- Details
- Category: สำนักนายกฯ
- Published: Saturday, 09 May 2015 22:04
- Hits: 2198
'หม่อมอุ๋ย' เผยไม่จำเป็นต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ แจงไอเอ็มเอฟ ยืนยันไทยยังไม่มีปัญหาเงินฝืด
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีไม่ได้สั่งให้มีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไทยค่อยๆ ดีขึ้น เพียงแต่ไม่ได้กระโดดพรวดขึ้นมา โดยมีเพียงการส่งออกที่ยังไม่ฟื้นตัว
ส่วนการที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ปรับลงต่ำสุดในรอบ 10 เดือน แต่ดัชนีภาคการท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้นมากในรอบ 10 เดือน และคำขอจัดตั้งโรงงานในประเทศก็เพิ่มมากขึ้นด้วย ไม่มี เศรษฐกิจก็ดีอยู่แล้ว ค่อยๆดีขึ้น แต่กระโดดพรวดไม่ได้เพราะ export หดตัวอยู่"รองนายกฯ กล่าว
พร้อมระบุว่า ข้อตกลงในการเปิดเสรีภาคบริการในกลุ่มประเทศอาเซียนนั้น คาดว่าสามารถดำเนินตามข้อตกลงได้ภายในสิ้นปีนี้ แต่ยังคงสงวนไว้สำหรับภาคเทเลคอมและภาคการเงิน และเมื่อถึงปี 59 จะผลักดันให้สามารถดำเนินการได้ครบทุกภาคบริการ
‘อุ๋ย’ชี้สถาบันการเงินต้องให้กู้รายย่อย เพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งทุน
แนวหน้า : ‘อุ๋ย’ชี้สถาบันการเงินต้องให้กู้รายย่อย เพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งทุน ช่วยกระตุ้นระบบเศรษฐกิจ
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดงานมหกรรมการเงิน Money Expo 2015 ครั้งที่ 15ว่า สถาบันการเงินต้องช่วยกันให้ผู้กู้รายย่อยเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันการปล่อยสินเชื่อเพื่อรายย่อยของธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ(แบงก์รัฐ)ที่ต้องเสียอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 28% ต่อปี มีปริมาณลูกหนี้รวมกัน 11 ล้านรายช่วยแก้ปัญหาการเงินให้กับผู้มีรายได้น้อยได้จำนวนมาก เพราะไม่ต้องไปกู้เงินนอกระบบที่ต้องเสียดอกเบี้ย 5-10% ต่อเดือน
นอกจากนี้ รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)สนับสนุนการให้บริการสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ ซึ่งขณะนี้มีผู้ยื่นขอจัดตั้ง 15 ราย อนุมัติแล้ว 5-6 ราย คาดว่าจะเปิดดำเนินการได้เร็วๆ นี้ ซึ่งจะช่วยให้รายย่อยเข้าถึงสินเชื่อมากขึ้น และในอนาคตเมื่อการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอล หรือดิจิตอลอีโคโนมี จะทำให้มีการพัฒนาระบบอินเตอร์เนตให้เข้าถึงทุกบ้านภายใน 1-2 ปี ข้างหน้า ทำให้สถาบันการเงินต่างๆ เสนอบริการทางการเงินให้กับประชาชนผ่านทางอินเตอร์เนตเป็นดิจิตอลแบงกิ้ง โดยที่ไม่ต้องเปิดสาขาเพิ่ม
ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวว่า การที่เงินบาทที่อ่อนค่าลงขณะนี้เป็นผลมาจากมาตรการของ ธปท.ที่ผ่อนคลายมาตรการเงินทุนเคลื่อนย้าย เช่น การเปิดให้นักลงทุนไทยสามารถซื้อและกู้เงินตราต่างประเทศได้มากขึ้น ขณะเดียวกันต่างชาติสามารถซื้อและกู้เงินบาทได้เพิ่มขึ้นเช่นกัน ทำให้เกิดความสมดุลมากขึ้น
