- Details
- Category: สำนักนายกฯ
- Published: Wednesday, 11 March 2015 23:31
- Hits: 2207
นายกฯบี้คลังแจงปปช.ภาษีที่ดิน สปช.แนะต้องคืนเงินกลับคืนสู่ท้องถิ่น
แนวหน้า : พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิดรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าในที่ประชุม ครม. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งให้กระทรวงการคลังจัดทำรายละเอียดและวางแนวทางอย่างเป็นระบบว่า สัดส่วนรายได้และรายจ่ายของรัฐในปัจจุบันเป็นเท่าไรและต้องชี้แจงกับประชาชนให้เข้าใจถึงการจัดทำภาษี ว่าทุกคนต้องมีส่วนเกี่ยวข้องในการลงทุนในประเทศ ซึ่งผู้ที่มีรายได้มากก็เสียภาษีมาก ผู้ที่มีรายได้น้อยก็จ่ายน้อย
ขณะเดียวกัน นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง ได้เข้าชี้แจงเรื่องการดำเนินการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ต่อคณะกรรมาธิการปฏิรูปเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โดยมีนายสมชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน หลังจากมีข้อเสนอให้ตั้งคณะกรรมการนโยบายการเงิน การคลังและภาษีอากรแห่งชาติ ให้เป็นคณะกรรมการถาวรระดับชาติ เพื่อปฏิรูปภาษี พิจารณาอัตราภาษีและแนวทางการจัดเก็บให้สอดคล้องกับสถานการณ์แต่ละช่วงเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งการกำหนดไว้ในกฎหมายให้ชัดเจน เพื่อแยกระบบการจัดเก็บภาษีออกเป็น 2 ส่วน คือ การจัดเก็บภาษีระดับชาติ และการจัดเก็บ ภาษีระดับท้องถิ่น เพื่อให้เป็นหลักประกันว่า อปท.จะมีรายได้นำไปพัฒนาท้องถิ่น เช่น รายได้จากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อให้ชุมชนติดตามผลการบริหารขององค์กรท้องถิ่นในการใช้งบประมาณพัฒนาโครงการต่างๆ อย่างใกล้ชิดมากขึ้น
นายวิริยะนามศิริพงศ์พันธ์ หนึ่งในกรรมการ สปช. ด้านภาษีฯ ได้เสนอแนะว่ากระทรวงการคลังต้องทำความเข้าใจกับการเสียภาษีประเภทใหม่มากขึ้น เพราะอนาคตยังต้องเก็บภาษีท้องถิ่นจากประชาชนอีกหลายด้าน เช่น การนำรูปแบบค่าส่วนกลางของคอนโดมิเนียม หมู่บ้านในเขตกรุงทพฯ มาปรับเพื่อจัดเก็บเป็นค่าส่วนกลางในหมู่บ้านต่างๆ ในต่างจังหวัด เพื่อใช้ดูแลสวัสดิการคนในชุมชน รวมถึงการให้ อปท.ดูแล อาจจ้างตำรวจบ้านมาช่วยดูแลความปลอดภัยในชุมชนด้วยเช่นกัน เพราะต่อไปองค์กรท้องถิ่นจะใช้เงินดูแลชุมชนมากขึ้น
นายธวัชชัย ยงกิติกุล สปช. กล่าวว่าชาวบ้านยังมีความกังวลเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีหลายด้าน ทั้งภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีการรับมรดก ขณะที่ชาวบ้านยังมีความกังวลว่าจะต้องจ่ายภาษีอย่างไร อัตราเท่าใด ดังนั้น กระทรวงการคลังควรตั้งทีมลงพื้นที่ออกไปชี้แจงชาวบ้านให้ชัดเจนว่าบ้านหลังแบบไหน พื้นที่เกษตรเท่าใดต้องเสียภาษี
นายกิตติพงศ์ อุรพีพัฒน์พงศ์ สปช. แจ้งว่า กระทรวงการคลังควรตั้งทีมชุดใหญ่ออกทำความเข้าใจกับประชาชนมากขึ้น เพราะการเก็บภาษีครั้งนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก หากทำความเข้าใจไม่ดีอาจเกิดข้อโต้แย้งจนเกิดแรงต้าน และหากเก็บไม่ได้จะเกิดผลกระทบต่อรายได้ของประเทศเพื่อนำมาพัฒนาระยะยาวได้ การสร้างความเข้าใจจึงมีความสำคัญมาก เพราะราคาประเมินต้องปรับขึ้นต่อเนื่องทุก 4 ปี แต่หากทำความเข้าใจร่วมกันดีแรงหนุนจะกลับมาเพิ่ม
