และ 6.การเห็นชอบในหลักการพื้นที่นวัตกรรมพิเศษ
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีมติที่จะกระจายนวัตกรรมออกสู่ภูมิภาค โดยตลอดทั้งปีจะมีหลายหน่วยงานจัดมหกรรมนวัตกรรมในรูปแบบต่างๆ มีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นเจ้าภาพดำเนินการจัดมหกรรมดังกล่าวภายในปี 2558 จำนวน 3 แห่ง คือ ภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อส่งเสริมให้เกิดธุรกิจเทคโนโลยีที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูง และนำผลงานจากหน่วยงานต่างๆ ที่ยื่นเสนอขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทยมาจัดแสดง ทั้งนี้ นายกฯ ได้สั่งการให้กรมประชาสัมพันธ์ รณรงค์แพร่ข่าวให้คนไทยได้รู้จักผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมไทย พร้อมสร้างความเชื่อมั่นให้คนไทยมีความภูมิใจอุดหนุนสินค้าไทย เพื่อทำให้คนไทยมีงานทำและเศรษฐกิจเติบโต
ด้าน นายวรพล กล่าวว่า สำหรับรายละเอียดในวาระสำคัญข้างต้น ได้แก่ 1.ทางคณะกรรมการฯ เห็นชอบการยกเว้นภาษีเงินปันผลและกำไร แก่ธุรกิจเงินร่วมลงทุนเพื่อเป็นกลไกหลักในการลงทุนให้ธุรกิจเกิดใหม่ทั้งหลายให้เข้มแข็งขึ้น 2.การลงทุนในธุรกิจฐานเทคโนโลยี หากเติบโตต่อไปจนสามารถเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ได้ในอนาคต ก็จะยกเว้นให้เก็บภาษีนิติบุคคลของบริษัทดังกล่าว 15% เป็นระยะเวลา 5 ปี 3.การจัดตั้งกองทุนที่จะร่วมลงทุนในธุรกจเงินร่วมลงทุนในลักษณะ Fund of funds โดยกองทุนดังกล่าวจะไม่ลงทุนโดยตรงในบริษัทแต่จะลงทุนผ่านกองทุนเงินร่วมลงทุนอีกทีหนึ่ง หรือกองทุนร่วมลงทุนที่จัดตั้งโดยมหาวิทยาลัยหรือสถาบันวิจัย เพื่อจะทำให้เกิดความเข้มแข็งและความชัดเจนในนโยบายการส่งเสริมเพื่อให้เกิดความเข้มแข็ง
ขณะที่ นายทวีศักดิ์ กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้ใช้ตลาดภาครัฐนำร่องเปิดตลาดให้กับสินค้า หรือบริการนวัตกรรมไทยบางชนิด ซึ่งมีคนทำได้แล้ว แต่ยังไม่ได้รับการยอมรับเท่าที่ควร ซึ่งหากว่ามีการทดสอบทางเทคนิคจนผ่านมาตรฐาน มีการขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทย โดย สวทช.เป็นผู้รับผิดชอบ www.innovation.go.th ซึ่งภาครัฐจะซื้อนวัตกรรมดังกล่าว และภาคเอกชนเองก็ให้ความสนใจในการร่วมมือเช่นกัน
สำหรับ เรื่องการสร้างความเข้มแข็งของ SME ด้านนวัตกรรมของประเทศนั้น ที่ประชุมได้เห็นชอบในการขยายผลโครงการที่ปรึกษาเทคโนโลยีนวัตกรรม (ITAP) ที่ช่วยผู้ประกอบการในการแก้ไขปัญหาเชิงเทคนิคให้พร้อมใช้งานจริง โดยตั้งเป้าหมายพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีรวม 13,000 ราย ซึ่งภาครัฐจะสนับสนุนงบประมาณ 1 ใน 3 หรือราว 5,000 ล้านบาท โดยที่เหลือจะเป็นการลงทุนโดยภาคเอกชน โดยคาดว่าจะทำให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม เช่น เพิ่มกำไร ลดต้นทุน เพิ่มการลงทุน เพิ่มการจ้างงาน ประมาณ 90,000 ล้านบาท ภายใน 6 ปี
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบให้ส่งเสริมให้ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า โดยมีเป้าหมายเพื่อลดมลพิษ และให้มีต้นแบบยานยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตขึ้นภายในประเทศในปี 2558 ผ่านการจัดแข่งขันผลิตรถโดยสารไฟฟ้าขึ้น และเพื่อคัดเลือกเอกชนที่สามารถผลิตต้นแบบรถโดยสาร ที่ภาครัฐต้องการซื้อภายในปี 2558 โดยผู้ชนะจะได้ตลาดภาครัฐ ประมาณ 500 คัน ใน 2 - 3 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ ตลาดของภาครัฐที่เหมาะสมคือรัฐวิสาหกิจ ที่มีการขนส่งมวลชนในพื้นที่ที่มีประชาชกรหนาแน่น ซึ่งควรลดพิษ และควรเปลี่ยนเป็นรถบัสไฟฟ้าโดยเร็ว และมอบหมายให้กระทรวงการคลัง พิจารณาเงื่อนไขการจัดซื้อรถบัสใหม่แก่องค์กรขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ (ขสมก.) โดยหากมีการจัดซื้อ ควรเป็นงบประมาณซื้อรถบัสไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศ พร้อมจัดตั้งสถานีประจุไฟ หรือสถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่ที่สอดคล้องกับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ที่จะกำหนดขึ้น รวมทั้งจัดงบประมาณพิเศษ เพื่อเร่งรัดวิจัยและสร้างรถต้นแบบขึ้นทดลองใช้งานจำนวนหนึ่งด้วย
นายกฯ หนุนไทยใช้นวัตกรรมพัฒนาศก. ตั้งเป้าดันไทยเป็นศูนย์กลางผลิตรถยนต์ไฟฟ้า
นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบนวัตกรรมของประเทศ(คพน.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมว่า ที่ประชุมเห็นชอบนโยบายและมาตรการสำคัญในการนำประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศโดยใช้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และนวัตกรรมยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันภาคเอกชน และใช้ตลาดรัฐนำร่องเป็นฐานลูกค้าสำคัญ ให้เอกชนที่คิดค้นและผลิตสินค้านวัตกรรม เพื่อส่งเสริมให้คนไทยใช้สินค้าไทยที่มีคุณภาพ ผ่านการขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทย โดยให้สวทช.เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ และให้ภาครัฐซื้อสินค้าหรือบริการที่อยู่ในบัญชีนวัตกรรมไม่น้อยกว่า 10% แต่ไม่เกิน 30% ของงบประมาณที่ได้รับจัดซื้อจัดจ้าง โดยวิธีกรณีพิเศษ และให้ขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทยได้ไม่เกิน 8 ปี
ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ขยายผลโครงการที่ปรึกษาเทคโนโลยีนวัตกรรม ช่วยผู้ประกอบการในการแก้ปัญหาเชิงเทคนิคให้พร้อมใช้งานได้จริง เพื่อสร้างความเข้มแข็งของผู้ประกอบการ SMEs ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยตั้งเป้าหมายพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีรวม 13,000 ราย ซึ่งภาครัฐจะสนับสนุนงบประมาณ 1 ใน 3 หรือราว 5 พันล้านบาท
สำหรับ ภาคเอกชนที่ใช้เทคโนโลยีเป็นฐานการผลิต หรือธุรกิจฐานเทคโนโลนั้น เพื่อกระตุ้นภาคเอกชนลงทุนในธุรกิจฐานเทคโนโลยีแบบเงินร่วมลงทุน ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้มีการยกเว้นภาษีเงินได้จากเงินปันผล และกำไรจากการขายหุ้นให้แก่ธุรกิจเงินร่วมลงทุน(Private Equity) ที่ลงทุนในธุรกิจฐานเทคโนโลยี และเพื่อสร้างบรรยากาศให้ธุรกิจเงินร่วมลงทุนเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย อีกทั้งเห็นชอบหลักการการจัดตั้งกองทุนที่จะร่วมลงทุนในธุรกิจเงินร่วมลงทุน ในลักษณะ FUND OF FUNDS โดยกองทุนนี้จะไม่ลงทุนโดยตรงในธุรกิจฐานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม(วทน.) แต่จะลงทุนผ่านกองทุนเงินร่วมลงทุน/ทรัสต์ภาคเอกชน โดยรัฐบาลจะสนับสนุนงบประมาณปีละ 500 ล้านบาท ระยะเวลา 4 ปี
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบให้ไทยเป็นศูนย์กลางผลิตรถยนต์ไฟฟ้า โดยปี 2558 ตั้งเป้าหมายให้ภาคเอกชนเสนอต้นแบบยานยนต์ไฟฟ้าที่จะผลิตขึ้นในประเทศปีนี้ ก่อนที่จะมีการคัดเลือกเอกชนผลิตรถต้นแบบ โดยคาดว่าผู้ที่ชนะการคัดเลือกจะต้องผลิตรถยานยนต์ไฟฟ้าประมาณ 500 คัน ใน 2-3 ปีข้างหน้า
พร้อมกันนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบการจัดมหกรรมนวัตกรรมไทยในส่วนภูมิภาค จำนวน 3 แห่ง ในจังหวัดเชียงใหม่ ขอนแก่น และสงขลา เพื่อส่งเสริมให้เกิดธุรกิจเทคโนโลยีแบบใหม่
อินโฟเควสท์