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาประเทศไทยมีเงินดอลลาร์ในระบบมากเพราะมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลการค้า แต่มีเมื่อเปิดช่องทางดังกล่าวทำให้มีการซื้อดอลลาร์ขายบาทมากขึ้นเพิ่มเงินบาทในระบบและหนุนเงินบาทอ่อนค่าลง ซึ่งเชื่อว่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลงอีก เพราะขณะนี้เป็นเพียงการประกาศมาตรการแต่ยังไม่มีการบังคับใช้ ซึ่งจะทยอยอนุมัติมาตรการต่างๆ เร็วๆ นี้ ดังนั้นก็จะทำให้มีเงินบาทเข้ามาในระบบมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออก
ส่วนการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังจะดีกว่านี้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจในต่างประเทศ แต่การที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าในขณะนี้ก็ทำให้ภาคการส่งออกมีความผ่อนคลายมากขึ้น ซึ่งถือว่ามาตรการของธปท.ที่ออกมามีผลช่วยทำให้เงินบาทอ่อนค่าได้เป็นอย่างดีเพราะในภาวะที่อัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวนั้นไม่สามารถที่จะลดค่าเงินบาท หรือแทรกแซงมากเกินไป
ส่วนกรณีที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลงถึง 2 ครั้งซ้อน เหลือ 1.50% แต่สถาบันการเงินยังไม่ปรับลงตามนั้น ม.รว.ปรีดิยาธรกล่าวว่า รัฐบาลหวังผลการลดอัตราดอกเบี้ยจะช่วยสนับสนุนเงินบาทอ่อนค่ามากกว่ามุ่งให้ธนาคารพาณิชย์ลดอัตราดอกเบี้ยหรือช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจ
อุ๋ย’แจงไอเอ็มเอฟ ยืนยันไทยยังไม่มีปัญหาเงินฝืด
แนวหน้า : นายมิซซูชิโร่ ฟูรูซาว่า รองกรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้เข้าพบ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ
โดยม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่านายฟูรูซาว่าก็ได้ชื่นชมไทยในการเตรียมความพร้อมด้านเศรษฐกิจ โดยในด้านเศรษฐกิจสิ่งที่ต้องเร่งปฏิรูปขณะนี้มีอยู่ 5 เรื่องคือ น้ำมัน ภาษี เศรษฐกิจดิจิตอล การพัฒนาอุตสาหกรรมแนวใหม่และมาตรการการดึงดูดต่างชาติให้เข้าร่วมลงทุนในไทยมากขึ้น ด้านภาษีขณะนี้ก็กำลังเริ่มดำเนินการจัดเก็บภาษีมรดก ส่วนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้สั่งชะลอไว้ เนื่องจากต้องมีการศึกษาข้อมูลให้รอบด้านก่อน
พร้อมกันนี้ ได้ชี้แจงกรณีกรณีที่อัตราเงินเฟ้อติดลบต่อเนื่องกัน 4 เดือน จนก่อให้มีข้อกังวลว่าเศรษฐกิจไทยจะเกิดภาวะเงินฝืด โดยได้ยืนยันสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่เกิดภาวะเงินฝืด แต่เกิดจากผลกระทบการปรับลดลงของราคาน้ำมันในตลาดโลก ที่ปรับตัวลดลงจากระดับ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลงมาเหลือ 50–60 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเท่านั้น
โดยราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงมาก ทำให้ราคาของโลหะมีค่าทุกชนิดปรับตัวลดลง ส่งผลกระทบให้ประเทศผู้ส่งออกสินค้าเหล่านี้มีกำลังซื้อลดลงจนกระทบต่อการส่งออกและนำเข้าสินค้าของหลายประเทศทั่วโลก ขณะที่ราคาพืชผลเกษตรปรับตัวลดลงทั้งข้าว ยางพารา รวมทั้งน้ำตาลที่ราคาเริ่มตกต่ำ ทำให้กำลังซื้อของประชาชนลดลง
อย่างไรก็ตาม ตัวชี้วัดเศรษฐกิจไทยยังไม่เผชิญกับภาวะเงินฝืด เห็นได้จากการท่องเที่ยวที่ขยายตัว โดยนักท่องเที่ยวมีการใช้จ่ายเงินเพิ่มขึ้น 20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีที่ผ่านมา ขณะที่การเปิดโรงงานใหม่เกิดขึ้นต่อเนื่อง โดยภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังมีการขยายตัว โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)ยืนยันว่าไตรมาส 1/2558 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จะขยายตัวไม่ต่ำกว่า 3% โดยตัวเลขเศรษฐกิจจริงไตรมาส 1 สศช.จะประกาศตัวเลขในวันที่ 18 พฤษภาคม 2558 โดยเศรษฐกิจชะลอตัวไม่ได้แปลว่าเงินฝืด จึงต้องรอให้ลงให้สุดก่อน โดยจะรับผลกระทบไปประมาณ 5-6 เดือน ถึงจะทราบว่าหลังจากนั้นจะเป็นอย่างไร