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล สปช. เสนอว่าควรแจ้งให้ประชาชนรับทราบว่าเมื่อจัดเก็บภาษีที่ดินฯแล้ว รัฐบาลจะนำเงินไปใช้อะไร หากระบุชัดเจนว่าอาจนำเงินภาษีดังกล่าวบางส่วนมาดูแลชาวบ้านในท้องที่ เช่น การจัดสรรตั้งธนาคารที่ดินประมาณ 5,000 ล้านบาท เพื่อดูแลชาวบ้านที่นำที่ดินไปจำนอง แต่ยังสามารถใช้ที่ดินประกอบอาชีพได้ เมื่อประกอบอาชีพมีเงินแล้วนำเงินมาไถ่ถอนคืนได้ เมื่อเห็นประโยชน์ชาวบ้านจะยินดีจ่ายภาษีมากขึ้น
รมว.คลัง เล็งขยับเกณฑ์ยกเว้นภาษีที่ดินเพิ่ม เตรียมเสนอครม.ศก.รอบหน้า
รมว.คลัง เผยเตรียมปรับฐานราคาประเมินอสังหาริมทรัพย์ใหม่ รวมทั้งเกณฑ์ผ่อนผันยกเว้นเพิ่มขึ้น สำหรับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ให้เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริง แต่ยืนยันการตัดสินใจผลักดันเรื่องดังกล่าวมีความเหมาะสมกับช่วงเวลาแล้ว เพราะกฎหมายจะมีผลบังคับใช้ในอนาคตอีกอย่างเร็ว 2 ปี
"อาจจะปรับอีก เพราะ 1.5 ล้านบาทสำหรับคนกรุงเทพฯ และปริมณฑลมันต่ำไป จะขยับอีก ตอนนี้ยังตอบไม่ได้ กำลังหาข้อมูลดิบ คือจะเท่ากับต่างจังหวัดไม่ได้ กรุงเทพฯ มันแพงกว่าแยะ" นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง กล่าวทางสถานีโทรทัศน์เช้านี้
รมว.คลัง กล่าวว่า เกณฑ์ในการพิจารณาจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะคำนึงถึงผู้มีรายได้น้อยเป็นหลัก แต่ที่ผ่านมาการสื่อสารอาจมีผิดพลาดไปบ้าง แต่เรื่องนี้ทำไม่ผิดเวลา เพราะทำแล้วใช้ในปี 2560 ตามโรดแมป
"เราทำตอนนี้ ออกกฎหมายแล้วใช่ว่าจะเก็บได้เลย มันต้องสร้างพื้นฐานราคาที่ดิน ราคาประเมิน ซึ่งราคาประเมินต้องต่ำกว่าตลาด และต้องทำเรื่องราคาบ้านแต่ละแบบให้ถูกต้อง ต้องเตรียมสร้างพื้นฐานของตัวที่จะจัดเก็บให้ดี ทำเรื่องฐานข้อมูลให้ดี เราเตรียมตัวมากกับกฎหมายฉบับนี้ กว่าจะมีผลอย่างเร็วก็ปี 60"นายสมหมาย กล่าว
นอกจากนี้ ตอนนี้ที่คิดเกณฑ์ผ่อนผันยกเว้นเพิ่มขึ้น คือ การผ่อนผันให้กับคนที่เกษียณราชการไปแล้ว อายุเกิน 60 ปี อยู่บ้านมานาน 20-30 ปี ไม่มีรายได้ จะทำอย่างไร จะต้องคิดให้หมด ไม่เช่นนั้นโดนซักถามในที่ประชุม สนช.
รมว.คลัง กล่าวว่า กรณีนี้ที่มีนักการเมืองบางพรรคออกมาบอกว่าทำแบบนี้ไม่ได้ ไม่ควรเก็บ ถ้าคิดแบบนั้นะมาบริหารประเทศชาติได้อย่างไร
"ผมไม่คิดว่าตอนนั้นผมจะอยู่บริหารประเทศ รัฐบาลนี้คงไม่อยู่ตอนนั้น แต่เราทำไว้เพื่ออนาคต เพราะเชื่อว่าเป็นตายร้ายดี พรรคไหนขึ้นมาคงไม่ทำ คะแนนนิยมจะเสีย นี่คือการเมือง แต่รัฐบาลชุดนี้ นายกฯ บอกว่าไม่มีการเมือง ท่านให้ผมเดินหน้า แต่ให้ดูแลผู้มีรายได้น้อย ผู้เกษียณ และหลายคนห่วงว่าจะเสียเพิ่มเยอะไหม ผมบอกว่าเสียไม่สูงกว่าเดิม มีแต่ต่ำกว่าเดิม" นายสมหมาย กล่าว
"ผมเข้าใจว่า เศรษฐกิจตอนนี้มันไม่ค่อยดี ถ้าดีเขาก็ไม่วิตก แต่ผมทำงานล่วงหน้าให้ประเทศ ไม่ได้ทำให้รัฐบาลนี้ จะด่าผมก็ช่วยคิดประเด็นนี้หน่อย...ผมคิดหลายตลบ ตอนนี้ยังไม่นิ่ง จะเอาเข้า ครม.เศรษฐกิจรอบหน้า" นายสมหมาย กล่าว
อินโฟเควสท์