WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

บอร์ด PPP ไฟเขียวกรอบโครงการลงทุน เปิดช่องเอกชนร่วมโปรเจกท์รัฐ

     แนวหน้า : บอร์ด PPP ไฟเขียวกรอบโครงการลงทุน เปิดช่องเอกชนร่วมโปรเจกท์รัฐ เตรียมชงเรื่องเข้าครม.เมษายน

     บอร์ด PPP เห็นชอบจัดกลุ่มโครงการลงทุนขนาดใหญ่ 3 ระดับ วงเงินเกิน 5 พันล้านบาทต้องผ่านบอร์ด พร้อมเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน หลังกฎหมายลูก 14 ฉบับมีผลบังคับใช้ ปิดข้อเสียเปรียบภาครัฐ เตรียมนำร่องลงทุนสร้างรถไฟฟ้า

      ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ หรือ PPP เห็นชอบ การกำหนดกรอบโครงการลงทุนเพื่อเปิดให้เอกชนได้ร่วมลงทุนแบ่งเป็น 3 ด้าน คือ 1.โครงการลงทุนต่ำกว่า 1 พันล้านบาท มอบหมายให้กระทรวง ส่วนราชการเจ้าของโครงการพิจารณาแผนลงทุนด้วยตนเอง เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการพิจารณาลงทุนโดยไม่ต้องนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ PPP พิจารณา

     2.โครงการลงทุนขนาด 1-5 พันล้านบาท แบ่งเป็นโครงการลงทุนบริการสาธารณะเต็มรูปแบบที่เกี่ยวข้องกับประชาชนส่วนใหญ่ คณะกรรมการ PPP จะนำมาพิจารณาการลงทุน เช่น รถไฟฟ้า มอเตอร์เวย์ แต่หากเป็นโครงการลงทุนด้านเชิงพาณิชย์ การให้เช่าที่ดิน จะมอบหมายให้เจ้าของโครงการพิจารณาแผนลงทุน และ 3.โครงการลงทุนเกิน 5 พันล้านบาททุกประเภทต้องเสนอคณะกรรมการ PPP พิจารณาแผนการลงทุน

     นายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) กล่าวว่า หลังจากแผนการลงทุนหยุดชะงักมา 2 ปี จากนี้ไปเมื่อกฎหมายลูกอีก 14 ฉบับ ซึ่งออกโดยกฎกระทรวงหรือหน่วยงานต่างๆ กำลังจะมีผลบังคับใช้ในเร็วๆ นี้ ทั้งนี้ กฎหมายลูกดังกล่าวออกมา เพื่อกำหนดไม่ให้ภาครัฐเสียเปรียบ ทั้งการเก็บค่าบริการ สัญญาการร่วมลงทุนต้องไม่มีการต่อสัญญาโดยอัตโนมัติ การไม่ให้เอกชนเปลี่ยนแปลงสัญญาเพียงฝ่ายเดียว โดยมีการกำหนดวิธีการคำนวณมูลค่าโครงการทั้งเงินลงทุน ทรัพย์สินของภาครัฐและเอกชนที่นำมาร่วมโครงการตลอดอายุที่ดำเนินโครงการเท่านั้น

    นอกจากนี้ ทั้งประชุมยังเห็นชอบร่างแผนยุทธศาสตร์ระยะ 5 ปี โดยมอบหมายให้ สคร.ไปดำเนินการจัดทำรายละเอียดเพิ่มเติม ซึ่งได้กำหนดให้โครงการที่ต้องเสนอคณะกรรมการ PPP พิจารณา ประกอบด้วย ด้านคมนาคมขนส่ง เช่น การสร้างรถไฟฟ้าในเมือง ทางมอเตอร์เวย์ ทางพิเศษ ท่าเรือขนส่งสินค้า การพัฒนาด้านการสื่อสาร เช่น การพัฒนาโครงข่ายโทรคมนาคม การพัฒนาอินเตอร์เนตความเร็วสูง

   โดยในปีนี้จะเริ่มเดินหน้าลงทุนหลายโครงการ จึงต้องการดึงภาคเอกชนเข้าร่วมลงทุนในการสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง มอเตอร์เวย์ ท่าเรือน้ำลึก การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีและจากแผนพัฒนาคมนาคมขนส่งใน 8 ปี ข้างหน้าคิดเป็นวงเงินประมาณ 1.9 ล้านล้านบาท และคาดว่าจะต้องใช้ระบบ PPP ไม่ต่ำกว่า 1 แสน 5 หมื่นล้านบาท ดังนั้น จึงต้องเจรจากับกระทรวงคมนาคมเพิ่มเติมเพื่อให้มีสัดส่วนโครงการลงทุนที่ต้องเสนอต่อคณะกรรมการ PPP เพิ่มขึ้นเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและโปร่งใส

  แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าสคร.เตรียมนำร่างแผนยุทธศาสตร์พ.ร.บ.ร่วมทุนรัฐและเอกชน หรือ PPP หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำ Project Pipeline และรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องภายในกลางเดือนมีนาคม นี้ ก่อนจะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาในช่วงต้นเดือนเมษายนนี้ โดยคาดว่าจะสามารถประกาศแผนยุทธศาสตร์ PPP เพื่อให้ภาคเอกชนรับทราบ Project Pipeline กรอบระยะเวลา และรูปแบบการร่วมลงทุนของเอกชนในโครงการต่างๆ ได้ภายในเดือนเมษายนนี้หลังจาก ครม. พิจารณาอนุมัติเรียบร้อยแล้ว

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!