- Details
- Category: สำนักนายกฯ
- Published: Monday, 23 March 2015 22:15
- Hits: 2205
หม่อมอุ๋ย หนุนลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ 3-4 หมื่นลบ.เปิดให้เอกชนเข้าร่วม
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า การดำเนินการจัดทำศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์ (IDC) ใหม่เพื่อเป็นศูนย์เครือข่ายรวบรวมข้อมูลทุกด้านที่ทำงานอย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง จากปัจจุบันที่แต่หน่วยงานทั้งภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ จำนวน 112 แห่งต่างลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์กันเอง ดังนั้น จึงให้หยุดการลงทุนและให้รวบรวมโครงการไว้ด้วยกัน ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน หลังจากนั้น จะออกแบบดาต้าเซ็นเตอร์ใหม่ และคาดว่าจะใช้วงเงินลงทุน 3-4 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้าง 10 เดือนและเปิดใช้งานได้ภายในปี 59
"เราจะเปิดให้เอกชนมาลงทุน แล้วเราก็ไปเช่าต่อ เราจะเข้าไปบริหารข้อมูลเอง"รองนายกรัฐมนตรีกล่าวในงานสัมนาก้าวสู่ Digital Government ภายใต้ Digital Economy"ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว
ม.ร.ว.ปริดิยาธร กล่าวว่า ดาต้าเซ็นเตอร์ มีความจำเป็นมากสำหรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล ที่จะทำให้เกิดปริมาณข้อมูลมหาศาล ขณะเดียวกันภาครัฐต้องการใช้งานของภาครัฐไปกระตุ้นให้เกิดการลงทุนธุรกิจของเอกชน แต่ปัจจุบันยังมีผู้ใช้บริการไม่มากและแต่ละแห่งไม่ได้มีการเชื่อมต่อระบบกัน ดังนั้น ภาครัฐต้องสร้างดาต้าเซ็นเตอร์ขนาดพื้นที่ขนาดใหญ่ มีหน่วยงานภาครัฐเป็นผู้ใช้รายใหญ่เพื่อกระตุ้นความต้องการโดยรวม ต่อจากนี้จะทั้งภาครัฐและเอกชนจะไม่มีการลงทุนซ้ำซ้อน
"คาดว่า ภายในปีนี้ประชาชนจะเข้าใช้บริการกว่า100 บริการโดยไม่ต้องใช้สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้านไปติดต่อราชการอีกแล้ว โดยจะห้ามเจ้าหน้าที่ไม่ให้เรียกร้องสำเนาจากบัตรประชาชน แต่เขาต้องใช้ข้อมูลจากฐานข้อมูล วันนี้กระทรวงมหาดไทยก็เริ่มแล้ว...ทุกสมาคมวิ่งเข้ามาหาผม เขาอยากค้าขาย E-commerce "รองนายกรัฐมนตรี กล่าว
ทั้งนี้ ในปีนี้มีเป้าหมายเชื่อมโยงข้อมูลหรือฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องระหว่างหน่วยงานราชการ นำร่อง 7 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงพลังงาน กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เชื่อมโยงเข้ารับข้อมูลทะเบียนราษฎร์ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เพื่อลดการขอสำเนาเอกสารราชการจากผู้ขอรับบริการ
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า รัฐบาลต้องการให้เกิดบรอดแบนด์แห่งชาติในช่วง 2 ปีนี้ โดยในปี 59 จะต้องมีบริการบรอดแบนด์ครอบคลุมทุกจังหวัด และในปี 60 จะสามารถใช้ได้ทุกตำบล โดยจะเชิญชวนทั้งภาครัฐและเอกชนที่เป็นเจ้าของไฟเบอร์ออพติคนำมารวมกัน เพื่อจะได้รู้ว่าปัจจุบันประเทศไทยมีเครือข่ายอย่างไร มีความยาวเท่าใดแล้ว ซึ่งต้องใช้เวลาในการรวบรวมและตกลงเจรจาในการนำมารวมกัน โดยเฉพาะขั้นตอนการตีมูลค่าสินทรัพย์เพื่อแลกเปลี่ยนการนำสินทรัพย์ทั้งเสา, ไฟเบอร์ออพติคที่นำมารวมกัน คาดว่าจะต้องใช้เวลาประมาณ 6 เดือน
จากนั้นจะต้องมีการลงทุนเพิ่มเพื่อให้โครงข่ายกระจายไปทั่วประเทศ ซึ่งยังต้องรอผลประเมินก่อน โดยจะมีการจัดตั้งบริษัทกลางเข้ามาดูแลบรอดแบนด์แห่งชาติ ส่วนแหล่งเงินลงทุนเห็นว่าไม่เป็นปัญหา รัฐอาจใช้เงินกู้ หรือระดมทุนผ่านกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน
