- Details
- Category: สำนักนายกฯ
- Published: Thursday, 19 March 2015 23:14
- Hits: 2550
ครม.ยันเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชาเพื่อยกระดับสร้างความเป็นธรรม
บ้านเมือง : พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้รับทราบข้อเสนอแนะของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในการจัดเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชา ซึ่งมีลักษณะเป็นการประกอบธุรกิจที่แสวงหากำไรอย่างชัดเจน
โดยมีงานวิจัยพบว่า โรงเรียนกวดวิชาเหล่านี้มีกำไรสูงถึงร้อยละ 40 ซึ่งเป็นอัตรากำไรที่มาก กว่าปกติอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมากลับได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี ดังนั้น ป.ป.ช.จึงสนับสนุนให้เกิดความเป็นธรรมในระบบภาษี และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ "การศึกษาทั้งระบบ" อย่างยั่งยืน
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า ในข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช. ยังชี้ให้เห็นว่าโรงเรียนกวดวิชาส่วนใหญ่เก็บค่าเรียนตามความนิยมหรือชื่อเสียงของสถาบันกวดวิชานั้นๆ และไม่ได้อิงอัตราตามเพดานที่กฎหมายกำหนดไว้ รวมทั้งวัตถุประสงค์ที่ภาครัฐ ซึ่งเคยยกเว้นภาษีเงินได้ เพราะต้องการให้โรงเรียนกวดวิชาช่วยส่งเสริมและสนับสนุนผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา แต่ในปัจจุบันโรงเรียนกวดวิชาส่วนใหญ่มิได้ให้ผลประโยชน์แก่ผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษาเท่าไรนัก เนื่องจากเก็บค่าเรียนในอัตราค่อนข้างสูง หรือเอกสารการเรียน เช่น ซีดีที่บันทึกการสอน หนังสือ และคู่มือของโรงเรียนกวดวิชา ก็มักจะมีการสงวนลิขสิทธิ์ไว้ หากมีการทำซ้ำโดยไม่ได้รับอนุญาตก็ต้องถูกฟ้องร้องดำเนินคดีตามกฎหมาย เป็นต้น
"มาตรการจัดเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชาถือเจตนาที่ดี เพื่อมุ่งยกระดับและสร้างความเป็นธรรมให้กับทุกฝ่าย โดยภาครัฐไม่ได้มุ่งเน้นแสวงหารายได้ แต่ต้องการพัฒนาระบบการศึกษาให้เด็กไทยเข้าถึงการเรียนระดับชั้นมัธยมและอุดมศึกษา อย่างมีคุณภาพ มาตรฐาน ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการจะผู้ขับเคลื่อนต่อไป" รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว
ปัจจุบันในปี 2557 มีโรงเรียนกวดวิชาที่ได้รับอนุญาตจัดตั้งตามกฎหมายทั้งสิ้น 2,379 แห่ง มีนักเรียนจำนวน 535,695 คน แบ่งเป็นโรงเรียนกวดวิชาในพื้นที่กรุงเทพมหานครจำนวน 549 แห่ง จำนวนนักเรียน 209,350 คน และโรงเรียนกวดวิชาที่ตั้งอยู่ในส่วนภูมิภาค จำนวน 1,830 แห่ง จำนวนนักเรียน 326,345 คน