สำหรับ ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ทางเครดิตบูโรคาดว่าปี 2558 จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนไปถึงระดับ 90% ของจีดีพีนั้น ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า ระดับหนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ที่ระดับ 80% มานานแล้ว คือตั้งแต่ตอนที่ตนทำงานอยู่ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ก็อยู่ในระดับดังกล่าว ปัจจุบันเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 87% ของจีดีพี ซึ่งไม่น่ากังวลมากนัก เพราะตัวเลขของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ยังไม่สูงมาก โดยส่วนหนึ่งที่หนี้ครัวเรือนปรับตัวเพิ่มคือการที่รัฐนำเอาหนี้นอกระบบมาอยู่ในระบบ
ปัดไทยเข้าสู่ภาวะเงินฝืด'หม่อมอุ๋ย'แจงไอเอ็มเอฟรอดูเศรษฐกิจไทยอีก 6 เดือนชัดเจน
บ้านเมือง : ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า การหารือกับนายมิตซูฮิโร ฟูรูซาวา (Mitsuhiro Furusawa) รองกรรมการผู้จัดการ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ในโอกาสนายมิตซูฮิ เข้ารับตำแหน่งใหม่ ไอเอ็มเอฟมีสมาชิก 94 ประเทศทั่วโลก แต่ได้เดินทางมาเยือนไทยเป็นประเทศแรกหลังจากที่เข้ารับตำแหน่ง ทั้งนี้ ได้ชี้แจงกรณีที่อัตราเงินเฟ้อติดลบต่อเนื่องกัน 4 เดือน ทำให้มีข้อกังวลว่าเศรษฐกิจไทยจะเกิดภาวะเงินฝืดว่าตนได้หารือร่วมกับนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และนายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
โดยได้ข้อสรุปว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่เกิดภาวะเงินฝืด แต่เกิดจากผลกระทบการปรับลดลงของราคาน้ำมันในตลาดโลก ที่ปรับตัวลดลงจากระดับ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลงมาเหลือ 50-60 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเท่านั้น ซึ่งราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงมาก ทำให้ราคาของโลหะมีค่าทุกชนิดปรับตัวลดลง ส่งผลกระทบให้ประเทศผู้ส่งออกสินค้าเหล่านี้มีกำลังซื้อลดลงจนกระทบต่อการส่งออกและนำเข้าสินค้าของหลายประเทศทั่วโลก ขณะที่ราคาพืชผลเกษตรปรับตัวลดลงทั้งข้าว ยางพารา รวมทั้งน้ำตาลที่ราคาเริ่มตกต่ำ ทำให้กำลังซื้อของประชาชนลดลง
อย่างไรก็ตาม ตัวชี้วัดเศรษฐกิจไทยยังไม่เผชิญกับภาวะเงินฝืด เห็นได้จากการท่องเที่ยวที่ขยายตัว โดยนักท่องเที่ยวมีการใช้จ่ายเงินเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีที่ผ่านมา ขณะที่การเปิดโรงงานใหม่เกิดขึ้นต่อเนื่อง โดยภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังมีการขยายตัว โดย สศช.ยืนยันว่าไตรมาส 1/2558 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จะขยายตัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 3 โดยตัวเลขเศรษฐกิจจริงไตรมาส 1 สศช.จะประกาศตัวเลขในวันที่ 18 พฤษภาคม 2558 โดยเศรษฐกิจชะลอตัวไม่ได้แปลว่าเงินฝืด จึงต้องรอให้ลงให้สุดก่อน โดยจะรับผลกระทบไปประมาณ 5-6 เดือน ถึงจะทราบว่าหลังจากนั้นจะเป็นอย่างไร
