- Details
- Category: สำนักนายกฯ
- Published: Sunday, 26 April 2015 12:26
- Hits: 2178
ประชาสังคม 18 องค์กร ทำจดหมายเปิดผนึกถึงนายกฯ แจงจุดยืนการคุ้มครองการลงทุนทต่อนโยบายสาธารณะ หลังหน่วยราชการกลัวถูกต่างชาติฟ้องร้อง
น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน เปิดเผยว่า ภาคประชาสังคม 18 องค์กรด้วย เครือข่ายนักวิชาการ เครือข่ายผู้ป่วย เครือข่ายผู้บริโภค เครือข่ายองค์กรประชาชน และองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านสุขภาวะได้รวมตัวกันทำจดหมายเปิดผนึกถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้สั่งกระทรวงต่างประเทศชี้แจงท่าทีและจุดยืนการคุ้มครองการลงทุนที่มีผลกระทบต่อการจัดทำนโยบายสาธารณะ หลังหน่วยราชการอ้างกลัวถูกนักลงทุนต่างชาติฟ้องร้อง ตั้งท่าขวางนโยบายและกฎหมายเพื่อประชาชน อาทิ การแก้ไข พรบ.ยา พ.ศ.2510, การปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี มาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหินภายใน 2 ปี เมื่อวันที่ 12 เม.ย.พ.ศ.2554 และ พรบ.ควบคุมยาสูบฉบับใหม่
“กระทรวงพาณิชย์อ้างว่า กฎหมายต่างๆ ที่กำลังแก้ไขเพื่อให้ประชาชนคนไทยมีสุขภาวะที่ดีขึ้นซึ่งเป็นหนึ่งในกระบวนการปฏิรูปประเทศอาจสร้าง ‘ผลกระทบต่อการค้าและการลงทุน’ จะทำให้รัฐไทยถูกนักลงทุนต่างชาติฟ้องเรียกค่าเสียหายผ่านอนุญาโตตุลาการ ทั้งที่ตัวแทนของกระทรวงการต่างประเทศได้ชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการของรัฐสภาหลายสมัยและหลายวาระ ยืนยันว่า การคุ้มครองการลงทุนของไทยในเอฟทีเอต่างๆนั้น ยังไม่อนุญาตให้มีการฟ้องร้องผ่านกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชนต่อนโยบายสาธารณะ เราจึงต้องการให้รัฐบาลชี้แจงต่อสาธารณะอย่างเปิดเผยว่า จุดยืนและท่าทีของรัฐบาลชุดปัจจุบันยังเป็นเช่นนี้หรือไม่ หรือมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อเอาใจนักลงทุนไปแล้ว”
ที่ผ่านมา รัฐไทยเคยถูกนักลงทุนต่างชาติฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายมูลค่า 1,400 ล้านบาทต่ออนุญาโตตุลาการ จากกรณีบริษัทวอเตอร์บาวน์และดอนเมืองโทลล์เวย์ ทำให้คณะรัฐมนตรีมีมติลงวันที่ 28 กรกฎาคม 2552 ระบุว่า หากจะใช้กระบวนการอนุญาโตตุลาการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับนักลงทุนต่างชาติ จะต้องมีความยินยอมจากรัฐบาลไทยเป็นการเฉพาะในทุกกรณีไป ซึ่งมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ระบุเหตุของมตินี้ว่า หากหน่วยงานของรัฐเป็นฝ่ายแพ้คดีหรือเป็นฝ่ายที่ต้องชดใช้ค่าชดเชย จะเกิดภาระด้านงบประมาณแผ่นดิน และในทุกรัฐบาลที่ผ่านมาจะค่อนข้างระมัดระวังในการเจรจาประเด็นนี้อย่างมาก
“ที่ผ่านมา ผู้เจรจาเอฟทีเอประเด็นนี้จะยึดตามกรอบการเจรจาความตกลงเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 190 ที่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2553 ที่กำหนดให้ ไม่คุ้มครองการลงทุนที่ไม่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจจริง (real economic activities) และจะคุ้มครองการลงทุนที่มีการลงทุนแล้ว (post-establishment) เท่านั้น และกำหนดมาตรการที่จำเป็น และเหมาะสมเพื่อรักษาประโยชน์สาธารณะ เช่น สิ่งแวดล้อม สุขภาพสาธารณะ มาตรการเพื่อปกป้องดุลการชำระเงิน นโยบายเศรษฐกิจมหภาค ต้องถูกละไว้ ไม่ให้เป็นประเด็นที่นำไปสู่การฟ้องร้อง แต่ขณะนี้ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ กำลังกำหนดกรอบการให้ความคุ้มครองการลงทุนแก่นักลงทุนต่างประเทศโดยไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะมากนัก เราจึงขอให้การกำหนดกรอบต่างๆเป็นไปอย่างมีธรรมาภิบาลและโปร่งใส แม้จะดำเนินการในรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารก็ตาม”
นอกจากนี้ ผู้ประสานงานเอฟทีเอ ว็อทช์ระบุว่า นอกเหนือจากคดีบริษัทวอเตอร์บาวน์ ยังมีผู้ถือหุ้นชาวมาเลเซียของบริษัททุ่งคาฮาเบอร์ซึ่งทำเหมืองทองที่ จ.เลย ได้ยื่นฟ้องร้องรัฐบาลของไทยต่ออนุญาโตตุลาการอีกกรณี
“ช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมากระทรวงการต่างประเทศได้มีการเจรจาอย่างไม่เป็นทางการกับผู้ถือหุ้นของบริษัทดังกล่าว ขอให้เปิดเผยต่อสาธารณะอย่างตรงไปตรงมาว่า กรณีนี้มีความคืบหน้าอย่างไร การเจรจาต่อรองจะส่งผลทำให้รัฐบาลไทยต้องย่อหย่อนกฎระเบียบต่างๆ ของ ก.ล.ต.(คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย) หรือมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมในการทำเหมืองและผลกระทบต่อชุมชนรอบเหมืองหรือไม่อย่างไร เราตระหนักดีว่า รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารย่อมต้องการแสวงหาการยอมรับจากต่างประเทศ แต่นั่นไม่พึงเป็นเหตุให้เกิดการทำลายหรือแลกเปลี่ยนกับนโยบายสาธารณะที่มีไว้เพื่อปกป้องประชาชนและสังคม”
ทั้งนี้ ภาคประชาสังคม 18 องค์กรที่ร่วมลงนามประกอบไปด้วย กลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch), เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย, กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ, สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค, เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก, ชมรมเพื่อนโรคไต, เครือข่ายเพื่อนมะเร็ง, มูลนิธิเข้าถึงเอดส์, คณะกรรมการองค์การพัฒนาเอกชนด้านเอดส์, มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, มูลนิธิเภสัชชนบท, ชมรมเภสัชชนบท, กลุ่มศึกษาปัญหายา, มูลนิธิชีววิถี, มูลนิธิบูรณะนิเวศ, มูลนิธิสุขภาพไทย และ โครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย