- Details
- Category: สำนักนายกฯ
- Published: Wednesday, 13 May 2015 23:42
- Hits: 2917
'บิ๊กตู่'หวั่น ศก.ชะลอตัวสั่งเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ-ผุดมาตรการกระตุ้นครึ่งปีหลัง
บ้านเมือง : โฆษกรัฐบาลเผย รัฐบาลเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณหวังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นชัดเจนในครึ่งปีหลัง ล่าสุดมีการเบิกจ่ายงบประมาณแล้วกว่า 50% ซึ่งเป็นการเบิกจ่ายรวดเร็วขึ้นและเบิกจ่ายในวงเงินที่สูงกว่าที่เคยเป็นมาในอดีต
ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แสดงความกังวลต่อปัญหาเศรษฐกิจของประเทศที่ชะลอตัว จึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณให้รวดเร็วเพื่อให้เม็ดเงินหมุนเวียนลงสู่ระบบทันที
ทั้งนี้ จากการหารือกับนายสมศักดิ์ โชติรัตนศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ทำให้ทราบว่าขณะนี้การเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2558 ได้ดำเนินการไปแล้วกว่า 1.503 ล้านล้านบาท จากที่ตั้งไว้ 2.575 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 58.37% ส่วนงบลงทุนที่มีวงเงินทั้งหมดกว่า 4.49 แสนล้านบาทนั้น ขณะนี้เบิกจ่ายไปแล้ว 1.63 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 36.21% และยังมีสัญญาที่รอการเบิกจ่ายอีก 1.05 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 23.44% ซึ่งวงเงินทั้งสองส่วนรวมกันจะคิดเป็นสัดส่วนการเบิกจ่ายประมาณ 59% ของงบลงทุนทั้งหมด และคาดว่าในปีนี้รัฐจะสามารถเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อการลงทุนได้ถึงประมาณ 87-88% ซึ่งถือว่าสูงเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากที่ผ่านมาการเบิกจ่ายงบลงทุนนั้นจะทำได้ประมาณ 70% ของวงเงินทั้งหมด
นอกจากนี้ นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง ได้ให้ข้อมูลว่า ปีนี้การเบิกจ่ายเงินงบประมาณของรัฐบาลมีความรวดเร็วมากขึ้นโดยเฉพาะในส่วนของงบลงทุนกว่า 4.49 แสนล้านบาท ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านๆ มาจะมีการก่อหนี้ซึ่งเป็นขั้นตอนเริ่มต้นของการใช้งบลงทุนได้เพียงประมาณ 21-22%
ทั้งนี้ ภายหลังจากขั้นตอนการก่อหนี้เสร็จสิ้นแล้ว ภาคเอกชนก็จะนำเงินลงทุนของตนเองเดินหน้าโครงการตามสัญญา ก่อนจะนำผลงานมาเบิกเงินกับรัฐบาลเพื่อใช้หมุนเวียนต่อไป ซึ่งเม็ดเงินที่มีการเบิกจ่ายไปแล้วและกำลังจะเบิกจ่ายต่อจากนี้ จะส่งผลให้เกิดการ กระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างชัดเจนในช่วงครึ่งปีหลัง
ในการประชุมวันนี้ นายกรัฐมนตรีได้มีบัญชาปรับโครงสร้างของคณะกรรมการศูนย์อำนวยการเตรียมความพร้อมประเทศไทยในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยมีนายกรัฐมนตรีจะเป็นประธาน และให้รองนายกรัฐมนตรีด้านต่างๆ เป็นผู้ดูแลในสามเสาหลัก กล่าวคือ เสาการเมืองและความมั่นคง-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง เป็นประธาน เสาเศรษฐกิจ-ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และเสาสังคมและวัฒนธรรม-นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน นอกจากนี้ ให้เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นประธานคณะทำงานด้านกฎหมาย และอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์เป็นประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ โดยให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ประสานงานหลัก
ในส่วนแรก เป็นการรายงานถึงผลการดำเนินการในด้านการ เตรียมความพร้อมของประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ซึ่งไทยได้กำหนดให้มีแผนยุทธศาสตร์ต่อประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (2558-2564) และมีแผนงาน 5 ปี สำหรับประชาคมการเมืองและความมั่นคงของไทย โดยความคืบหน้าเสาการเมืองและความมั่นคง ที่สำคัญ คือ การจัดตั้งศูนย์เพื่อผลักดันความร่วมมือในกรอบอาเซียน 3 แห่ง ได้แก่ 1.ศูนย์อาเซียนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อบูรณาการข้อมูลการเดินทางเข้า-ออกของบุคคลและยานพาหนะ 2.ศูนย์ ASEAN-NARCO ที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด 3.ศูนย์แพทย์ทหารอาเซียน (ASEANCentre of Military Medicine -ACMM) ที่กระทรวงกลาโหม
ทั้งนี้ มีการเตรียมการใน 5 ประเด็นหลักที่ถือเป็นประเด็นเร่งด่วน ได้แก่ 1.เรื่องการบริหารจัดการชายแดน เพื่อป้องกันผล กระทบเชิงลบจากการจัดตั้งประชาคมอาเซียน ซึ่งขณะนี้ สมช. อยู่ระหว่างการจัดทำร่างแผนการบริหารจัดการชายแดนด้านความมั่นคง (2558-2564) โดยนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญในเรื่องนี้และเสนอให้เสาด้านเศรษฐกิจและสังคม เข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องนี้ด้วย 2.การเสริมสร้างความมั่นคงทางทะเล เพื่อรักษาความปลอดภัยของเส้นทางการเดินเรือและอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล 3.การแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ ภายหลังการรวมตัวเป็นประชาคมซึ่งอาจทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งเป็นที่มาของการจัดตั้งศูนย์ ASEAN-NARCO และศูนย์อาเซียนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 4.การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ เพื่อเสริมสร้างสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค ซึ่งรวมถึงบทบาทไทย ในฐานะประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียนจีน ซึ่งกำลังจะหมดวาระใน ก.ค.58 นี้ด้วย โดยนายกรัฐมนตรีได้ย้ำเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสร้างความเป็นหุ้นส่วนระหว่างกัน 5.การเสริมสร้างศักยภาพในการปฏิบัติการทางทหารร่วมกัน เช่น การผลักดันการดำเนินงานของศูนย์แพทย์ทหารอาเซียน การเตรียมความพร้อมด้านการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติ และการจัดตั้งเครือข่ายการติดต่อสื่อสารด้านความมั่นคงอาเซียน ซึ่งในเรื่องการบรรเทาภัยพิบัติ นายกรัฐมนตรีได้ขอให้บรรจุเรื่องการเข้าถึงน้ำสะอาดของประชาชน และการขจัดหมอกควันเข้ามาเพิ่มเติมด้วย
สำหรับ การเตรียมความพร้อมประเทศไทยของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ไทยได้ดำเนินการตาม AEC blueprint จากทั้งหมด 611 มาตรการ ซึ่งต่อมาถูกลดลงเหลือ 540 มาตรการ โดยไทยมีความคืบหน้าประมาณ 80% เป็นลำดับสองรองจากสิงคโปร์