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า ได้ชี้แจงว่ารัฐบาลมีแผนการระยะยาวที่จะสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยดำเนินการ 5 ด้านสำคัญ คือ 1.การปรับปรุงแผนการส่งเสริมการลงทุนผ่านยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนฉบับใหม่ 2.นโยบายการส่งเสริมการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัทข้ามชาติในประเทศไทย (IHQ) 3.การปฏิรูปโครงสร้างราคาพลังงาน โดยลดการอุดหนุนน้ำมันเชื้อเพลิงบางประเภทและเก็บภาษีตามอัตราการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 4.การปฏิรูปการเก็บภาษีจากฐานทรัพย์สิน โดยขณะนี้ทำเรื่องการจัดเก็บภาษีมรดกเสร็จเรียบร้อยแล้ว ขณะที่ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างกำลังศึกษาข้อมูล เพื่อนำมาหารืออีกครั้งในช่วงเวลาที่เหมาะสม และ 5.การขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอล
สำหรับ ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ทางเครดิตบูโรคาดว่าปี 2558 จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนไปถึงระดับร้อยละ 90 ของจีดีพีนั้น ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า ระดับหนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ที่ระดับร้อยละ 80 มานานแล้ว คือตั้งแต่ตอนที่ตนทำงานอยู่ที่ ธปท.ก็อยู่ในระดับดังกล่าว ปัจจุบันเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 87 ของจีดีพี ซึ่งไม่น่ากังวลมากนัก เพราะตัวเลขของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ยังไม่สูงมาก โดยส่วนหนึ่งที่หนี้ครัวเรือนปรับตัวเพิ่มคือการที่รัฐนำเอาหนี้นอกระบบมาอยู่ในระบบ โดยตัวเลขสินเชื่อรายย่อยที่คิดดอกเบี้ยบุคคลธรรมดาร้อยละ 28 ต่อปี ซึ่งมีอยู่ 2 ส่วน คือ ส่วนแรกธนาคารปล่อยกู้ 2 ล้านรายเศษ ขณะที่การปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (นอนแบงก์) อยู่ที่ประมาณ 8.7 ล้านราย และในอนาคตจะมีหนี้นาโนไฟแนนซ์อีก เมื่อเข้ามาอยู่ในระบบตัวเลขหนี้ครัวเรือนก็จะสูงขึ้น แต่จะควบคุมได้ง่ายและไม่ได้เป็นสิ่งที่เป็นอันตรายมาก ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อที่รวมสินเชื่อบ้านมากระโดดขึ้นตอนสินเชื่อผ่อนรถยนต์ และบัตรเครดิต ซึ่งบัตรเครดิตธนาคารก็ชะลอการให้สินเชื่อประเภทนี้ลง
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้หารือกับทางกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทยและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในการติดตามเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด และจากภาวะเงินเฟ้อติดลบยืนยันว่าไม่ได้มาจากปัญหาเงินฝืด แต่มีสาเหตุจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลง จนมีผลกระทบต่อการส่งออกโลหะมีค่าทำให้ขายได้ราคาลดลง รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงชะลอตัวประกอบกับราคาพืชผลทางการเกษตรปรับตัวลดลง จนทำให้อัตราเงินเฟ้อติดลบ แต่อย่างไรก็ตาม จะรู้ว่าใช่ภาวะเงินฝืดหรือไม่คงต้องติดตามสถานการณ์อีก 5 ถึง 6 เดือนจึงจะสามารถบอกได้ ส่วนปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 87 ต่อจีดีพี ในขณะนี้ถือว่าไม่น่ากังวลเนื่องจากหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอล ไม่ได้ปรับตัวสูงขึ้น