"ภายในปีนี้ บริษัทที่เขาสมัครใจเข้ามารวมกัน จะรู้ว่ามีสายไฟเบอร์ออพติคกี่สาย กี่กิโลเมตร แล้วจะมาคำนวณว่าจะต้องลงทุนเพิ่มอีกเท่าไร เราตั้งเป้าว่าในปี 59 บรอดแบนด์ใช้ได้ทั่วประเทศ และใช้ได้ทุกตำบลในปี 60" ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว
ด้านนายพรชัย รุจิประภา รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวว่า รัฐบาลนี้มองเห็นอนาคตและต้องการนำประเทศไทยก้าวสู่สังคมที่มั่นคงและแข่งขันกับประเทศอื่นๆในระดับเวทีโลก ดังนั้น การลงทุนด้วยการเปลี่ยนแปลงทุกด้านจำเป็นต้องเกิดขึ้น ภาคราชการต้องร่วมมือกันพัฒนาภาครัฐในภาพรวมให้ก้าวไปสู่การเป็น Digital Government ด้วย โดยรัฐบาลได้มอบหมายสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์(องค์กรมหาชน)เป็นองค์กรหลักในการขับเคลื่อนในด้านนี้
ภารกิจเร่งด่วน 3 ด้าน ประกอบด้วย 1.การบูรณาการศูนย์ข้อมูลภาครัฐ เพื่อให้ภาครัฐใช้ทรัพยากรร่วมกัน ลดความซ้ำซ้อนในการใช้งบประมาณ 2. การบูรณาการข้อมูลบริหารสำหรับศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี เพื่อให้มีระบบรายงานเพื่อใช้ในการกำหนดยุทธศาสตร์ของประเทศที่ทันสมัยใช้ในการติดตามการดำเนินงาน และ 3.บูรณาการการให้บริการประชาชน โดยลดสำเนาเอกสารราชการเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน แต่ใช้ฐานข้อมูลผ่านสมาร์ทการ์ด หรือบัตรประชาชน
อินโฟเควสท์
'หม่อมอุ๋ย'คาดใช้งบ 3-4หมื่นลบ.ตั้งดาต้าเซ็นเตอร์แล้วเสร็จปี 59
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี คาดว่า จะใช้งบประมาณ ประมาณ 3-4 หมื่นล้านบาท จัดตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จปลายปี 59
"คาดว่าจะใช้งบประมาณในการดำเนินการสร้างดาต้าเซ็นเตอร์ 3-4 หมื่นล้านบาท ไม่จำเป็นต้องใช้เงินของรัฐ จะให้เอกชนมาลงทุน คาดว่าจะแล้วเสร็จ ปลายปี 59" ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว
เขากล่าวอีกว่า ในการประชุมคณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิทัลเพื่อ เศรษฐกิจและสังคมเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีมติให้หน่วยงานของรัฐและวิสาหกิจ จำนวน 112 แห่ง ยุติการจัดซื้อจัดจ้างเกี่ยวกับศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์ของตนเอง เพื่อรอให้มีการจัดตั้งศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์ให้แล้วเสร็จก่อน โดยรัฐบาลจะเป็นผู้ ควบคุมกฎเกณฑ์และความปลอดภัย มาตรฐานและอาจรวมถึงการเจรจาค่าเช่าด้วย
สำหรับบรอดแบนด์แห่งชาติ คาดว่าในปี 59 จะเข้าถึงทุกหมู่บ้าน และในปี 60 ทุกบ้านจะเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ส่วนงบประมาณในการลงทุน มีหลายแหล่ง
เขายังกล่าวถึงการเปิดประมูลคลื่น 4G ว่า จะไม่จำกัดเฉพาะความถี่ 1800 และ 900เมกะเฮิร์ตซ์(MHz) โดยความถี่ที่เหลืออาทิ 2300,2400, 2500 และ 2600 ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ก็ให้ทางคณะกรรมการกิจการกระจาย เสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ไปเจรจากับ เจ้าของคลื่นเอง
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการ เตรียมการฯ โดยที่ประชุมให้การประมูลคลื่น 4G แล้วเสร็จภายในเดือน ส.ค.ปีนี้ โดยการประมูลจะไม่จำกัดเฉพาะความคลื่นความถี่ 1800 และ 900 MHz
ก่อนหน้านั้น กสทช.มีแผนประมูลคลื่นความถี่ 1800 และ 900 MHz ซึ่งจะนำไปพัฒนาเป็น 4G ในปลายปี 57 แต่ต้องถูกเลื่อนออกไป หลังคสช.ขอให้ ชะลอการประมูลออกไป 1 ปี เพื่อให้เกิดความโปร่งใส
นอกจากนี้ ยังมีความกังวลก่อนหน้านั้นว่า การประมูล 4G อาจจะไม่ เกิดขึ้นตามแผนที่คาดไว้ในปีนี้ ขณะที่มีความล่าช้าในการจัดตั้งคณะกรรมการดิจิตอล เพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย