- Details
- Category: สำนักนายกฯ
- Published: Wednesday, 08 April 2015 22:41
- Hits: 2159
หม่อมอุ๋ยคาด GDP ไทยกลับมาโต 5% ได้ภายใน 2-3 ปีรับผลนโยบายศก.รัฐบาล
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ กล่าวบนเวที SCB Investment Symposium 2015 "The World Ahead โลกเปลี่ยน เศรษฐกิจปรับ นักลงทุนไทยพร้อมรับมือ"ว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP) ของไทยจะสามารถกลับมาเติบโตอยู่ในระดับ 5% ได้ภายในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า หลังจากรัฐบาลได้ดำเนินนโยบายและมาตรการด้านต่างๆ เพื่อทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นมาเติบโตตามศักยภาพ
ทั้งนี้ ภาครัฐได้ให้ความสำคัญกับการส่งออกมาโดยตลอด เนื่องด้วยการส่งออกคิดเป็นสัดส่วนรายได้ราว 56% ของ GDP โดยตัวเลขการส่งออกปัจจุบันยังคงได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกประเทศ ซึ่งขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(BOI) ได้ให้ความสำคัญกับการส่งออกสินค้าตัวใหม่ที่เป็นสินค้าที่มีความต้องการ และสร้างมูลค่าเพิ่ม
อย่างไรก็ดี สำหรับมูลค่าการส่งออกของไทยในไตรมาส 1/58 ที่คาดว่าจะออกมาติดลบ และทั้งปีการส่งออกน่าจะมีอัตราการเติบโตที่ 0%
ส่วนการยกเลิกประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศ และบังคับใช้มาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวแทนนั้น เชื่อว่าจะส่งผลดีต่อบรรยากาศการท่องเที่ยวของไทยที่ทำให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งรายได้จากการท่องเที่ยวนี้จะมีส่วนช่วยชดเชยรายได้จากการส่งออกของไทยในปีนี้ได้ เนื่องจากการส่งออกปีนี้อาจจะไม่มีการขยายตัว
ม.ร.ว.ปรีดียาธร ได้กล่าวในหัวข้อ"นโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย"ว่า ภาครัฐมีการเร่งดำเนินการเบิกจ่ายงบประมาณอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมาการใช้จ่ายภาครัฐดีขึ้น เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจพอสมควร ส่งผลต่อการจับจ่ายใช้สอยภาคครัวเรือน ขณะที่ในช่วงหน้าแล้งนี้ รัฐบาลได้ให้การสนับสนุนแก่ชาวนาผู้ประสบปัญหาภัยแล้งที่มีทั้งสิ้น 3,051 ตำบล ภายใต้วงเงิน 1 ล้านบาทต่อตำบล
อีกทั้ง รัฐบาลได้กำหนดให้มีการส่งเสริมและวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศอย่างจริงจัง ซึ่งมีทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลที่มุ่งเน้นยุทธศาสตร์การพัฒนาใน 5 ด้าน คือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านกายภาพ (Hard Infrastructure) โครงสร้างพื้นฐานด้านการบริการ (Service Infrastructure) โครงสร้างพื้นฐานด้านกฎหมาย กฎระเบียบ และมาตรฐาน (Soft Infrastructure) ด้านส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ (Digital Economy Promotion) และด้านการพัฒนาสังคมดิจิทัล (Digital Society)
พร้อมกันนี้ เริ่มจากการจัดตั้งเนชั่นแนล บรอดแบนด์ หรือบรอดแบนด์แห่งชาติ ที่จะนำเครือข่ายใยแก้วนำแสงหรือไฟเบอร์ออปติกเข้าถึงทุกพื้นที่ ทุกสถานประกอบการ และทุกบ้านทั่วประเทศ คาดว่าจะทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ทุกครัวเรือนในปี 60 และมีการรับเปลี่ยนมาใช้ดาต้าเซนเตอร์ใหม่ ซึ่งจะเป็นศูนย์เครือข่ายรวบรวมข้อมูลทุกด้านที่ทำงานอย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง โดยดาต้าเซ็นเตอร์(ไอดีซี) มีความจำเป็นมากสำหรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลที่จะทำให้เกิดปริมาณข้อมูลมหาศาล
ขณะเดียวกัน ภาครัฐต้องการจะนำเอาความต้องการใช้งานของภาครัฐไปกระตุ้นให้เกิดการลงทุนธุรกิจของเอกชน แต่ปัจจุบันยังมีผู้ให้บริการไม่มาก และแต่ละแห่งไม่ได้มีการเชื่อมต่อระบบกัน ดังนั้นเพื่อสร้างเสถียรภาพของดาต้าเซ็นเตอร์ทั้งประเทศ รัฐต้องสร้างดาต้าเซ็นเตอร์ขนาดพื้นที่ขนาดใหญ่โดยหน่วยงานรัฐจะเป็นผู้ใช้รายใหญ่เพื่อกระตุ้นความต้องการโดยรวมของประเทศขึ้นมา ซึ่งจากปัจจัยทั้ง 2 ประเด็นหลักนี้ จะสามารถทำให้เศรษฐกิจประเทศไทยพลิกกลับมาเติบโตได้ 5% ภายใน 2-3 ปีนี้
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย บรรยายพิเศษในหัวข้อ"ระบบการเงินไทยกับการเปลี่ยนแปลงของโลก" ว่า ธปท.ได้ดำเนินการวางโครงสร้างระบบการเงิน เพื่อสนับสนุนการปฎิรูปเชิงโครงสร้างของระเทศ นอกเหนือจากการพัฒนาประสิทธิภาพของสถาบันการเงิน ตลาดการเงิน และระบบการชำระเงิน ซึ่งเป็นแผนระยะยาวที่ปัจจุบันได้ดำเนินการอยู่แล้ว
โดยนโยบายสำคัญมีอยู่ 2 นโยบาย คือ 1. การส่งเสริมให้ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น เพื่อช่วยให้ธนาคารพาณิชย์มีข้อมูลในการประเมินความเสี่ยง ซึ่งจะเพิ่มโอกาสให้ SMEs มีศักยภาพได้รับการอนุมัติสินเชื่อ อีกทั้งยังช่วยให้มีโอกาสพัฒนาธุรกิจ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถการเข่งขันของประเทศ 2. การกำกับดูแลการปล่อยสินเชื่อของสถาบันทางการเงินเฉาะกิจ หรือ SFIs โดยปัจจุบัน SFIs มีสินทรัพย์ประมาณ 20% ของสถาบันการเงินทั้งระบบ เพื่อให้มีการปล่อยสินเชื่อของ SFIs เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับธนาคารพาณิชย์ ที่จะส่งผลให้ระบบการเงินของประเทศมั่นคงขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจยังฟื้นตัวได้ไม่ดีนัก
ทั้งนี้ ความท้าท้ายของธนาคารกลางและหน่วยงานเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องบนความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก มองว่าแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลักยังมีความแตกต่างกันอยู่ ทำให้การดำเนินนโยบายที่สวนทางกัน โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวเข้มแข็งขึ้นอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าเฟดน่าจะมีการเริ่มปรับขี้นอัตราดอกเบี้ย หลังจากดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำมานานพอสมควร ขณะที่ยุโรป และญี่ปุ่น ยังมีแนวโน้มอัดฉีดเงินเข้าระบบ QE เพื่อเพิ่มสภาพคล่องของระบบการเงินโลก จากเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวได้แบบค่อยเป็นค่อยไป
อย่างไรก็ตาม บนความเสี่ยงดังกล่าว ไทยควรให้น้ำหนักกับการดูแลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่งเป็นเรื่องแรก และเมื่อเกิดความผันผวนต่อระบบการเงิน และตลาดการเงินขึ้น ต้องพร้อมที่จะใช้เครื่องมือของนโยบายในจังหวะที่เหมาะสมเพื่อรักษาให้ระบบการเงินมีเสถียรภาพ
นายประสาร กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยแม้ว่าเศรษฐกิจยังคงฟื้นตัวค่อนข้างช้า แต่ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีอยู่ เห็นได้จากดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลต่อเนื่อง การว่างงานและอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ ภาระการคลังอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ และมีเงินทุนสำหรองระหว่างประเทศในเกณฑ์ที่มั่นคงเมื่อเทียบกับหนี้ต่างประเทศ รวมถึงการได้รับอานิสงค์จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง เนื่องจากไทยเป็นผู้นำเข้าน้ำมันสุทธิ ต่างจากประเทศอื่นที่มีรายได้หลักมาจากการส่งออกน้ำมัน ทำให้ส่งผลดีต่อรายได้และฐานะทางการเงินของประเทศอย่างมาก แต่ก็ยังมีความเสี่ยงจากการใช้จ่ายภาคครัวเรือน ที่ยังได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าเกษตรที่ยังอยู่ในระดับต่ำ อีกทั้งภาคธุรกิจที่ยังชะลอการลงทุน เนื่องด้วยรอดูความชัดเจนของภาคัฐ
พร้อมกันนี้ แนะภาครัฐควรเร่งเบิกจ่ายงบประมาณโดยเฉพาะงบลงทุนให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้กสนฟื้นตัวของความเชื่อมั่นและเศรษฐกิจแข็งแกร่งขึ้น รวมถึงเร่งดำเนินการลงทุนโครงการการบริหารจัดการน้ำและระบบขนส่งทางถนน ประกอบกับการดำเนินนโยบายของ BOI ที่จะเอื้อประโยชน์ทางภาษีแก่ธุรกิจที่มีศักยภาพ
นอกจากนี้ การดำเนินมาตรการประกาศใช้มาตรา 44 ในการบริหารระเทศแทนกฎอัยการศึก มองว่า คงส่งผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุนบางประเทศบ้าง เนื่องจากมาตรา 44 อำนาจจะผูกขาดอำนาจกับตัวบุคคล ซึ่งบางประเทศอาจไม่คุ้นเคยกับการบริหารประเทศแบบนี้ เพราะไม่มีการคานอำนาจในส่วนของสถาบัน ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยก็ต้องยอมรับว่าจากการเกิดเหตุการณ์ทางการเมือง ส่งผลต่อความเชื่อมั่น โดยไทยต้องดำเนินการอธิบายให้ต่างชาติเข้าใจว่าการใช้มาตรา 44 นั้นเป็นเรื่องชั่วคราว อีกทั้งกรอบเวลาของการจัดระบบบ้านเมือง ไม่ว่าจะเป็นการมีรัฐธรรมนูญ มีการเลือกตั้งหรือโรดแมป รวมถึงต้องอธิบายเพิ่มเติมอีกว่าขณะนี้ก็มีการเร่งทำงานในหลายฝ่าย เช่น สถาบันตุลาการ, สภานิติบัญญัติ (สนช.)
"ก็อาจจะมีผลบ้างต่อการค้าการลงทุน หากระบบเขาไม่คุ้นเคย ก็ต้องมีการอธิบาย แต่การค้าขายทั่วไปอาจจะไม่กระทบมาก ซึ่งเขาก็มีการเห็นมาแล้วในระยะเวลา 1 ปี อย่างไรก็ตาม การนำมาตรา 44 มาใช้ ก็มีข้อดี คือ สามารถดำเนินงานได้เลย ไม่ต้องผ่านขั้นตอนอะไรมาก หากเป็นเรื่องที่ต้องตัดสินใจเร็วๆ แต่เมื่อสถานการณ์กลับเข้าสู่ปกติแล้ว เราก็คงกลับเข้าสู่ระบบที่คุ้นเคย หรือธรรมมาภิบาลที่มีการคานอำนาจกัน ขณะที่เวลานี้อยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน จากสถานการณ์ทางการเมืองของปีก่อนที่ทำให้บ้านเมืองมีการหยุดชะงักเป็นเวลานาน ซึ่งก็ต้องอธิบายว่าเรามีความจำเป็นและเป็นเรื่องชั่วคราว"นายประสาร กล่าว
ส่วนการที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบติดต่อกัน 3 เดือนนั้น ยืนยันว่าจะไม่เป็นภาวะเงินฝืด เนื่องจากเงินเฟ้อที่ติดลบเกิดจากราคาน้ำมันที่ปรับลดลงมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมองว่าเป็นปัจจัยชั่วคราวเท่านั้น ไม่นานเงินเฟ้อจะกลับมาเป็นบวก โดยจะเริ่มเห็นเงินเฟ้อเป็นบวกในช่วงครึ่งปีหลังเป็นต้นไป ขณะที่ปีหน้ามองว่าเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ระดับ 2.5% ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานยังประเมินไว้ที่ 1.2%
ด้านนายญนน์ โภคทรัพย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ทิศทางเศรษฐกิจไทยในปี 58 จะมีการขยายตัวได้ประมาณ 3% สอดคล้องกับหน่วยงานทางเศรษฐกิจหลายแห่ง โดยยังคงมีปัจจัยสนับสนุนมาจากทางด้านต่างประเทศ อย่างเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ขยายตัวดีขึ้น เห็นได้จากตลาดแรงงานมีการฟื้นตัวต่อเนื่อง ขณะที่เศรษฐกิจยุโรปมีแนวโน้มชะลอตัวและมีความเสี่ยงด้านการเมืองระหว่างประเทศจากกรณีรัสเซีย-ยูเครน เช่นเดียวกับเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ยังอ่อนแอ และการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ เช่น จีน และอินเดีย
อีกทั้ง ในเรื่องของราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง จะเป็นปัจจัยบวกต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยได้รับประโยชน์ผ่านต้นทุนการผลิตและค่าครองชีพที่ลดลง รวมถึงการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้ตามคาดการณ์
นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผูจัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) กล่าวในหัวข้อ"ทิศทางตลาดทุนไทยกับกระแสการลงทุนโลก" ว่า ตลท.ได้ดำเนินแนวทางให้ตลาดทุนไทยมุ่งสู่มาตรฐานสากล โดยเปิดโอกาสให้บริษัทต่างประเทศสามารถระดมทุนผ่านตลาดทุนไทย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินงานของ ก.ล.ต.คาดว่าจะมีการอนุญาตได้เร็วๆ นี้ และให้นักลงทุนไทย ซื้อขายหลักทรัพย์ต่างประเทศในตลาดหลักทรัพย์ไทยได้อย่างสะดวกขึ้น
ขณะที่กระบวนการชำระราคาต่างๆ ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้นำเอากฎเกณฑ์ของต่างประเทศ เช่น PFMI (Principles for Financial Market Infrastructures) ของยุโรปและอเมริกา ในเรื่องของการพัฒนาคุณภาพเรื่องดังกล่างจึงเป็นสิ่งสำคัญ และความยั่งยืนของตลาดหลักทรัพย์ อย่างไรก็ตาม ตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดโอกาสเสมอสำหรับการให้ความรู้ความเข้าใจกับผู้ลงทุน
"ในอนาคตอันใกล้นี้ การดำเนินงานของตลาดหลักทรัพย์จะมีการมุ่งสู่มาตรฐานสากล เราคงไม่สามารถบอกตัวเองได้ว่าตลาดหลักทรัพย์ไม่มีคู่แข่ง ตลท.มีคู่แข่งอยู่เสมอ เนื่องจากนักลงทุนซื้อหุ้น ซื้อพันธบัตรได้จากต่างประเทศ ซึ่งเป็นการตัดสินใจของผู้ลงทุน โดยสิ่งที่เราทำก็คือเน้นออกสินค้าและบริการมากขึ้น ใกล้ชิดลูกค้ามากขึ้น เพื่อให้เกิดการแข่งขันได้ในระดับสากล" นางเกศรา กล่าว
อินโฟเควสท์